พ.ย. 2563 ผู้ประกันตนว่างงาน 465,465 คน ถูกเลิกจ้าง 231,170 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ม.ค. 2564 | อ่านแล้ว 7248 ครั้ง

เดือน พ.ย. 2563 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,075,882 คน ว่างงาน 465,465 คน ถูกเลิกจ้าง 231,170 คน - ขยายเวลา Co-Payment เสริมจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ถึง 31 ธ.ค. 2564 - สภาองค์การนายจ้างคาดปี 2564 แรงงานไทยว่างงานสะสม 2.9 ล้านคน | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลจาก รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน พ.ย. 2563 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่ามีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,075,882 คน ชะลอตัวร้อยละ 5.29 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน11,694,184 คน) และขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.36 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,036,662 คน)

ด้านการว่างงาน เดือน พ.ย. 2563 มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมจำนวน 465,465 คน ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 167.39 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 174,079 คน) และชะลอตัวร้อยละ 5.33 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 491,662 คน) ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือน ต.ค. 2563 พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 2.1 (ข้อมูล ณ เดือน ต.ค. 2563) เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 

ทั้งนี้จากข้อมูลผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมระหว่างปี 2539-2563 พบว่าก่อนหน้านี้สถิติผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมเคยสูงสุดที่เดือน มิ.ย. 2552 จำนวน 188,986 คน ต่อมาถูกทำลายสถิติเมื่อเดือน เม.ย. 2563 ที่ 215,652 คน และเดือน พ.ค. 2563 ที่จำนวน 332,060 คน เดือน มิ.ย. 2563 ที่จำนวน 395,693 คน ก.ค. 2563 ที่จำนวน 410,061 คน ส.ค. 2563 ที่จำนวน 435,010 คน ก.ย. 487,980 คน เดือน ต.ค. 2563 ที่จำนวน 491,662 คน ซึ่งสถิติในเดือน ต.ค. ถือเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่สำนักงานประกันสังคมเก็บข้อมูลมา ส่วนเดือน พ.ย. 2563 นี้ตัวเลขได้ลดลงจากเดือน ต.ค. 2563 แล้ว

ส่วนลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างเดือน พ.ย. 2563 มีจำนวน 231,170 คน ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 729.79 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 27,859 คน) และชะลอตัวร้อยละ 0.92 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 233,326 คน)

สำหรับตัวเลขลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง เดือน พ.ย. 2563 จำนวน 231,170 คน นี้ก็ลดลงมาจากเดือน ต.ค. 2563 ที่ 233,326 คน และเดือน ก.ย. 2563 ที่จำนวน 242,114 คน ซึ่งสถิติ ณ เดือน ก.ย. 2563 ถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดที่สำนักงานประกันสังคมเคยเก็บสถิติมา [1]

ขยายเวลา Co-Payment เสริมจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ถึง 31 ธ.ค. 2564

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นความสำคัญของปัญหาการว่างงานในนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และครม.ได้อนุมัติเห็นชอบการปรับแก้คุณสมบัติและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co – payment) เพื่อให้นักศึกษาจบใหม่มีโอกาสได้งานทำ และนายจ้าง/สถานประกอบการเกิดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ดังนี้

1. คุณสมบัติผู้จบการศึกษาใหม่ เป็นมีสัญชาติไทย และอายุไม่เกิน 25 ปี หากอายุเกิน 25 ปี ต้องจบการศึกษา ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป โดยผู้จบการศึกษาใหม่ที่เคยทำงานและอยู่ในระบบประกันสังคม หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว สามารถร่วมโครงการฯได้

2. เงื่อนไขสำหรับนายจ้างในการจ่ายค่าจ้าง ให้เป็นไปตามข้อตกลงการจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนเงินเดือนค่าจ้างไม่เกินร้อยละ 50 ต่อคนต่อเดือน ตามค่าจ้างจริง ทั้งนี้ รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนเป็นไปตามวุฒิการศึกษา ได้แก่ ปริญญาตรี ไม่เกิน 7,500 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่เกิน 5,750 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไม่เกิน 4,700 บาท และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ไม่เกิน 4,345 บาท

3. ปรับระยะเวลาการดำเนินโครงการ ให้ขยายระยะเวลาร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564 (จากเดิม 1 ต.ค. 2563 – 30 ก.ย. 2564)

“สำหรับโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co-payment) มีวัตถุประสงค์ให้เกิดการจ้างงานใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาการว่างงานจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยภาครัฐอุดหนุนเงินเดือนครึ่งหนึ่งตามวุฒิการศึกษา จำนวน 260,000 อัตรา ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 ให้กับนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มิใช่หน่วยงานภาครัฐ อยู่ในระบบประกันสังคม และต้องไม่มีการเลิกจ้างลูกจ้างเดิมเกินกว่าร้อยละ 15 นับจากวันที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ จนตลอดระยะเวลาที่ร่วมโครงการฯ เพื่อให้ภาคเอกชนเกิดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และผู้จบการศึกษาใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานมีรายได้ ในการเลี้ยงดูตนเอง สามารถใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลดีเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน รับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co-payment) ให้เกิดการบรรจุงานเพิ่มขึ้น และแก้ปัญหาการว่างงานในผู้จบการศึกษาใหม่อย่างเร่งด่วนที่สุด

“ที่ผ่านมากรมการจัดหางาน ติดตามปัญหาและอุปสรรค ความคืบหน้าโครงการฯอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยได้เชิญนายจ้าง/สถานประกอบการ และเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานผู้ปฏิบัติงานจริง มาร่วมประชุมรับฟังปัญหา/ข้อเสนอแนะ ทั้งนี้ข้อเสนอต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ทางกรมการจัดหางานได้รับไปดำเนินการทันที จนเกิดการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการร่วมโครงการฯ ในที่สุด ด้วยมุ่งหวังให้นักศึกษาจบใหม่ และนายจ้าง/สถานประกอบการ ได้รับประโยชน์สูงสุดและเสมอภาคกัน ตามภารกิจของกรมการจัดหางาน ในการส่งเสริมการมีงานทำให้กับคนไทยทุกกลุ่ม รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา ให้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน และสร้างแรงจูงใจให้นายจ้าง/สถานประกอบการเห็นถึงความสำคัญของการจ้างงานผู้จบศึกษาจบใหม่และรับเข้าทำงาน” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ www.จ้างงานเด็กจบใหม่.com และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการตรวจสอบความคืบหน้าการอนุมัติเข้าร่วมโครงการฯ ติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัด ที่ระบุเป็นสถานที่ทำงาน หรือผู้ที่เข้าร่วมโครงการแล้วต้องการความช่วยเหลือเรื่องการรับ-จ่ายเงินค่าจ้าง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน [2] 

เยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัย 50% มีผลใช้บังคับแล้ว

นายสุชาติ ยังระบุอีกว่าราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ กฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่าง เนื่องจากจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ซึ่งบัดนี้มีผลใช้บังคับแล้ว และมีผลย้อนหลังคุ้มครองนับตั้งแต่ 19 ธ.ค. 2563 เป็นต้นมา

สาระสำคัญ คือ มาตราการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง เพื่อเตรียมการรองรับ โดยให้ จ่ายชดเชยให้ผู้ประกันตน 50% ของค่าจ้างรายวันหรือในเงินเดือนไม่เกิน15,000บาท โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลา ที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือทางจังหวัดนั้นๆ ได้มีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณี แต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน

"รัฐบาลต้องการดูและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและผู้ใช้แรงงาน ในยามสถานการณ์แบบนี้อย่างเต็มที่ ผมในนามรัฐบาลขอให้กำลังใจทุกท่าน เชื่อว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นภาวะปกติในเร็ว ๆ นี้ เหมือนอย่างที่ผ่านมา และขอให้เชื่อมั่นและให้กำลังใจกันและกัน" รมว.แรงงานกล่าว [3]

สภาองค์การนายจ้างคาดปี 2564 แรงงานไทยว่างงานสะสม 2.9 ล้านคน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ระบุว่าภาพรวมการจ้างงานในปี 2564 ยังไปในทิศทางเดียวกับไตรมาส 4/2563 คือมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น การนำเข้าวัตถุดิบกลับมาติดลบต่ำสุดในรอบ 9 ปี ประกอบกับหากพิจารณาจากอัตราการใช้กำลังผลิต (ซียูพี) ของภาคอุตสาหกรรมไทยเฉลี่ย 63-65% จากที่ต่ำสุดราว 52% แต่ก็ยังคงเป็นอัตราการผลิตที่ทำให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างไม่คิดที่จะเพิ่มอัตรากำลังคนแต่อย่างใด และยังคงดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดเป็นหลัก แต่ถือเป็นผลดีต่อการประคองการจ้างงานในภาคส่งออก ส่วนในเรื่องของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ขณะนี้ มองว่าแรงงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการขึ้นของเงินเดือนมากนัก เพราะมีความกังวลในเรื่องของการมีงานทำและการลดลงของเงินเดือนมากกว่า

"โดยปี 2564 คาดว่าอัตราการว่างงานของแรงงานไทยยังคงสะสมอยู่ในระดับ 2.9 ล้านคน ปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามทิศทางเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวมากขึ้น แต่จะเป็นลักษณะของการค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่อาศัยการท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นหลักยังคงอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวเช่นเดิม" นายธนิต กล่าว

นายธนิต กล่าวว่าถึงแม้ภาพรวมตลาดแรงงานยังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้น แต่ยังมีความเปราะบาง ตามทิศทางเศรษฐกิจและยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานไทยที่มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.แรงงานในตลาดแรงงานปัจจุบัน 2.แรงงานที่ตกงาน และ3.แรงงานใหม่ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสูง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างต้องเร่งปรับลดรายจ่ายลงเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด

ปัจจุบันอัตราแรงงานไทยมีจำนวนประมาณ 37 ล้านคน ซึ่งใน 50% นี้เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม ซึ่งมีแนวโน้มว่าแรงงานอายุ 45-50 ปี มีทิศทางที่จะถูกให้เข้าโครงการสมัครใจลาออก หรือเออร์ลี่รีไทร์ มากขึ้น และแรงงานเหล่านี้ เมื่อเข้าโครงการแล้วจะไม่ปรากฏเป็นผู้ว่างงานในการจัดเก็บสถิติว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ยึดคำนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่ยังคงไม่ปรับเปลี่ยน เช่นเยวกับแรงงานที่มีอายุการทำงานเพียง 1 ปี ก็เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายในการลดจำนวนคนของนายจ้างเช่นกัน เนื่องจากมองว่ามีประสบการณ์น้อยและจ่ายชดเชยต่ำ ส่วนแรงงานที่ตกงานอยู่แล้วกำลังจะกลายเป็นปัญหาหนัก เพราะอาจกลายเป็นแรงงานที่ตกงานถาวรหากรัฐบาลไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะเข้ามาดูแลเพิ่มเติม

นายธนิต กล่าวว่า ส่วนแรงงานใหม่เสี่ยงตกงานสะสมซึ่งเป็นนักศึกษาจบใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาในระบบอีกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประมาณ 5 แสนคน จะส่งผลให้เมื่อรวมกับนักศึกษาที่จบไปแล้วปี 2563 แต่ยังไม่มีงานทำประมาณเกือบ 4 แสนคน หรือมียอดสะสมประมาณ 9 แสนคน แม้ในจำนวนนี้จะตรงต่อความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลแต่เชื่อว่าปัจจุบันยังมีความต้องการไม่มาก ซึ่งความต้องการอาจเพิ่มขึ้นในปี 2565-2566 เมื่อถึงตอนนั้นจำนวนแรงงานที่จบใหม่อาจไม่พอต่อความต้องการของตลาดดิจิทัลก็ได้ เนื่องจากนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นสาขาที่ไม่ตรงต่อความต้องการตลาดอยู่ดี [4]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแรงงาน เดือนพฤศจิกายน 2563 (กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1 ม.ค. 2564)
[2] ปลดล็อกเงื่อนไข Co-Payment เสริมจ้างงาน นศ.จบใหม่ (กรุงเทพธุรกิจ, 30 ธ.ค. 2563)
[3] เยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัย 50% มีผลใช้บังคับแล้ว (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 31 ธ.ค. 2563)
[4] เตือนรับมือปัญหาตกงานปีนี้ คาดสะสม 2.9 ล้านราย (มติชนออนไลน์, 1 ม.ค. 2564)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ก.ค. 63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' สถิติสูงสุด - เสนอจ้างงาน นศ. จบใหม่ 2.6 แสนตำแหน่ง
มิ.ย.63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' ทำสถิติสูงสุด - ธปท.ชี้เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
พ.ค. 63 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติอีกครั้ง เลิกจ้างทะลุหลักแสน
เม.ย. 63 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติ คาด นศ.จบใหม่ว่างงานกว่า 60%
ส.ค. 63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' สถิติใหม่สูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
ก.ย.-ต.ค. 63 ผู้ประกันตนว่างงานสูงเป็นสถิติใหม่ต่อเนื่องเดือนที่ 6 และ 7

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: