ถอดบทเรียนสังคมไทย 1 ปีอุ้มหายวันเฉลิม 1 ปีแห่งการต่อสู้และ 1 ปีที่คดีไม่คืบหน้า

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 6543 ครั้ง

สรุปงานเสวนาออนไลน์ “ถอดบทเรียนสังคมไทย 1 ปีอุ้มหายวันเฉลิม” ในวาระครบรอบหนึ่งปีที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวชาวไทยถูกชายพร้อมอาวุธปืนลักพาตัวในวันที่ 4 มิ.ย. 2563 หลังลี้ภัยการเมืองอยู่ในพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยปัจจุบันคดีของวันเฉลิมยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “ถอดบทเรียนสังคมไทย 1 ปีอุ้มหายวันเฉลิม” ในวาระครบรอบหนึ่งปีที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวชาวไทยถูกชายพร้อมอาวุธปืนลักพาตัวในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 หลังลี้ภัยการเมืองอยู่ในพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยปัจจุบันคดีของวันเฉลิมยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

โดยงานเสวนาช่วงแรกนั้นคือหัวข้อ กระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีความคืบหน้าของประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ซึ่งได้ บาดาร์ ฟารุคฮ์ เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนและหัวหน้าทีมประเทศไทย ประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, พสพ. ชำนาญการพิเศษ, มนทนา ดวงประภา เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและนักกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโสงานรณรงค์และนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ ชวนคุยโดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

บทบาทของรัฐไทยต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย

บาดาร์ ฟารุคฮ์ กล่าวว่า เวลานี้เป็นวาระครบรอบการหายตัวไปของวันเฉลิมที่กรุงพนมเปญ, กัมพูชา โดยที่คดีมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและไม่มีการยอมรับจากฝั่งรัฐว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ประเทศกัมพูชาเองปฏิเสธให้การยอมรับเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ประเทศไทยให้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายแล้วเมื่อปี 2555 แต่กลับส่งมอบสัตยาบันสารให้กับเลขาธิการองค์การสหประชาชาติตามข้อกำหนดล่าช้ากว่ากำหนดการหลายปี ความล่าช้าดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นอุปสรรคต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) แต่ยังเป็นการท้าทายการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการบังคับผู้คนให้สูญหายออกไปจากประเทศนี้ด้วย ซึ่งการกระทำเช่นนี้ยังไม่มีการระบุไว้ในกฎหมายของประเทศ โดยในรายงานฉบับที่สองที่ประเทศไทยส่งมอบให้ CAT ก็ยังไม่มีสถิติหรือข้อสรุปใดที่เกี่ยวข้องกับการทรมานสูญหาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความล่าช้าของกระบวนการร่างกฎหมายและจัดทำรายงานในประเทศไทยเอง

"ในรายงานฉบับที่สองนี้ ระบุว่าที่ผ่านมามีการร้องเรียนกรณีการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายกว่า 200 คดี แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ รับรายงานเพียงสองคดีเท่านั้น และมีคดีที่ถูกบังคับให้หายสาบสูญอีกหนึ่งคดี ซึ่งลำพังคดีเดียวก็นับว่ามากเกินไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แสดงให้เห็นว่า CAT เห็นว่าการทรมานในประเทศไทยนั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ตนอยากกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา ยังมีคดีค้างอยู่ 75 คดีและมีคดีที่ถูกถอนออกไปด้วย แปลว่า รัฐบาลนั้นสามารถเอากรณีเหล่านี้ออกไปจากรายชื่อคดีได้" บาดาร์กล่าว และเสริมว่า ภายหลังการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อปี 2557 นั้นจะพบว่า รัฐบาล คสช. ได้ขอเลื่อนการส่งรายงานให้ CAT ด้วย

บทบาทของหน่วยงานไทยต่อกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ

จิรัฐ ทองผิว พสพ. ชำนาญการพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า ในลำดับต้น กระทรวงยุติธรรมพยายามผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเช่นกัน เมื่อพยายามผลักดันเรื่องนี้แล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และมอบหมายให้กองคดีความมั่นคงมีหน่วยงานขึ้นมารองรับ คือศูนย์สอบสวนการทรมานและทำให้บุคคลสูญหาย และในเรื่องของการทำให้บุคคลสูญหายนั้น ก็มีหน่วยงานหลักๆ คือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพซึ่งถือว่าเป็นแม่งานของเรื่อง โดยมี สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ทั้งยังได้จัดตั้งคณะกรรมการที่แบ่งออกเป็นสี่อนุกรรมการ ได้แก่ อนุกรรมการติดตามตรวจสอบกรณีการทรมานและบุงคับสูญหาย, อนุกรรมการเยียวยากรณีถูกทรมานและบังคับให้สูญหาย, อนุกรรมการป้องกันการทรมาน และอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกทรมาน อย่างไรก็ตาม ในส่วนจองของกรมสอบสวนพิเศษจะมีหน้าที่ติดตามสอบสวนกรณีถูกทำให้สูญหาย

"เรื่องของคุณวันเฉลิม เมื่อปีที่แล้วคุณสิตานันได้เข้ามายื่นคำร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมฯ ได้รับคำร้องทุกข์ไว้ หลังจากรับเรื่องนั้นมาแล้ว ศูนย์บริหารคดีพิเศษได้พิจารณาว่ากรณีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร จึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 20 ที่บัญญัติว่า ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตาม กฎหมายไทยได้กระทําลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบหรือจะมอบหมายหน้าที่นั้นให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทําการ สอบสวนแทนก็ได้ ในช่วงเดียวกัน คุณสิตานันก็ไปร้องที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ ด้วยเช่นกัน และกรมคุ้มครองสิทธิฯ ก็ได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นไปแล้ว ภายหลัง อนุกรรมการชุดที่สี่ ก็ได้ส่งเรื่องมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษอีก ทั้งนี้ ที่เล่าก็เพื่ออยากให้เห็นภาพว่าเราทำงานควบคู่กันไปตลอด" จิรัฐกล่าว

และว่า หลังจากส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีการตรวจสอบกับทางกระทรวงการต่างประเทศ และทราบว่า ทางสำนักงานตำรวจของกัมพูชาแจ้งว่า การหายตัวไปครั้งนี้ของวันเฉลิมยังไม่มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นที่กัมพูชา และไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าว สำนักงานอัยการสูงสุดจึงส่งเรื่องกลับมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ

หลังจากส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีการตรวจสอบกับทางกระทรวงการต่างประเทศ และทราบว่า ทางสำนักงานตำรวจของกัมพูชาแจ้งว่ายังไม่มี การหายตัวไปครั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นที่กัมพูชา และไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าว สำนักงานอัยการสูงสุดจึงส่งเรื่องกลับมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งจากนั้น ได้ส่งเรื่องและดำเนินการต่อเพื่อพิสูจน์ว่า ไม่มีการหายตัวที่กัมพูชาจริงหรือไม่ และมีการอุ้มหายจริงหรือไม่ เวลานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐาน โดยเบื้องต้นตั้งเวลากันไว้หกเดือนนับจากวันที่กรมฯ รับเรื่องมาคือเมื่อเดือนมกราคม 2564 ว่าข้อมูลเพียงพอหรือไม่ ต้องเรียนว่า ทุกคนให้ความสำคัญต่อการสืบสวน มีพยานบางปากที่ยังอยากสอบปากคำเพิ่มเติม และมีการส่งหนังสือสอบถามข้อมูล ซึ่งตนว่าเป็นข้อมูลสำคัญ และได้ส่งหนังสือไปทางกัมพูชาเพื่อสอบถามแล้ว

จุดแข็ง-จุดอ่อนของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย

ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโสงานรณรงค์และนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การออกเป็นร่างพ.ร.บ. แล้วแยกเป็นกฎหมายนั้นจะคุ้มครองสิทธิผู้ถูกกระทำทรมานได้มากกว่า ในตัวร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายฉบับปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางกฎหมายที่มีนัยยะสำคัญมาก นั่นคือ ข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมที่ได้ให้การกำเนิดนิยามการทรมาน ว่าห้ามผลักดันบุคคลนั้นๆ กลับไปยังสถานที่ที่อาจจะต้องเผชิญอันตรายถึงแก่ชีวิต และกำหนดความผิดที่เป็นลักษณะของสายการบังคับบัญชา (Chain of command) ในที่นี้พูดถึงเจ้าหน้าที่รัฐและกำหนดให้การทรมาน สูญหายที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร สามารถดำเนินคดีต่อผู้ก่อเหตุได้

"เราไม่มีนิยามการลงโทษที่โหดร้าย เพราะคำว่าทรมานสามารถตีความได้หลากหลาย แต่ประเทศที่ก้าวหน้าในการตีความ จะตีความว่าการปฏิบัติบางอย่างว่าเป็นการปฏิบัติที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ครอบคลุมไปถึงการควบคุมตัวผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ตาม ตัวนิยามนั้นสำคัญมาก เพราะหากเราไม่มีนิยามก็ไม่อาจมั่นใจได้เลยว่ารัฐจะปฏิบัติตามคำสัญญาหรือไม่"

ภัทรานิษฐ์กล่าวอีกว่า ตัวความผิดที่เกิดจากการทรมานและบังคับสูญหายนี้ไม่สามารถยกเว้นได้แม้รัฐจะอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยก็อยู่ในสถานการณ์นั้น ซึ่งกฎหมายนี้ก็เสี่ยงในการตีความเช่นเดียวกัน เพราะต้องถามว่า ภาวะฉุกเฉินนั้นเป็นในทางรูปแบบหรือข้อเท็จจริง ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่มีการแจ้งว่ารัฐไทยริดรอนสิทธิในสามจังหวัด ทั้งที่ในเชิงข้อเท็จจริงแล้ว พื้นที่สามจังหวัดนั้นเป็นพื้นที่สีแดงมานานมาก

ในตัว พ.ร.บ. นี้ มีการกำหนดบทบัญญัติที่ป้องกันการทรมานสูญหาย โดยให้ญาติยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้เปิดเผยชะตากรรมของผู้ถูกควบคุมตัวได้ แต่ที่ผ่านมาก็สังเกตว่า ทุกคำร้องนั้นส่วนใหญ่ศาลยกคำร้องหมดเลยแม้ว่าหากมองในตัวกฎหมายแล้ว ตัวกฎหมายจะก้าวหน้าในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ที่องค์กรสิทธิมนุษยชนเป็นห่วงคือ ในทางปฏิบัตินั้น หากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตระหนักรู้หรือเข้าใจประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย แล้วปฏิบัติตามแนวเดิม กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหายก็อาจใช้ไม่ได้ผล

ทั้งนี้ ภัทรานิษฐ์ชี้แนะว่า ประเด็นสำคัญที่ยังขาดไปคือ จำเป็นที่จะต้องเขียนความผิดเกี่ยวกับการทรมานและอุ้มหายให้ชัดเจนว่าไม่มีอายุความ ญาติสามารถดำเนินคดีตอนไหนก็ได้ โดยให้สืบสวนสอบสวนจนกว่าจะพบเจอหรือได้รับเหตุอันน่าเชื่อถือว่าเสียชีวิตแล้ว ทั้งนี้ หากพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติทางความคิดของประชาชนและจะเป็นการปฏิวัติทางสังคมได้ในภาพรวม

การคุกคามจากภาครัฐนำไปสู่การลี้ภัย

มนทนา ดวงประภา เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและนักกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ศูนย์ทนายติดตามและทำข้อมูลเรื่องการละเมิดสิทธิ พบว่าหลังรัฐประหารปี 2557 มีกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารเพราะไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ โดยทราบว่ามีผู้ลี้ภัยทั้ง 104 คน แบ่งออกเป็นสี่กลุ่มได้แก่กลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยก่อนรัฐประหาร, กลุ่มนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่, กลุ่มนักวิชาการและกลุ่มบุคคลทั่วไปที่เห็นว่าภัยกำลังจะมาถึง เพราะบริบทหลังรัฐประหารมีการเรียกรายงานตัวเกิดขึ้น ซึ่งอาจต้องไปรายงานตัวในสถานที่ที่ไม่คุ้นชินนอกเหนือจากโรงพัก ภาวะการเรียกรายงานตัวเช่นนี้ถ้าไม่มีบุคคลที่สามรับรู้ก็เกิดความเสี่ยงให้มีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ ทำให้คนเหล่านี้ตัดสินใจออกนอกประเทศ และในช่วงนั้นมีนโยบายจะกลับมาจัดการบุคคลที่เกี่ยวกับคดี 112 การรัฐประหารคือโอกาสการรื้อฟื้นคดีนี้ บวกกับนโยบายช่วงนั้นที่ไม่อาจประกันตัวคนที่ถูกจับด้วยมาตรา 112 ได้ ผู้ลี้ภัยในเวลานั้นหลายคนจึงไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและตัดสินใจลี้ภัยในที่สุด

"ทั้งนี้ ทุกคนย่อมรักชีวิตของตัวทำให้ตัดสินใจออกไปจากประเทศ ทั้ง 104 คนที่ออกจากประเทศไปนั้นต่างก็มีหมายจับอยู่ในประเทศไทยทำให้กลับบ้านไม่ได้ ขณะเดียวกันก็มีการคุกคามคนที่ออกนอกประเทศไปแล้ว แปลว่าแม้เมื่อออกจากประเทศไปแล้ว ภัยคุกคามก็ยังตามไปได้อยู่ ทั้งยังมีภัยคุกคามรูปแบบหนึ่งคือไม่อนุญาตให้อยู่และไม่อนุญาตให้ตาย นั่นคือการทรมานและบังคับสูญหาย เมื่อเกิดรัฐประหารมีคนถูกบังคับให้สูญหาย 9 คน เจอศพ 2 คน ทั้งสองคนมีลักษณะศพที่เป็นผลจากคนที่ถูกฝึกปรือมาแล้ว เป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งทำให้ครอบครัวของคนเหล่านี้ที่ต้องพบกับความคลุมเครือที่สร้างความเจ็บปวดให้พวกเขา หากสูญหายไปแล้วหาไม่เจอก็จะเป็นความคลุมเครือไปตลอดกาล และเป็นการทรมานในอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้างที่ตัวบุคคลนั้นสัมพันธ์ด้วย"

ทั้งนี้ ชวนพิจารณาว่าการอุ้มหายนั้นเป็นปรากฏการณ์ในระดับภูมิภาค เป็นการร่วมมือระหว่างรัฐ อาจเกิดจากการประสานงานหรือช่วยเหลือกันในระดับใดระดับหนึ่ง หรืออยู่เฉยๆ ให้มีการลักพาตัวและให้มีการทรมานในประเทศที่ไม่ใช่ของตัวเอง จึงเชื่อมโยงมาสู่ข้อเสนอว่า ความร่วมมือในระดับภูมิภาค อย่างน้อยยกระดับมาตรฐานที่จะจัดการเรื่องนี้ มาตรฐานการสืบสวนต่างๆ อย่างจริงใจเพื่อสืบสวนโดยเร่งด่วน รวดเร็ว

ต่อมา เป็นช่วงงานเสวนาลำดับที่สอง โดยเป็นการพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ ถึงการตื่นตัว การตั้งคำถาม และความต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงของผู้คนที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน ภายหลังหนึ่งปี การบังคับสูญหายของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม, ณัฐกานต์ สุมน นักข่าวอิสระ, รักชนก ศรีนอก สมาชิก Clubhouse for Democracy, พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่ม Re-solution และชวนเสวนาโดย ธนกร วงษ์ปัญญา ผู้สื่อข่าวจาก The Standard

หนึ่งปีที่ไม่เคยหลับสนิทของสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิมกล่าวว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาหลังการหายตัวไปของวันเฉลิม นับเป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายที่สุด จึงอยากขอบคุณทุกคนที่ยังยืนเคียงข้างกัน ที่ผ่านมาทางหน่วยงานของรัฐไทยและกัมพูชาปฏิเสธการอยู่เป็นของวันเฉลิมมาตลอด วันนี้ตนได้ไปยื่นหนังสือที่ DSI และสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งต่างก็บอกว่ายังดำเนินการสืบสวนอยู่ ซึ่งจนถึงตอนนี้ตนได้รอมาขนาดนี้ก็จะให้เวลาต่อไปอีกสักหน่อย อยากถามว่ากระบวนการยุติธรรมไทยยังมีความยุติธรรมให้ประชาชนอยู่หรือไม่ วันเฉลิมยังเป็นพลเมืองชาวไทยอยู่และไม่ได้ทำผิดกฎหมายใดๆ เพียงแค่ไม่ได้ไปรายงานตัวต่อ คสช. ที่ยึดอำนาจมาเท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้น คสช. ได้ออกตามล่าวันเฉลิมจนน้องชายต้องหนีออกนอกประเทศ ส่วนตัวจึงมองว่าครอบครัวตนควรได้รับความเป็นธรรมบ้าง

"เราหมดความหวังไปตั้งแต่วันแรก เพราะทางการไทยไม่มีใครออกมาพูดเรื่องนี้เลย แม้เมื่อไปยื่นหนังสือตามหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่มีใครให้ความร่วมมือ ไม่เคยมีหน่วยงานของรัฐโทรมาถามว่าเกิดขึ้นจริงไหม ทั้งที่ทั่วโลกเห็นและประสานงานมายังเราโดยตลอด" สิตานันกล่าว และว่า "ทุกวันนี้ยังนอนไม่หลับเหมือนเดิม ต้องเปลี่ยนยาเพื่อรักษาอาการตัวเองไปเรื่อยๆ อยากบอกว่าเราไม่อาจควบคุมการนอนได้ สมองยังคิดตลอดว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร ทำอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมามีน้องๆ แกนนำหลายคนที่ถูกดำนเนินคดี เราจึงรู้สึกถูกกระตุ้นขึ้นมายิ่งทำให้ประเทศไทยไม่ปลอดภัย ภัยเริ่มขยับเข้ามาใกล้ตัวเรื่อยๆ ทำให้คิดเสมอว่าจะต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร และต้องทำอะไรเพื่อจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อประเด็นนี้ให้ได้ เพราะที่ผ่านมารัฐกระทำการบางอย่างต่อผู้ที่ถูกบังคับทรมานและสูญหายมาอย่างยาวนาน ไม่อยากให้เกิดรายต่อๆ ไปทำให้ตนต้องออกมายืนหยัดเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก"

สิตานันกล่าวอีกว่า เป็นปกติของรัฐไทยที่จะกระทำการต่อประชาชนได้ทุกรูปแบบ แต่ตนเป็นคนไม่ยอมให้ถูกกระทำฝ่ายเดียว จึงเข้าไปเผชิญหน้า เพราะถ้ากลัวก็จะทำให้รัฐได้ใจ จึงต้องประกาศให้รู้ว่าไม่กลัวอยากบอกว่าอย่าประเมินค่าประชาชนต่ำ หนึ่งปีที่ผ่านมาได้เห็นและพูดคุยกับญาติผู้ที่สูญหายไปก่อนหน้านี้ บางครอบครัวบอกว่าไม่อาจทำแบบตนได้เพราะกลัว เนื่องจากไม่รู้เวลาแน่ชัดว่าญาติสูญหายไปตอนไหน เมื่อไหร่ และไม่มีหลักฐาน ไม่มีข้อมูลอื่นๆ แต่ตนโชคดีที่ได้คุยโทรศัพท์อยู่กับวันเฉลิมตอนที่วันเฉลิมถูกอุ้มหายไปพอดี ทำให้มีหลักฐานและข้อมูลต่างๆ ทั้งยังโชคดีที่ประชาชนคนอื่นๆ ออกมายืนเคียงข้างกัน ทำให้สถานการณ์ต่างออกไป มีคนคอยยื่นมือมาช่วยเหลือเรามากกว่ากรณีคนอื่นๆ ขอบคุณมือทุกข้างที่ยื่นให้จับ ขอบคุณทุกมือที่ช่วยในวันที่อ่อนแอที่สุด เพราะก่อนหน้านั้น คิดว่าญาติคนอื่นๆ อาจไม่มีคนให้ความช่วยเหลือ จึงขอเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันต่อไป

บทบาทของสื่อในวันที่สถานการณ์แหลมคม

ณัฐกานต์ สุมน นักข่าวอิสระ กล่าวว่า สื่อต่างชาติยังติดตามประเด็นผู้ถูกทรมานอุ้มหายในไทยอยู่ ความยากของข่าวนี้คือ สื่อไทยเองก็อาจพบว่าหัวข้อค่อนข้างละเอียดอ่อนทำให้ต้องพิจารณาเพดานการรายงาน และการจะรายงานข่าวเรื่องผู้ลี้ภัยนั้นก็ยังเป็นเรื่องความไว้ใจระหว่างผู้สื่อข่าวกับแหล่งข่าว เนื่องจากหากจะรายงานข่าวนี้ สื่อไทยต้องออกนอกประเทศ ต้องใช้เวลาซื้อใจ แบะญาติผู้เสียหายก็อาจกลัวที่จะต้องคุยกับสื่อด้วย ทำให้อาจต้องเผชิญหน้าเรื่องงบประมาณและบุคลากร ขณะที่สื่อต่างชาตินั้นขอบเขตกว้างกว่าและได้ให้ความสนใจในประเด็นนี้หลายสื่อ โดยเฉพาะกรณีศพลอยขึ้นมาที่แม่น้ำโขงซึ่งสื่อไทยก็รายงานบ้าง แต่น้อยกว่าสื่อต่างประเทศที่รายงานเพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าตกใจ และมีสื่อหลายเจ้ามากกว่าในไทยด้วย

"มองว่า ที่ต่างประเทศสนใจรายงานเรื่องนี้นั้น เพราะประเทศไทยเป็นประเทศท่องเที่ยว การมีข่าวเช่นนี้สร้างความสะเทือนใจให้นักท่องเที่ยวจนต่างชาติให้ความสนใจต่อประเด็นนี้มากเป็นพิเศษ ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศก็อยู่ไทยหลายแห่ง ดังนั้นพวกเขาจึงรายงานข่าวค่อนข้างบ่อย" ณัฐกานต์ว่า

มองประเด็นการอุ้มหายผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่

รักชนก ศรีนอก สมาชิก Clubhouse for Democracy มองกรณีของวันเฉลิมว่า เป็นเวลาที่คนทั้งสังคมให้ความสนใจการออกมาชุมนุม แรงกระเพื่อมของคดีวันเฉลิมทำให้คนที่ออกไปการประท้วงรู้สึกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นกับตนได้ ทำให้คนที่สนใจเรื่องนี้รู้สึกเชื่อมโยงกับคดีของวันเฉลิม และไม่อยากให้มันเกิดกับคนอื่นอีก ที่ผ่านมา ก่อนหน้ามีการชุมนุม ตนก็ไม่เคยรู้จักผู้สูญหายคนอื่นๆ เลย เพราะข่าวไม่นำเสนอประเด็นเหล่านี้

"แต่เมื่อได้ไปร่วมชุมนุม มีครั้งหนึ่งที่ในการประท้วงมีการนำเอาโปสเตอร์สีเหลืองมาแจก ในนั้นเขียนชื่อ รูปและประวัติบอกว่าคนที่ถูกบังคับให้สูญหายนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เราขนลุกไปทั้งตัวเลย เพราะรู้สึกว่ามีคนถูกอุ้มหายจากรัฐไทยไปมากขนาดนี้ได้อย่างไร คนทั้งสังคมทำอะไรกันอยู่ ทำไมข่าวไม่ออก และได้ตั้งคำถามมาตลอด จนรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ธรรมดาแล้ว สื่อไม่รายงานเลยว่ามีคนสูญหายมากขนาดนั้นทั้งที่คดีอื่นๆ รายงวานได้ แต่นี่คึอคนหายไปทั้งคนกลับไม่มีรายงาน" รักชนกกล่าว และว่า ตนรู้สึกว่าคนที่ไปประท้วงสนใจประเด็นนี้ว่าคนเหล่านี้หายไปไหน ได้อย่างไร และตั้งคำถามว่าวันหนึ่งเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นกับตนไหมหากออกมาพูดเรื่องบางเรื่อง และเมื่อกลุ่มผู้ประท้วงพูดถึงประเด็นคนถูกบังคับให้สูญหาย สื่อก็เริ่มนำเสนอเรื่องนี้ทำให้คนที่หายไปเหล่านี้ถูกพูดถึงขึ้นมาในสังคมอีกครั้ง

"คนทุกรุ่นที่ทนมาก่อนหน้านี้และคนรุ่นนี้ต่างรู้สึกว่า ทำไมต้องทนต่อไป แต่ถ้าทนต่อไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ถ้ากลับไปเป็นประเทศเงียบงัน ไม่สนใจคนหายไปเหมือนเดิม หรือเป็นประเทศที่ไม่เคยพูดถึงสิ่งที่พูดไม่ได้ ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองตลอดเวลา แล้วจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแบบนี้หรือ เราตั้งคำถามมาตลอดว่าผู้ใหญ่รุ่นก่อนหน้าเราถึงทนมาได้ ซึ่งจริงๆ แล้วขาอาจไม่ได้ทน เพราะที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หรือเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง ทุกคนเขาก็สู้มาแต่เมื่อสู้แล้วไม่ชนะ คนรุ่นนี้จึงมีประโยคว่าอยากให้จบที่รุ่นเรา เพราะเราหวังเช่นนั้นจริงๆ อยากให้ประเทศดีขึ้นในรุ่นของเรา แต่จะแค่นั่งหวังให้ประเทศดีขึ้น ให้ไม่มีใครหายไป ให้สื่อนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมามันไม่ช่วยอะไร แต่ถ้ามีความหวังแล้วออกมาลงมือ ออกมาตั้งคำถาม แบ่งปันข้อมูลต่างๆ ให้คนรอบตัวรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในสังคมเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นสิ่งที่คนในสังคมทำได้

คนในสังคมไม่จำเป็นต้องออกมาเป็นทัพหน้า แต่ช่วยให้การสนับสนุนคนที่ออกมาพูดแทนด้วยการโพสต์เฟซบุ๊ก รีทวิต แชร์ข่าว เพราะมันสำคัญมาก การที่เขาออกมาพูดเรื่องนี้ยังมีพื้นที่ในหน้าสื่อ มีแสงจับจ้องตลอดเวลา ทำให้พวกเขาปลอดภัยในระดับหนึ่ง อย่าให้เขาหายไปจากหน้าสื่อและการพูดถึง คนทั้งสังคมสามารถช่วยให้ไม่เกิดวันเฉลิมคนต่อไปด้วยการให้แสงคนที่ออกมาพูดแทนได้" รักชนกกล่าว และปิดท้ายว่า ยากให้ทุกคนในสังคมเลิกเชื่อว่าเราเป็นแค่เสียงเล็กๆ เสียงหนึ่งทำอะไรไม่ได้ เพราะมันไม่จริง เสียงของทุกคนมีค่า มาช่วยกันพูดแล้วพูดออกมาเถอะ สักวันหนึ่งรัฐ ผู้มีอำนาจจะได้ยิน อย่าเชื่อว่าตัวเองเป็นแค่คนตัวเล็กๆ แล้วเสียงไม่มีความหมาย

รัฐธรรมนูญกับการทรมานและบังคับสูญหาย

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่ม Re-solution กล่าวว่า ขอเป็นกำลังใจให้สิตานัน ในมุมหนึ่ง เราเห็นประชาชนหลายคนตื่นตัวเรื่องนี้และตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน กระบวนการยุติธรรมและกลไกรัฐกลับถดถอยลงเรื่อยๆ นับเป็นสองทิศทางที่สวนทางกันอยู่ ดังนั้น วาระเร่งด่วนอาจไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องการผ่าน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่อยากชวนทุกคนมาช่วยจับตามอง ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญเองก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการสูญหายดังนี้ นั่นคือคือ ช่วงที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจและเป็นรัฐบาล คสช. หลายปี ระหว่างนั้นมีคำสั่งออกมาขัดกับสิทธิมนุษยชนหลายอย่างมาก เช่น ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมคนได้ 7 วัน และกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัว นับเป็นการเปิดช่องให้เกิดการบังคับสูญหายมากขึ้น เมื่อ คสช. ผ่านไปแล้วมาตรานี้กลับยังไม่หายไป เพราะในรัฐธรรมนูญนั้นเขียนไว้ว่าทุกคำสั่งของ คสช. นั้นให้เห็นชอบด้วยกฎหมาย

โดยพริษฐ์ขยายความต่อว่า รัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อการป้องกันรัฐประหาร สิ่งที่ยั่งยืนกว่าคือให้ประชาชนทุกคนเชื่อมั่นในหลักประชาธิปไตยและกลไกของประชาธิปไตย โดยเราสามารถเพิ่มกลไกเข้าไปในรัฐธรรมนูญได้ เพราะเมื่อรัฐบาลห่างจากความเป็นประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งใกล้เคียงกับการผิดหลักสิทธิมนุษยชนมากเท่านั้น ดังนั้นจึงอาจต้องมีการระบุมาตราต่างๆ เพื่อเน้นย้ำเรื่องสิทธิมนุษยชน และทำให้รัฐประหารมีราคาที่ต้องจ่าย เนื่องจากที่ผ่านมา นายพลทำรัฐประหารง่ายมากเพราะสามารถออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองได้ ทางแก้คือ ในรัฐธรรมนูญนั้นต้องระบุลงไปด้วยว่าสามารถกลับไปดำเนินคดีกับนายพลที่กระทำการรัฐประหารในอดีตได้

"อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ สิ่งที่น่ากลัวของรัฐธรรมนูญ 2560 คือมาตรา 25 ที่ว่า 'สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น' ทำให้เปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจตีความและเพิ่มความชอบธรรม เป็นข้ออ้างให้รัฐไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทั้งรัฐธรรมนูญยังเขียนไว้ด้วยว่า คสช. สามารถควบคุมทั้งสามขาของรัฐได้ ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ จึงจำเป็นจะต้องทำลายโครงสร้างตรงนี้แล้วให้สถาบันเหล่านี้สอดรับกับประชาธิปไตย เพื่อป้องกันการบังคับสูญหายที่อาจจะเกิดขึ้น" พริษฐ์กล่าว

ทั้งนี้ พริษฐ์ได้เสริมว่า การที่คนทุกรุ่นหันมาสนใจกรณีคุณวันเฉลิมอาจเพราะกรณีวันเฉลิมไปแตะหลายประเด็นที่เรื้อรังทางการเมือง นั่นคือเสรีภาพในการแสดงความเห็น เพราะคนที่ถูกบังคับสูญหายนั้นส่วนใหญ่คาบเกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น จึงต้องคุยเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิก 112 ทั้งตัวมาตราเองก็มีปัญหาโดยตัวเองจากการตีความ จะเห็นว่าหลายครั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตแต่ก็โดนดำเนินคดี รวมทั้งบทลงโทษที่หนักมากแม้เมื่อเทียบกับข้อกฎหมายอื่น

"นอกจากนี้ กรณีคุณวันเฉลิมยังเกี่ยวชี้ให้เห็นความไม่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นสากลของรัฐบาลไทย เห็นได้จากการรับมือกับการชุมนุมที่รัฐบาลชอบอ้างว่าทำตามหลักสากล ทั้งที่ไม่ตรงกับหลักสากลใดๆ ไม่ว่าจะใช้สารละลายหรือกระสุนยางอย่างผิดหลักสากล ต่อมา กรณีคุณวันเฉลิมยังสะท้อนให้เห็นการขาดความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ โดยจะพบว่ารัฐบาลไม่พร้อมตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา เช่น การปภิปรายไม่ไว้วางใจในแต่ละครั้ง คุณประวิตรไม่เคยชี้แจ้งเกิน 10 วินาที ทั้งที่การชี้แจงนี้เป็นการรับผิดชอบทางการเมืองขั้นพื้นฐาน ทำให้สร้างวัฒนธรรมการไม่ตอบคำถามต่อประชาชน และต่อมาคือ วัฒนธรรมลอยนวลคนผิด เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐผิด ต้องมีการค้นหาความจริงและดำเนินการสืบสวนสอบสวน เช่นเดียวกับการบังคับสูญหาย ก็จะไม่พบว่ารัฐกระตือรือร้นในการหาคนผิด" พริษฐ์กล่าว

และว่า เหตุการณ์วันเฉลิมยังสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจเรื่องหลักพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน เช่น หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดวันเฉลิมก็ไม่ออกมาเรียกร้องการหายตัวไปของวันเฉลิม ซึ่งเรามีหน้าที่ในการออกมายืนยันสิทธิคนที่เห็นต่างไม่น้อยไปกว่าคนที่เห็นด้วยกันกับเรา เพราะสิทธิไม่ใช่เรื่องการเรียกร้องให้คนที่เราเห็นด้วย แต่เป็นการเรียกร้องเพื่อทุกคน เนื่องจากเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมนี้จะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นกับใครบ้าง เราจึงต้องออกมาปกป้องสิทธิให้ทุกคน

"ใครที่ยังอยากเป็นกลางอยู่ อยากให้เข้าใจว่าสิ่งที่เราเรียกร้องอยู่ ไม่ว่าจะการร่างรัฐธรรมนูญหรือเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องเพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เพื่อสร้างกติกาให้ทุกคน" พริษฐ์ทิ้งท้าย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: