นักวิชาการเสนอลดหนี้ กยศ. 10-30% สำหรับนักศึกษาจบใหม่ปี 2563-2565

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 4910 ครั้ง

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษาแห่งชาติ เสนอลดหนี้ กยศ. 10-30% สำหรับนักศึกษาจบใหม่ปี 2563-2565 ชี้การคลายล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2564 แต่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์การว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ดีขึ้น | ที่มาภาพประกอบ: pixabay.com/paseidon (CC0)

เมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษาแห่งชาติ และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการทางวิชาการ ม. รังสิต เปิดเผยว่าการคลายล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2564 แต่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์การว่างงานนักศึกษาจบใหม่จบใหม่ดีขึ้น เสนอให้มีการลดหนี้ กยศ. ลง 10-30% สำหรับ นศ. จบใหม่ในปี พ.ศ. 2563-2565 ขณะที่ จำนวนผู้ว่างงานโดยเฉพาะบรรดาแรงงานนักศึกษาจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงวิกฤตการณ์โควิดสะสมอยู่ที่ 3-3.5 แสนคนเป็นอย่างน้อย ผู้ว่างงานและว่างงานแฝงโดยรวมไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคน อัตราการว่างงานโดยรวมดีขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสสองเมื่อเทียบกับไตมาสสองปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ว่างงานบวกว่างงานแฝงและทำงานต่ำระดับสะสมยังเพิ่มต่อเนื่อง แต่เราต้องเข้าใจว่า คำนิยามของการว่างงาน คือ ทำงานน้อยกว่าสัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมง และ มีคนจำนวนมากทำงานไม่ถึงสิบชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งหากพิจารณาตามคำนิยามคือไม่ถือเป็นคนว่างงานแต่เป็นผู้ว่างงานแฝงเท่านั้น แต่สภาวะความเป็นจริงแห่งการดำรงชีพ คนเหล่านี้เป็นผู้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและดูแลครอบครัวแล้วจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมหนี้ครัวเรือนขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90.5% ต่อจีดีพี และหนี้เหล่านี้ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบสถาบันการเงิน โดยเฉลี่ย กำลังแรงงาน นอกจากนี้สถานการณ์การว่างงานยังทำให้กองทุนประกันสังคมมีเงินไหลออกมากกว่าปกติจากกองทุนประกันการว่างงาน มีการใช้ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยมากกว่าสถานการณ์ปรกติมาก ความมั่นคงทางการเงินของกองทุนประกันสังคมในระยะยาวจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลต้องเอาใจใส่

การออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนและนักศึกษาจำนวนมากสร้างความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าการออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนและนักศึกษาจำนวนมากสร้างความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ สังคมไทยในระยะยาว ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจจะถดถอยลงอย่างชัดเจนในระยะต่อไป นอกจากนี้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมจะเพิ่มสูงขึ้น การจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันโดย IMD ปี 2564 แสดงให้เห็นว่า การศึกษาไม่มีคุณภาพและการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ต่ำเป็นปัจจัยฉุดรั้งประเทศชาติมากที่สุดในทุกด้าน การขาดระบบคุณธรรม (Merit System) ในระบบราชการและระบบการเมืองทำให้กิจการภาครัฐ เต็มไปด้วยการเล่นพรรคเล่นพวก การฉ้อฉล การซื้อขายตำแหน่ง คนมีความรู้ความสามารถไม่สามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญได้ทำให้ประเทศอ่อนลงเรื่อย ๆ ในระยะยาว

ผู้เรียนที่มีศักยภาพและความสามารถในการเรียน แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ขาดแคลนรายได้อันเป็นผลจากการล็อกดาวน์ รัฐต้องจัด “ทุนการศึกษา” ช่วยเหลือให้ได้ 100% โดยต้องไม่ให้ “เด็กคนไหน” ต้องตกออกจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโควิด ช่วยเหลือผ่านกองทุนเงินให้เปล่า ไม่ต้องกู้ยืม ทุนการศึกษาเหล่านี้ต้องครอบคลุมค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการครองชีพระหว่างเรียน การเสียชีวิตของคนจำนวนไม่น้อยจากติดเชื้อไวรัสโควิดทำให้มีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เสนอให้จัดสรรงบเพิ่มเติมไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าทั้งของหน่วยราชการ มูลนิธิและเอกชนทั้งหลายเพิ่มเติม เนื่องจากมีเด็กกำพร้าจำนวนไม่น้อยไม่มีญาติเลี้ยงดูหลังบิดามารดาเสียชีวิตกะทันหัน ในหลายกรณีเป็นการเสียชีวิตทั้งครอบครัว นอกจากนี้การช่วยเหลือควรครอบคลุมไปถึงแรงงานต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยด้วย

“การล็อกดาวน์” “การปิดสถานศึกษา” “การแพร่ระบาดของโควิดในหมู่บุคลากรทางการศึกษา” รัฐมีหน้าที่แก้ไขปัญหาและรัฐบาลต้องจัดการให้ พลเมืองทุกคนให้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน สามารถพัฒนาขีดความสามารถที่มีอยู่ในตัวตนของแต่ละบุคคลให้เต็มศักยภาพ จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อยกฐานะและชนชั้นในสังคมให้ทุกๆครอบครัวมีโอกาสที่ดีขึ้นผ่านการศึกษา อันนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ซึ่งเป็นปัญหารุนแรงมากขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์โควิด

รัฐควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าแนวโน้มนักเรียนและนักศึกษาออกจากระบบการศึกษายังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เสนอใช้โอกาสนี้เปลี่ยนวิธีการจัดการงบประมาณระบบการศึกษาโดยเฉพาะงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ จาก Supply-side Financing เป็น Demand-side Financing ด้วยการจัดสรรเงินทุนโดยตรงไปยังครอบครัวรายได้น้อยหรือครอบครัวยากจนเพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาได้มีเงินทุนในการศึกษาต่อไปได้ (Demand-side Financing) จากการที่ครอบครัวได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโควิด โดยลดการจัดสรรโดยตรงไปที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยให้น้อยลง (Supply-side Financing) จึงไม่จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในเบื้องแรก หากจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาการตกออกจากระบบการศึกษาจากปัญหาทางเศรษฐกิจให้จัดสรรผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือจัดสรรผ่านกลไกอื่นๆที่ไม่ใช่หน่วยราชการแบบเดิมที่ไม่มีประสิทธิภาพและยังมีความไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ

ควรให้สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของรัฐสามารถเรียกเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มเติม ค่าธรรมเนียมการศึกษาเพิ่มเติม ค่าบริการหรือค่าอำนวยสะดวกเพิ่มเติมได้จากผู้เรียนในกรณีที่สามารถจัดบริการทางการศึกษาด้วยคุณภาพที่สูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐกำหนด เพื่อให้ผู้เรียนและผู้ปกครองที่มีฐานะทางเศรษฐกิจได้มีส่วนร่วมระดมทุน เพื่อการศึกษา ตามหลักประโยชย์ที่ได้รับ (Benefit Principle) และทำให้ รัฐ สามารถนำเงินเหลือไปอุดหนุนการศึกษาภาคบังคับ การศึกษาระดับมัธยมและหลักสูตรอาชีวศึกษาและวิชาชีพเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้รัฐควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษาออนไลน์สำหรับนักเรียนและโรงเรียนต่างๆให้เพียงพอ ทั่วถึงและมีคุณภาพ Education Technology เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะกำลังคนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดซึ่งอาจจะดำรงอยู่อีก 1-2 ปี การเข้าถึงเทคโนโลยีทางการศึกษาพร้อมกับเนื้อหาสาระที่เสริมสร้างภูมิปัญญาและความรู้จะนำมาสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทยดีขึ้น และ โอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาที่รัฐจัดให้นั้น รัฐต้องประกันให้ได้มาตรฐานขั้นต่ำ และ เป็น ความเสมอภาคในแนวนอน (Horizontal Equity) สำหรับพลเมืองทุกคน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: