จับตา: สถานการณ์ COVID-19 ประจำสัปดาห์ 27 มิ.ย.-3 ก.ค. 2021

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ก.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2928 ครั้ง



สถานการณ์ COVID-19 ประจำสัปดาห์ 27 มิ.ย.-3 ก.ค. 2021 วันที่ 3 ก.ค. 2021 (เวลา 10.00 น.) มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 183,850,940 คน เสียชีวิต 3,979,901 คน รักษาหาย 168,276,817 คน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 277,151 คน รักษาหาย 217,499 คน เสียชีวิต 2,182 คน ฉีดวัคซีนแล้ว 10,572,292 โดส

27 มิ.ย. 2021

- ศบค. รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,995 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 244,447 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 198,928 ราย เพิ่มขึ้น 2,253 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 1,912 ราย
- ราชกิจจาฯ ประกาศ 10 มาตรการคุมระบาด COVID-19 กทม.-ปริมณฑล 4 จังหวัดภาคใต้ ปิดแคมป์ก่อสร้าง 1 เดือน ห้ามนั่งทานที่ร้าน งดกิจกรรมที่รวมตัวเกิน 20 คน เริ่ม 28 มิ.ย. 2564
- เลขาธิการ คปภ. ห่วงใยกรณีมีข่าวคนตั้งใจติดเชื้อเพื่อหวังเคลมเงินประกัน COVID-19 เตือนอย่าเสี่ยงทำ เพราะอาจเข้าข่ายไม่สุจริตหรือเป็นการฉ้อฉลประกันภัยและอาจชวดเงินประกัน
- อินโดนีเซีย บริษัทของญี่ปุ่นราว 1,900 แห่ง ในอินโดนีเซียเริ่มอพยพพนักงานกลับประเทศ หลังสถานการณ์ COVID-19 กลับมารุนแรงอีกครั้ง ผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. 2021 รัฐบาลอินโดนีเซียระบุสาเหตุมาจากการเดินทางช่วงวันหยุดหลังเทศกาลถือศีลอดที่ผ่านมา โดยในวันนี้ (27 มิ.ย. 2021) พบผู้ติดเชื้อใหม่มากที่สุดที่ 21,342 คน ตั้งแต่โรคนี้ระบาดในประเทศ
- มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน ประกาศขยายมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 มิ.ย. 2021 นี้ต่อไปอีก และจะไม่ผ่อนคลายจนกว่ายอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันจะต่ำกว่า 4,000 คน
- เวียดนาม บริษัทใหญ่เกาหลีใต้หลายแห่งที่ดำเนินกิจการในเวียดนามได้บริจาคเงินจำนวนมากให้เวียดนามนำไปจัดซื้อวัคซีน COVID-19
- ไต้หวัน พบเเล้วเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าหลังมีผู้ติดเชื้อจากเปรูเดินทางเข้ามาช่วงต้นเดือนและติดคนใกล้ชิดรวม 10 คน จึงระบุให้ผู้มาจาก 7 ประเทศกลุ่มเสี่ยงรวมทั้งอินเดีย อังกฤษและเปรู ต้องกักตัวในสถานที่กักกันโรคของรัฐ

28 มิ.ย. 2021

- ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 5,406 ราย ติดเชื้อสะสม 249,853 ราย รักษาหายเพิ่ม 3,343 ราย รักษาหายสะสม 202,271 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย เสียชีวิตสะสม 1,934 ราย
- นายกรัฐมนตรี เคาะมาตรการเยียวยาพิเศษลูกจ้าง - ผู้ประกอบการแคมป์คนงาน และร้านอาหารใน 6 จังหวัด โดยให้เงินพิเศษลูกจ้างเพิ่มเดือนละ 2,000 บาท นายจ้าง 3,000 บาทต่อหัวของลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 200 คน นอกเหนือจากการจ่ายเงินชดเชย 50%
- โฆษก ศบค. แจงก่อสร้างขนาดเล็ก ซ่อม-สร้างบ้านทำได้ ให้หยุดเฉพาะแคมป์ที่ขึ้นทะเบียนก่อสร้างงานใหญ่ ๆ คนมาก ๆ
- สธ.เปิด 7 แนวทางปฏิบัติ รองรับผู้ป่วย COVID-19 สีเขียว ไม่มีอาการ รักษาตัวอยู่ที่บ้าน พร้อมจับมือเอกชนพัฒนาเทคโนโลยีรองรับมาตรการ Home Isolation ทั้งระบบติดตามตัว แจ้งเตือน รายงานผลออกซิเจนและอุณหภูมิ ส่งไปยังโรงพยาบาล
- แอสตราเซเนกา ทยอยส่งมอบวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กระทรวงสาธารณสุขแล้ว 4.7 ล้านโดส เตรียมส่งมอบอีก 1.3 ล้านโดส ภายในสัปดาห์นี้ ยืนยันประสิทธิภาพดี ผลศึกษาลดความรุนแรงของโรคที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลถึง 80%
- อิตาลี ประกาศไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยและเป็นพื้นที่เสี่ยงต่ำสำหรับโรค COVID-19 ตั้งแต่วันนี้ หลังจากเป็นประเทศแรกในยุโรปที่พบผู้ติดเชื้อเมื่อเดือน ก.พ. 2020
- ออสเตรเลีย คณะกรรมการรับมือโรค COVID-19 ประชุมฉุกเฉินเนื่องจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ได้รวดเร็วระบาดไปทั่วประเทศ ทำให้ต้องล็อกดาวน์นครซิดนีย์และฟื้นมาตรการจำกัดในอีกหลายพื้นที่
- ฟิจิ เผชิญการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ มีผู้ติดเชื้อกว่า 300 คน/วัน ขณะที่ประชากรเกือบ 50% ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส
- อินโดนีเซีย สำนักงานอาหารและยาของอินโดนีเซียแนะนำให้ฉีดวัคซีน COVID-19 ของซิโนแวคให้แก่เด็กอายุ 12-17 ปี ตามนโยบายขยายการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ในขณะที่สถานการณ์ยอดผู้ป่วยติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นหลังพบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์หลายสายพันธุ์
- สิงคโปร์ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน COVID-19 ของสิงคโปร์ เปิดเผยว่าประโยชน์ของวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ยังมีมากกว่าความเสี่ยงของการฉีดวัคซีน คณะกรรมการฯ กล่าวถึงความเป็นไปได้ ในการฉีดวัคซีนชนิด mRNA แบบสองโดส อาจก่อความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยที่จะทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในกลุ่มคนหนุ่มสาว
- บังกลาเทศ การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้บังกลาเทศที่ประกาศปิดเมือง ปิดร้านค้า ปิดสำนักงานอีกครั้ง แต่ปัญหาคือกรุงธากาเมืองหลวงเต็มไปด้วยแรงงานที่มาจากต่างเมือง ส่งผลให้เกิดภาพของแรงงานจำนวนมหาศาลแห่กันกลับบ้านด้วยทุกวิธีทาง

29 มิ.ย. 2021


อย.ชี้แจงวัคซีนซิโนแวค 110 ขวด ที่จับตัวเป็นเจลใส เกิดจากการเก็บวัคซีน ไม่ได้เกิดจากขั้นตอนการผลิต ตรวจสอบวัคซีนล็อตการผลิตเดียวกัน ยังมีคุณภาพไม่พบความผิดปกติ ยืนยันไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชน

- ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 4,662 ราย ติดเชื้อสะสม 254,515 ราย รักษาหายเพิ่ม 2,793 ราย รักษาหายสะสม 205,064 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 36 ราย เสียชีวิตสะสม 1,970 ราย
- ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 กทม.ยังมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มรายวันมากสุดในไทย จำนวน 1,692 คน ส่งผลให้มียอดรวมสะสม 70,993 คน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ 26 คลัสเตอร์ใน กทม.มีแนวโน้มดีขึ้นไม่พบผู้ป่วยใหม่นานกว่า 28 วัน
- ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง ศบค. เปิดประเทศ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ให้ต่างชาตินำร่องเข้าไทย 1 ก.ค. 2564 นี้
- อย.ชี้แจงวัคซีนซิโนแวค 110 ขวด ที่จับตัวเป็นเจลใส เกิดจากการเก็บวัคซีน ไม่ได้เกิดจากขั้นตอนการผลิต ตรวจสอบวัคซีนล็อตการผลิตเดียวกัน ยังมีคุณภาพไม่พบความผิดปกติ ยืนยันไม่ได้นำไปฉีดให้กับประชาชน
- AstraZeneca ออกจดหมายข่าวประกาศว่าเดือนกรกฎาคมนี้บริษัทจะเริ่มส่งออกวัคซีน COVID-19 จากโรงงาน Siam Bioscience ในประเทศไทย โดยจะส่งออก 2 ใน 3 และกันไว้ให้ใช้ในประเทศไทย 1 ใน 3 จนตอนนี้ยังไม่มีข่าวเป็นทางการว่ากำลังผลิตจริงของ Siam Bioscience เป็นเท่าใด หลังจากบริษัทเคยประกาศร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขว่าจะผลิตให้ได้ 200 ล้านโดสต่อปี ซึ่งหากทำได้ตามที่ประกาศไว้ก็จะคิดเป็นกำลังผลิตเดือนละ 16.7 ล้านโดส ตามสัดส่วนในประกาศครั้งนี้ไทยจะได้รับ 5.56 ล้านโดสต่อเดือน
- แรงงานเมียนมาที่ติดเชื้อ COVID-19 จากคลัสเตอร์โรงงานเย็บผ้าใน อ.แม่สอด จ.ตาก ยังเพิ่มไม่หยุด ติดเชื้อรวมกว่า 600 คน ผู้ป่วยล้น รพ.สนาม 2 แห่ง ต้องใช้รถทหารมาลำเลียงย้ายออก และเร่งสร้าง รพ.สนาม 4 แห่ง ขณะที่ชุด PPE หน้ากาก N95 ถุงมือยาง แอลกอฮอล์ฉีดพ่น และสิ่งของจำเป็นหลายอย่างเริ่มขาดแคลน
- ออสเตรเลีย รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียประกาศล็อกดาวน์นครเพิร์ทเป็นเวลา 4 วันตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 29 มิ.ย. 2021 ตามเวลาท้องถิ่น ส่วนรัฐควีนส์แลนด์จะล็อกดาวน์นครบริสเบนและภูมิภาคใกล้เคียงบางส่วนเป็นเวลา 3 วันตั้งแต่ช่วงค่ำวันนี้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามควบคุมการระบาดครั้งใหม่จากเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลตา
- เกาหลีใต้ บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศ ให้ใช้คลินิกภายในของบริษัทในการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้แก่พนักงานในบริษัทได้ ด้วยความหวังว่าจะเร่งการฉีดวัคซีนให้พนักงานได้
- อังกฤษ เตรียมยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 19 ก.ค. 2021 นี้ โดยกำหนดให้เป็น "วันแห่งอิสรภาพ" (Freedom Day) แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจาก COVID-19 จะยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ก็ตาม
- อินโดนีเซีย ยังคงรอให้ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 บนเกาะบาหลีลดลงก่อนที่จะกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
- ฟิลิปปินส์ ขยายเวลาบังคับใช้มาตรการควบคุมการเดินทางและธุรกิจในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์และจังหวัดใกล้เคียงไปจนถึงกลางเดือน ก.ค. 2021 และจะยังคงใช้มาตรการควบคุมโรค COVID-19 ที่เข้มงวดมากขึ้นในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ของประเทศ
- สิงคโปร์ เปิดเผยโร้ดแมป COVID-19 ใหม่ ซึ่งมีใจความสำคัญคือการยกเลิกล็อกดาวน์ ยกเลิกการติดตามผู้สัมผัสกรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อ และให้ประชาชนเดินทางไปที่ไหนก็ได้แบบไม่ต้องกักตัว รวมกลุ่มกันได้ และรัฐบาลจะหยุดนับจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายวันเสียที มีการมองกันว่าข้อเสนอนี้ของรัฐบาลสิงคโปร์ ถือว่าสุดโต่งและย้อนแย้งกับหลัก “ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์” ที่รัฐบาลนานาประเทศกำลังใช้กันอยู่

30 มิ.ย. 2021


กรมการแพทย์ แจงการใช้ยา Ivermectin รักษา COVID-19 ไม่ใช่แนวทางการรักษาหลักเป็นเพียงหมายเหตุ เพราะเป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ การใช้เป็นดุลพินิจของแพทย์ เพราะการรักษาเป็นการประกอบโรคศิลปะ เตรียมศึกษาวิจัยในคนหลักพันคน เพื่อเปรียบเทียบกับยารักษาสูตรเดิม | ที่มาภาพ: Guidelines

- ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 4,786 ราย ติดเชื้อสะสม 259,301 ราย รักษาหายเพิ่ม 2,415 ราย รักษาหายสะสม 207,479 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 53 ราย เสียชีวิตสะสม 2,023 ราย
- องค์การเภสัชกรรม เผยขณะนี้จํานวนผู้ที่จองวัคซีนโมเดอร์นามีมากกว่าจํานวนวัคซีนที่จะได้รับการนําเข้า
- สื่อ Thai PBS รวบรวมประกาศจังหวัด รับผู้ป่วย COVID-19 ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้น ๆ จากนอกพื้นที่กลับไปรักษาในโรงพยาบาลในจังหวัด เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อระหว่างเดินทางและลดการติดต่อในครอบครัว
- รมว.สาธารณสุข เผยสัปดาห์นี้มีวัคซีนมาเพิ่มทั้งซิโนแวคและแอสตราเซเนกา 3.2 ล้านโดส จะเร่งกระจายลงพื้นที่ ย้ำวัคซีนไฟเซอร์มาแน่ปลายปี 20 ล้านโดส และจอห์นสันฯ ติดปัญหาที่บริษัทผู้ผลิต ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก ส่วนการตัดสินใจซื้อวัคซีน mRNA เป็นเรื่องของคณะกรรมการวิชาการ
- กรมการแพทย์ แจงการใช้ยา Ivermectin รักษา COVID-19 ไม่ใช่แนวทางการรักษาหลักเป็นเพียงหมายเหตุ เพราะเป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ การใช้เป็นดุลพินิจของแพทย์ เพราะการรักษาเป็นการประกอบโรคศิลปะ เตรียมศึกษาวิจัยในคนหลักพันคน เพื่อเปรียบเทียบกับยารักษาสูตรเดิม
- จ.สงขลา เปิดเผยว่าคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา มีประกาศขอความร่วมมือจากประชาชนงดออกจากเคหะสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. และให้ร้านอาหาร ตลาดโต้รุ่ง ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.-29 ก.ค. 2564
- เผย 5 ชาติสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แก่ บุรุนดี เอริเทรีย เฮติ เกาหลีเหนือ และแทนซาเนีย ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน COVID-19 แม้แต่เข็มเดียว นอกจากนี้วัคซีนในโครงการโคแว็กซ์ใกล้หมดสต็อกแล้ว
- สิงคโปร์ ประกาศว่าผู้ที่เลือกฉีดวัคซีน Sinovac จะไม่ได้สิทธิ์เข้าร่วมงานต่าง ๆ โดยไม่ต้องตรวจ COVID-19 ล่วงหน้า เหมือนกับผู้ที่รับวัคซีน Pfizer หรือ Moderna และหลังจากนี้คลีนิกที่รับฉีดวัคซีน Sinovac จะต้องแจ้งผู้รับวัคซีนว่าสิทธิ์ต่าง ๆ จะไม่เท่ากับผู้รับวัคซีนตามโครงการหลักของรัฐบาล
- ออสเตรเลีย รัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งเป็นรัฐที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการระบาดรอบล่าสุดของ COVID-19 รายงานวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22 ราย ในขณะที่ 4 เมืองใหญ่อยู่ในภาวะลอกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา
- สหรัฐฯ ผลการศึกษาล่าสุดระบุว่าเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ของ Pfizer หรือ Moderna มีอัตราเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวอักเสบสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ภาวะดังกล่าวยังคงได้รับการจัดให้เป็นชนิดหายากอยู่
- อิสราเอล อาจจะต้องทำลายวัคซีน Pfizer ที่กำลังจะหมดอายุจำนวน 800,000 โดส หากไม่สามารถหาผู้ซื้อได้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ทั้งนี้อิสราเอลมีวัคซีน 1.4 ล้านโดสที่จะหมดอายุในปลายเดือน ก.ค. 2021 และหวังว่าจะใช้วัคซีน 600,000 โดสฉีดให้กับประชาชนวัยรุ่นช่วงอายุระหว่าง 12-15 ปี จำนวน 300,000 คน (ฉีด 2 โดส) ให้ทันก่อนหมดอายุ
- เมียนมา กำลังเจรจาซื้อวัคซีน COVID-19 ของรัสเซียจำนวน 7 ล้านโดส ในขณะที่เจ้าหน้าที่เมียนมาพยายามควบคุมการระบาดระลอกใหม่
- ลาว ยืนยันพบผู้ป่วย COVID-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศครั้งแรก โดยเป็นแรงงาน 3 รายซึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศไทยเข้าสู่แขวงจำปาสัก

1 ก.ค. 2021


ไทยเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นำร่องการจัดมาตรการต่าง ๆ เพื่อเดินหน้าสู่การเปิดประเทศใน 120 วัน

- ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 5,533 ราย ติดเชื้อสะสม 264,834 ราย รักษาหายเพิ่ม 3,223 ราย รักษาหายสะสม 210,702 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 57 ราย (เสียชีวิตเป็นสถิติสูงสุด) เสียชีวิตสะสม 2,080 ราย
- นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ตรวจความเรียบร้อยการเปิดเมืองภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสเข้ามาเที่ยวในภูเก็ตโดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน ตามแผนภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เป็นวันแรก ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มแรก 25 คน จากสายการบินเอทิฮัด มาถึงแล้ว
- กระทรวงการต่างประเทศ เผยความคืบหน้าของการออกเอกสารรับรองการเดินทางเข้าประเทศ หรือ COE (Certificate of Entry) เพื่อรองรับนโยบายภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ว่า สถานะเมื่อเวลาช่วงเช้าวันที่ 1 ก.ค. 2564 ลงทะเบียนแล้ว 6,020 คน โดยกรมควบคุมโรคทำหน้าที่ตรวจเอกสารยืนยันการฉีดวัคซีน (Certificate of Vaccination) ตรวจอนุมัติแล้ว 1,379 ราย ปฏิเสธผู้ยื่นคำร้องไป 379 ราย และอีก 4,262 รายอยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งนี้ในวันที่ 1-3 กรกฎาคม มีผู้ได้รับอนุมัติ COE ในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เพื่อเดินทางเข้าไทย 323, 471 และ 279 รายตามลำดับ
- ม.มหิดล ร่วมองค์การเภสัชกรรม เผยผลศึกษาวิจัยวัคซีน COVD-19 ฝีมือคนไทย “HXP-GPOVac” ผลการทดลองในคนระยะแรกสร้างภูมิคุ้มกันดี เตรียมทดลองระยะที่ 2 ในเดือน ส.ค. 2564 นี้
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์เตียง COVD-19 ใน กทม.ยังวิกฤติต่อไปอีก 7-14 วัน และอาจพบการเสียชีวิตเพราะรอเตียง แม้เร่งผุดเตียงรองรับทั้งเขียว เหลือง แดง อาจไม่พอ
- แอสตร้าเซนเนก้า เผยผลการวิเคราะห์ย่อยจากการทดลองใช้วัคซีน COVID-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ในการศึกษากลุ่ม COV001 และ COV002 โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง ทั้งจากการเว้นระยะการฉีดวัคซีนโดสแรกและโดสที่ 2 เป็นระยะเวลากว่า 45 สัปดาห์ และการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- ธนาคารโลก ประกาศจัดหาเงินมูลค่ากว่า 4 พันล้านดอลลาร์เพื่อดำเนินการซื้อและแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 ให้กับ 51 ประเทศทั่วโลก โดยครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินดังกล่าวจะถูกจัดสรรให้กับประเทศในทวีปแอฟริกา
- สหภาพยุโรป (EU) เริ่มต้นใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีน COVID-19 แบบดิจิทัล หรือ พาสปอร์ตวัคซีนโควิดแบบดิจิทัล เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2021 แม้จะเจออุปสรรคเล็กน้อยในการเปิดใช้งานวันแรก
- อินเดีย ศาลสูงสุดของอินเดียมีคำสั่งให้ศูนย์จัดการภัยพิบัติแห่งชาติ (NDMA) ซึ่งมี 'นเรนทรา โมดี' นายกรัฐมนตรีนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการ ต้องจ่ายเงินเยียวยาแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทุกคน โดย ณ 1 ก.ค. 2021 อินเดียมีผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 รวมเกือบ 400,000 รายแล้ว
- ตุรกี เสนอวัคซีนโดสที่ 3 ให้กับผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขและผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- อังกฤษ รัฐบาลฮ่องกงประกาศห้ามสายการบินทุกเที่ยวบินจากอังกฤษเข้าประเทศ เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค. 2021 ขณะที่ประเทศในยุโรปบางประเทศเริ่มจำกัดไม่ให้ชาวอังกฤษเดินทางเข้าประเทศเช่นกัน ทั้งนี้อังกฤษรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 26,000 คนในวันที่ 30 มิ.ย. 2021 ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2021 แต่อัตราการเสียชีวิตและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลยังคงไม่สูงขึ้นมากนัก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการฉีดวัคซีนน่าจะได้ผล นอกจากนี้อังกฤษ เตรียมพิจารณาแผนระดมฉีดวัคซีน COVID-19 เพิ่มเติมในช่วงเดือน ก.ย. 2021 นี้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน หลังได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนว่าประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางอาจต้องได้รับการฉีดวัคซีนโดสที่ 3
- สกอตแลนด์ เผยผู้ติดเชื้อ COVID-19 เกือบ 2,000 คน มีความเชื่อมโยงจากการเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป
- อิสราเอล รายงานพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 307 คน เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2021 ถือเป็นตัวเลขรายวันสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2021 ท่ามกลางการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตา

2 ก.ค. 2021

- ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 6,087 ราย ติดเชื้อสะสม 270,921 ราย รักษาหายเพิ่ม 3,638 ราย รักษาหายสะสม 214,340 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 61 ราย (ตัวเลขรายวันสูงสุด) เสียชีวิตสะสม 2,141 ราย
- ผอ. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยบริษัทแอสตราเซเนกาจะส่งมอบวัคซีน COVID-19 ให้ไทยในเดือน ก.ค.-ก.ย. 2564 เพียง 5-6 ล้านโดส ไม่ตรงตามแผนเร่งฉีดวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือน ขณะที่ไฟเซอร์แจ้งส่งวัคซีนได้ไตรมาส 4 เดือน ต.ค.-พ.ย. 2564 หลังไทยส่งใบจองซื้อช้า
- กทม. เปิดศูนย์พักคอยผู้ป่วย COVID-19 ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ในซอยเพชรเกษม 69 รองรับผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ระหว่างรอเตียง ลดความเสี่ยงแพร่เชื้อในครอบครัวและชุมชน ยึดต้นแบบศูนย์พักคอยแห่งแรกที่วัดสะพาน คลองเตย
- ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน เปิดข้อมูลรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีดวัคซีน COVID-19 พบจำนวนผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงสะสม 1,148 คน โดยผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วเสร็จ 354 คน อยู่ระหว่างติดตามข้อมูล 794 คน
- องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในยุโรปที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา “ได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว” โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใน 53 ประเทศของยุโรป เพิ่มขึ้น 10% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (20-26 มิ.ย. 2021)
- เยอรมนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในของเยอรมนี ระบุว่าการตัดสินใจของสมาพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) ที่ให้จัดการแข่งขันท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 คือ “การไร้ความรับผิดชอบอย่างที่สุด”
- เกาหลีใต้ พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ทะลุ 800 คน ทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 6 เดือน เนื่องจากพบผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มก้อนใหม่และการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่แพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว
- กัมพูชา รายงานพบผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 จำนวน 32 ราย ซึ่งถือเป็นยอดผู้เสียชีวิตรายวันสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่เจ้าหน้าที่เตือนเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ที่เป็นการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา
- อินเดีย ยอดสะสมผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในอินเดียเกิน 400,000 คนแล้วในวันนี้ ซึ่งครึ่งหนึ่งเสียชีวิตในช่วงการระบาดระลอกที่ 2 ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักกับระบบสาธารณสุขและการฌาปนกิจผู้เสียชีวิต
- ออสเตรเลีย จะลดจำนวนผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากระบบโรงแรมที่ใช้เป็นสถานกักตัวเผชิญกับภาวะตึงตัวจากการระบาดของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลตาที่แพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว

3 ก.ค. 2021


ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าจากการศึกษาวิจัยของศูนย์ฯ ประมาณ 700 ตัวอย่างในเดือน มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีอัตราส่วนของสายพันธุ์เดลตาสูงขึ้นเร็วมากถึง 70%

- ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,230 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อทั่วไป 5,936 ราย และผู้ติดเชื้อภายในเรือนจำ 294 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 277,151 ราย (สะสมเฉพาะตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา 248,288 ราย ) และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 41 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตสะสม 2,182 ราย รักษาหายกลับบ้านได้วันนี้ 3,159 ราย รวมหายป่วยแล้ว 217,463 ราย
- สปสช.จับมือโรงพยาบาลปิยะเวทและเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน จัดตั้ง Community Isolation แก่ผู้ติดเชื้อ COVID-19 กว่า 1,200 คนและผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ในชุมชน 23 แห่ง
- กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลอนามัยโพลพบประชาชนในพื้นที่สีแดงเข้มไม่สวมหน้ากาก หรือสวมหน้ากากไม่ถูกวิธีถึงร้อยละ 35 หวั่นเสี่ยงแพร่เชื้อในชุมชน และไม่แนะนำสวมหน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น เพราะอาจเกิดช่องว่างลดความกระชับใบหน้า เสี่ยงต่อการแพร่และติดเชื้อ COVID-19 ย้ำต้องรักษามาตรการอื่นควบคู่กับการสวมหน้ากากด้วย
- ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าจากการศึกษาวิจัยของศูนย์ฯ ประมาณ 700 ตัวอย่างในเดือน มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีอัตราส่วนของสายพันธุ์เดลตาสูงขึ้นเร็วมากถึง 70%
- เยอรมนี มีคำแนะนำในการปรับการฉีดวัคเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลตาด้วยการฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน เช่น ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรก ควรได้รับการฉีดเข็มที่ 2 ด้วยวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา จะช่วยป้องกันเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดลตาได้ดีกว่าฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน 2 เข็ม
- โปรตุเกส ประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้านเวลา 23.00 น.-05.00 น. ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่พุ่งกว่า 2,000 คน/วัน
- อินโดนีเซีย เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อลดภาระระบบสาธารณสุขที่เกือบจะล่มสลาย หลังยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 พุ่งสูง โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มปฏิเสธผู้ป่วย


ข้อมูลจาก Worldometer ณ วันที่ 3 ก.ค. 2021 (เวลา 10.00 น.) มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 183,850,940 คน เสียชีวิต 3,979,901 คน รักษาหาย 168,276,817 คน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 277,151 คน รักษาหาย 217,499 คน เสียชีวิต 2,182 คน ฉีดวัคซีนแล้ว 10,572,292 โดส

 

ที่มาข้อมูล Timeline เรียบเรียงจาก: กรมควบคุมโรค | Thai PBS | สำนักข่าวไทย | VOA | NHK-World | สำนักข่าวอินโฟเควสท์ 

*อัพเดทข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.ค. 2021 อนึ่งวันเวลาที่ระบุไว้อาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: