4 มิ.ย. 2564 หนึ่งปีผ่านไป ยังไม่มีความยุติธรรมให้ 'วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์' และครอบครัว 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย' เรียกร้องไทยและอาเซียนต้องสอบสวนอย่างเป็นอิสระหลังไม่มีความคืบหน้าจากทางกัมพูชา
4 มิ.ย. 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงยุติธรรมขอให้เร่งรัดการดำเนินคดีและออกกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการสากลเพื่อยุติการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย และเรียกร้องทางการไทยเริ่มการสอบสวนอย่างเป็นทางการต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา หลังไม่มีความคืบหน้าจากทางการกัมพูชา และทำกิจกรรม “1 ปี เราไม่ลืม #หนึ่งปีต้องมีความยุติธรรมให้วันเฉลิม” เนื่องในวาระครบรอบหนึ่งปีการหายตัวไปของวันเฉลิม
โดยนักกิจกรรมแอมเนสตี้ ประเทศไทยและครอบครัววันเฉลิมได้ร่วมสวมเสื้อฮาวาย ใส่หน้ากากวันเฉลิม พร้อมยืนถือป้าย #หนึ่งปีต้องมีความยุติธรรมให้วันเฉลิม เป็นเวลา 12 นาที เพื่อรำลึกถึง 12 เดือนที่วันเฉลิมได้หายตัวไป รวมถึงเพื่อทวงคืนความยุติธรรม และร่วมกันส่งเสียงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยุติการสร้างความหวาดกลัวจากการถูกบังคับให้สูญหาย
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ครบรอบหนึ่งปีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ แต่ยังไม่มีความยุติธรรมให้กับเขาและครอบครัว เห็นได้ชัดว่า ทางการกัมพูชาล้มเหลวในการสอบสวนเพื่อให้ทราบชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิม และไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านกฎหมายที่จะต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเหมาะสมต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนลจึงขอเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมติดตาม ผลักดันและให้คำมั่นเพื่อปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ
ตลอดทั้งเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินการสอบสวนและค้นหาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน เคารพสิทธิในการเข้าถึง ความยุติธรรมของผู้เสียหายและครอบครัว นำตัวคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นขธรรม และยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง เช่น การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้ทางการไทยให้เริ่มการสอบสวนอย่างเป็นอิสระด้วยตนเอง โดยให้อัยการสูงสุดร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ เริ่มการสอบสวนอย่างเป็นทางการต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ตามมาตรา 20 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบกับมาตรา 3 และมาตรา 21 พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และเพื่อประกันความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของการสอบสวนครั้งนี้ ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้ามามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในการสอบสวนครั้งนี้ด้วย
“ถึงเวลาแล้วที่ทางการไทยต้องเข้ามาทำหน้าที่ และดำเนินการสอบสวนอย่างรอบด้าน อย่างไม่ลำเอียง และเป็นอิสระต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งเกิดขึ้นกับพลเมืองของตนเองในระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยชาวไทยหลายคนถูกบังคับให้สูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสอบสวนที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล”
นอกจากนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังย้ำข้อเรียกร้องที่มีต่อคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ให้ดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียน เพื่อให้เกิดมาตรการความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต่อกรณีผู้เสียหายจากการบังคับให้สูญหาย รวมทั้งการค้นหา ระบุตำแหน่งที่อยู่ ปล่อยบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“การที่อาเซียนและ AICHR ยังนิ่งเฉยทั้งที่เกิดการบังคับบุคคลให้สูญหายข้ามพรมแดนภายในภูมิภาค เป็นเรื่องน่าละอายและถือเป็นความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เลวร้ายสุดครั้งหนึ่ง การลอยนวลพ้นผิด ความอยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นได้เพราะความเพิกเฉยขององค์กรระดับภูมิภาค ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนต้องแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนต่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย”
นอกจากนี้ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ยังได้ทวงถามว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนรับจดหมาย ถึงกรณีความคืบหน้าของกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม โดยว่าที่ ร.ต.ธนกฤต ได้กล่าวว่า
“จากที่ได้รับรายงานว่า คุณวันเฉลิมได้หายตัวไป กรมคุ้มครองสิทธิได้รายงานให้อำนาจตั้งอนุกรรมการคุ้มครองเพื่อดูแลสิทธิบุคคลสูญหาย ในเบื้องต้นได้มีการทำหนังสือไปถึงสามหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ โดยได้แจ้งไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่ามีบุคคลสูญหาย แต่บังเอิญว่าคดีนี้เป็นคดีนอกราชอาณาจักร ซึ่งในทางกฎหมายจะต้องประสานไปที่อัยการสูงสุด ให้มีอำนาจในการยื่นทำคดีนอกราชอาณาจักร
“โดยได้มีการส่งเรื่องกลับมาที่ DSI ให้นำสืบ ในเรื่องของการสืบสวนก่อนว่าคดีนี้มีข้อเท็จจริงอย่างไร และทำหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งได้มีการตอบว่า ให้ดูว่ามีคดีอาญาเกิดขึ้นหรือไม่เป็นลำดับที่หนึ่ง ลำดับที่สองให้ DSI ทำงานสืบสวนว่ามีความเป็นมาอย่างไร”
ต่อมา ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต ได้รายงานว่า ทาง DSI ได้ทำหนังสือถึงประเทศกัมพูชาและกระทรวงการต่างประเทศเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการเข้าหรือออกนอกประเทศของวันเฉลิม ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างรอการตอบกลับจากประเทศกัมพูชา และยังไม่มีหนังสือตอบกลับมา โดย
“เมื่อ DSI มีการสอบถามแล้ว กรณีนี้จะกลายเป็นเรื่องระหว่างการสืบสวน หากเป็นเรื่องวิสามัญเข้ามาเกี่ยวข้อง มันจะเกี่ยวกับคณะกรรมการคดีพิเศษ ทำหน้าที่ดำเนินคดีเกี่ยวกับบุคคลสูญหาย จึงต้องเรียนให้ทราบก่อนและส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับท่ายอัยการสูงสุด ผมก็จะสอบถามให้ ที่ผ่านมาผมก็พยายามเร่งรัดคดีให้ แต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา ต้องดูด้วยว่าเรามีอำนาจในการดำเนินการได้ถึงลำดับไหน
“ในปี 2557 ที่เขาได้ออกนอกประเทศไป เมื่อ 2557 จนถึงปัจจุบัน ก็ไม่รู้ว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนังสือเดินทาง หมดอายุไปแล้วหรือไม่ อย่างไร ในรายละเอียดผมจะต้องไปสอบถามอีกที
“ต่อมาก็คือสิทธิอะไรบ้างที่กรมคุ้มครองสิทธิจะสามารถดำเนินการให้ได้บ้าง เพราะในกฎหมายเราก็เป็นเรื่อง 2 ประเด็น ได้แก่ กรณีสาบสูญ ในเรื่องของกรมคุ้มครองสิทธิจะเยียวยาได้หรือไม่ ก็จะต้องดูว่า คดีที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาว่าจะชดเชยเยียวยาได้แค่ไหน”
สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าจะเชื่อใจทางกระทรวงยุติธรรมและจะคอยติดตามกรณีต่อไป โดยย้ำว่ามีหลักฐานชัดเจนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและคาดหวังว่าจะได้รับคำตอบอย่างจริงใจจากรัฐบาลไทยและกัมพูชา
“ทางการไทยและทางการกัมพูชาควรมีคำตอบให้เราแล้ว ไม่ใช้ปล่อยให้มาถึงหนึ่งปี เพราะหลักฐานนั้นชัดเจนมาก และบ่งบอกได้ว่าวันเฉลิมอยู่ที่นั่นจริงและหายไปจากที่นั่นจริง ในการยื่นหนังสือครั้งนี้ ทางเราคาดหวังว่าจะได้รับความจริงใจของรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ว่าจะให้คำตอบเราอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาหนึ่งปีแล้ว”
สิตานันท์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้รับการยืนยันจากสํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติว่ามีกรณีนี้เกิดขึ้นจริง แต่ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลไทย และได้เปิดเผยอีกว่า ขณะอยู่ระหว่างการไต่สวนคดีที่กัมพูชาในวันที่ 8 ธ.ค. 2563 ตนถูกผู้พิพากษาถามว่าจะเรียกร้องค่าเสียหายเท่าไหร่ ซึ่งผิดวิสัยจากการเป็นคดีอาญาและถูกห้ามไม่ให้เผยแพร่เรื่องนี้ อีกทั้งยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่ามีการคุกคามพยานบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์
โดยนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์เป็นนักกิจกรรมชาวไทยที่หายตัวไปในประเทศกัมพูชาเป็นเวลาหนึ่งปี นับตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. 2563
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งในผู้ร่วมยื่นจดหมายปิดผนึก ถึงกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวว่า พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย เป็นกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรมเกี่ยวข้อง จากการอ้างถึงการขอให้มีคำสั่งสารให้เป็นบุคคลสาบสูญนั้น สามารถระบุได้ว่ากฎหมายเราไม่เพียงพอต่อการจัดการเรื่องการบังคับให้สูญหาย
“โดยทางกระทรวงยุติธรรมได้มี พ.ร.บ. ชื่อเดียวกันกับที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสามพรรคการเมืองได้เสนอเข้าไปในสภาแล้ว ในฐานะตัวแทนของนักการเมืองคนหนึ่ง และเป็นตัวแทนของผู้ช่วยรัฐมนตรี ขอให้ท่านช่วยติดตามเรื่องการนำ พรบ.ชื่อเดียวกันทั้งสี่ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นวาระเร่งด่วน”
อีกทั้งยังกล่าวขอให้ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมผู้รับจดหมาย ให้รับปากว่า จะต้องจัดการกรณีวันเฉลิม ให้ครอบครัวได้รับการเยียวยา และนำคนผิดมาลงโทษ
“แต่กรณีต่อไป กฎหมายฉบับนี้จะต้องติดตามเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำเนินการซ่อนศพ หรือดำเนินการต่างๆ นอกราชอาณาจักร จนกระทั่งเป็นปัญหาเรื่องการสืบสวนสอบสวน เพราะที่ผ่านมาทุกหน่วยงานมีคำตอบให้กับการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้เหมือนกันหมด ว่ากรอบกฎหมายของประเทศไทยยังไม่เพียงพอสำหรับการสืบสวนสอบสวนที่เป็นอิสระ
“อีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องการเยียวยา เราไม่จำเป็นต้องหาหลักฐานที่บ่งบอกได้ว่ามีการหายไป เพราะมันไม่มี ดังนั้นการกำหนดการเยียวยา ควรต้องยึดมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับกรณีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการจัดจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นให้กับผู้เสียหายและญาติเพื่อให้เป็นทุนในการตามหา”
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ โดยคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance -WGEID) ระบุว่ามีผู้ถูกบังคบให้สูญหายในประเทศไทย 87 คน ทั้งจากเหตุการณ์ทางการเมือง เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สงครามยาเสพติดช่วงปี 2546-2558 รวมถึงปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าในยุครัฐบาล คสช.
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ