สช. เปิดวงแลกเปลี่ยนบทเรียนการดำเนินงาน Palliative Care และ Living Will จาก 7 พื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ พบปัจจัยความสำเร็จเริ่มจากความเข้าใจของบุคลากร การสื่อสารให้ผู้ป่วยรับรู้ถึงสถานการณ์ของโรค ช่วยเพิ่มการยอมรับ-ร่วมกันออกแบบการดูแลในวาระสุดท้ายของชีวิต ย้ำอยู่บนความต้องการคนไข้เป็นสำคัญ-เปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ | ที่มาภาพประกอบ: truthseeker08 (Pixabay License)
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนพื้นที่ต้นแบบการจัดทำ Living will ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในระบบการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care & Living will) เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2564 ซึ่งได้มีการถ่ายทอดประสบการณ์และความสำเร็จจากการดำเนินงาน นำเสนอประเด็นความท้าทาย และแนวทางที่จะต้องพัฒนาต่อไป ผ่านตัวอย่างของ 7 พื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ที่ระบบสุขภาพของประเทศไทย มีแนวโน้มของการเกิดโรคอุบัติใหม่และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่คุกคามต่อชีวิตผู้คนเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงโครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative care และการแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือ Living Will มีความสำคัญและมีบทบาทต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนมากขึ้น
'Palliative Care และ Living Will' ทำให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายได้รับการคุ้มครองศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ทั้งนี้ Palliative Care และ Living Will จะมีส่วนทำให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้รับการคุ้มครองศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ พร้อมกับช่วยให้ค่าใช้จ่ายของการดูแลที่ไม่จำเป็น ทั้งในส่วนตัวผู้ป่วย ครอบครัว รวมไปถึงภาพรวมของประเทศลดน้อยลง การจัดบริการสุขภาพให้สามารถรองรับสิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความท้าทายทั้งในระบบสุขภาพ รวมถึงต่อตัวบุคลากรเองที่จะเข้าใจและให้ความสำคัญในเรื่องนี้
“การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีความซับซ้อนทั้งในมิติสุขภาพ และมิติทางสังคม ความเชื่อ วัฒนธรรม ซึ่งต้องการการจัดการเชิงระบบและการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายในการสร้างการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจของประชาชน ซึ่งในปี 2564 นี้ สช. จึงได้สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภาคีดำเนินการถอดบทเรียนจากการดำเนินงานหลายแห่งที่พบว่ามีประสิทธิภาพ เพื่อนำมาสื่อสารและสามารถเป็นต้นแบบในการดำเนินงานให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้” นพ.ประทีป กล่าว
โรงพยาบาลพุทธชินราช ยกระดับ Palliative Care มาเป็น Excellence Service
คลินิกเบาใจ โรงพยาบาลพุทธชินราช ACP Clinic
พญ.น้ำทิพย์ อินทับ ตัวแทนจากโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า ตลอดช่วงเวลาการดำเนินงานด้าน Palliative Care ราว 5-6 ปี สิ่งที่โรงพยาบาลทำมากที่สุดคือการฝึกฝน สร้างความรู้ให้กับบุคลากรในทุกรูปแบบ ตั้งแต่การส่งไปฝึกอบรมจากภายนอก กระทั่งในระยะหลังที่ได้จัดทำหลักสูตรขึ้นมาเองจนเป็นหลักสูตร 4 สัปดาห์ที่นำไปให้ความรู้กับหน่วยบริการอื่นทั้งเขตสุขภาพ โดยในโรงพยาบาลขณะนี้มีพยาบาล Palliative Care ครบทุกหอผู้ป่วยหลัก และมีแผนให้ครบทั้งโรงพยาบาลในปีนี้
“เรายกระดับพัฒนาคุณภาพ Palliative Care มาเป็น Excellence Service ของโรงพยาบาล มีแบบฟอร์มวางแผนการดูแลล่วงหน้า หรือ ACP รวมอยู่ในระบบเวชระเบียนของผู้ป่วย ซึ่งทุกแผนกจะสามารถเห็นข้อมูลนี้ได้แม้ไม่ใช่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็ตาม และหากเราพบกรณีที่มี ACP แล้ว แต่คนไข้ไม่ได้รับการดูแลตามที่วางไว้ ก็จะมีการพูดคุยเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและไปพัฒนาต่อ โดยสิ่งที่อยากให้มีจากนี้ คือเป็นการเร่งสร้างหลักสูตรเพื่อให้แพทย์รุ่นใหม่มีความรู้ ความเข้าใจ เคารพในสิทธิของผู้ป่วยที่จะเลือกรับการดูแลเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง” พญ.น้ำทิพย์ กล่าว
เผยคนเริ่มคุ้นชินกับคำว่า "ตายดีที่บ้าน" "พินัยกรรมชีวิต" หรือ "การวางแผนล่วงหน้า" กันมากขึ้น
ด้าน ดร.ปทมพร อภัยจิตต์ ตัวแทนจากโรงพยาบาลนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า การดำเนินงาน Palliative Care ทางโรงพยาบาลได้เปิดให้ผู้ป่วยมีการทำพินัยกรรมชีวิต โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและพัฒนามาเป็นการกรอกเอกสารหน้าเดียว ใช้ภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย ให้กำหนดได้ว่าหากโรคดำเนินมาถึงจุดสุดท้ายแล้วจะต้องการการดูแลอย่างไร โดยมีการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการระดับอำเภอ จนกระทั่งในแผนแม่บทของอำเภอนางรองเองมียุทธศาสตร์ที่เรียกว่า "Smart Death" หรือ "การตายดีที่บ้าน"
“คนจะเริ่มได้ยิน คุ้นชินกับคำว่า ตายดีที่บ้าน พินัยกรรมชีวิต หรือ การวางแผนล่วงหน้ากันมากขึ้นตั้งแต่ผู้บริหารระดับอำเภอ ตำบล ลงไปถึงชุมชนหมู่บ้าน และเมื่อมีการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เราก็จะเข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกกลุ่ม ช่วยให้แนวคิดการออกแบบกระบวนการตัดสินใจ จากมายาคติเดิมที่ว่าชวนคุยเรื่องความตายเป็นเรื่องอัปมงคล แต่หลังดำเนินการมา 4-5 ปี มีผู้ป่วยที่สนใจจาก 100-200 คน กลายเป็น 1,000-2,000 คน” ดร.ปทมพร กล่าว
ดร.ปทมพร กล่าวว่า ความสำเร็จจากการดำเนินงาน พบว่าผู้ป่วยที่ทำหนังสือแสดงเจตนา หรือ Living Will เอาไว้ ได้รับการดูแลตามพินัยกรรมถึง 98% มีเพียงไม่กี่รายที่เปลี่ยนใจขอใส่อุปกรณ์ช่วยชีวิตภายหลังเพราะเผชิญความทรมาน ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่า ผู้ป่วยที่ทำพินัยกรรมชีวิตพร้อมครอบครัวซึ่งได้รับข้อมูลที่ชัดเจนก่อนตัดสินใจ ส่วนใหญ่จะไม่เปลี่ยนใจในแนวทางการรักษา อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องทวนสอบการตัดสินใจอีกครั้งเมื่อผู้ป่วยเผชิญกับความทุกข์ เพราะผู้ป่วยมีสิทธิเปลี่ยนใจได้ ดังนั้นแม้จะมีพินัยกรรมชีวิตแล้วบุคลากรก็ยังต้องถามผู้ป่วยและครอบครัวอีกครั้ง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ