จับตา: ม.ค.-มิ.ย. 2564 ยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจโฆษณารายใหม่เพิ่มขึ้น 26.59%

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ส.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2228 ครั้ง


ก.พาณิชย์ เผยจากผลกระทบ COVID-19 ทำให้คนไทยหันมาช้อปออนเพิ่มขึ้น ดันยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจโฆษณารายใหม่ ม.ค.-มิ.ย. 2564 เพิ่มขึ้น 557 ราย เพิ่มขึ้น 26.59% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 | ที่มาภาพประกอบ: Tim Reckmann (CC BY 2.0)

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 2564 ว่านายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป มีการทำงานและเรียนผ่านออนไลน์ที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้งานระบบออนไลน์ การใช้โซเชียลมีเดีย และการรับชมทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือของผู้ใช้งานอายุระหว่าง 16 – 64 ปี ในประเทศไทย พบว่า มีการใช้งานเฉลี่ย 5.07 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก และหากนับรวมการใช้อินเทอร์เน็ตทั้งระบบ คนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของการใช้เวลาภายใน 1 วัน ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงให้ความสำคัญและหันมาประกอบธุรกิจ ทำการตลาดบนโลกออนไลน์มากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล ปี 2563 ของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ที่ภาคธุรกิจมีการใช้งบประมาณซื้อสื่อโฆษณาดิจิทัลมูลค่าสูงถึง 21,058 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปี 2562 (19,555 ล้านบาท) และข้อมูลของบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด รายงานว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางรวมแล้วจำนวน 53,640 ล้านบาท”

ทั้งนี้ จากข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าในปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) ธุรกิจโฆษณา มีจำนวนการจดทะเบียนฯ ใหม่ ทั้งสิ้น 557 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.59 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 (440 ราย) และทุนจดทะเบียนของธุรกิจโฆษณาในช่วงครึ่งปีแรก ปี 2564 มีจำนวน 893.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.39 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 (560.34 ล้านบาท) เป็นการส่งสัญญาณแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีของธุรกิจโฆษณาในประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีธุรกิจโฆษณาที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 10,293 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.28 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ และมูลค่าทุนรวม 52,668.81 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.27 ของมูลค่าทุนธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ ส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 8,868 ราย คิดเป็นร้อยละ 86.15 มูลค่าทุนรวม 43,541.39 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.67 ธุรกิจโฆษณาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 6,365 ราย คิดเป็นร้อยละ 61.84 รองลงมาคือ ภาคกลาง 1,990 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.33 ภาคเหนือ 598 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.81 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 435 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.23 ภาคใต้ 426 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.14 ภาคตะวันออก 368 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.58 และภาคตะวันตก 111 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.08

นอกจากนี้ ในส่วนของนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจโฆษณาในประเทศไทย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 มีมูลค่าการลงทุนจำนวน 3,804.31 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.23 ของการลงทุนในธุรกิจโฆษณา โดยสัญชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อเมริกัน 1,689.05 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.21 จีน 408.70 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.78 และ เยอรมัน 345.70 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.66 ปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจโฆษณาดิจิทัลมีอัตราการเติบโตที่ดี คือ ภาคธุรกิจสามารถเลือกช่องทางการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดมากขึ้น มีแพลตฟอร์มที่เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว และการมีเทคโนโลยีที่สามารถรองรับให้ผู้บริโภคเปิดรับสื่อได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดียที่มีการเติบโตของการลงเงินโฆษณาถึงร้อยละ 20 โดยสื่อดิจิทัลที่มีเม็ดเงินการลงทุนในปี 2564 ได้แก่ Facebook ร้อยละ 32, YouTube ร้อยละ 23 และ TikTok มีแนวโน้มการเติบโตสูงอยู่ที่ร้อยละ 21 การลงทุนในแต่ละสื่อมีมูลค่าเม็ดเงินสูงถึงพันล้านบาท โดยการโฆษณาทางโซเชียลมีเดียในปัจจุบันมีความเหมาะสมกับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีหรือผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเป็นช่องทางการสื่อสารกับผู้บริโภคได้อย่างสะดวกรวดเร็วและใช้เงินลงทุนที่ไม่สูงมากนัก โดยการดำเนินธุรกิจโฆษณาต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นลำดับแรก การเลือกช่องทางการสื่อสาร การเลือกช่วงเวลา และความถี่ที่เหมาะสม รวมทั้งการคิดนอกกรอบในการสร้างสรรค์สื่อโฆษณา เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลายเข้าใจในคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของลูกค้าได้อย่างแท้จริง จะทำให้ธุรกิจโฆษณาสามารถอยู่รอดในตลาดและสามารถแข่งขันได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: