บทบาทของแมวต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวสามี–ภรรยา ที่ไม่มีลูกในจังหวัดพิษณุโลก

กัญญาพัชร ทับเอี่ยม | 5 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 8877 ครั้ง


ครอบครัวกับสัตว์เลี้ยงในฐานะสมาชิก “คน” หนึ่ง

ปัจจุบันครอบครัวมีความหมายที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้น ย้อนไปเมื่อก่อนหน้านี้สามีภรรยาไทยมีลูกมาก โดยเฉลี่ยแล้วครอบครัวหนึ่งๆ ที่มีลูก 6 - 7 คน แต่ปัจจุบันจำนวนลูกต่อคู่แต่งงานลดลง โดยในช่วงแรกๆ ก็ลดลงเพราะนโยบายการวางแผนครอบครัวที่เข้มข้นและได้ผลดี แต่มาในช่วงหลังนี้ เป็นเพราะคนส่วนมากเห็นความสำคัญของการมีลูกจำนวนน้อย การจำกัดจำนวนลูกให้เหลือเพียง 1 - 2 คนต่อคู่สามี-ภรรยาจึงแพร่หลายไปในทุกระดับ ปัจจุบันคงยากที่จะหาคู่สามีภรรยาที่อยากมีลูกหลายคนเหมือนอย่างที่คนรุ่นก่อนๆ  ซึ่งสามารถดูได้จากสถิติการลดลงของเด็กเกิดใหม่จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ครอบครัวไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นตามแนวคิดดั้งเดิม[i]

ตามคำนิยามนั้น “ครอบครัว” ไม่ได้จำกัดแค่การมีสมาชิกที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ และบุตร เท่านั้น แต่ยังหมายถึงถึงครอบครัวที่ประกอบด้วยสามีภรรยาเท่านั้น ชีวิตคู่ในเพศเดียวกัน ครอบครัวที่มีการรับเด็กอุปการะ และการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง ก็สามารถแสดงความเป็นครอบครัวได้ การเป็นครอบครัวที่ไม่ต้องการมีบุตรนั้น เป็นแนวคิดสมัยใหม่ของกลุ่มประชากรที่ต้องการชีวิตอิสระ เรียบง่าย และคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจในการเลี้ยงดูผู้อุปการะเป็นสำคัญ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันครอบครัว ทำให้มีคนมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านรูปแบบและเวลาในการเริ่มต้นสร้างครอบครัว การดำรงและการสืบทอดครอบครัว รวมถึงการปรับบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว ทำให้พฤติกรรมการมีลูกของสามีภรรยาเปลี่ยนไป การเกิดค่านิยมใหม่ขึ้น โดยเฉพาะการแต่งงานแต่ไม่ต้องการมีลูก หรือไม่ได้มองว่าการมีลูกนั้นเป็นสิ่งสำคัญของชีวิตคู่ หรือมีความคิดว่าการมีลูกนั้นทำให้เกิดภาระหลายอย่างให้กับตนเอง คู่สามี-ภรรยาที่แต่งงานกันโดยไม่ต้องการมีลูกเช่นนี้มีจำนวนเท่าไร ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่อาจเป็นส่วนน้อย ที่พบเห็นส่วนใหญ่นั้นเป็นคู่แต่งงานที่อยู่ในชนชั้นกลางถึงชั้นสูงของสังคม

อีกทั้งคนในสังคมไทยในปัจจุบันมีการเลี้ยงสัตว์ในหลากหลายรูปแบบ เช่นเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้านเพื่อเป็นเพื่อนเล่นหรือถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต จนบางคนเลี้ยงสัตว์เหมือนเลี้ยงลูกหลาน บางครอบครัวเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนที่สมาชิกในครอบครัว และเป็นแนวโน้มที่เห็นได้ชัดในด้านความนิยมการเลี้ยงสัตว์ของสังคมไทยในขณะนี้[ii] นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงยังมีบทบาทและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก เช่นอิทธิพลด้านจิตใจ ที่เกิดจากความรักและความผูกพันระหว่างมนุษย์กับสัตว์เลี้ยง จากนิสัยที่ซื่อสัตย์ของสัตว์เลี้ยง ทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยงกลายมาเป็นส่วนที่ช่วยเติมเต็มชีวิตซึ่งกันและกัน กลายเป็นคนพิเศษหรือมีตัวตนในโลกสมัยใหม่ และยังมีอิทธิพลด้านสังคม สัตว์เลี้ยงทำให้ผู้เลี้ยงมีเพื่อนเพิ่มขึ้นจากกลุ่มคนที่สนใจเลี้ยงสัตว์เช่นเดียวกัน ทำให้เกิดการสร้างสังคมให้กว้างขึ้น และทำให้พัฒนาด้านมนุษย์สัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี

แมว: สัตว์เลี้ยงยอดนิยมสำหรับคนไทย

มีการสำรวจชนิดสัตว์เลี้ยงที่ครัวเรือนนิยมเลี้ยงเป็นอย่างมากคือแมว แมวนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนมายาวนาน แมวเป็นสัตว์เลี้ยงคลายเหงาที่นิยมมากชนิดหนึ่ง หรือเวลาเครียดจากสาเหตุต่างๆ จากงาน แมวก็สามารถทำให้หายเหนื่อยและสร้างรอยยิ้มให้คนได้ และการที่มีแมวอยู่ด้วยทำให้รู้สึกสบายใจ แมวเป็นทุกๆ อย่างของความสุข ด้วยเสน่ห์ของแมวเป็นสัตว์ที่เชื่องและชอบคลอเคลียกับเจ้าของ หรืออีกสาเหตุที่แมวนั้นเป็นตัวเลือกในการเลี้ยงของครอบครัวสามี-ภรรยาที่ไม่มีลูก เพราะแมวเลี้ยงง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่ายมากจนเกินไป แมวไม่ส่งเสียงดัง หรือดุร้ายจนเกินไป โดยรวมแล้วคนเกิดความชอบและความสามารถที่มีพอที่จะรับผิดชอบหรือเลี้ยงดู

ปัจจุบันเมื่อแมวอยู่ใกล้ชิดกับคนมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แมวกลายมาเป็นตัวแทนสมาชิกคนในครอบครัวเฉกเช่นเดียวกับลูก ทัศนคติในการเลือกของคู่สามี-ภรรยาที่ไม่มีลูกที่ปรากฏในบทความนี้ สะท้อนว่าพวกเขานำแมวมาเลี้ยงแทนการมีลูก และเห็นว่าการเลี้ยงแมวอาจมีภาระค่าใช่จ่ายในการเลี้ยงที่น้อยกว่าการเลี้ยงลูก จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่เอาแมวมาเป็นตัวแทนของคนในครอบครัว หรือการเลี้ยงแมวทำให้พวกเขามีอิสระในการใช้ชีวิตที่สามารถนำแมวไว้ที่บ้านหรือฝากเลี้ยงได้ เพราะแมวเป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยงที่ไม่ต้องมีการเลี้ยงดูและเอาใจใส่ตลอดเวลา รวมไปถึงลักษณะที่อยู่อาศัยของแมวนั้นไม่จำเป็นต้องมีการจัดสัดส่วนหรือมีการจัดสภาพแวดล้อมให้แมวโดยเฉพาะ แมวสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระภายในบริเวณ แมวสามารถไปไหนก็ได้หรือไปเดินเล่นข้างนอกบ้านได้แต่แมวนั้นจะกลับมาบ้านเอง ซึ่งเป็นเรื่องการเลี้ยงแบบระบบเปิด แต่ก็มีบางครอบครัวที่มีการจัดห้องไว้สำหรับแมวโดยเฉพาะมีการจัดของอำนวยความสะดวกไว้ให้แมว เช่น กะบะทราย ที่นอน ของเล่น อาหารและน้ำ เพื่อให้แมวนั้นอยู่อย่างสะดวกสบาย มีการประคบประหงมเปรียบเสมือนเด็กน้อยคนนึง ที่ดูแลไม่ให้ขาดความอบอุ่น และเป็นการเลี้ยงแบบระบบปิด ที่มีการจำกัดบริเวณให้แมวอยู่ภายในบ้าน หรือบริเวณที่จัดไว้ให้สำหรับแมวอยู่ เพื่อความปลอดภัยสำหรับแมว เช่น แมวเดินไปเล่นนอกบ้านอาจทำให้รถชนได้ หรือเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ที่แมวนั้นอาจไปหาแมวบ้านอื่นแล้วหายไปเลยไม่กลับมาบ้าน ซึ่งการเลี้ยงระบบปิดนี้ทำให้แมวอยู่ใกล้ชิดกับคนมากที่สุด แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างแมวกับคนที่เห็นแมวเสมือนสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง ดังความเห็นของครอบครัวที่ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ออนไลน์ดังนี้

“นอนด้วยกัน ไม่ปล่อยไปข้างนอกให้อยู่ในบ้านอย่างเดียว กลัวปล่อยไปแล้วโดนรถชน ปล่อยให้ไปเล่นข้างนอกแล้วไปไม่กลับบ้านเลย” (ครอบครัว A, สัมภาษณ์วันที่ 25 กรกฎาคม 2563)

การเลี้ยงแมวจึงเป็นการพัฒนาความรักความผูกพันทางอารมณ์ทั้งผู้เลี้ยงและแมวที่ต้องดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ผู้ที่ให้สัมภาษณ์ยังกล่าวด้วยว่าความผูกพันทางอารมณ์ของคนนั้นมีผลต่อพฤติกรรมของแมวโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงมีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความรัก เอาใจใส่ แมวก็จะแสดงออกทางพฤติกรรมที่ชัดเจนให้เห็น ขี้อ้อนมาถูคลอเคลียผู้เลี้ยง อารมณ์ดี ขี้เล่น แต่ในทางตรงกันข้ามหากผู้เลี้ยงมีอารมณ์ที่ไม่มั่นคง ฉุนเฉียวก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของแมวเช่นกันทำให้แมวมีนิสัยดุร้าย และพฤติกรรมเหล่านี้ของแมวก็ส่งผลกลับต่อพฤติกรรมทางอารมณ์ของผู้เลี้ยงด้วยเช่นกัน ทุกครอบครัวในงานวิจัยนี้มีความรู้สึกที่รักแมวมาก ผูกพันกับแมวอย่างมากเพราะแมวสามารถช่วยให้คลายเหงาได้ หรือเวลาเครียดจากสาเหตต่างๆ จากงาน จากเรื่องในครอบครัว แมวสามารถทำให้หายเหนื่อยได้ ทำให้มีรอยยิ้มได้ และการที่มีแมวอยู่ด้วยทำให้รู้สึกสบายใจ ซึ่งทุกครอบครัวของกล่มุตัวอย่างมีความรัก และเอาใจใสแ่มวเป็นอย่างมาก แมวเป็นทุกๆ อย่างของความสุข

“รัก ผูกพันมาก คิดว่าเค้าเหมือนลูกจริงๆ เหมือนเด็กคนนึง ต้องคอยเล่นคอยดูแล กลัวเค้า เหงา กลัวเค้าคิดว่าเราไม่สนใจ” (ครอบครัว B, สัมภาษณ์วันที่ 22 กรกฎาคม 2563)

“รักมาก ผูกพันมาก ถ้าเกิดเค้าตายไปก็ไม่รู้จะทำใจยังไง เค้าเป็นทุกๆ อย่างที่ทำให้เรามีความสุขได้” (ครอบครัว C, สัมภาษณ์วันที่ 23 กรกฎาคม 2563) 

บทบาทของแมวต่อครอบครัวสามี-ภรรยาที่ไม่มีลูก

ครอบครัวสามี-ภรรยาที่ตัดสินใจนำแมวมาเลี้ยงนั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะไม่มีลูกตั้งแต่ต้น แต่เป็นครอบครัวที่มีลูกไม่ได้เนื่องจากปัญหาทางสุขภาพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถมีลูกได้ (Infertile Family) เช่น ครอบครัวที่สามีเป็นหมัน รวมถึงมีเป้าหมายที่ยังไม่ตั้งใจมีลูกตั้งแต่แรก (childfree by choice) หรืออีกนัยหนึ่งครอบครัวที่ตัดสินใจที่จะไม่มีลูกในช่วงแรกเนื่องจากความกังวลทางเศรษฐกิจ แต่ในเวลาต่อมาเปลี่ยนใจเมื่อพบว่าครอบครัวมีความพร้อมทางเศรษฐกิจแล้วจึงพร้อมที่จะมีลูก แต่อาจมีสาเหตุที่มีอายุมากขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการมีลูกที่อาจทำให้สุขภาพของเด็กบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา ดังนั้น การนำสัตว์เลี้ยง (แมว) ที่นำมาเลี้ยงแทนการมีลูกนั้นอาจไม่ใช่ทางเลือกทั้งหมดของครอบครัวสามี-ภรรยาที่ไม่มีลูก บางครอบครัวนั้นอาจมีทางออกหรือหาสิ่งอื่นที่มาแทนที่การมีลูกได้เพื่อให้ครอบครัวนั้นมีความสมบูรณ์ และรักษาความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ได้มากกว่า บทความนี้เพียงยกตัวอย่างจากการสำรวจจากครอบครัวสามี-ภรรยาที่ไม่มีลูกและเลี้ยงแมว

ครอบครัว G บอกว่า  “เพราะแมวก็เหมือนคน มีความรู้สึก รู้นะเวลาว่าอะไร ดุ เค้ารับรู้ทุกอย่าง เพียงแต่พูดไม้ได้ และสามารถช่วยเป็นเพื่อนเวลาเหงาได้ดีมาก คิดว่ามันเป็นความรับผิดชอบที่เหมาะสมกับสถานะการณ์ในชีวิตตอนนี้ ถ้าเป็นเด็กคนนึงก็ถือว่ายังไม่พร้อมในการเลี้ยงดู”

ครอบครัว B ให้ความเห็นว่า “คิดว่าแมวมันยังไม่เป็นความรับผิดชอบอะไรมาก ถ้าเกิดมีลูกก็ยังไม่พร้อม ที่จะมีกลัวว่าจะเลี้ยงได้ไม่ดี เพราะยังคิดว่าตนเองยังไม่มีความรับผิดชอบขนาดนั้น”

ครอบครัว C  “เพราะแมวสามารถแทนการมีลูกได้ ช่วยเราคลายเหงา เป็นทั้งเพื่อนเล่น เป็นลูก เป็นทั้งอะไรในชีวิต”

ครอบครัว J  “เพราะคิดว่าถ้ามีลูกคงจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดีเพราะต้องมีความรับผิดชอบที่ ใหญ่มาก ๆ”

ครอบครัว A  “คิดว่าเป็นความรับผิดชอบที่ทำได้ดีพอสมควร แต่ถ้าเลี้ยงเด็กคนนึงก็คงไม่ไหวในเรื่องค่าใช้จ่ายและอะไรอีกมากมาย”

สำหรับครอบครัวสามี-ภรรยาที่ไม่มีลูกและได้ตัดสินใจเลี้ยงแมวนั้น ส่วนหนึ่งมองว่าแมวเข้ามาเติมเต็มความสมบูรณ์ในครอบครัวและเป็นส่วนหนึ่งของคนในครอบครัว ที่มีส่วนในการสร้างความผูกพันและคลายความเหงาจากการที่ไม่มีลูกให้กับครอบครัวได้ หรือเปรียบได้ว่าการเลี้ยงแมวนั้นเหมือนความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกที่มีผลทางอารมณ์ โดยผ่านการให้ความรัก เอาใจใส่ ดูแล ปกป้อง ต่อพฤติกรรมหลายๆ ด้านของเด็ก รวมถึงพฤติกรรมอันเปราะบางในด้าน ‘ความรักและความสัมพันธ์’

“เวลาไปไหนก็จะนำแมวไปด้วยทุกที่ เลี้ยงเหมือนคนคนนึง กินอาหารครบทุกมื้อ ไม่เคยให้อด หรือ บางครอบครัวคิดว่าแมวเป็นลูกคนนึง ที่เลี้ยงดูแลเอาใจใส่อย่างดี ถ้าขาดแมวไปคิดว่าตัวเองทำใจไม่ได้ ก็เปรียบเสมือนเสียคนในครอบครัวไปหนึ่งคน” (ครอบครัว D, สัมภาษณ์วันที่ 23 กรกฎาคม 2563)

“เป็นนะ คิดว่าแมวก็เหมือนเด็กคนนึงหรือแทนลูกเราได้เลย” (ครอบครัว F, สัมภาษณ์วันที่ 25 กรกฎาคม 2563)

“คิดว่าเป็น (สมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว) เพราะถ้าไม่มีก็รู้สึกเหงา เหมือนขาดคนในครอบครัวไปหนึ่งคนเลย” (ครอบครัว B, สัมภาษณ์วันที่ 22 กรกฎาคม 2563) 

 “เพราะแมวสามารถแทนคนคนนึงได้ แทนลูกได้จากการได้รับความรักจาก เค้าตอบแทนกลับมาที่เราได้เลี้ยงดู ใส่ใจเค้ามา” (ครอบครัวที่ 5)

ครอบครัว I เผยว่า “เพราะคิดว่าแมวก็เหมือนคนคะ เลี้ยงแทนลูกคนนึง แต่ที่มีหลายตัวเพราะรัก เห็นตัวไหนน่ารักอยากได้ก็ซื้อมาเลี้ยง”

ครอบครัว H เล่าความรู้สึกว่า  “เพราะคิดว่ามันสามารถแทนคนๆ นึงได้ มันมีความรู้สึกเหมือนคน รู้เวลา สอนนี่รู้ทุกอย่าง ห้ามเล่นนี้นะก็ไม่เล่น คิดว่ามันก็คือคนเพียงแค่พูดไม่ได้ บอกอะไรไม่ได้ แต่เรา สามารถสังเกตจากการกระทำของมันได้ว่าร้องเนี่ย เป็นอะไร จะเอาอะไร”

 

แมวในฐานะ “ผู้ไกล่เกลี่ย” ความสัมพันธ์

แมวยังเป็นตัวเชื่อมประสานความสัมพันธ์ของทั้งสามี-ภรรยา ที่บางครั้งมีความขัดแย้ง มีปัญหาหรือทะเลาะกัน แมวกลายเป็นสิ่งสำคัญที่คนทั้งคู่นึกถึง และเป็นตัวกลางสามารถทำให้พูดกันมากขึ้นเวลามีปัญหา เช่น คุยในเรื่องเวลาแมวป่วยแล้วพาไปหาหมอ หรือจำเป็นต้องปรึกษากันจนสามารถทำให้เราใจเย็นลง อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลในระยะสั้นๆ อาจสร้างความเชื่อมโยงเพื่อสะท้อนสังคมในระดับกว้างค่อนข้างยากที่จะเสนอว่า ครอบครัวที่เลี้ยงสัตว์และมีความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างมาก อาจมีส่วนในการลดอัตราการหย่าร้างในครอบครัวได้ อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าแมวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สามี-ภรรยาที่ไม่มีลูกกลับมาคุยกันและรับผิดชอบแมวที่ได้เลี้ยงที่ได้ดูแลร่วมกัน เปรียบเสมือนการมีลูกที่พ่อแม่ทะเลาะกันจนอาจทำให้เกิดการอย่าร้าง แต่ต้องกับอยู่ร่วมกันและปรับความเข้าใจเพื่อลูก ที่จะต้องรักษาความเป็นครัวนั้นไว้ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวสามี-ภรรยาที่ไม่มีลูก รู้สึกว่าครอบครัวนั้นมีความสมบูรณ์มากแมวเป็นสิ่งที่เติมเต็มในครอบครัวที่ทำให้ครอบครัวนั้นรู้สึกไม่ขาดหาย

“เคยมีเวลาที่ทะเลาะกับแฟน ก็แมวนี่แหละเป็นตัวเชื่อม เวลาแมวป่วย หรืออะไรก็จะคอยดูแลร่วมกันทั้งคู่เพราะรักมันมาก ปรึกษากัน” (ครอบครัว F, สัมภาษณ์วันที่ 17 กรกฎาคม 2563) 

“(แมวแทนลูก) ได้คะ เพราะความรับผิดชอบของแมวทั้งหมด ต้องทำร่วมกับสามี จะมีการแบ่งหน้าที่กันในการดูแลแมวของแต่ละวัน” (ครอบครัวที่ H, สัมภาษณ์วันที่ 25 กรกฎาคม 2563) 

“บางทีเราทะเลาะกับแฟน พอเห็นแมวหรือได้เล่นกับมันก็ช่วยทำให้เราใจเย็นลงได้ แล้วหันหน้ามาคุยกัน ปรับความเข้าใจกัน” (ครอบครัวที่ E, สัมภาษณ์วันที่ 23 กรกฎาคม 2563)


 

หมายเหตุ:

ผู้เขียนขอขอบคุณอาจารย์กุลธิดา ศรีวิเชียร อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สำหรับการให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำ ตลอดจนแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง จนทำให้การวิจัยในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ผู้วิจัยขอขอบพระคุณ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลทุกท่านที่ได้สละเวลาอันมีค่าเพื่อให้ความรู้ในงานวิจัยในครั้งนี้

 

[i] ชาย โพธิสิตา. (2555). โครงสร้างครัวเรือนไทยในสองทศวรรษที่ผ่านมา. วารสารราชบัณฑิตยสถาน,ปีที่37 (ฉบับที่ 3), (หน้า241). สืบค้นจาก https://bit.ly/30KBKqB.

[ii] วรางคนา คาประสิทธิ์ และธีรวัฒน์ จันทึก. (2560). การศึกษาพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของผู้สูงอายุประเภทสุนัขและแมวในอำเภอ บ้านฉาง จังหวัดระยอง (รายงานผลการวิจัย). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

 

งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยสัมภาษณ์ภรรยาของครอบครัวสามี–ภรรยาที่ไม่มีลูก จำนวน 8 ครอบครัว ในช่วงเดือนเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563 ผู้ให้สัมภาษณ์มีอายุตั้งแต่ 25–46 ปี อายุระหว่าง 25-35 ปี 6 คน และอายุระหว่าง 36–45 ปี 2 คน แต่ได้เอาสัตว์เลี้ยงคือแมวมาเลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

ที่มาภาพ: Marko Milivojevic(CC0 Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: