'ทีมข่าวสำนักข่าวไทย' เผยบริษัทประกันแห่ออกกรมธรรม์แพ้วัคซีน COVID-19 หลังวัคซีนลอตแรกถึงไทย เบี้ยเริ่มเต้น 70-1,000 บาทต่อปี เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนลอตแรก
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2564 ว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. มีการอนุมัติข้อความและอัตราเบี้ยประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัย กรณีได้รับผลกระทบในการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบฟาสแท็ก เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการฉีดวัคซีน หากเกิดการแพ้วัคซีน ขณะนี้บริษัทประกันวินาศภัยที่ได้อนุมัติมีทั้งหมด 6 บริษัท เบี้ยประกันเริ่มต้นตั้งแต่ 70-1,000 บาทต่อปี และความคุ้มครองประกันภัยแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 แบ่งเป็น 5 ความคุ้มครอง แบบที่ 1 ผลประโยชน์จากการเจ็บป่วย หรือได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีน ทำให้ป่วยระยะสุดท้าย, ภาวะโคม่า, สมองตาย และระบบประสาทล้มเหลว จะได้รับเงินสินไหมทดแทนตามที่ระบุไว้
แบบที่ 2 ผลประโยชน์จากการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน กรณีหลังฉีดวัคซีนแล้วแพ้ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล แบบที่ 3 ผลประโยชน์เงินชดเชยปลอบขวัญสำหรับผู้ป่วยใน กรณีฉีดวัคซีนแล้วแพ้ต้องนอนโรงพยาบาล แบบที่ 4 ผลประโยชน์เงินชดเชยรายวันจากการเป็นผู้ป่วยใน กรณีฉีดวัคซีนแล้วแพ้ต้องนอนโรงพยาบาล แบบที่ 5 ผลประโยชน์การแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 หากผู้ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เป็นครั้งแรกว่าแพ้วัคซีนโควิด-19 จะจ่ายค่าทดแทนตามจำนวนเงินเอาประกันที่ได้ระบุไว้
ทีมข่าวสำนักข่าวไทยยังได้สำรวจเว็บไซต์ของบริษัทประกันภัยเริ่มมีการโฆษณากรมธรรม์ประกันภัยสำหรับการแพ้วัคซีนโควิด-19 แล้ว เช่น บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีแผนความคุ้มครอง 2 แผน แผนแรก 70 บาท แผนที่สอง 120 บาท ซึ่งคุ้มครองภาวะโคม่าจากการแพ้วัคซีนโควิด-19 สูงสุด 1,000,000 บาท รวมไปถึงคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเป็นผู้ป่วยในจากการแพ้วัคซีน และอีกบริษัทคือ บริษัท กรุงเทพประกันภัย มีแผนคุ้มครอง 3 แผน เบี้ยประกันเริ่มที่ 99 บาท ไปจนถึง 859 บาท ส่วนความคุ้มครอง เช่น ค่ารักษาพยาบาลกรณีเป็นผู้ป่วยใน เริ่มที่ 10,000-100,000 บาท เงินปลอบขวัญกรณีรักษาพยาบาลติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 วัน เริ่มที่ 5,000-50,000 บาท และกรณีเจ็บป่วยระยะสุดท้าย หรือโคม่า คุ้มครอง 100,000-1,000,000 บาท
ขณะที่ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยว่า วัคซีนที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจัดหา ทั้งจากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค และบริษัทแอสตราเซเนกา มีความปลอดภัย แต่มีโอกาสพบผลข้างเคียงหลังการฉีดได้ โดยอาการที่มักพบ เช่น ปวดเมื่อยบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยตัว ถือเป็นเรื่องปกติของการรับวัคซีน เพราะวัคซีนถือเป็นสิ่งแปลกปลอม เมื่อเข้าไปในร่างกายก็จะเกิดปฏิกิริยา แต่จะมีอาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วย ทั้งนี้ หากผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 มีผลข้างเคียง เช่น ผื่นขึ้นทั้งตัว หอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ถือเป็นอาการที่รุนแรง ต้องมาโรงพยาบาล
สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลมีการจัดหาเพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนมีทั้งหมด 2 ชนิด ชนิดแรกจำนวน 2,000,000 โดส จากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ผลิตด้วยเทคนิคแบบเชื้อตาย โดยวัคซีนป้องกันโรคในปัจจุบันที่ใช้วิธีการผลิตแบบนี้คือวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนพิษสุนัขบ้า และวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด ส่วนวัคซีนอีกชนิดที่ไทยจัดหาคือ วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส โดยเป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคนิคทำให้เชื้ออ่อนแรง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ