พบ 'แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้' ชนะประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนมากสุด 18 โครงการ ทุ่มลงทุน 4,720 ล้าน

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 ต.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2701 ครั้ง

พบ 'แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้' ชนะประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนมากสุด 18 โครงการ ทุ่มลงทุน 4,720 ล้าน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมสรุปผลประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนฯ รายงานรัฐมนตรีพลังงานเร็ว ๆ นี้ ยืนยันการประมูลโปร่งใส ไม่มีผู้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ผลประมูลด้านราคาแม้แต่รายเดียว พร้อมเชิญผู้ชนะทั้ง 43 รายรับฟังขั้นตอนการเดินหน้าโรงไฟฟ้าภายใน 1-2 เดือนนี้ ป้องกันความผิดพลาดหรือปัญหาที่จะเกิดในอนาคต พบบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ผู้คว้าโครงการมากสุด 18 แห่ง รวม 59 เมกะวัตต์ เตรียมงบ 4,720 ล้านบาทเดินหน้าโครงการทันที คาดเริ่มก่อสร้างกลางปี 2565 นี้ | ที่มาภาพประกอบ: กฟผ.

เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. 2564 Energy News Center รายงานว่านายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. เตรียมส่งรายงานสรุปผลการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) 150 เมกะวัตต์ ให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับทราบอย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้

โดยขั้นตอนต่อจากนี้ กกพ.จะเชิญผู้ชนะประมูลทั้งหมดมารับทราบแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาโครงการอย่างละเอียดภายในช่วง 1-2 เดือนจากนี้ ทั้งด้านแนวทางพัฒนาโครงการตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และการปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การเตรียมเอกสารการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) การเปิดรับฟังความเห็นชุมชน, การขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า และการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินการได้อย่างถูกต้องและไม่เกิดปัญหาในภายหลังและทำให้โครงการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตลอดอายุโครงการต่อไป

อย่างไรก็ตามในระหว่างก่อนเปิดสัมมนาเพื่อชี้แจงรายละเอียดดังกล่าว ทาง กกพ.จะให้เวลาผู้ชนะประมูลไปดำเนินการด้านการลงนามสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใน 7 วัน หลังจากประกาศผลผู้ชนะประมูล และจากนั้นต้องไปลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายใน 120 วัน โดยมีกำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายใน 36 เดือน หรือภายใน 21 ม.ค. 2568 ซึ่งทุกรายจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว เพื่อให้สามารถเดินหน้าโครงการได้อย่างสมบูรณ์

นายคมกฤช กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนระยะต่อไป หรือโครงการรับซื้อไฟฟ้าอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภาครัฐกำหนดนโยบายออกมาและได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก่อนเท่านั้น ทาง กกพ. จึงจะสามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ เนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าย่อมส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชนโดยรวมและการให้อัตราเงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) ก็เป็นเงินที่ประชาชนต้องแบกรับภาระเช่นกัน ดังนั้นภาครัฐต้องกำหนดกติกาและรายละเอียดให้เสร็จก่อนจึงจะให้ กกพ.เปิดรับซื้อไฟฟ้าได้

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯในรอบนี้ ที่ผ่านมามีการยื่นอุทธรณ์ในรอบการพิจารณาด้านเทคนิคบ้างและได้ปิดการรับอุทธรณ์ไปแล้ว ส่วนการอุทธรณ์ด้านประมูลราคานั้น ขณะนี้ยังไม่มีรายใดยื่นหนังสือขออุทธรณ์ มีเพียงเข้ามาสอบถามด้วยวาจาเท่านั้น ซึ่งถือว่าการประมูลครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์ค่อนข้างน่าพอใจ

นอกจากนี้มองว่าวิธีการประมูลแบบนี้ถือว่าเป็นวิธีที่โปร่งใสที่สุดในการพิจารณาว่ารายใดควรได้เข้าร่วมโครงการ และส่งผลดีต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมด้วย ทั้งนี้วิธีการคัดเลือกผู้ร่วมโครงการแต่ละครั้งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามนโยบายที่กำหนดออกมาตามความเหมาะสม ซึ่ง กกพ.พร้อมดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดมา

สำหรับการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ในครั้งนี้มีผู้ชนะการประมูลทั้งสิ้น 43 ราย กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 149.50 เมกะวัตต์ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1831 บาทต่อหน่วย แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวลจำนวน 16 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 75.00 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 2.7972 บาทต่อหน่วย) และโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทก๊าซชีวภาพรวม 27 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 74.50 เมกะวัตต์ (ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.5717 บาทต่อหน่วย)

โดยผู้ชนะประมูลที่คว้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯได้มากที่สุดในครั้งนี้ คือ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด(มหาชน) หรือ ACE โดยยื่นโครงการเข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 29 โครงการ รวมกว่า 70 เมกะวัตต์ แต่ชนะประมูลรวม 18 โครงการ กำลังผลิตรวม 59 เมกะวัตต์ คิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 50 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานทั้งหมด อยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร ราชบุรี เชียงรายและบุรีรัมย์

ด้าน นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน)หรือ ACE กล่าวว่า บริษัทฯ เตรียมวงเงินสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ที่ชนะการประมูลทั้ง 18 แห่ง ไว้ประมาณ 4,720 ล้านบาท หรือ 80 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากวงเงินกู้สถาบันการเงินในส่วนของแต่ละโครงการ 70% ส่วนที่เหลือมาจากกระแสเงินสดของธุรกิจและการดำเนินงานของบริษัท 30% หรือคิดเป็นประมาณ 1,400 ล้านบาท ทั้งนี้อาจจะใช้เทคโนโลยีจากเยอรมันและอิตาลี เป็นหลัก คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้กลางปี 2565 หากไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อีกรอบ

อย่างไรก็ตามในการประมูลครั้งนี้ นอกจากการเสนอราคาต่ำแล้วเชื่อว่าบริษัทฯ มีความได้เปรียบด้านการให้สิทธิประโยชน์กับชุมชนที่มากกว่าที่ กกพ. กำหนดไว้ 5 ด้าน เช่น 1.ด้านสาธารณสุขและสาธารณูปโภค เช่น การตรวจสุขภาพชุมชนรอบโรงไฟฟ้า,การจัดซื้ออุปกรณ์กีฬาและปรับปรุงถนน 2.ด้านการศึกษา เช่น มอบทุนการศึกษา และจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ปลูกพืชพลังงาน 3.ด้านอาชีพ ได้แก่ การจัดหากล้าพันธ์ให้เกษตรกรเพาะปลูก 4. ด้านวัฒนธรรม ได้สนับสนุนเงินจัดกิจกรรมซ่อมแซมบูรณะวัดและโบราณสถาน และ5. ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งบริษัทได้จัดโดรนติดตาม ตรวจสอบสภาพพืชผลการเกษตรเพื่อป้องกันโรคพืช และมีแอพพลิเคชั่น Crop monitoring system วิเคราะห์ติดตามแปลงปลูกของเกษตรกรพร้อมพยากรณ์พืชไร่ในอนาคต รวมทั้งมีการให้ความรู้และมีการจัดตั้งศูนย์บริการเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อให้บริการรถเก็บเกี่ยวพืชผลในราคาถูก ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร เป็นต้น

โดยหากภาครัฐมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนอื่นๆ อีก ทาง ACE ก็พร้อมเข้าร่วมประมูลทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น โรงไฟฟ้าขยะชุมชน, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์, โรงไฟฟ้าชุมชนรอบใหม่ทั้งชีวมวล, ชีวภาพ, ไฮโดรเจน, การใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: