จับตา: แจ้งเบาะแสพฤติการณ์ความผิดเกี่ยวกับรถยนต์ ผู้แจ้งรับส่วนแบ่งค่าปรับ 50%

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 ต.ค. 2564 | อ่านแล้ว 80745 ครั้ง


กรมการขนส่งทางบกเผยช่องทางรับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก รับส่วนแบ่งค่าปรับ 50% หลังหักเงินนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อร่วมกันสร้างวินัยและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน มีคนยืนยันได้ส่วนแบ่งค่าปรับ 50%

ช่วงปลายเดือน ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพในโซเชียลมีเดีย ระบุว่าได้ทำการแจ้งแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ต่อกรมการขนส่งทางบก และรับส่วนแบ่งค่าปรับ 50% โอนเงินเข้าบัญชีมาแล้ว

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปี 2563 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าในโซเชียลมีเดียได้แชร์ภาพและข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของรถกระบะแต่งซิ่ง ถูกสำนักงานขนส่งจังหวัดพะเยา ส่งหนังสือพร้อมแนบภาพถ่ายการกระทำความผิด ระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน โทร. 1584 สรุปความว่าเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. เวลา 14.24 น. ผู้ร้องเรียนได้พบรถกระบะดังกล่าวบริเวณสี่แยกขุนเดช ต.บ้านต๋อม อ.เมืองฯ จ.พะเยา ได้ทำการเพิ่มอุปกรณ์ส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถไม่ครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือเพิ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น (ส่วนของล้อยื่นออกจากตัวรถ) และปล่อยควันดำโดยสามารถมองเห็นด้วยสายตาว่ามีควันดำจากท่อไอเสียของรถในปริมาณมาก อันเป็นความผิดตามมาตรา 12 ประกอบมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.รถยนต์ ปี 2522 มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

สำนักงานขนส่งจังหวัดพะเยาได้ตรวจสอบแล้วว่า รถคันดังกล่าวมีผู้ครอบครองคือใคร และให้ผู้ครอบครองหรือผู้แทนไปให้ถ้อยคำและชี้แจงข้อเท็จจริงและพิจารณาโทษตามกฎหมาย ณ กลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งจังหวัดพะเยา ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ โดยนำรถยนต์คันดังกล่าวไปตรวจสอบด้วย หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดจะมีความผิดตามมาตรา 61/1 แห่ง พ.ร.บ. รถยนต์ ปี 2522 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาทอีกความผิดหนึ่ง

ด้านเจ้าของโพสต์ระบุว่า “อาชีพใหม่ของคนขับรถบนท้องถนน หากินแบบนี้ก็ตายสิครับ ถ่ายรูปรถผมส่งไปที่ขนส่ง แล้วกะได้ตังค์ ผมบอกไว้เลย หากินแบบมึงไม่รวยหรอก มีแต่คนจังที่หากินแบบนี้ มันกากเกินไป ค่าปรับแค่นี้กูจ่ายได้ แต่กูเจ็บใจต่างหาก (ให้ของลับ) ฝากเพื่อนๆ ที่ขับรถซิ่ง เบาได้เบาครับ”

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางบกได้เปิดให้ประชาชนแจ้งเบาะแสพฤติการณ์การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท สำหรับรถส่วนบุคคลต้องเป็นความผิดเกี่ยวกับตัวรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์เท่านั้น เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างวินัยและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้แจ้งต้องต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ครบถ้วน เช่น ภาพหรือคลิปวิดีโอบันทึกการกระทำความผิดที่ชัดเจน วันเวลา สถานที่เกิดเหตุ รายละเอียดรถ ทะเบียนรถ และอื่นๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามได้อย่างรวดเร็ว ต้องระบุชื่อและนามสกุล เลขประจำตัวประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้แจ้ง ช่องทางการติดต่อ และในกรณีผู้แจ้งประสงค์จะขอรับเงินส่วนแบ่งค่าปรับ ให้ระบุหมายเลขบัญชีธนาคารของผู้แจ้งด้วย

ส่งข้อมูลได้ที่ สายด่วน 1584, Line@ : @1584DLT, Facebook : 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ หรือ https://www.facebook.com/dlt1584/, เว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/ หรือ https://www.dlt.go.th/, E-mail: dlt_1584complain@hotmail.com, แอปพลิเคชัน DLT GPS, เดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง หรือร้องเรียนผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ “GECC 1111 ทำเนียบรัฐบาล” และ “GECC กรมการขนส่งทางบก” โดยหลังจากดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการเปรียบเทียบปรับแล้ว ค่าปรับส่วนแรกนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ผู้แจ้งพฤติการณ์การกระทำความผิดได้รับส่วนแบ่งค่าปรับ 50% ซึ่งการรับเงินส่วนแบ่งจะได้รับภายหลังจากที่ผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบปรับแล้ว ซึ่งจะมีข้อความ SMS ส่งให้ผู้แจ้งทราบผลการดำเนินการและโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้แจ้งต่อไป

สำหรับการแจ้งเบาะแสพฤติการณ์การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ทั้งด้านความปลอดภัย มาตรฐานตัวรถ หรือคุณภาพการให้บริการ เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ปี 2522 ได้แก่ ค่าควันดำเกินที่กฎหมายกำหนด เก็บค่าโดยสารเกินที่กฎหมายกำหนด บรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสาร จอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางโดยไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณ ไม่ใช้อุปกรณ์ล็อกตู้บรรทุกสินค้า สูบบุหรี่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ติดตั้งสปอตไลต์ เป็นต้น และความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ปี 2522 ได้แก่ รถแท็กซี่ดัดแปลงมิเตอร์ กระทำลามกอนาจาร ทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง เก็บค่าโดยสารเกิน ขับรถประมาทหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร เป็นต้น

สำหรับรถส่วนบุคคลหากเป็นลักษณะความผิดเกี่ยวกับตัวรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ปี 2522 สามารถแจ้งเบาะแสได้เช่นเดียวกัน เช่น ดัดแปลงไฟหน้าหรือไฟท้ายรถ ทำให้สีของแสงไฟไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด (ตามกฎหมายไฟท้ายต้องเป็นสีแดง ไฟเลี้ยวต้องเป็นสีเหลืองอำพัน) นำวัสดุอื่นใดมาปิดบังแผ่นป้ายทะเบียน แขวนหรือติดตุ๊กตาบดบังแผ่นป้ายทะเบียน ทำให้ไม่สามารถมองเห็นตัวอักษร ตัวเลข หรือจังหวัด ได้ชัดเจนแก้ไขหรือดัดแปลงตัวเลขบนแผ่นป้ายทะเบียน เช่น ปิดแผ่นทองบนหมายเลขทะเบียน เพิ่มเติมตัวเลขบนแผ่นป้ายทะเบียนรถใช้กรอบแผ่นป้ายลายกราฟิกปิดทับแผ่นป้ายทะเบียน ตัดแผ่นป้ายทะเบียนรถ แก้ไขดัดแปลงขนาดของล้อรถให้ล้นเกินตัวถัง รถกระบะต่อเติมตัวถังหรือโครงหลังคาเกิน 3 เมตร นำรถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรืออุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบถ้วนมาใช้บนทาง เช่น ไม่มีไฟท้าย/ไฟเบรก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความผิดของรถส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการขับรถ เช่น การขับรถย้อนศร ฝ่าไฟแดง จอดรถในที่ห้ามจอด แซงในเส้นทึบ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจร และการฝ่าฝืนกฎจราจรอื่นๆ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2522 เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

และจากการตรวจสอบใน เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก พบว่าเมื่อปี 2562 นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้กรมการขนส่งทางบกเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล ร่วมกันสร้างวินัยและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบกจึงออกระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายสินบนรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป ให้ประชาชนสามารถส่งพฤติการณ์การกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งครอบคลุมการกระทำผิดของรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ ทุกประเภท โดยจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับ 50% หลังหักเงินนำส่งรายได้แผ่นดินแล้ว วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างวินัยและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ผู้ขับรถตระหนักและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ อัตราค่าปรับความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ตั้งแต่ 500-5,000 บาท ความผิดที่มีอัตราค่าปรับสูง ได้แก่ ดัดแปลงมิเตอร์ กระทำลามกอนาจาร ทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง เก็บค่าโดยสารเกิน ขับรถโดยประมาทหวาดเสียว ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร เป็นต้น ส่วนอัตราค่าปรับความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท ความผิดที่มีอัตราค่าปรับสูง ได้แก่ ค่าควันดำเกินที่กฎหมายกำหนด เก็บค่าโดยสารเกินที่กฎหมายกำหนด บรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสาร จอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางโดยไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณ ไม่ใช้อุปกรณ์ล็อกตู้บรรทุกสินค้า สูบบุหรี่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ติดตั้งสปอตไลท์ ต่อเติมตัวถังเพื่อใช้บรรทุกสิ่งของซึ่งก่อให้เกิดอันตราย เป็นต้น โดยอัตราค่าปรับนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจ องค์ประกอบของพฤติการณ์และความรุนแรง การกระทำความผิดซ้ำซาก และความผิดนั้นส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กรมการขนส่งทางบกดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยค่าปรับส่วนแรกนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ส่วนที่เหลือจะนำมาจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และมอบให้ผู้แจ้งพฤติการณ์การกระทำความผิด โดยการจ่ายเงินส่วนแบ่งค่าปรับให้ผู้แจ้งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. พฤติการณ์การกระทำความผิดที่แจ้งต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ครบถ้วน เช่น ภาพหรือคลิปวิดีโอ ต้องบันทึกการกระทำความผิดที่ชัดเจน วันเวลา สถานที่เกิดเหตุ รายละเอียดรถ ทะเบียนรถ และอื่นๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ผู้แจ้งต้องระบุชื่อและนามสกุลของผู้แจ้ง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ ช่องทางการติดต่อ และในกรณีผู้แจ้งประสงค์จะขอรับเงินส่วนแบ่งค่าปรับ ให้ระบุหมายเลขบัญชีธนาคารของผู้แจ้งด้วย โดยข้อมูลของผู้แจ้งจะถูกปกปิดเป็นความลับ

2. ช่องทางในการติดต่อ เมื่อรวบรวมหลักฐานครบถ้วนแล้ว สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน 1584, Line@ : @1584DLT, Facebook: 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ , เว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/ หรือ https://www.dlt.go.th/, E-mail: dlt_1584complain@hotmail.com, เดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง หรือร้องเรียนผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ “GECC 1111 ทำเนียบรัฐบาล” และ “GECC กรมการขนส่งทางบก”

3. ผู้แจ้งจะได้รับข้อความ SMS ยืนยันการรับแจ้งเรื่องร้องเรียน

4. กรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการตามกระบวนสืบข้อเท็จจริงตามที่มีผู้แจ้ง โดยเรียกตัวผู้ถูกร้องเรียนมารายงานตัวและสอบสวนจนได้ข้อยุติ

5. การรับเงินส่วนแบ่งจะได้รับภายหลังจากที่ผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบปรับแล้ว จะมีข้อความ SMS ส่งให้ผู้แจ้งทราบผลการดำเนินการและจะดำเนินการโอนเงินส่วนแบ่งค่าปรับภายใน 15 วันทำการ

กรมการขนส่งทางบกเชิญชวนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้บริการรถสาธารณะร่วมส่งเบาะแสพฤติการณ์การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ครอบคลุมการกระทำผิดของรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ ทุกประเภท เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างวินัยและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก https://www.dlt.go.th/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: