แอมเนสตี้เรียกร้องสมัชชาความมั่นคงฯ ต้องรีบใช้มาตรการห้ามซื้อขายอาวุธต่อเมียนมาทันที

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 14941 ครั้ง

แอมเนสตี้เรียกร้องสมัชชาความมั่นคงฯ ต้องรีบใช้มาตรการห้ามซื้อขายอาวุธต่อเมียนมาทันที

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 200 องค์กร ในการรณรงค์ #NotOneBulletMore  และเรียกร้องให้สมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ใช้มาตรการห้ามซื้อขายอาวุธต่อเมียนมาโดยทันที เพื่อยุติการสังหารหมู่ของกองทัพต่อผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นไปโดยสงบ

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องสมัชชาความมั่นคงฯ ให้ส่งสถานการณ์ของเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ รวมทั้งให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินโดยมีเป้าหมายไปที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกอาวุโสมิน ออง หล่ายแห่งเมียนมา (ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของกองทัพเมียนมา) และผู้นำกองทัพอื่น ๆ ที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยจำนวนมากทั่วประเทศ รวมทั้งชาวโรฮิงญา 

ลอเรนซ์ มอส เจ้าหน้าที่รณรงค์อาวุโสด้านองค์การสหประชาชาติ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ลำพังการประณามของประชาคมระหว่างประเทศไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร ถึงเวลาที่สมัชชาความมั่นคงฯ ต้องใช้อำนาจพิเศษของตน เพื่อบังคับใช้มาตรการห้ามซื้อขายอาวุธระดับโลก เพื่อหาทางยุติการไล่สังหารอย่างต่อเนื่องของกองทัพเมียนมา

“กองทัพเมียนมาได้เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องจากผู้นำประชาคมระหว่างประเทศให้ยุติการสังหารที่โหดร้าย นายพลทหารยังปฏิเสธข้อเรียกร้องที่เป็นเอกฉันท์ของสมัชชาความมั่นคงฯ และเพื่อนบ้านในอาเซียนของเมียนมาเพื่อให้ยุติการนองเลือด” 

“หากสมัชชาความมั่นคงฯ บังคับใช้มาตรการห้ามซื้อขายอาวุธต่อซีเรียตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว กระสุนที่จะใช้ยิงประชาชนก็คงหมดไปนานแล้ว ถึงเวลาที่สมัชชาความมั่นคงฯ ต้องดำเนินการก่อนที่สถานการณ์ร้ายแรงในเมียนมาจะส่งผลให้เกิดหายนะแบบเดียวกันกับซีเรีย” ลอเรนซ์ มอสกล่าว

นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีรายงานว่าผู้ประท้วงอย่างน้อย 769 คน ถูกทหารสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอีกหลายพันคนถูกควบคุมตัวโดยพลการ รวมทั้งผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประเทศ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และผู้วิจารณ์การทำรัฐประหาร 

ภายหลังการตรวจสอบคลิปวีดิโอกว่า 50 ชิ้นจากการปราบปรามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า กองทัพเมียนมาและกองกำลังของตนเองมีส่วนรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศของชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์อื่น ๆ มีการใช้ยุทธวิธีและอาวุธที่มุ่งให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามักเห็นในสนามรบ แต่กลับนำมาใช้กับผู้ชุมนุมโดยสงบและผู้มุงดูเหตุการณ์ทั่วประเทศ การสังหารเหล่านี้ในหลายครั้งอาจถือได้ว่าเป็นการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย  

ในวันที่ 10 มีนาคม 2564 สมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ออก แถลงการณ์ของประธานสมัชชาฯ เพื่อ “ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ประท้วงอย่างสงบ รวมทั้งผู้หญิง เยาวชนและเด็ก” และ “เรียกร้องให้กองทัพยับยั้งชั่งใจให้มากสุด” ในวันที่ 24 เมษายน ผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เผยแพร่ แถลงการณ์ ร่วมกันเรียกร้องให้ “ยุติความรุนแรงในเมียนมาทันที”  

อังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติยังได้ ประณาม อย่างรุนแรงต่อ “การใช้ความรุนแรงที่ทารุณของกองทัพในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง“ และระบุว่า “การใช้กำลังทหารปราบปรามต่อไป (…) เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศใช้มาตรการแก้ไขอย่างหนักแน่น เป็นเอกภาพ และเด็ดเดี่ยว” ด้านคริสทีน ชาร์นเนอร์ เบอร์เกอเนอร์ ทูตพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งกองทัพเมียนมาสั่งห้ามเข้าประเทศ ได้ ประณามอย่างรุนแรง ต่อ “การนองเลือดอย่างต่อเนื่องในประเทศ ซึ่งกองทัพได้เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องจากนานาชาติ รวมทั้งจากสมัชชาความมั่นคงฯ ให้ยับยั้งชั่งใจ หาทางเจรจา และเคารพอย่างเต็มที่ต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน”  

ในเดือนเมษายน 2564 มิเชล แบทเชลเล ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เตือนว่า สถานการณ์ในเมียนมาเป็นกระจกสะท้อนอย่างชัดเจนถึงสถานการณ์ในซีเรียเมื่อปี 2554 “ซึ่งในประเทศดังกล่าว เราได้เห็นการประท้วงอย่างสงบถูกปราบปรามด้วยการใช้กำลังที่ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วนอย่างชัดเจน การที่รัฐปราบปรามประชาชนของตนเองอย่างโหดเหี้ยมและต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนจับอาวุธ และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและไม่อาจควบคุมได้ทั่วประเทศ” เธอกล่าว

 

เอกสารดาวน์โหลด คลิกที่นี่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: