แอมเนสตี้เรียกร้องปล่อยตัวผู้วิจารณ์อย่างสงบและลดความตึงเครียดท่ามกลางการประท้วงรอบใหม่

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 มี.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1360 ครั้ง

แอมเนสตี้เรียกร้องปล่อยตัวผู้วิจารณ์อย่างสงบและลดความตึงเครียดท่ามกลางการประท้วงรอบใหม่

แถลงการณ์แอมเนสตี้เรียกร้องรัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้วิจารณ์อย่างสงบ หลังมีประชาชน 61 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ และลดความตึงเครียดท่ามกลางการประท้วงอย่างต่อเนื่องรอบใหม่

6 มี.ค. 2564 แอมเนสตี้ออกแถลงการณ์เรียกร้องไทยปล่อยตัวผู้วิจารณ์อย่างสงบและลดความตึงเครียดท่ามกลางการประท้วงอย่างต่อเนื่องรอบใหม่ หลังเกือบหนึ่งปีหลังประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ประท้วงหลายร้อยคนรวมทั้งเยาวชน 13 คน ถูกดำเนินคดีอาญา ในขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดียังถูกควบคุมตัวต่อไป ประชาชน 61 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

แถลงการณ์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า ในขณะที่การประท้วงในประเทศไทยเริ่มเข้มข้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทางการต้องลดแนวทางตอบโต้ที่รุนแรงอย่างเร่งด่วน และยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุมโดย

ผู้ชุมนุมโดยสงบหลายร้อยคนรวมทั้งเยาวชน ถูกดำเนินคดีอาญา และหลายคนถูกควบคุมตัวมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และคาดว่าจะมีการประท้วงครั้งใหญ่อีกครั้งในวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม 2564

การกลับมาประท้วงใหญ่เริ่มขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ก.พ. 2564 ส่งผลให้ทางการใช้กำลังจนเกินขอบเขตเพื่อตอบโต้ รวมทั้งการใช้อาวุธที่เสี่ยงน้อยกว่าที่จะทำให้เสียชีวิต อย่างเช่น กระสุนยาง ไม้กระบอง แก๊สน้ำตา และการฉีดน้ำแรงดันสูงที่เจือด้วยสารเคมีสร้างความระคายเคือง

เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว การใช้วิธีข่มขู่อย่างต่อเนื่องและบ่อยครั้งของทางการไทย เป็นการโจมตีอย่างชัดเจนต่อสิทธิของประชาชนในการแสดงความเห็นและการประท้วงอย่างสงบ เกือบหนึ่งปีหลังจากรัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับการประท้วงอย่างสงบที่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ทำให้เกิดสภาพที่น่าหวาดหวั่นอย่างยิ่ง กล่าวคือมีบุคคล 383 คนที่ถูกดำเนินคดีอาญาแบบจงใจใส่ความ รวมทั้งเยาวชน 13 คน เพียงเพราะการชุมนุมและแสดงความเห็น

"ทางการไทยใช้เวลาทั้งปีที่ผ่านมากับปฏิบัติการอย่างเป็นระบบแบบใหม่ เพื่อปราบปรามประชาชนที่เพียงต้องการแสดงความเห็นของตนอย่างสงบ เรายังคงกระตุ้นทางการให้ทบทวนแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ และให้หาทางคลี่คลายสถานการณ์ตามแนวทางที่เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง”

“เป็นเรื่องน่าตกใจที่ทางการปฏิเสธอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ประกันตัวผู้ประท้วงอย่างสงบที่เป็นแกนนำ พวกเขาถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 2564 หลังจากถูกดำเนินคดีในหลายข้อหาเพียงเพราะแสดงความเห็นของตน”

“ทางการต้องยกเลิกข้อหาที่มีแรงจูงใจทางการเมืองกับผู้ประท้วงอย่างสงบโดยทันที รวมทั้งผู้ประท้วงที่เป็นเยาวชน ต้องมีการปล่อยตัวผู้ประท้วงอย่างสงบและแกนนำที่ยังถูกควบคุมตัวทุกคน ให้สอบสวนกรณีที่มีการใช้กำลังอย่างไม่จำเป็นและ เกินขอบเขต บ่อยครั้ง และประกันว่าจะมีการควบคุมดูแลการประท้วงเหล่านี้ สอดคล้องตามมาตรฐานระหว่างประเทศ” เอ็มเมอร์ลีน จิล กล่าว

การตอบโต้ที่รุนแรงต่อการชุมนุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้เกิดข้อกังวลร้ายแรง

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำแรงดันสูง ใช้ไม้ประบอง ยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางต่อผู้ชุมนุมหลายร้อยคนที่เดินขบวนไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านพักในกรุงเทพฯ ของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร รายงาน ตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้ได้รับบาดเจ็บจากการประท้วง 33 คน (เจ้าหน้าที่ 23 คน และผู้ประท้วง 10 คน) ในขณะที่ผู้ประท้วงกว่า 100 คนให้ข้อมูลว่าได้รับบาดเจ็บ

มีรายงานว่า มีผู้ถูกจับทั้งหมด 23 คน รวมทั้งเยาวชนสี่คนอายุ 15-16 ปี และอีกสี่คนอายุ 18 ปี บางส่วนถูกควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี

จนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกควบคุมตัวในสถานที่แห่งนี้อย่างน้อย 130 คน โดยยังไม่มีการตั้งข้อหาหรือเข้ารับการพิจารณาจากศาลระหว่างวันที่ 13 ต.ค. 2563 ถึง 1 มี.ค. 2564 ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

แกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีไม่ได้รับการประกันตัว ทั้งยังมีการตั้งข้อหาเพิ่ม

นับแต่ประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาแบบที่จงใจใส่ความ เนื่องจากมีส่วนร่วมในการชุมนุมโดยสงบที่เพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

ประชาชนกว่า 380 คนที่ถูกควบคุมตัว ถูกดำเนินคดีในข้อหาที่มักใช้เพื่อเอาผิดทางอาญากับการชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งข้อหายุยงปลุกปั่น และการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 215 ตามลำดับ) และการละเมิดข้อห้ามของการชุมนุม ตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

นับแต่เดือน พ.ย. 2563 ทางการประกาศว่าจะรื้อฟื้นการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ 61 คนตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พวกเขาอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปีสำหรับข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

นักกิจกรรมประชาธิปไตยรวมทั้งอานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยังคงถูกควบคุมตัวในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากการเข้าร่วมการชุมนุมสองครั้งในปี 2563 ศาลไม่ให้ประกันตัวพวกเขานับจากถูกจับกุมเมื่อวันที่ 9 ก.พ.

ข้อมูลพื้นฐาน

ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมาตรฐานการใช้กำลังตำรวจควบคุมฝูงชน เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องหาทางหยุดยั้งและแยกตัวบุคคลที่กระทำความรุนแรงออกไป แต่ต้องไม่ไปขัดขวางบุคคลอื่นที่ยังต้องการชุมนุมโดยสงบต่อไป ตำรวจอาจใช้กำลังได้เป็นแนวทางสุดท้าย เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด และเฉพาะเมื่อจำเป็นแก่การปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง การใช้กำลังควรมุ่งที่การยุติความรุนแรง และให้ใช้ได้ในลักษณะที่จำกัดอย่างยิ่ง โดยมุ่งลดอาการบาดเจ็บและมุ่งรักษาสิทธิที่จะมีชีวิตรอด

นับแต่การประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 26 มี.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ยังคงควบคุมตัวบุคคลอย่างต่อเนื่อง และดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่มีส่วนร่วมในการชุมนุมและการจัดกิจกรรมโดยสงบ ผู้ชุมนุมให้ข้อมูลในหลายครั้งถึงเหตุการณ์คุกคามและข่มขู่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงเพราะพวกเขามีส่วนร่วมในการชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งการชุมนุมโดยที่มีแกนนำนักศึกษา เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ยุติการคุกคามของตำรวจ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: