นักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ พบ "ชาฤๅษีเขาใหญ่" พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก มีแห่งเดียวที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบเป็นไม้ล้มลุกขึ้นบนหินทรายที่ระดับความสูง 100-150 เมตร และอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธ์ุตามระบบของ IUCN | ที่มาภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อ้างใน Thai PBS)
เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 2564 Thai PBS รายงานว่านายจรวย อินทร์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า นักวิจัยกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ โดย ดร.สมราน สุดดี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ นายเสกสรร ไกรทองสุข นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ และนายพสิษฐ์ เอื้ออารีย์ ร่วมกับ ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ รศ.ดร.สราวุธ สังข์แก้ว อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตีพิมพ์ประกาศให้ชาฤๅษีเขาใหญ่ วงศ์ชาฤๅษี (Gesneriaceae) เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก
โดยใช้ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Paraboea khaoyaica Kaitongsuk, Triboun & Sungkaew เผยแพร่ลงในวารสาร Gardens’ Bulletin Singapore เล่มที่ 73(1) หน้า 204 ค.ศ. 2021 ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบเก็บจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ท้องที่ จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2562
สำหรับ "ชาฤๅษีเขาใหญ่" เป็นไม้ล้มลุก ขึ้นบนหินทราย ริมลำธาร ในป่าไผ่และป่าเต็งรัง ที่ระดับความสูง 100-150 เมตร ดอกออกและผลในช่วงเดือนส.ค.-พ.ย.–พบเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีสถานภาพเป็นพรรณไม้ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) ตามระบบการจัดสถานภาพของ IUCN
ลักษณะโดเด่นของ "ชาฤๅษีเขาใหญ่" ลำต้นสูงได้ถึง 25 เซนติเมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปรีถึงรูปไข่ กว้าง 2.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 6.5-15 เซนติเมตร ก้านใบยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร ช่อดอก 1-3 ช่อต่อต้น ออกดอกที่ปลายยอด ช่อยกแขนง ดอกออกเป็นคู่ กลีบเลี้ยงสีเขียวถึงแดงอมม่วง กลีบดิอกสีขาวถึงม่วงอ่อน เกสรเพศผู้ 2 เกสร ผลรูปทรงกระบอกรูปกรวย บิดเล็กน้อย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ