ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยหนี้ครัวเรือนของคนไทยสิ้นไตรมาส 1/2564 ทะลุ 14 ล้านล้านบาท เกินร้อยละ 90 ของจีดีพีแล้ว โดยหนี้ 3 กลุ่มที่เพิ่มขึ้นได้แก่ หนี้บ้าน อาชีพ และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. 2564 ว่าบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด วิเคราะห์สถานการณ์เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 1/2564 ว่าสะท้อนสถานการณ์หนี้สินของประชาชนที่ยังมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 90.5 ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปีตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับร้อยละ 89.4 ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563 โดยหนี้ครัวเรือนที่ขยับขึ้นในไตรมาส 1/2564 มาจากหนี้ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ หนี้บ้าน หนี้ประกอบอาชีพ และหนี้เพื่อใช้จ่ายชีวิตประจำวัน ซึ่งวิกฤตโควิด-19 ที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตอกย้ำปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือมีรายได้ลดลงจนมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้
จากผลสำรวจภาวะหนี้สินของประชาชนโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าสถานการณ์รายได้และหนี้สินของประชาชนรายย่อยถดถอยลงจากผลของโควิด 19 ระลอกที่สาม และลูกหนี้ห่วงปัญหาหนี้สินของตัวเองมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามในเดือน มิ.ย. 2564 ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 79.5 ประเมินว่า ปัญหาหนี้ของตัวเองยังไม่น่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
สำหรับแนวโน้มในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับทบทวนตัวเลขประมาณการหนี้ครัวเรือนไทยขึ้นมาอยู่ที่กรอบร้อยละ 90-92 ต่อจีดีพี (กรอบเดิมคาดที่ร้อยละ 89-91 ต่อจีดีพี) แม้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะขยายตัวสวนทิศทางเศรษฐกิจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทย แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างลำดับต้น ๆ ของไทยที่รอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแนวทางแก้ไข สำหรับปีนี้น่าจะเห็นการเดินหน้ามาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคองไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็นเอ็นพีแอลหรือทบทวนเพดานดอกเบี้ยผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย (เพื่อช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้ในช่วงที่โควิด 19 ยังไม่สิ้นสุด) ตลอดจนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงการวางแนวทางในระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สินของภาคครัวเรือนอย่างจริงจังเมื่อวิกฤตโควิด 19 สิ้นสุดลง โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ และดูแลให้การก่อหนี้ของภาคประชาชน สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองมากขึ้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ