'ปิดโรงสอน' ย้อนคืนการเรียนรู้สู่เด็กได้ที่บ้าน จาก 'รุ่งอรุณ' ถึง 'ร.ร.พื้นที่นวัตกรรม จ.ระยอง'

คณะทำงานล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ 6 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 5775 ครั้ง

รายงานพิเศษจาก 'คณะทำงานล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้' “ปิดโรงสอน” ย้อนคืนการเรียนรู้กลับสู่เด็ก มองมุมบวกสถานการณ์โควิด-19 เชิง ให้โอกาสการสร้างคุณภาพการเรียนรู้ยุคใหม่ที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Learner Person)ประสบการณ์จาก “โรงเรียนรุ่งอรุณ” ถึง “โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยอง” ครู นักเรียนและผู้ปกครอง ร่วมมือ Reskill-Upskill  คงคุณภาพการเรียนรู้ได้ที่บ้าน แนะนำทุกโรงเรียนทำได้ และการศึกษาไทยจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

 โรงเรียนจะยังคงทำหน้าที่ตามบทบาทของตัวเอง ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 นี้ได้อย่างไร?

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ด้านการศึกษาที่มองว่าโรงเรียนกำลังปัดภาระไปให้ผู้ปกครอง เมื่อเด็กเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ ทำให้บ้านกลายเป็นสถานที่นั่งเรียนใหม่ ผู้ปกครองสะท้อนว่าการเรียนที่บ้านเต็มไปด้วย “ความไม่พร้อม” หลายด้าน ขณะที่อีกด้านหนึ่งหลายโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กำลังใช้โอกาสนี้ปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ครูได้พัฒนาทักษะ (upskill) และเรียนรู้ทักษะใหม่ (reskill) ปรับวิธีคิด เลิกยึดติดกับการบอกสอนความรู้แบบเดิมๆ มาเป็น “โค้ช” เตรียมเครื่องมือและสร้างความพร้อมให้ผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองมีความรู้ ความเข้าใจในการกำกับดูแลลูกหลานที่บ้านได้อย่างมีทิศทาง เป็นการสร้างคุณภาพการเรียนรู้ยุคใหม่ที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Learner Person)

“สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครูกล้าเรียนรู้ด้วยตัวเอง”`- Inclusive Education และการบูรณาการสร้างกลไกร่วมพัฒนาการเรียนรู้ในระดับพื้นที่ คือ ประสบการณ์ของโรงเรียนรุ่งอรุณ และโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ได้แก่ โรงเรียนวัดถนนกะเพรา และ โรงเรียนวัดตาขัน  นำมาแชร์ในเวทีเสวนาออนไลน์ 'ล็อกดาวน์' ไม่ล็อกการเรียนรู้ บทเรียนการจัดการเรียนรู้จาก 3 กรณีศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (ศรีสะเกษ ระยอง สตูล) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจลและภาคีเครือข่ายร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อนำเสนอแนวทางจัดการเรียนรู้ ซึ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้และสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ เป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปปรับใช้อย่างสอดคล้องกับพื้นที่และสถานการณ์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานด้านการศึกษา ผู้บริหาร ครู บุคลากรด้านการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา รวมถึงผู้ปกครองและผู้สนใจ เข้าร่วมวงเสวนาอย่างคับคั่ง

Learn from Home เปลี่ยนปรับครูและผู้ปกครอง ช่วยเด็กเปิดรับการเรียนรู้

ครูสุวรรณา ชีวพฤกษ์ ผู้บริหารโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวว่า Learn from Home – เรียนเป็นหลักจากที่บ้าน เป็นทางเลือกแบบเลี่ยงไม่ได้ซึ่งทุกโรงเรียนกำลังเผชิญในสภาวการณ์นี้ ทางออกของโรงเรียนรุ่งอรุณ คือ การทำงานร่วมกันระหว่างครู ผู้เรียน เพื่อนร่วมชั้นเรียน และผู้ปกครอง บนความเข้าใจร่วมกันว่าโรงเรียนกำลังออกแบบ การเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ ที่ไม่ได้เน้นแค่ความรู้จากตำราเรียน แต่เน้นการพัฒนาทักษะและทัศนคติในการใช้ชีวิตของผู้เรียนด้วย ซึ่งแตกต่างจากการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่มองแค่ “ความรู้” ตามตัวชี้วัดในรายวิชาแบบเดิมโครงสร้างการเรียนรู้ที่โรงเรียนรุ่งอรุณกำลังปรับอยู่นี้ เป็นการ “สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตัวเอง” ตามเป้าหมายที่คณะครูได้ระดมสมองออกแบบปรับการเรียนการสอนร่วมกันในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (PLC: Professional Learning Community)

ครูสกุณี บุญญะบัญชา ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ ขยายความถึง กระบวนการ upskill และ reskill ครูว่า เริ่มต้นจากครูต้องปรับความเข้าใจเรื่องการเรียนบนฐานสมรรถนะ แล้วออกแบบแผนการเรียนให้สอดคล้อง ท่ามกลางโควิด-19 ครูจำเป็นต้องปรับวิธีการตั้งโจทย์และตั้งคำถามผู้เรียนให้กระชับ ตรงประเด็น และตอบจุดประสงค์เชิงสมรรถนะ ทั้งความรู้ ทักษะและคุณค่า ที่ประเมินผลลัพธ์ได้ชัดเจน เช่น การประเมินผ่านการทำงาน การพูดคุยสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียน ดังนั้น การใช้คำถามที่มีความจงใจดึงสมรรถนะของผู้เรียนออกมา เป็นประเด็นที่ครูต้องนำมาคิดร่วมกัน คำถามตั้งต้นอาจมีที่มาจากคำถามกว้างๆ ก่อน แล้วมาเจาะลึกตั้งประเด็นย่อย เพื่อสร้างประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้มากที่สุด

“วง PLC ของคณะครูมีทั้งการประชุมกลุ่มย่อยตามระดับชั้น ตามรายวิชา และกลุ่มใหญ่หลายระดับชั้นและหลายวิชา เพื่อทำความเข้าใจและออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน PLC เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการทำงานวิชาการในโรงเรียน เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องเดิมหรือเรื่องใหม่ การได้มาแลกเปลี่ยนกันจะทำให้ได้ประเด็นที่แหลมคมมากขึ้น โรงเรียนรุ่งอรุณเริ่มจากครูผู้สอนลองคิดเองก่อนว่าอยากทำอะไร มีจุดประสงค์ มีกระบวนการอย่างไร แล้วนำมาปรึกษากันในกลุ่มครูก่อนส่งโจทย์หรือคำถามให้กับนักเรียน การเรียนจากที่บ้าน นักเรียนต้องพึ่งพาตัวเองให้มาก การออกแบบของครูต้องช่วยให้นักเรียน เรียนด้วยตัวเองได้จริงๆ ตามความเหมาะสมแต่ละช่วงวัย ดังนั้นการให้โจทย์และตั้งคำถามเป็นเรื่องที่ครูต้องฝึกฝนกันอย่างมากและยังต้องฝึกฝนกันต่อไป” ครูสุวรรณา กล่าว

ปิดโรงสอน ให้เด็กกระโดดเป็นเจ้าของงาน

ที่ผ่านมาโรงเรียนเป็นโรงสอนบอกความรู้ หรือช่วยส่งเสริมพัฒนาการ ด้านการเรียนรู้ให้กับนักเรียน?  ไม่ว่าคำตอบคืออะไร แต่โควิด-19 ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเรียนรู้ไปแล้ว เพราะเป้าหมายของระบบการศึกษานับจากนี้ไป ต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน ทั้งนี้ หลักการปรับโครงสร้างการเรียนรู้ของโรงเรียนรุ่งอรุณ พิจารณาตามความเหมาะสมของช่วงวัยผู้เรียน และเน้นให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมทำกิจกรรมโดยไม่ได้ปล่อยมือไปจากผู้ปกครอง โรงเรียนเป็นฝ่ายเข้าหาให้ความรู้และแนะนำผู้ปกครองให้เห็นบทบาทของตัวเอง เข้าใจพัฒนาการของลูก และรู้ว่าจังหวะไหนควรหรือไม่ควรทำอะไร

ครูปิยะดา พิชิตกุศลาชัย ครูผู้ช่วยโรงเรียนอนุบาลรุ่งอรุณ กล่าวว่า สำหรับระดับชั้นอนุบาล โรงเรียนออกแบบคู่มือทำกิจกรรมเป็นตัวอย่างชัดเจนให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน จัดเวลาทำกิจกรรมที่บ้านคล้ายกับที่โรงเรียน มีช่วงเวลาที่ผู้ปกครองสามารถพักเพื่อทำกิจกรรมส่วนตัวได้ ขณะที่เด็กๆ รับผิดชอบงานของตัวเอง

“งาน” ที่ว่านี้ไม่ใช่การบ้านที่ต้องมานั่งเคร่งเครียดอยู่กับโต๊ะ แต่เป็นกิจวัตรประจำวัน ได้แก่ งานบ้าน – วิถีชีวิตในบริบทบ้านของฉัน, งานสวน งานครัว – เรียนรู้เรื่องฤดูกาลจากธรรมชาติรอบตัว, งานเล่น – เล่นผ่านการรู้จักธรรมชาติและเล่นของเล่นที่ต่อยอดการเรียนรู้ และ งานคิด อ่าน เขียน – ฝึกฝนทักษะการใช้ภาษาและการสื่อสาร บางกิจกรรมทางโรงเรียนเตรียมชุดสื่อการเรียนรู้ หนังสือนิทาน วัสดุอุปกรณ์ตามความเหมาะสม ให้ผู้ปกครองมารับไปทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียนที่บ้าน นอกจากนี้ยังมีคู่มือพ่อแม่พาลูกเรียนรู้ที่บ้าน เป็นแนวทางชวนลูกทำกิจกรรม

“การสร้างวินัยเกิดขึ้นที่บ้าน ฝึกให้เด็ก “อยู่เป็น” ด้วยการดูแลตนเอง พึ่งพาตนเอง จากการทำกิจวัตรประจำ การลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ ฝึกทักษะการคิด การตัดสินใจ การแก้ปัญหา และความอดทนทำงานจนสำเร็จ สร้างความภูมิใจให้กับนักเรียน ช่วยสร้าง self ให้กับนักเรียนได้ ยิ่งได้รับคำชื่นชมจากพ่อแม่ เด็กจะยิ่งมีความมั่นใจมากขึ้น” ครูปิยะดา กล่าว

ด้าน ครูโกเมน อ้อชัยภูมิ ครูใหญ่โรงเรียนประถมรุ่งอรุณ กล่าวถึงรูปแบบการเรียนรู้ะดับประถมศึกษาว่า ระดับประถมต้นเน้นให้ผู้เรียนสำรวจ ลงมือทำเอง เรียนรู้จากงานจริง ส่วนประถมปลายเน้นให้ผู้เรียนเข้าถึงข้อมูลซับซ้อน ร่วมออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และใช้อุปกรณ์การเรียนรู้ที่ซับซ้อนและหลากหลายได้ ครูมีบทบาทเตรียมชุดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน เช่น หนังสือหลักและหนังสืออ่านเสริม ใบงาน แผ่นบอร์ดเกมเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน และอุปกรณ์สำหรับการทดลองวิทยาศาสตร์และงานศิลปะ เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนสร้างประสบการณ์ตรงจากการทำงานจริง

“เราต้องไม่ลืมธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กๆ ครูต้องคิดถึงชีวิตตอนเด็กอยู่ที่บ้านว่าอะไรเหมาะกับเด็ก หรือจะช่วยให้เด็กและผู้ปกครองจัดการเวลาได้อย่างไร แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้ครูมีโอกาสเจอนักเรียนอย่างใกล้ชิด ครั้งละ 5-8 คนตามพื้นฐานของนักเรียน การเรียนออนไลน์ด้วยการแบ่งกลุ่มแบบนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ครูมีโอกาสเข้าถึงนักเรียนได้มากกว่าเมื่อเทียบกับเวลา 1 คาบ ที่สอนนักเรียนในห้องทีละหลายสิบคน แต่กว่าจะออกมาเป็นกิจกรรมและรู้ว่าต้องเตรียมชุดการเรียนรู้อะไรให้นักเรียนบ้าง ครูในช่วงชั้นใช้เวลาหารือกันเป็นสัปดาห์ วางแผนการสอนเป็นราย 2-3 สัปดาห์ เพื่อเตรียมกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้ที่บ้านได้ในเวลาจำกัด เด็กวัยนี้ชอบถอดรหัส ดังนั้นโจทย์ สื่อและกิจกรรมต้องโดนใจนักเรียน”

ขณะที่การเรียนรู้ในระดับมัธยมศึกษา แม้เป็นเด็กโตที่รับผิดชอบตัวเองได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว ก็มีความท้าทายไม่แพ้กัน ครูปิยสิทธิ์ เมินแก้ว ครูคณิตศาตร์ โรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวถึง รูปแบบการเรียนรู้ระดับมัธยมว่า เน้นให้ผู้เรียนสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จัดการตารางชีวิตของตัวเองได้ นอกจากนี้ยังดึงผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ในแต่ละสาขามาเป็นผู้ให้ความรู้กับผู้เรียนโดยตรง ในคาบสตูดิโอ สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วย 3 สตูดิโอ ได้แก่ สื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม เชื่อมโยงกับวิชาสังคม ภาษาไทยและICT, เงิน ทอง เป็นของมีค่า เชื่อมโยงกับวิชาคณิตศาสตร์ การคิดวิเคราะห์ และ ถอดรหัสชีวิต และปรากฎการณ์ เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์และกระบวนการ STEM ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมสู่อาชีพของโลกยุคใหม่ ประกอบตัวสตูดิโอการเรียนรู้ถึง 12 สตูดิโอ

ทำให้อุปสรรคการเรียนออนไลน์กลายเป็นความสนุกใกล้ตัว

ตัวอย่างการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนของโรงเรียนรุ่งอรุณ อาจถูกมองว่าเป็นโรงเรียนในเมืองที่เด็กและผู้ปกครองมีความพร้อมอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แต่กรณีศึกษาจาก โรงเรียนวัดถนนกะเพรา และ โรงเรียนวัดตาขัน จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยอง ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ครูสามารถย้อนคืนการเรียนรู้กลับสู่เด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในบริบทเมืองหรือชนบท

พลิกวิกฤต “เรียนรู้ ปากท้อง” เป็นโอกาส เป็นแนวคิดออกแบบการเรียนรู้ของโรงเรียนวัดถนนกะเพรา ปวีณา พุ่มพวง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดถนนกะเพรา กล่าวว่า ก่อนหน้าวิกฤตโควิด-19 โรงเรียนได้ส่งเสริมให้นักเรียนแต่ละช่วงชั้น เรียนรู้วิชาชีพที่มีอยู่ในชุมชนอยู่ก่อนแล้ว เช่น การเลี้ยงเห็ด การปลูกผักสมุนไพรท้องถิ่น การเลี้ยงหอยนางรม การทำน้ำปลา รวมถึงการทำหอยจ้อ ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารจึงสนับสนุนให้ครูนำแผนการสอนเดิมมาปรับปรุงเข้ากับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับครู

“ผู้บริหารจะคิดเองคนเดียวไม่ได้ ต้องมีครู และมีผู้ปกครองมีส่วนร่วมด้วย ในช่วงต้นครูต้องปรับตัว และใช้พลังสร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครอง เราใช้ความจริงใจ ความพยายามและความอดทน ตอนที่ผู้ปกครองยังไม่ตอบสนองกลับมา ใช้คำถามกระตุ้นเหมือนผู้ปกครองเป็นนักเรียนคนหนึ่ง ทำให้ผู้ปกครองเห็นว่าโรงเรียนยังเอาใจใส่ ไม่ได้ทิ้งให้พ่อแม่จัดการเพียงลำพัง การสื่อสารระหว่างครูและผู้ปกครองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ผู้ปกครองกลับไปเป็นโค้ชช่วยให้ลูกสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ต่อ” ผอ.ปวีณา กล่าว

ด้าน วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน กล่าวว่า แม้โรงเรียนอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเมือง ห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตรแต่โรงเรียนยังมีความเป็นชนบท เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติรอบโรงเรียนอยู่พอสมควร เช่น แหล่งน้ำและพื้นที่ทำการเกษตร หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สิ่งที่โรงเรียนทำเป็นลำดับแรก คือ การวิเคราะห์นักเรียนแต่ละชั้น แต่ละบุคคลเพื่อแบ่งกลุ่มนักเรียน ผ่านเกณฑ์พิจารณา ดังนี้

หนึ่ง นักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เข้าเรียนและส่งงานทางออนไลน์เพื่อให้ครูตรวจสอบและแก้ไขได้

สอง นักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยมีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเอง แต่มีปัญหาค่าบริการอินเทอร์เน็ต โรงเรียนให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน แนะนำแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตให้

สาม นักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยมีสมาร์ทโฟนของผู้ปกครอง และต้องรอเวลาที่อยู่กับผู้ปกครอง ครูเน้นให้นักเรียนเรียนแบบ On demand และ On Hand พร้อมส่งคลิปการเรียนให้ผู้ปกครองแนะนำนักเรียน

และ สี่ ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ไม่มีสมาร์ทโฟน และฐานะยากจน ครูสื่อสารกับนักเรียนและผู้ปกครองผ่านโทรศัพท์ เน้นการเรียนแบบ On Hand ให้นักเรียนมารับเอกสารและใบงาน พร้อมคำอธิบายจากครู

นอกจากนี้ ผู้บริหารยังชวนครูวิเคราะห์พื้นฐานความถนัดและความต้องการ เพื่อวางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน วิเคราะห์บทบาทของผู้บริหารเพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูออกแบบการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งจัดประชุมผู้ปกครองแต่ละชั้นเรียน เพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือในการดูแล ช่วยเหลือให้นักเรียนเรียนที่บ้านได้อย่างมีคุณภาพ

สำหรับรูปแบบการเรียนในชั้นเรียน ผอ.วิชัย ขยายความว่า การเรียนระดับปฐมวัย ครูออกแบบการเรียนรู้เกี่ยวกับฤดูกาล โดยครูเป็นผู้แนะนำวิธีการให้ผู้ปกครองเข้ามาช่วยเหลือนักเรียนที่บ้าน และฝึกวินัยด้านการช่วยเหลือตนเองแก่นักเรียนผ่านกิจวัตรประจำวัน เช่น งานบ้านและงานครัว เช่นเดียวกับโรงเรียนรุ่งอรุณ ในระดับชั้นประถมศึกษา ครูออกแบบวิชาบูรณาการคุณค่าสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียง นำการเกษตรมาประกอบการเรียนรู้ สร้างกิจกรรมให้นักเรียนลงมือทำที่บ้าน เช่น กิจกรรมสร้างคลังอาหารสู้โควิด เป็นต้น แล้วติดตามประเมินผลตามสภาพจริงร่วมกับผู้ปกครอง

จากการปรับตัวและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเรียนของโรงเรียนตัวอย่างในวงเสวนาครั้งนี้ ทำให้เห็นความเป็นไปได้ในการสร้างการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และการทำให้ผู้ปกครองเข้าใจบุตรหลานของตัวเองในแต่ละช่วงวัยมากขึ้น ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถานบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในประเทศไทย ที่จะพลิกคุณภาพการศึกษาไปอย่างก้าวกระโดด หากโรงเรียนเน้นสร้างสมรรถนะของผู้เรียนมากกว่ายึดผลลัพธ์การเรียนรู้โดยใช้ตัวชี้วัดตามรายวิชาแบบเดิม

“ครูต้องพัฒนาทักษะ (upskill) และเรียนรู้ทักษะใหม่  (reskill) ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ไม่เฉพาะโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่เชื่อว่าในสถานการณ์ตอนนี้โรงเรียนอื่นๆ ก็กำลังทำอยู่เหมือนกัน เพราะกำลังเผชิญความจำเป็นแบบเดียวกัน เราจะ ใช้ตัวชี้วัดมาวัดผลสัมฤทธิ์แต่ละหน่วยวิชาไม่ได้แล้ว การศึกษาต้องโดดไปที่การสร้างสมรรถนะของผู้เรียน เพราะสมรรถนะสร้างผู้เรียนให้ไปไกลกว่าตัวชี้วัดเดิม สร้างผู้เรียนที่เป็น Learner Person(สร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้) ถ้านำฐานสมรรถนะมาเป็นตัวตั้ง การศึกษาจะทำให้เกิดพลเมืองไทยคุณภาพใหม่ ทำให้ไปถึงเป้าหมายการสร้างพลเมืองที่เข้มแข็งได้อย่างแน่นอน เชื่อว่าโรงเรียนทำได้ตามบริบทของตัวเอง เพราะทุกโรงเรียนไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน เชื่อว่าผู้บริหารจะเริ่มเปลี่ยนบทบาท เห็นตัวเองมากขึ้นว่าตัวเองมีความหมายและมีคุณค่ามากต่อการบริหารวิชาการท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติตอนนี้”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: