สภาพัฒน์ฯ เผยไตรมาส 3/2564 ไทยมีอัตราการว่างงานสูงสุดตั้งแต่ COVID-19 ระบาด

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 ธ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 14110 ครั้ง

เดือน ต.ค. 2564 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 10,990,798 คน ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน281,820 คน ถูกเลิกจ้าง 78,166 คน - สภาพัฒน์ฯ ชี้ไตรมาส 3/2564 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการคุม COVID-19 ส่งผลให้ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูงที่สุดตั้งแต่มี COVID-19 | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

26 พ.ย. 2564 ข้อมูลจาก รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ต.ค. 2564 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าเดือน ต.ค. 2564 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 10,990,798 คน ลดลงร้อยละ -0.42 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,036,662 คน) และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,037,147 คน) ลดลงร้อยละ -0.42 

 

สถานการณ์การว่างงาน (ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม) เดือน ต.ค. 2564 มีผู้ว่างงานจำนวน 281,820 คน ลดลงร้อยละ -42.68 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 491,662 คน) แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 273,157คน) ร้อยละ 3.17 ทั้งนี้อัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในไตรมาส 2/2564 เท่ากับร้อยละ 1.9

สถานการณ์การเลิกจ้าง เดือน ต.ค. 2564 มีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างจากสำนักงานประกันสังคม มีจำนวน 78,166 คน ลดลงร้อยละ -66.50 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 233,326 คน) แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 78,166 คน) ร้อยละ 8.40 และอัตราการเลิกจ้างของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างของระบบประกันสังคมในเดือน ต.ค. 2564 เท่ากับร้อยละ 0.69

สภาพัฒน์ฯ ชี้ไตรมาส 3/2564 ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูงที่สุดตั้งแต่มี COVID-19

ช่วงปลายเดือน พ.ย. 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ เผยแพร่ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564 ระบุว่าสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสาม ปี 2564 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูงที่สุดตั้งแต่มี COVID-19 ภาพรวมการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 37.7 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้ ซึ่งมีการจ้างงาน 12.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มฤดูการเพาะปลูกข้าว ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.3 โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลงมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ที่ลดลงถึงร้อยละ 7.3 และ 9.3 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลของมาตรการควบคุมการเปิดปิดสถานประกอบการ ทั้งการปิดแคมป์คนงาน และจำกัดการขายอาหาร สำหรับสาขาที่ขยายตัวได้ ประกอบด้วย สาขาการผลิต ขายส่ง/ขายปลีก และสาขาขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวได้ร้อยละ 2.1 0.2 และ 4.6 ตามลำดับ สาขาการผลิตที่มีการจ้างงานขยายตัวได้ดี อาทิ การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตรถยนต์ การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั่วโมงการทำงาน ชั่วโมงการทำงานหลักโดยเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 43.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ 44.0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีผู้ว่างงานชั่วคราวสูงถึงเกือบ 9 แสนคน (ผู้มีงานทำที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ หรือทำงาน 0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อาทิลาหยุด ลาป่วย ถูกพักงาน หรือสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนเพียง 4.7 แสนคน เท่านั้น 

การว่างงาน เพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 2.25 นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 3.63 รองลงมาเป็น ปวส. ร้อยละ 3.16 ซึ่งผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบในสาขาทั่วไป (บริหารธุรกิจการตลาด) จึงมีแนวโน้มประสบปัญหาการว่างงานยาวนานขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างจำกัด และคนกลุ่มนี้ที่มีทักษะไม่ต่างกันจึงหางานได้ยากขึ้น ขณะที่แรงงานที่มีอายุ 15-19 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 9.74 รองลงมาเป็นอายุ 20-24 ปี ที่ร้อยละ 8.35 สะท้อนว่า COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยชะลอการเลิกจ้างบางส่วนไม่สามารถรับภาระต่อได้และจำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นขณะที่เด็กจบใหม่ยังไม่มีตำแหน่งรองรับ เนื่องจากผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบและรอดูสถานการณ์จึงชะลอการขยายตำแหน่งงาน การว่างงานของแรงงานในระบบ มีสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนอยู่ที่ร้อยละ 2.47 ลดลงจากช่วงไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อน เนื่องจากช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและผู้ประกันตนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดประกอบกับสถานประกอบการมีการหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยแทนการเลิกจ้าง ซึ่งมีจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย 2.1 แสนคน ในเดือน ก.ย. 2564 เพิ่มขึ้นจาก 0.9 แสนคน ณ สิ้นไตรมาสก่อน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: