กรีนพีซเปิดผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ระบุช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ผืนป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกลายเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10.6 ล้านไร่ และโยงกับมลพิษ PM 2.5 ข้ามพรมแดน
เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. 2564 กรีนพีซ ประเทศไทยร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยข้อมูลการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมในรายงานฉบับล่าสุด ระบุ ในช่วงปี 2558-2563 พื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกทำลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด โดยการเปลี่ยนแปลงราวครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตตอนบนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
รายงาน “ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2558-2563“ [1] ได้ขยายการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมระบบ MODIS เพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และนัยยะสำคัญของพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่มีต่อการกระจายตัวและความเข้มข้นของมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในช่วงปี 6 ปีที่ผ่านมา [2]
ข้อค้นพบหลักจากรายงานมีดังนี้
วิกฤตมลพิษ PM2.5 ยังคงเป็นความท้าทายของการจัดการมลพิษทางอากาศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะระหว่างเดือนธันวาคม และมกราคม-พฤษภาคมของทุกปี ความเข้มข้นของ PM2.5 ในระดับที่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพในปี 2562 และปี 2563 ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
ระหว่างปี 2558-2563 พื้นที่ป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดจำนวน 10.6 ล้านไร่ โดยมีมากที่สุดในเขตตอนบนของสปป.ลาว จำนวน 5,148,398 ไร่ รองลงมา คือ รัฐฉาน(เมียนมา) จำนวน 2,939,312 ไร่ และภาคเหนือตอนบนของไทย จำนวน 2,552,684 ไร่
โดยเฉลี่ยทั้ง 6 ปี ราว 2 ใน 3 ของจุดความร้อนที่พบในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่ในพื้นที่ป่าและ ราว 1 ใน 3 (ของจุดความร้อน)พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพด เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์แต่ละปี พบว่า ปี 2558-2561 และ 2563 เป็นปีที่พบจุดความร้อนมากที่สุดในพื้นที่ป่าผลัดใบ ส่วนในปี 2562 พบจุดความร้อนมากที่สุดในพื้นที่ปลูกข้าวโพด จุดความร้อนที่พบในแต่ละประเภท การใช้ที่ดิน/สิ่งปกคลุมดินเป็นดัชนี(indicator)สำคัญในการระบุแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 [3] และเชื่อมโยงกับการสูญเสียพื้นที่ป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ข้อมูลวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมระบบ MODIS ในการศึกษานี้สอดคล้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลของระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกโดย Global Forest Watch ที่ระบุว่า สปป. ลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการสูญเสียพื้นที่ป่าดั้งเดิม (primary forest loss) มากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลกในปี พ.ศ.2563 [4] ระหว่างปี 2544-2563 พื้นที่ป่าในสปป.ลาวทั้งหมดลดลงร้อยละ 19 คิดเป็นพื้นที่ 20.625 ล้านไร่ หรือเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.42 ล้านตัน [5]
การปลูกข้าวโพดเชิงอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นการผลิตเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และเพื่อส่งออกในสัดส่วนที่มากกว่าเพื่อการเลี้ยงประชากรในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ของไทยระบุในปี 2563 ว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี โดยมูลค่าการส่งออกที่สัมพันธ์ตามมาจากการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คือการส่งออกสินค้าไก่เป็นอันดับสามของโลก มีมูลค่า 3,116 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 97,903 ล้านบาท) รายงานวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดโดย UNCTAD [6] ระบุว่า ในแขวงไชยบุรี(Xayaboury)ของ สปป.ลาว เกษตรกรราว 77% ของใช้พันธุ์ Advanta’s Pacific จากไทย และอีก 28% เป็นข้าวโพด CP888 โดยส่งออกเพื่อป้อนให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในจีน เวียดนามและไทย
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวว่า “ข้อค้นพบหลักในรายงานนี้ คือเสียง ย้ำเตือนอีกครั้งถึงเจตจำนงทางการเมืองของผู้กำหนดนโยบายของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการปกป้องสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน และมีมาตรการทาง กฏหมายที่ให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีภาระรับผิด(accountability)ต่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดห่วงโซ่อุปทาน การผลิตและระบบอาหาร พร้อมไปกับการรับรองสิทธิชุมชน ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดินซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ”
กรีนพีซ ประเทศไทย ยังเรียกร้องให้ประชาคมอาเซียนทบทวนความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควัน (Haze-free ASEAN by 2020) และมีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวปฏิบัติที่มีความเป็นธรรมทางสังคมในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน
ร่วมเป็นพลังเปลี่ยนแปลงระบบอาหารที่ยั่งยืนและเป็นธรรมได้ที่นี่
อ่านผลวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่นี่
หมายเหตุ
[1] รายงาน “ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงปี 2558-2563 สามารถดูได้ที่นี่
[2] ในปี 2562 กรีนพีซ ประเทศไทยทำการศึกษาการกระจายตัวของมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดน (transboundary haze pollution) ซึ่งเน้นไปที่ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) และจุดความร้อน(hotspot)ในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้านรีโมตเซนซิงและข้อมูลจากภาพดาวเทียม Terra/AQUA ระบบเซ็นเซอร์ MODIS ซึ่งถูกออกแบบสำหรับการติดตามและตรวจสอบข้อมูลด้านทรัพยากร ธรรมชาติ ต่อมาในปี 2563 ได้มุ่งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ซึ่งเปิดเผยให้เห็นถึงบทบาทของอุตสาหกรรม เนื้อสัตว์และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เชื่อมโยงกับการกระจายตัวของมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนโดยการวิเคราะห์ข้อมูลจาก ดาวเทียมระหว่างปี 2558-2562 ซึ่งพบว่า มีพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยเฉลี่ยราว 1 ใน 3 ของพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมด
[3] การวิเคราะห์จุดความร้อนจากภาพดาวเทียม Suomi-NPP ระบบ VIIR ที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่ 375 เมตร ถึงสัดส่วนของจุดความร้อน(Hotspot) แยกตามสิ่งปกคลุมดิน(Land Cover) และการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเฉลี่ย 6 ปี (ปี 2558-2563)
[4] ระหว่างปี 2562 ถึง 2563 การทำลายป่าฝนเขตร้อนดั้งเดิม(Primary Rainforest) เพิ่มขึ้น 12% ทั่วโลก ดูเพิ่มเติมจาก https://blog.globalforestwatch.org
[5] ดูสถิติเกี่ยวกับป่าไม้ใน สปป.ลาว จากการวิเคราะห์ภาพดาวเทียม ได้ที่นี่
[6] Analysing the Maize Value Chain for Export in Lao PDR https://unctad.org/system/files/official-document/ditccommisc2020d2_en.pdf
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ