สช. เดินหน้าสร้างหลักเกณฑ์ HIA ฉบับ 3 สร้างทางเลือกชุมชนต่อโครงการพัฒนา

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2053 ครั้ง

สช. เดินหน้าสร้างหลักเกณฑ์ HIA ฉบับ 3 สร้างทางเลือกชุมชนต่อโครงการพัฒนา

สช. เปิดเวทีรับฟังความเห็นกลุ่มภาครัฐ-ท้องถิ่น-เอกชน ต่อร่างหลักเกณฑ์ฯ HIA ฉบับ 3 หวังสร้างเครื่องมือ Soft Power ควบคู่อำนาจทางปกครอง สามารถนำไปใช้กับแผนงาน-โครงการ-นโยบายได้ทุกระดับ คลี่คลายความขัดแย้ง สนับสนุนการพัฒนาไปพร้อมกับการปกป้องสิทธิชุมชน | ที่มาภาพประกอบ: WU eLearning - มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

7 มิ.ย. 2564 นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เปิดเผยในเวทีจัดการประชุมระดมสมองเพื่อรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ต่อร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2564 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ว่า ด้วยสภาพสังคมที่ยังรวมศูนย์อำนาจ และแผนงานหรือนโยบายมักออกมาจากส่วนกลาง เมื่อขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจึงทำให้เห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะระดับชุมชนและระดับพื้นที่ซึ่งอยู่ในส่วนปลาย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สช. ได้พยายามอย่างมากในการพัฒนาเครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) เพื่อให้หน่วยงานและชุมชนนำไปใช้กับโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงนำมาสู่การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างหลักเกณฑ์ฯ ที่จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบายสาธารณะต่างๆ

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างคาดหวังว่าเครื่องมือ HIA จะเป็นเครื่องมือทางวิชาการในลักษณะ Soft Power พร้อมกับการเป็นเครื่องมือทางปกครอง เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินโครงการหรือนโยบายต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้องและสะดวก และสามารถลดความขัดแย้งควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในพื้นที่

นพ.ประทีป กล่าวว่า สช. ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานและภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพัฒนาเครื่องมือและกระบวนการประเมินผลกระทบต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน ทั้งการทำงานด้านวิชาการ พัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนการสร้างกำลังคนนักวิชาการเพื่อทำงานด้านประเมินผลกระทบในมิติต่างๆ

นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ร่างหลักเกณฑ์ฯ ฉบับที่ 3 นี้ จึงพยายามเปิดกว้างเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำเครื่องมือ HIA ไปใช้ประโยชน์ ที่เอื้อตั้งแต่การนำไปใช้ในระดับกิจกรรมในชุมชน แผนงาน โครงการต่างๆ ไปจนถึงในระดับยุทธศาสตร์ หรือนโยบายในภาพใหญ่

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การจัดรับฟังความเห็นจากกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในครั้งนี้ จึงได้มิติและมุมมอง รวมถึงข้อห่วงใยในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความทับซ้อนระหว่างเครื่องมือ ข้อกฎหมาย หรือความครอบคลุมด้านเนื้อหา ซึ่งความเห็นเหล่านี้จะถูกนำไปรวบรวมกับความเห็นจากภาควิชาการ ประชาสังคม และชุมชน ที่เสนอมาก่อนหน้านี้ ก่อนจะตกผลึกออกมาเป็นร่างที่สมบูรณ์อีกครั้ง

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะทำงานพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพฯ กล่าวว่า กระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง จะต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำไปตามที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น โดยที่ผ่านมาพบปัญหานี้ในกระบวนการวิเคราะห์ และการประเมินผลกระทบบางอย่าง จนที่สุดแล้วเครื่องมือเหล่านี้จึงถูกด้อยค่าและถูกละเลยไป

“สำหรับหลักเกณฑ์ฯ ของ HIA ที่เคยมีมาแล้ว 2 ฉบับ นับว่ามีทั้งจุดดีและจุดอ่อนต่อการนำไปใช้ ขณะนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงพยายามพัฒนาร่างหลักเกณฑ์ฯ ฉบับที่ 3 บนพื้นฐานการทำงานทางวิชาการเพื่อปิดช่องว่าง และทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม ล้วนเติบโตไปด้วยกันได้ บนหลักการสำคัญของการเป็น Soft Power ยกระดับพลเมืองให้ตื่นรู้” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

อนึ่ง เครื่องมือ HIA เป็นเครื่องมือที่มุ่งเน้นชักชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการพัฒนาต่างๆ 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย 1. ผู้ประกอบการ-เจ้าของโครงการ 2. ผู้ได้รับผลกระทบ-ภาคประชาชน 3. ผู้ควบคุมกฎเกณฑ์-รัฐ เข้ามาพูดคุยกันบนฐานข้อมูลทางวิชาการภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วม และจัดทำข้อเสนอหรือแนวทางต่อโครงการนั้นๆ ที่อยู่บนการยอมรับของคนทั้ง 3 ฝ่าย

ทั้งนี้ เครื่องมือดังกล่าวอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ให้การรับรองสิทธิประชาชนและชุมชน โดยมาตรา 11 ระบุว่า บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากนโยบายสาธารณะได้ และ มาตรา 25 ระบุว่า ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งถือเป็นการ “กำหนดภาระกิจ-หน้าที่” ให้กับหน่วยงานดำเนินการ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: