ผ่าน 1 ปีกว่าแผนลดชดเชยราคาน้ำมันชีวภาพตามมติ กพช.ไม่คืบหน้า

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ก.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2445 ครั้ง

ผ่าน 1 ปีกว่าแผนลดชดเชยราคาน้ำมันชีวภาพตามมติ กพช.ไม่คืบหน้า

สื่อเกาะติดประเด็นพลังงาน 'Energy News Center' เผยผ่านมามากกว่า 1 ปี ก.พลังงาน ยังไม่สามารถเริ่มต้นลดการชดเชยน้ำมันชีวภาพทั้ง แก๊ส​โซฮอล์ E85 และไบโอดีเซล B20 ได้ตามแผน ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีเงินไหลออกกว่า 1,700 ล้านบาทต่อเดือน ในขณะที่ สกนช.เตรียมแผนกู้เสริมสภาพคล่องอีก 20,000 ล้าน โดยผู้ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล B7 เป็นผู้แบกรับภาระจ่ายแทนทั้งหมด

Energy News Center รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. 2564 ว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)​ ที่มีพลเอกประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ แผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่การประชุมเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2563 แล้ว โดยแนวทางการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2565 ที่ทาง สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ สกนช. เป็นผู้จัดทำแผน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ถูกรวมไว้ ในยุทธศาสตร์ที่ 2 โดยมีสาระสำคัญ ที่ให้การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งหมายถึง น้ำมันเบนซินที่มีการผสมเอทานอล และน้ำมันดีเซลที่มีการผสมไบโอดีเซล B100 ในสัดส่วนต่างๆ และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยต่อไป ก็ต้องให้คณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของ กพช. มีอำนาจขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี

โดย สกนช. จะกำหนดอัตราเงินกองทุนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงตามนโยบายภาครัฐ โดยมีกรอบในการดำเนินงานคือ กำหนดอัตราเงินแต่ละชนิดให้เหมาะสม เป็นธรรม และไม่ใช้เพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงข้ามกลุ่ม หลีกเลี่ยงการแทรกแซงที่มีผลกระทบต่อกลไกตลาดเสรี

ทั้งนี้ในมาตรการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 ประกอบด้วย
(1) กลุ่มน้ำมันเบนซิน ให้ทยอยลดการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 และ E85 ลงร้อยละ 50 เทียบกับปีก่อน จนไม่มีการชดเชยหลังจากปีที่ 3 และหากจำเป็นต้องขยายกรอบระยะเวลา จะดำเนินการตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันฯ และรักษาส่วนต่างราคาขายปลีกที่จูงใจให้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 โดยกำหนดอัตราเงินกองทุนที่เหมาะสม

และ (2) กลุ่มน้ำมันดีเซล ให้ทยอยลดการจ่ายเงินชดเชยลงร้อยละ 50 เทียบกับปีก่อน จนไม่มีการชดเชยหลังจากปีที่ 3 และหากจำเป็นต้องขยายกรอบระยะเวลา จะดำเนินการตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันฯ และรักษาส่วนต่างราคาขายปลีกที่จูงใจให้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 โดยกำหนดอัตราเงินกองทุนที่เหมาะสมให้เป็นน้ำมันมาตรฐานทดแทนฺน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 โดยมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 เป็นทางเลือก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงขณะนี้ การทยอยลดการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 และ E85 รวมทั้งน้ำมันดีเซล (B10)​ และดีเซล B20 ลงร้อยละ 50 ยังไม่มีความคืบหน้า โดยในส่วนของ น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 กองทุนน้ำมันยังต้องเข้าไปชดเชยราคาอยู่ที่ลิตรละ 2.28 บาท และ E85 ลิตรละ 7.13 บาท ส่วน ดีเซล (B10)​ กองทุนชดเชยอยู่ที่ลิตร 2.50 บาท และ ดีเซล B20 ชดเชยอยู่ที่ ลิตรละ 4.16 บาท ต่อลิตร

ทั้งนี้ รัฐยังคงขยายระยะเวลาการชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพที่รัฐมีนโยบายส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆที่ราคาเอทานอล และ B100 อยู่ในระดับสูง เพื่อทำให้ราคาขายปลีกที่หน้าปั๊มจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้ ซึ่งค่อนข้างได้ผล

โดยกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยข้อมูลตัวเลขการใช้น้ำมัน​แก๊ส​โซฮอล์​ E20 ช่วงเดือน ม.ค.- พ.ค.2564 อยู่ที่ 6.01 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ใช้อยู่ 5.94 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนน้ำมันดีเซล (B10)​ อยู่ที่ 23.57 ล้านลิตรต่อวันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ ที่ยอดใช้อยู่ที่ 10.21 ล้านลิตรต่อวัน

https://www.energynewscenter.com/wp-content/uploads/2021/07/Screenshot_20210705_104753_com.huawei.photos_edit_1656723432713867-1024x513.jpg

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่จะให้มีการลดการชดเชยแก๊สโซฮอล์ E85 และยกเลิกประเภทน้ำมันแก๊ส​โซฮอล์​91 เพื่อให้คนใช้ E20 และมีแผนจะประกาศให้ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานในเดือนก.ค.2564 นั้นถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายปี 2565 แทน เนื่องจากกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการปรับโครงสร้างราคาเอทานอลให้มีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันมากขึ้น รวมทั้งให้มั่นใจว่าจะมีการผลิตเอทานอลเพียงพอรองรับความต้องการใช้ที่จะเพิ่มมากขึ้น

ความล่าช้าในการดำเนินการตามแผนลดการชดเชยน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีเงินไหลออกและฐานะสุทธิของเงินกองทุนลดลงเรื่อยๆ เพราะมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการนำไปชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม ที่เพิ่งมีการขยายกรอบวงเงินเพิ่มเป็น 18,000 ล้านบาท

โดยสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 27 มิ.ย. 2564 เหลือเงินสุทธิ 17,972 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินในบัญชีน้ำมัน 31,559 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 13,587 ล้านบาท

กองทุนฯ มีรายได้จากการจัดเก็บเงินจากการใช้น้ำมันเบนซิน ลิตรละ 6.58 บาท จากผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ลิตรละ 0.62 บาท จาก ผู้ใช้ดีเซล B7 ลิตรละ 1 บาท แต่มีภาระที่ต้องชดเชยราคา LPG และเชื้อเพลิงชีวภาพทั้ง E20 E85 ดีเซล และดีเซล B20 ทำให้มีไหลออกรวมประมาณเดือนละ 1,700 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กองทุนฯ สามารถเหลือเงินใช้ไปได้อีกเพียงแค่ 1 ปี อย่างไรก็ตาม สกนช.ได้เตรียมแผนการกู้เงิน 20,000 ล้านบาทไว้ล่วงหน้าแล้ว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: