ทีมนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษแสดงความกังวลว่า การต่อสู้กับการระบาดของ COVID-19 อย่างเช่นในช่วงกว่าปีที่ผ่านมาจะดำเนินต่อไปอีกนาน เพราะโอกาสที่จะกำจัดไวรัสกลุ่มนี้มีน้อยมาก และความน่าจะเป็นของการกลายพันธุ์ยังมีอยู่สูง
เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 2021 VOA รายงานว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษแสดงความกังวลว่า การต่อสู้กับการระบาดของโคโรนาไวรัสอย่างเช่นในช่วงกว่าปีที่ผ่านมา จะดำเนินต่อไปอีกนาน เพราะโอกาสที่จะกำจัดไวรัสกลุ่มนี้มีน้อยมาก และความน่าจะเป็นของการกลายพันธุ์ยังมีอยู่สูง
อย่างไรก็ดี ในรายงานที่รวบรวมผลการศึกษาโดย Scientific Advisory Group for Emergencies (SAGE) ของอังกฤษ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อปลายเดือน ก.ค. 2021 ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยยังมีความหวังว่า การกลายพันธุ์ของโคโรนาไวรัสในอนาคตอาจจะไม่นำไปสู่สายพันธุ์ที่ร้ายแรงขึ้น และอาจเป็นพันธุ์ที่ “ก่อให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงน้อยกว่า” พร้อมเตือนว่า มาตรการป้องกันและจำกัดต่างๆ ยังคงมีความจำเป็นอยู่ในเวลานี้ เนื่องจาก “ยังมีความเป็นไปได้สูง” ที่อาจจะเกิดมีไวรัสกลายพันธุ์ที่ดื้อวัคซีนขึ้นได้
นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ ยังเตือนว่า มีโอกาสที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ อาจกลายพันธุ์มาจากไวรัส MERS ซึ่งเป็นโคโรนาไวรัสที่มีอัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยสูงถึง 35 เปอร์เซ็นต์ได้ด้วย
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวที่ได้รับการเปิดเผยออกมาอย่างเงียบๆ เป็นประเด็นที่นักการเมืองฝ่ายค้านอังกฤษนำมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการหลีกเลี่ยงความสนใจของสาธารณชน เพื่อไม่ให้ประชาชนเสียความมั่นใจเกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมวิกฤตโควิด และแผนการเปิดพรมแดนประเทศให้กับนักเดินทางจากสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเยอรมนีเตรียมเริ่มทำการฉีดวัคซีนโควิด-19 กระตุ้นภูมิ หรือวัคซีนบูสเตอร์ ของบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอนเท็ค (Pfizer-BioNTech) หรือ ของบริษัท โมเดอร์นา (Moderna) ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป ให้กับประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักหรือศูนย์ดูแลคนชรา และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ รวมทั้งชาวเยอรมันที่เคยได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) หรือของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ซึ่งมีความประสิทธิผลในการต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่ต่ำ
ส่วนที่อิสราเอล ฝรั่งเศส และฮังการี รัฐบาลได้เริ่มแจกจ่ายวัคซีนบูสเตอร์ให้กับประชาชนบางกลุ่มไปแล้ว ขณะที่ อังกฤษมีแผนจะทำการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิในเดือนหน้าเช่นกัน
และที่สหรัฐฯ รัฐบาลของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยังคงกำลังพิจารณาคำขอของบริษัท ไฟเซอร์ ให้อนุมัติการฉีดวัคซีนบูสเตอร์อยู่ โดยยังไม่มีใครทราบว่าจะได้รับไฟเขียวเมื่อใด แม้ว่า รัฐบาลจะสั่งวัคซีนของบริษัทแห่งนี้เพิ่มอีก 200 ล้านโดส ที่หลายฝ่ายมองว่า น่าจะเป็นการเตรียมการแจกจ่ายภายใต้โครงการกระตุ้นภูมิให้กับประชาชนในอนาคต
สกอตต์ กอตต์ลีบ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ว่า ตนเชื่อว่า วัคซีนบูสเตอร์น่าจะพร้อมใช้งานในสหรัฐฯ ในเดือนหน้า สำหรับประชาชนผู้สูงอายุและผู้ที่ปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ