เผยโรงเรียนเอกชนอาจจะปิดกิจการกว่า 1 พันแห่ง เพราะผลกระทบ COVID-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 3856 ครั้ง

เผยโรงเรียนเอกชนอาจจะปิดกิจการกว่า 1 พันแห่ง เพราะผลกระทบ COVID-19

รายงานพิเศษจากสื่อ 'ประชาชาติธุรกิจ' เผยโรงเรียนเอกชนเจอผลกระทบ COVID-19 รายได้ลด ขาดสภาพคล่อง จ่อปิดกิจการกว่า 1 พันแห่ง ที่เหลืออาการหนักไม่น้อยหน้า ขอค้างจ่ายเงินเดือนครู จ่ายแค่ 50% รมว.ศึกษา นัดถก ธปท.แก้ปม กระทุ้งแบงก์พาณิชย์เร่งปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน์ต่อลมหายใจ | ที่มาภาพประกอบ: 1778011 (Pixabay License)

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอรายงานพิเศษ 'ร.ร.เอกชน 1,000 แห่งม้วนเสื่อ หนี้ท่วม-ขาดสภาพคล่องหนัก' เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2564 ว่านายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบสถาบันการศึกษาที่ต้องหยุดการเรียนการสอนต่อเนื่อง ล่าสุดโรงเรียนเอกชนจำนวนมากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จากการประเมินเบื้องต้นพบว่าในจำนวนโรงเรียนเอกชนที่มีกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ

หากยังไม่สามารถเปิดเรียนได้ภายในเดือน ธ.ค. 2564 จะมี ร.ร.เอกชนกว่า 50% หรือจำนวนกว่า 1,000 โรงเรียนอาจต้อง “ปิดกิจการ” เพราะจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ได้ข้อมูลว่าผู้บริหารโรงเรียนส่วนใหญ่ขอค้างจ่ายเงินเดือนครู และหลายแห่งขอจ่ายเพียง 50% เพราะต้องการรักษาสภาพคล่องไว้ให้นานที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนเอกชนต้องเผชิญ “วิกฤตสภาพคล่อง” คือ 1) รายได้ 90% มาจากค่าเทอมการศึกษาเป็นหลัก ต่างจากโรงเรียนรัฐบาลที่มีงบประมาณอุดหนุนให้ และแม้รัฐจะให้การอุดหนุนโรงเรียนเอกชน แต่คิดเป็นวงเงินแค่ 10% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด 2) ต้นทุนการว่าจ้างครูสูงกว่าเมื่อเทียบกับโรงเรียนของรัฐ อีกทั้งต้องจ้างครูไว้มากกว่าปกติถึง 2 เท่า เพื่อรักษาคุณภาพการสอน

3) สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองนักเรียนว่างงาน ส่วนใหญ่ขอผ่อนผันการจ่ายค่าเทอมออกไปก่อน 4) มีต้นทุนการตรวจโควิด-19 เครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงทั้งครูและนักเรียน 5) บางโรงเรียนกู้เงินจากธนาคารมาลงทุน เมื่อได้รับผลกระทบจากโควิด ขาดรายได้ ทำให้ฟื้นกิจการเป็นไปได้ยากขึ้น

6) หลายแห่งยื่นขอสินเชื่อ แต่สถาบันการเงินไม่อนุมัติ ทั้งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุมัติหลักการเกี่ยวกับการยื่นขอสินเชื่อไปแล้ว

“ต่อให้มีเด็กในโรงเรียน 40 คน ใช่ว่าจะมีครูแค่ 2 คน เหมือนกับโรงเรียนรัฐ นักเรียน 60 คน ต้องมีครู 3 คน ในขณะที่โรงเรียนเอกชนจะมีนักเรียนกี่คนก็แล้วแต่ ครูจะต้องมีจำนวนครบทุกชั้น และต้องเผื่อไว้สำหรับครูวิชาเฉพาะ และยังต้องจ้างครูต่างชาติมาสอน เพื่อสร้างจุดขาย ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ ผมมองว่าอาจได้เห็นปรากฏการณ์ ร.ร.เอกชนทั่วประเทศหายไปจากระบบราว 1,000 แห่ง”

นายอรรถพลกล่าวว่า เร็ว ๆ นี้นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อม สช.จะนำประเด็นปัญหาดังกล่าวเข้าหารือกับ ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ขอให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อฟื้นฟูกิจการแก่โรงเรียนเอกชน เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) โดยบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ให้ เนื่องจากพบว่าส่วนใหญ่ยื่นขอกู้แล้วไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และแบงก์พาณิชย์มองว่าธุรกิจการศึกษามีความเสี่ยงสูง

“ศธ.มองว่าแบงก์พาณิชย์มีโอกาสใช้ประโยชน์จากเงินกู้ของภาครัฐที่ดอกเบี้ยต่ำมาก และอยากให้มาช่วยประเทศในยามวิกฤต เพราะหากโรงเรียนต้องปิดกิจการหลายปัญหาจะตามมา ทั้งผู้ปกครอง เด็กนักเรียน ต้องหาที่เรียนใหม่ นักเรียนบางคนอาจไม่ได้ศึกษาต่อก็ได้ ทุกฝ่ายจึงต้องมองภาพใหญ่และช่วยกันแก้ไข”

นายอรรถพลกล่าวว่า ในส่วนของมาตรการ “Sandbox Safety Zone in School” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค. 2564 เพื่อให้โรงเรียนปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เป็นที่แพร่เชื้อ สามารถเปิดเรียนตามปกติได้ โดยมี 3 เงื่อนไขคือ ต้องเป็นโรงเรียนประจำ, ต้องเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ และต้องได้รับการประเมินความพร้อมจาก ศธ.และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.

โดยมีแนวทางปฏิบัติ 3 เรื่อง 1) จัดให้มีสถานแยกกักตัวในโรงเรียน (school isolation) 2) จัดให้มี safety zone ในโรงเรียนรวม และ 3) ต้องมีการติดตามประเมินผลโดยทีมตรวจราชการจาก ศธ.และ สธ.

อาทิ ครู-นักเรียนต้องตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ก่อนเข้าโรงเรียน ซึ่งจะสุ่มตรวจทุก 14 วัน นักเรียนต้องทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ bubble & seal ต้องประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชั่น “ไทยเซฟไทย” หรือ 1 เดือน/เทอม โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ รร.ที่จัดการเรียน onsite อยู่แล้ว และยังไม่ปล่อยนักเรียนกลับบ้านภายหลังการประกาศของ ศบค. 23 แห่ง กลุ่มที่ 2 ร.ร.ที่จัดการเรียนการสอน onsite อยู่แล้ว แต่ปล่อยนักเรียนกลับบ้าน 14 โรงเรียน และกลุ่มที่ 3 ร.ร.ที่พร้อมเปิดเรียน แต่ยังไม่รับนักเรียนเข้ามาเรียน 31 แห่ง

ขณะนี้มีโรงเรียนผ่านการพิจารณารวม 6 แห่ง อาทิ ร.ร.มีชัยพัฒนา และ ร.ร.ฉงจี้ จ.บุรีรัมย์, ร.ร.นานาชาติบริติช ภูเก็ต, ร.ร.นานาชาติยูดับเบิลยูซี ประเทศไทย จ.ภูเก็ต, ร.ร.นานาชาติรักบี้ จ.ชลบุรี และ ร.ร.นานาชาติฮาร์โรว์ กรุงเทพมหานคร และล่าสุดมีโรงเรียนสมัครเข้าร่วม Sandbox Safety Zone in School กว่า 100 โรงเรียน โรงเรียนใดมีความพร้อมยื่นขอเปิดการเรียนการสอนภายใต้โครงการนี้ได้ที่ สนง.ศึกษาธิการจังหวัด

อ่านรายงานพิเศษนี้เพิ่มเติมในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: