หนุนผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมฉายรังสีเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหารพื้นถิ่น

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 พ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2242 ครั้ง

หนุนผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมฉายรังสีเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหารพื้นถิ่น

รัฐบาลหนุนผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมฉายรังสีเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหารพื้นถิ่นเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีมาตรฐานความปลอดภัย และยืดอายุการเก็บรักษา เป็นการเพิ่มโอกาสการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ภาคกลางจัดกิจกรรม Product Champion เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการฉายรังสีอาหารสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น อาทิ ปลาร้า ปลาเค็ม ปูเค็ม กบแดดเดียว กะปิ ผัดไทย แกงส้ม กล้วยตาก ผลไม้ดอง เป็นต้น

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2564 ว่า น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าจากตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2564 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความเชื่อมั่นว่าการส่งออกในปีหน้าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องแน่นอน ด้วยยุทธศาสตร์การตลาดนำการผลิตที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นกลไกหลักในการดำเนินการร่วมกับส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปกับการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับภาคการผลิต

นายกรัฐมนตรียังได้ติดตามการขับเคลื่อนการนำนวัตกรรมฉายรังสีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์เกษตร ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ประกอบการให้ความสนใจจำนวนมากขึ้นนำสินค้าผลไม้ อาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง สมุนไพร และอาหารสุนัขมารับการฉายรังสี เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัย (ฆ่าเชื้อโรค พยาธิ แมลง) ในตัวสินค้าแล้ว ยังช่วยยืดเวลาในการเก็บรักษา เช่น ผลไม้บางอย่างจากปกติมีอายุ 3-6 วันก็เพิ่มเป็น 1 เดือน หรืออาหารแปรรูปก็เพิ่มได้อีก 1-2 ปี จึงเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกอย่างมาก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกต่างก็ให้การยอมรับว่าอาหารฉายรังสีมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลได้ขยายการส่งเสริมไปยังกลุ่มผู้ประกอบการอาหารพื้นถิ่น เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีมาตรฐานความปลอดภัย และยืดอายุการเก็บรักษา เป็นการเพิ่มโอกาสการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ภาคกลางจัดกิจกรรม Product Champion เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการฉายรังสีอาหารสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น อาทิ ปลาร้า ปลาเค็ม ปูเค็ม กบแดดเดียว กะปิ ผัดไทย แกงส้ม กล้วยตาก ผลไม้ดอง เป็นต้น

"อย่างกรณีน้ำพริกปลาร้าทรงเครื่อง เมื่อเชื้อโรคและสารปนเปื้อนในน้ำพริกได้ถูกจัดการผ่านการฉายรังสี จะมีอายุการเก็บรักษาได้นานออกไปอีก 1-2 ปี หรือปลาวงอบแห้งฉายรังสี สามารถยืดอายุการเก็บรักษาเพิ่มได้เป็น 12-18 เดือน" น.ส.รัชดา กล่าว

สำหรับปี 2565 สทน.มีแผนขยายโครงการไปยังพื้นที่ภาคใต้ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏในท้องถิ่นเช่นเดียวกับพื้นที่ภาคกลาง และยังมีแผนการดำเนินงานที่ขยายต่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ เพื่อพัฒนาอาหารพื้นถิ่นให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยทั่วทั้งประเทศ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ สอดรับกับความต้องการในตลาดโลกที่ให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัย การฉายรังสีเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรค พยาธิและแมลง ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการตลาดในประเทศและการส่งออกได้ ซึ่งในหลายประเทศมีมาตรการชัดเจนที่กำหนดให้สินค้าเกษตรบางชนิดต้องฉายรังสีก่อนจึงจะนำเข้าไปจัดจำหน่ายในประเทศได้

"กรณีของปลาร้าที่เป็นอาหารหมักดอง ผู้บริโภคอาจไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย หากนำมาผ่านกระบวนการฉายรังสีก็จะแก้ข้อกังวลดังกล่าวได้ จึงเป็นโอกาสให้ทำตลาดในลาว เวียดนาม กัมพูชา และประเทศที่มีคนเอเชียอาศัยอยู่จำนวนมาก ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้มากขึ้น" น.ส.รัชดา กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีความสนใจสามารถติดต่อไปที่ศูนย์ฉายรังสี เทคโนธานี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โทร.0-2401-9889

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: