เดือน ธ.ค. 2563 ผู้ประกันตนรับสิทธิว่างงาน 395,013 คน เลิกจ้าง 190,079 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ก.พ. 2564 | อ่านแล้ว 4287 ครั้ง

เดือน ธ.ค. 2563 ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ม. 33 รับสิทธิว่างงาน 395,013 คน ถูกเลิกจ้าง 190,079 คน สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารสัดส่วนเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 3,811.05% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2562 - สภาองค์การนายจ้างส่งสัญญาณแรงงานภาคท่องเที่ยวยังลำบาก - ธปท.ประเมินผลกระทบจากการระบาดใหม่ของ COVID-19 ชี้ไตรมาส 4/2563 ฟื้นตัวแต่ยังไม่ทั่วถึง | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลจาก รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ธ.ค. 2563 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าเดือน ธ.ค. 2563 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,124,209 คน ลดลงร้อยละ (-4.81) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,686,393 คน) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.44 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,075,882 คน)

อุตสาหกรรมหลักที่มีการจ้างงานขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1. สาขาขนส่ง (เพิ่มร้อยละ 4.02) 2. สาขาเกษตรกรรม (เพิ่มร้อยละ 0.85) ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่มีการจ้างงานหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1. สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร (หดตัวร้อยละ 26.45) 2. สาขาก่อสร้าง (หดตัวร้อยละ 4.96) และ 3. สาขาการค้า (หดตัวร้อยละ 2.77%)

เดือน ธ.ค. 2563 มีผู้ประกันตนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจำนวน 395,013 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 131.74 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 170,455 คน) และลดลงร้อยละ (-15.14) เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 465,465 คน) ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือน ธ.ค. 2563 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ธ.ค. 2562 ที่ร้อยละ 1.0) และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (พ.ย. 2563 ที่ร้อยละ 2.0)

อุตสาหกรรมหลักที่มีการว่างงานขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1. สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร (ขยายตัวร้อยละ 474.11) 2. สาขาการผลิต (ขยายตัวร้อยละ 129.44) 3. สาขาขนส่ง (ขยายตัวร้อยละ 190.68) 4. สาขาก่อสร้าง (ขยายตัวร้อยละ 127.56) 5. สาขาการค้า (ขยายตัวร้อยละ 91.17) และ 6. สาขาเกษตรกรรม (ขยายตัวร้อยละ 0.84)

ดูตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมระหว่างปี 2539-2563 ได้ที่นี่

เดือน ธ.ค. 2563 มีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างจากสำนักงานประกันสังคม มีจำนวน 190,079 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 563.89 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 28,631 คน) และลดลงร้อยละ (-17.78) เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 231,170 คน) และอัตราการเลิกจ้างของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างของระบบประกันสังคมในเดือน ธ.ค. 2563 เท่ากับ 1.71

อุตสาหกรรมหลักที่มีการเลิกจ้างขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1. สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร (ขยายตัวร้อยละ 3,811.05) 2. สาขาขนส่ง (ขยายตัวร้อยละ 814.23) 3. สาขาการผลิต (ขยายตัวร้อยละ 430.87) 4. สาขาการค้า (ขยายตัวร้อยละ 368.29) และ 5. สาขาก่อสร้าง (ขยายตัวร้อยละ 335.13) [1]

สภาองค์การนายจ้างส่งสัญญาณแรงงานภาคท่องเที่ยวยังลำบาก

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ระบุกับสื่อว่าการระบาดของไวรัส COVID-19 รอบใหม่คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการและแรงงานปี 2564 มีความเปราะบางมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีอัตรากำลังการผลิตที่เหลืออยู่แต่ยังต้องพยายามรักษาสภาพการจ้างงานเอาไว้โอกาสจ้างแรงงานเพิ่มจึงมีอัตราต่ำ ขณะที่แรงซื้อยังไม่เพิ่มมากนัก ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ลงถึงชาวบ้านโดยเร็วและต่อเนื่องเพื่อที่จะพยุงให้ระบบเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ขับเคลื่อนไปได้ด้วยกลไกการใช้เงินที่เต็มประสิทธิภาพ

“ปีนี้ธุรกิจและแรงงานจะเหนื่อยกว่า ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รอบใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่อยากให้มองในเรื่องกลไกการปฏิบัติในเรื่องการเบิกจ่ายเงินที่ทำอย่างไรให้เบิกจ่ายจริงแล้วถึงมือประชาชนให้ได้ เพราะก่อนหน้านี้ที่รัฐออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแต่กลับเบิกจ่ายใช้จริงไม่ถึง 50%” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมาถือว่ารัฐได้ทำอย่างเต็มที่ภายใต้เงินที่มีอยู่ รวมถึงโครงการเราชนะล่าสุดภาพรวมสนับสนุนที่จะต้องเร่งอัดฉีดให้ต่อเนื่อง แต่เงื่อนไขเช่น เงินฝากทุกบัญชีต้องไม่เกิน 5 แสนบาท ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรจะตั้งไว้เพราะหากรัฐส่งเสริมการออมการมีเงินออมเพียงเท่านี้ถือว่าไม่ได้มากเลย หากมีเงื่อนไขนี้ต่อไปคนอาจไม่อยากออม ขณะเดียวกันเห็นด้วยที่กระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่จะเยียวยา COVID-19 แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นคนละ 3,500 บาท หรือ 4,000 บาท 1 เดือน ซึ่งเห็นว่าหากเป็นไปได้ก็ควรจะพิจารณาให้เท่ากับโครงการเราชนะคือ 7,000 บาท (3,500 บาท 2 เดือน) เป็นต้น

ปัจจุบันภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาสภาพคล่องโดยเฉพาะเอสเอ็มอี จึงอยู่ที่ว่าธุรกิจใดจะประคองตัวเองได้มากสุดเท่านั้นหากไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการ ดังนั้น ปัญหาด้านสภาพคล่องธุรกิจเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐต้องเร่งเข้ามาแก้ไข โดยคาดว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มลำบาก หากไทยเริ่มฉีดวัคซีนและเสร็จภายในไตรมาส 3 การท่องเที่ยวภายในประเทศของไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 4 แต่ต่างชาติคงยังไม่มีมา ภาพรวมจะส่งผลให้แรงงานระดับ 1 ล้านคนในส่วนนี้ยังคงว่างงาน

ขณะที่ภาคส่งออกมีแนวโน้มที่อาจค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากสต๊อกสินค้าหลายรายการของต่างประเทศเริ่มหมดลงเนื่องจากผลกระทบ COVID-19 ที่ผ่านมาทำให้โรงงานมีการปิดตัวลง จึงทำให้มีคำสั่งซื้อมายังภูมิภาคเอเชีย และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอานิสงส์เนื่องจากเป็นประเทศที่มีห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเห็นได้จากการส่งออกในเดือน ธ.ค. 2563 ที่เพิ่มขึ้น 4.71% เมื่อเทียบกับ ธ.ค. 2562 จึงทำให้มีการประเมินว่าส่งออกปี 2564 จะโตได้ 4% จากปี 2563 ที่การส่งออกรวมทั้งปีติดลบ 6.01% เมื่อเทียบกับปี 2562 อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องติดตามปัจจัยต่าง ๆ ใกล้ชิดเนื่องจากแม้ว่าทั่วโลกเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 แต่ก็ยังไม่อาจชี้ชัดว่าจะได้ผลอย่างแท้จริง

“ภาคแรงงานของไทยยังคงต้องปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ซึ่งน่าห่วงเด็กจบใหม่ที่จะออกมาในช่วง มี.ค.-เม.ย. นี้อีกราว 5 แสนคน และยังมีเด็กจบใหม่ของปีก่อนที่ยังคงว่างงานอีกราว 3 แสนคนที่จะหางานยากขึ้นหากไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ จึงเห็นว่ารัฐควรจะมีการสนับสนุนหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะ โดยมีแนวทางสนับสนุนการโอนหน่วยกิตเดิม เช่น คนจบรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ก็สามารถโอนหน่วยกิตบางส่วนที่จะไปเรียนต่อสาขาคอมพิวเตอร์ หรือภาษา ที่ตรงกับตลาดแรงงาน เพื่อดูดซับเด็กบางส่วนไปสร้างทักษะใหม่ เป็นต้น” นายธนิตกล่าว [2]

ธปท.ประเมินผลกระทบจากการระบาดใหม่ของ COVID-19 ช่วงกลาง ธ.ค. 2563

ด้านนางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวย ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับสื่อว่าจากผลกระทบของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือ COVID-19 รอบใหม่ ที่เกิดขึ้นในช่วงกลาง ธ.ค. 2563 นั้นยอมรับว่ามีผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจบางส่วนตั้งแต่ ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมาและคาดว่าจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกปี 2564 นี้ด้วย ดังนั้นมี 3 ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม 1. คือการแพร่ระบาดของ COVID-19 ว่าจะลากยาว และการแพร่ระบาดจะมีต่อเนื่องมากน้อยแค่ไหน ผลกระทบวงกว้างมากน้อยแค่ไหน 2. คือตลาดแรงงาน แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มบริการ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้ภาคนบริการได้รับผลกระทบมากที่สุดในรอบนี้ โดยหากดูอัตราการว่างงานจากจำนวนผู้รับสิทธิการว่างงานของผู้ประกันตน พบว่าเดือน ธ.ค. 2563 อยู่ที่ 5.9 แสนคน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.8 แสนคน ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงาน อยู่ที่ 3.9 แสนคน จาก 4.7 ล้านแสนคน ในเดือนก่อนหน้า ส่วนผู้เสมือนว่างงานต่อรายสาขาธุรกิจ พบว่าจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 2.4 ล้านคน จาก 2.2 ล้านคน ในเดือนก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นภาคเกษตรที่ 0.8 ล้านคน จาก 0.9 ล้านคนในเดือนก่อนหน้า ขณะที่นอกภาคนเกษตร เพิ่มมาอยู่ที่ 1.6 ล้านคน จาก 1.3 ล้านคน และ 3. คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ต้องติดตาม

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือน ธ.ค. 2563

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือน ธ.ค. 2563 ยังทยอยฟื้นตัวได้ แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และเริ่มเห็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางภาคส่วน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนแม้ยังขยายตัว แต่การระบาดระลอกใหม่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ด้านการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวได้ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ดีขึ้น เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงขึ้น ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน

ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้นอก ภาคเกษตรปรับลดลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลการค้าที่เกินดุลมากขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้กับเดือนก่อน ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ยอดขายยานยนต์ปรับดีขึ้น ประกอบกับผลของฐานที่ต่ำ อย่างไรก็ดีหลังขจัดปัจจัยฤดูกาล เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายในหมวดบริการจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2563 ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใช้มาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวด

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว ประกอบกับการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวดี สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวตามการผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตหมวดยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการสินค้ากลุ่มดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะยอดจดทะเบียนรถยนต์และการนำเข้าสินค้าทุน สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างยังหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายลงทุนยังขยายตัวสูงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ล่าช้า ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวต่อเนื่อง สำหรับรายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ มูลค่าการนำเข้าสินค้าทรงตัวใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ 3.3 ในเดือนก่อนหน้า ตามการนำเข้าที่กลับมาขยายตัวในหลายหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ แม้ในเดือนนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของภาครัฐเพิ่มเติมในบางมิติ แต่โดยรวมยังมีจำนวนไม่มาก

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยตามจำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี แม้อัตราการว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมปรับลดลงบ้างแต่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนความเปราะบางในตลาดแรงงาน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากการเกินดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้กับเดือนก่อน (พ.ย. 2563)

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง

ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ตามกำลังซื้อที่ทยอยฟื้นตัวในภาพรวมและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวจากวันหยุดยาวพิเศษ ทั้งนี้ แม้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมปรับดีขึ้น แต่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังเปราะบางและมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และพื้นที่ สำหรับการส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลงตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า

ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวสอดคล้องกับอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ดีขึ้น อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงสอดคล้องกัน ขณะเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวตามรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อนจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ล่าช้า อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่สูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง ด้านตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังคงเปราะบางและไม่ทั่วถึง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากที่เกินดุลในไตรมาสก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำ [3]

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยปี 2563 มีการแจ้งปิดโรงงานไปทั้งหมด 719 แห่ง เลิกจ้างพนักงาน 29,917 คน

รายงานข่าวแจ้งว่าจากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ล่าสุด กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้รายงานปี 2563 มีการแจ้งปิดโรงงานไปทั้งหมด 719 แห่ง คนงาน 29,917 คน เงินลงทุนรวม 41,722.30 ล้านบาท คิดเป็นกำลังเครื่องจักรรวม 679,434 แรงม้า โดยประเภทกิจการที่มีการปิดสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก 64 โรงงาน จำนวนแรงงาน 2,119 คน เงินทุน 1,502 ล้านบาท รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์จากพืช 62 โรงงาน แรงงาน 585 คน เงินทุน 1,771 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์โลหะ 58 โรงงาน แรงงาน 1,660 คน เงินทุน 1,923 ล้านบาท, อุตสาหกรรมอาหาร 52 โรงงาน แรงงาน 3,500 คน เงินทุน 10,704 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์อโลหะ 52 โรงงาน แรงงาน 786 คน เงินทุน 798 ล้านบาท

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2563 มีการปิดโรงงานที่ผลิตเหล็กไปจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อย เป็นผลมาจากการเกิดโอเวอร์ซัพพลายเหล็กล้นตลาดจาก 1.2 ล้านตัน เป็น 3 ล้านตัน ประกอบกับกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศห้ามเปิดโรงงานเหล็กเส้นในไทยเป็นเวลา 5 ปี ราคาเหล็กตกลงมากและลูกค้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่แนวโน้มของอุตสาหกรรมเหล็กต่อจากนี้ไปจะมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์จากรัฐที่ทยอยออกมา จะส่งผลให้ปริมาณการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันหากยังมีการปิดโรงงานเหล็กเพิ่มขึ้นอีกจะน่ากังวลว่า เหล็กในประเทศจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ และท้ายที่สุดไทยจะต้องนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาแทน

ด้าน นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่าปี 2563 ยอดขอตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการอยู่ที่ 3,324 โรง มูลค่า 325,393.12 ล้านบาท ใช้แรงงาน 187,088 คน อุตสาหกรรมอาหารมีจำนวนมากที่สุด ซึ่งลดลงต่ำกว่าปี 2562 ที่มีเพียง 200 โรงเท่านั้น จากสถานการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมาก เทียบกับโรงงานที่ปิดมีแค่ 719 โรง มูลค่า 41,722.30 ล้านบาท (ต่ำกว่าปี 2562 ปิดโรงงานไปถึง 1,391 โรง) คนงานหายไปเพียง 29,9179 คน

ดังนั้นปี 2563 จึงถือว่าไทยเก่งและยังมีศักยภาพ เพราะถึงเจอกับโควิด-19 เต็มๆ กลับมีการตั้งโรงงานและขยายกิจการเพิ่ม แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นประเทศไทยอยู่ ที่ผลักดันส่งเสริมการลงทุนในด้านต่างๆ มีความพร้อมในเรื่องของพื้นที่ รวมถึงการที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะนักลงทุนไทย ที่เป็นโอกาสช่วงที่จะลงทุนมีอำนาจการต่อรองช่วงที่ต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ตรงนี้มันจะมีผลต่อการจ้างงานอีกเกือบ 200,000 คน

“การเลิกจ้างและปิดโรงงานในช่วงนี้ก็ต้องยอมรับว่า มาจากสภาพเศรษฐกิจและผลกระทบโควิด-19 จะเป็นปัจจัยหลัก อย่างไรก็ตาม อยากให้คิดว่ายังมีโรงงานที่จะเปิดอีกมาก แรงงานเหล่านี้ยังมีโอกาสทำงานในที่ใหม่ๆ ได้ ทั้งนี้ปี 2564 เชื่อว่าแนวโน้มการตั้งโรงงานจะยังสูงขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนไทยจะยังเป็นตัวหลัก จะเกิดการผลิต ความคึกคักภายในประเทศยังคงมีอยู่” นายประกอบกล่าว [4]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแรงงาน เดือนธันวาคม 2563 (กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 2 ก.พ. 2564)
[2] สภาองค์การนายจ้างฯ ส่งสัญญาณแรงงานภาคท่องเที่ยวยังลำบาก-ส่งออกมีลุ้นดีขึ้น (ผู้จัดการออนไลน์, 1 ก.พ. 2564)
[3] ธปท.ห่วงแรงงาน ภาคบริการเปราะบาง พิษโควิด-19 กระทบซ้ำ (กรุงเทพธุรกิจ, 29 ม.ค. 2564)
[4] ปิดโรงงาน 719 แห่ง แรงงาน 3 หมื่นคนเคว้งตกงาน (มติชนออนไลน์, 3 ก.พ. 2564)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ก.ค. 63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' สถิติสูงสุด - เสนอจ้างงาน นศ. จบใหม่ 2.6 แสนตำแหน่ง
มิ.ย.63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' ทำสถิติสูงสุด - ธปท.ชี้เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
พ.ค. 63 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติอีกครั้ง เลิกจ้างทะลุหลักแสน
เม.ย. 63 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติ คาด นศ.จบใหม่ว่างงานกว่า 60%
ส.ค. 63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' สถิติใหม่สูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
ก.ย.-ต.ค. 63 ผู้ประกันตนว่างงานสูงเป็นสถิติใหม่ต่อเนื่องเดือนที่ 6 และ 7
พ.ย. 2563 ผู้ประกันตนว่างงาน 465,465 คน ถูกเลิกจ้าง 231,170 คน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: