เปิดตัวเลขเงินออมหลังเกษียณ 2.8-4 ล้านถึงจะอยู่รอด - ระบบบำนาญไทยอันดับ 52 จาก 70 ประเทศ

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 มี.ค. 2564 | อ่านแล้ว 8465 ครั้ง

สภาพัฒน์ฯ ระบุเคยมีการศึกษาชี้ไว้ว่าเงินออมที่พึงมีหลังจากอายุ 60 ปีไปแล้วในเขตเมืองต้องมีเงินออม 4 ล้านบาท เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ต่อไปหลังเกษียณ ส่วนในชนบทต้องมีเงินออมประมาณ 2.8 ล้านบาท - ด้านรายงาน Allianz Global Pension Report 2020 พบระบบบำนาญของไทยอันดับที่ 52 ของโลก จากการจัดอันดับทั้งหมด 70 ประเทศ | ที่มาภาพประกอบ: ธนาคารโลก

ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงสัยระดับสุดยอดในปี 2576 แต่การออมในผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอ

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ยังเผยแพร่รายงานพิเศษเรื่อง ‘หลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ : เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น’ โดยระบุว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในปี 2566 และสังคมสูงสัยระดับสุดยอดในปี 2576 ซึ่งการออมในผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยในปัจจุบันแรงงานมีทั้งสิ้น 37.9 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบ 17.5 ล้านคน มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 ซึ่งได้รับเงินบำนาญจากกองทุนฯและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ขณะที่แรงงานนอกระบบ 20.4 ล้านคน มีเพียงการออมภาคสมัครใจที่รัฐจัดให้ เป็นกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 จำนวน 3.5 ล้านคน และกองทุนการออมแห่งชาติ 2.4 ล้านคน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มได้รับเบี้ยยังชีพฯด้วย แต่ยังมีอีก 14.5 ล้านคนได้รับเพียงเบี้ยยังชีพฯอย่างเดียว โดยกลุ่มนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างหาแนวทางให้เข้าสู่ระบบการออม ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง ทั้ง 14.5 ล้านคนจะใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยเบี้ยยังชีพฯเท่านั้น ทำให้รัฐต้องเร่งหาวิธีให้กลุ่มนี้เข้าสู่การออมเพื่อมีหลักประกันการใช้ชีวิตต่อไป

สำหรับตลาดแรงงานในปี 2563 มีผู้ว่างงาน 6.51 แสนคน หรือ 1.69% เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีผู้ว่างงาน 3.7 แสนคน หรือ 0.98% คิดเป็นผู้ว่างงานเพิ่มเกือบ 3 แสนคน ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้ตกงานหรือต้องออกจากงาน โดยจำนวนผู้ว่างงานแบ่งเป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 4.13 แสนคน และผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 2.38 แสนคน เช่นเดียวกับชั่วโมงการทำงานที่ลดลงด้วย ซึ่งจากการสำรวจพบว่ารายได้ครัวเรือนปี 2563 เหลือเพียง 23,615 บาท ลดลง 10.45% จากปี 2562 ที่ครัวเรือนมีรายได้ 26,371 บาท

ทั้งนี้แรงงานในภาคเอกชนมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนการทำงานล่วงเวลา หรือโอที ซึ่งทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ลดลงถึง 17.1% ขณะที่ผู้ทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีถึง 1.24 ล้านคน เพิ่มขึ้น 135% ทำให้แรงงานรายได้ลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยสศช.อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงแรงงาน ถึงการจัดเตรียมโครงการรักษาระดับการจ้างงาน เพื่อไม่ให้ตกงานและให้มีงานทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการ แต่จะรูปแบบจะเป็นอย่างไร ขณะนี้กำลังเตรียมโครงการอยู่ ยังไม่สามารถเปิดรายละเอียดได้

นายดนุชา กล่าวว่า ในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงด้านแรงงาน จากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แม้ไทยใกล้จะได้รับการฉีดวัคซีน แต่จะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกว่าจะมีล็อตใหญ่ของวัคซีนเดือน พ.ค.-มิ.ย. ทำให้ช่วงนี้มีความจำเป็นต้องดูแลสาธารณสุข และเตรียมการดูแลเกษตรกรที่ใกล้จะเกิดภัยแล้งในอีกไม่นาน รวมทั้งต้องเพิ่มทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิตอลให้มีทักษะสูงขึ้น ควบคู่รักษาระดับการจ้างงานต่อเนื่องป้องกันการเกิดว่างงานด้วย

ต้องมีเงินออมหลังเกษียณ 2.8-4 ล้านถึงจะอยู่รอด

สำหรับประเด็นการออมในผู้สูงอายุนั้น นายดนุชาระบุว่าพบว่ายังไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยเสนอให้ภาครัฐดำเนินการใน 2 ประเด็น ได้แก่

1.การส่งเสริมการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุโดยการสร้างการรับรู้และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงหลักประกันให้สะดวกและรวดเร็ว ทั้งการสมัครและการขอรับสิทธิประโยชน์และทบทวนฐานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบประกันสังคมและปรับอัตราการออมเพื่อให้แรงงานสามารถออมได้มากขึ้น ขณะที่ภาคประชาชนสามารถเตรียมความพร้อมโดยการเก็บออมได้อีกทางหนึ่งด้วย

2.การเพิ่มรายได้โดยส่งเสริมการมีรายได้หลังเกษียณและความรู้ทางการเงิน การประกอบอาชีพตามความสามารถของผู้สูงวัย และเพิ่มความรู้ในการบริหารจัดการการเงิน (Financial literacy)

“เราเคยมีการศึกษาไว้ว่าเงินออมที่พึงมีหลังจากอายุ 60 ปีไปแล้ว ในเขตเมืองต้องมีเงินออม 4 ล้านบาท เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ต่อไปหลังเกษียณ ส่วนในชนบทต้องมีเงินออมประมาณ 2.8 ล้านบาท แต่ระบบบำนาญของเรา จะพบว่าคนที่มีรายได้เพียงพอหลังเกษียณไปแล้วอยู่ในระดับไม่ค่อยดีนัก และหากเราไม่ทำอะไรเลย ในอนาคตจะมีคน 14 ล้านคน ที่จะอยู่ได้หรือมีรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุเท่านั้น จึงต้องทำให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการออม” นายดนุชา กล่าว [1] [2]

ระบบบำนาญของไทยอันดับที่ 52 ของโลก

จากรายงาน Allianz Global Pension Report 2020 พบระบบบำนาญของไทยอันดับที่ 52 ของโลก จากการจัดอันดับทั้งหมด 70 ประเทศ และอันดับ 10 ของภูมิภาคเอเชีย

นายลูโดวิค เซอร์บราน หัวหน้านักเศรษศาสตร์ กลุ่มอลิอันซ์ เปิดเผยว่า “ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นโยบายด้านประชากรศาสตร์และบำนาญถูกบดบังความสำคัญด้วยนโยบายด้านอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบัน นโยบายด้านการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการต่อสู้กับโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม หลายประเทศกำลังเพิกเฉยต่อข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศนั้นๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์จะส่งผลในไม่ช้า อย่างไรก็ตามการแก้ไขวิกฤติบำนาญที่กำลังจะเกิดขึ้น การรักษาความเท่าเทียมให้กับประชากรในแต่ละช่วงอายุ เป็นกุญแจสู่การสร้างสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมและปรับตัวได้ดี

เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญด้านประชากรศาสตร์ได้อย่างดีที่สุดจากการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนของอัตราการพึ่งพิงของวัยสูงอายุของโลก 1 เมื่อถึงปี 2593 อัตรานี้จะเพิ่มขึ้นมากถึง 77% ไปเป็น 25% โดยเพิ่มเร็วกว่า 70 ปี ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2493 ในหลายเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ อัตราส่วนจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ในอีกสามทศวรรษข้างหน้า โดยเฉพาะในยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือที่อัตราการพึ่งพิงของวัยสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ได้แก่ ประเทศจีนที่จะมีอัตราการพึ่งพิงของวัยสูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 44% แต่สำหรับประเทศอุตสาหกรรม อัตราการพึ่งพิงของวัยสูงอายุเป็นที่น่ากังวลอย่างมาก เช่น บางประเทศในยุโรปตะวันตกที่มีอัตราการพึ่งพิงของวัยสูงอายุถึง 51%

จากผลวิจัย ประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดในโลก คือ สวีเดน เบลเยี่ยม และเดนมาร์ก ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 52 โดยเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคที่มี จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการพึ่งพิงในวัยสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าในอีกสามทศวรรษข้างหน้า ไปเป็นจำนวนที่มากกว่า 50% ระบบบำนาญของไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของโลกทั้งในด้านของความเพียงพอ และความยั่งยืน อีกทั้งยังมีหลายตัวแปรที่สามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาระบบ ไม่ว่าจะเป็น อัตราส่วนของการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ ไปจนถึงระดับการออมในภาคเอกชน นอกจากนี้ อายุเกษียณยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางความกดดันสูงด้านประชากรศาสตร์ ประเทศไทยจึงต้องรีบเร่งทำให้ระบบบำนาญของประเทศมีความสอดคล้องกับโครงสร้างของประชากร

ทั้งนี้ ภายใต้รายงานฉบับนี้ อลิอันซ์ได้จัดทำตัวชี้วัดระบบบำนาญที่เรียกว่า Allianz Pension Indicator หรือ API ซึ่งเป็นตัวชี้วัดระบบบำนาญที่ใช้ตรรกะที่เข้าใจง่าย โดยวิเคราะห์ตัวแปรสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านประชากรศาสตร์และการคลัง (2) ความยั่งยืนของระบบ และ (3) ความเพียงพอของเงินบำนาญเมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพ รายงานฉบับนี้มีพื้นฐานอยู่บนสามแกนหลักและใช้ตัวแปรในการวัดทั้งหมด 30 ตัวแปร โดยให้คะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 7 โดย 1 หมายถึงคะแนนที่ดีที่สุด เพื่อชี้ให้เข้าใจถึงสถานะของระบบบำนาญในแต่ละประเทศได้ง่ายขึ้น

การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์และสถานการณ์ด้านการคลังของภาครัฐ ไม่น่าแปลกใจที่หลายประเทศกำลังพัฒนา ในทวีปแอฟริกา ได้รับคะแนนที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีอายุน้อย การขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ต่ำ ในทางกลับกัน หลายประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี หรือโปรตุเกส อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีคะแนนน้อยที่สุด เนื่องจากมี ประชากรสูงอายุจำนวนมาก มีหนี้ในระดับสูง

ด้านความยั่งยืน ซึ่งดูว่าระบบตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร มีอะไรที่ช่วยสร้างความมั่นคงในตัวเองหรือไม่ หรือระบบจะล่มหรือไม่หากจำนวนของผู้จ่ายเงินสมทบลดลง ในขณะที่จำนวนของผู้ได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น ในบริบทเช่นนี้ ตัวแปรที่สำคัญ ได้แก่ อายุเกษียณ ในทศวรรษที่ 1950 ผู้ชายอายุเฉลี่ย 65 ปีที่อาศัยอยู่ในเอเชีย มีแนวโน้มใช้ชีวิตหลังเกษียณ 8.9 ปี (ผู้หญิงใช้เวลา 10.3 ปี) ปัจจุบัน ผู้หญิงอายุ 65 ปีใช้ชีวิตหลังเกษียณโดยเฉลี่ย 17.8 ปี และผู้ชาย 15.2 ปี ระยะเวลาหลังเกษียณนี้จะเพิ่มเป็น 19.9 ปี (สำหรับผู้หญิง) และ 17.5 ปี (สำหรับผู้ชาย) ในปี 2593 ผลที่จะตามมาคือ อัตราส่วนของอายุทำงานกับอายุหลังเกษียณจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศที่ปรับอายุเกษียณหรือเพิ่มผลประโยชน์เกษียณ ให้เข้ากับอายุขัยเฉลี่ยที่สูงขึ้นอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงจะมีระบบบำนาญที่มีความยั่งยืนมากกว่าประเทศที่ยังคงเชื่อว่าการยืดระยะเวลาเกษียณออกไปเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

ความพอเพียงของระบบบำนาญ โดยตั้งคำถามว่าระบบบำนาญช่วยให้เกิดคุณภาพชีวิตที่เพียงพอสำหรับผู้สูงอายุแล้วหรือยัง โดยมีตัวแปรที่สำคัญ ได้แก่ อัตราส่วนของเงินสมทบ เช่น จำนวน ประชากรในวัยทำงานและประชากรวัยเกษียณที่อยู่ในระบบบำนาญ อัตราส่วนของผลประโยชน์ เช่น จำนวนเงิน (เทียบกับรายได้เฉลี่ย) ของผู้ที่รับบำนาญ และสุดท้ายคือ เงินในกองทุนสะสมและแหล่งรายได้อื่นๆ ในภาพรวม คะแนนเฉลี่ยในแกนด้านความเพียงพอ (3.7) สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยในแกนด้านความยั่งยืน (4.0) เล็กน้อย ซึ่งเป็นสัญญาณว่าระบบบำนาญส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับความอยู่ดีกินดีของผู้รับบำนาญในปัจจุบัน มากกว่าผู้ที่จ่ายภาษีและสมทบกองทุนประกันสังคมในอนาคต ประเทศที่มีอับดับความเพียงพอสูงมีบำนาญจากภาครัฐค่อนข้างสูง เช่น ออสเตรียหรืออิตาลี หรือมีแกนที่ 2 และ 3 ที่แข็งแกร่ง เช่น นิวซีแลนด์หรือเนเธอร์แลนด์ [3] [4]


ข้อมูลอ้างอิง
[1] รัฐเร่งหาวิธีออมสร้างหลักประกันชีวิต รองรับสังคมสูงวัย (เดลินิวส์, 24 ก.พ. 2564)
[2] 'สภาพัฒน์'เปิดตัวเลขเงินออมหลังเกษียณ 2.8- 4ล.ถึงจะอยู่รอด ห่วง 14 ล้านคนต้องพึ่งเงินคนแก่ (ไทยโพสต์, 23 ก.พ. 2564)
[3] Allianz Global Pension Report 2020
[4] “อลิอันซ์” ชี้ระบบบำนาญไทยต้องปฏิรูป ความยั่งยืน-พอเพียงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (ประชาชาติธุรกิจ, 16 มิ.ย. 2563) 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เผยภายในปี 2597 เงินกองทุนประกันสังคมจะไม่เพียงพอต่อการจ่ายให้แก่สมาชิก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: