พบไตรมาส 1/2564 คนไทยว่างงานเพิ่มขึ้น-ชั่วโมงการทำงานลดลงต่อเนื่อง

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 8432 ครั้ง

จาก 'ข้อมูลภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2564' ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์' พบอัตราการว่างงานสูงขึ้นแตะที่ 1.69% สูงขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2563 ที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.83% แรงงานมีชั่วโมงการทำงานลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลง 1.8% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 หนี้ครัวเรือนขยายตัว สัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ยังอยู่ในระดับสูง | ที่มาถาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 2564 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์' ได้เปิดเผยข้อมูลภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2564 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

การว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.96% คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.6 แสนคน สูงกว่าไตรมาสที่ 4/2563 ที่การว่างงานอยู่ที่ 1.83%

การจ้างงานในไตรมาสแรกของปีนี้ผู้มีงานทำอยู่ที่ 37.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาภาคเกษตรตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งภาคเกษตรถือว่าช่วยดูดซับแรงงานจากสาขาอื่นๆได้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ให้เข้ามาทำงานในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวลดลงที่ 0.6% จากผลกระทบการแพร่ระบาดในช่วงต้นปี 2564

สำหรับการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.96% คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.6 แสนคน สูงกว่าไตรมาส 4/2563 ที่การว่างงานอยู่ที่ 1.83% โดยการว่างงานที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากโควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังสะท้อนผ่านชั่วโมงการทำงานรวมต่อสัปดาห์ลดลงเหลือ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลง 1.8%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องกัน 6 ไตรมาส โดยกลุ่มอาชีพที่มีการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ลดลงต่อเนื่องมากที่สุดคือกลุ่มอาชีพอิสระซึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน

นอกจากนี้จำนวนแรงงานที่ว่างงานติดต่อกันมากกว่า 1 ปีแล้วยังมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 8.1 หมื่นคนในไตรมาสก่อน เป็น 8.85 หมื่นคนในไตรมาสที่ 1/2564

ส่วนการว่างงานของแรงงานในระบบ พบว่าผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 มีจำนวน 3.46 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.1 ของผู้ประกันตนมาตรา 33 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่การระบาดยังไม่รุนแรง แต่ปรับตัวลดลงจากครึ่งปีหลัง โดยเป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ประมาณ 0.8 แสนคน ในเดือน มี.ค. 2564 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง และลูกจ้างของสถานประกอบการที่ขอใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 82,346 คน ลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน

แรงงานมีชั่วโมงการทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง

ชั่วโมงการทำงานรวมอยู่ที่ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 และลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 การทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 129.1 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ จากภาพรวมที่ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานลดลง สะท้อนการจ้างงานและการทำงานที่ไม่เต็มเวลา ซึ่งจะทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน

สศช. ระบุว่าทั้งชั่วโมงการทำงานที่ลดลง การเลิกจ้างและการว่างงานที่ยาวนานขึ้น ทำให้เงินออกของแรงงานลดลงเห็นได้จากจำนวนบัญชีที่มีเงินฝากไม่ถึง 1 แสนบาทเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา

แรงงานในภาคการท่องเที่ยวอาจถูกเลิกจ้างมากขึ้น และต้องหาอาชีพใหม่

โดยศูนย์วิจัยด้านการตลาดท่องเที่ยวของ ททท. คาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2569 ซึ่งผลกระทบของ COVID-19 จะทำให้การกลับเข้าสู่ภาวะปกติต้องเลื่อนออกไป และส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่มีอยู่กว่า 7 ล้านคนโดยหากแรงงานถูกเลิกจ้างจะไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในสาขาเดิมได้ในระยะเวลาอันใกล้ และอาจต้องเปลี่ยนอาชีพ

ตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอจะรองรับนักศึกษาจบใหม่

เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย จะทำให้ผู้ประกอบการเลื่อนการขยายตำแหน่งงานใหม่ออกไป กระทบกับการหางานของนักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 ประมาณ 4.9 แสนคน ขณะที่โครงการจ้างงานกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่และแรงงานคืนถิ่นภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ในปี 2563 ซึ่งมีระยะเวลาการจ้างงานประมาณ 12 เดือนกำลังจะสิ้นสุดลงอาจส่งผลกระทบต่อแรงงานภายใต้โครงการประมาณ 1.4 แสนตำแหน่ง

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะแบกรับสถานการณ์นี้ได้อีก 6 เดือนเท่านั้น

ทั้งนี้ สศช.ได้เสนอแนะว่ามีประเด็นเกี่ยวกับแรงงานและสถานการณ์การจ้างงานในประเทศไทยในปี 2564 ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ผลกระทบของ COVID-19 ระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งมีการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะแบกรับสถานการณ์นี้ได้อีก 6 เดือนเท่านั้น แรงงานในกลุ่มนี้อาจตกงานมากขึ้นหรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน

ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้จีดีพีเอสเอ็มอีปรับตัวลดลง 9.1% หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ อย่างรวดเร็ว ธุรกิจฯ อาจไม่สามารถประคองตัวต่อไปได้ รวมถึงการเลิกจ้างแรงงาน และโอกาสการกลับมาฟื้นตัว อาจใช้เวลานานมากขึ้น กระทบต่อการจ้างงานซึ่งนอกจากมาตรการทางสินเชื่อต้องมีมาตรการในการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมด้วย

หนี้ครัวเรือนขยายตัว ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้น แต่ยังเฝ้าระวังเนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ยังอยู่ในระดับสูง

จากไตรมาส 4/2563 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว แม้หนี้ครัวเรือนจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลงสะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยังระมัดระวังในการก่อหนี้ ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นแต่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างช าระไม่เกิน 3 เดือน (สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ) ยังอยู่ในระดับสูง โดยในไตรมาส 4/2563 สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.84 ลดลงจากร้อยละ 2.91 ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมาของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษยังอยู่ในระดับสูง หรือมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมร้อยละ 6.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน สะท้อนถึงความสามารถในการช าระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มด้อยลง
และมีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสียมากขึ้น

ส่วนแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 คาดว่าสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูงจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อน COVID-19 ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้นโดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ปี 2564 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ชะลอตัวลง ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาการขาดสภาพคล่องรวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม ควบคุมดูแลการให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับระดับรายได้ รวมทั้งเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม


ที่มาข้อมูล
ข่าวสภาพัฒน์ เรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2564 (สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 24 พ.ค. 2564)
สศช.ชี้โควิด-19ทำว่างงานพุ่ง กดดันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่ม (กรุงเทพธุรกิจ, 26 พ.ค. 2564)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: