จับตา: เด็กติด COVID-19 ตั้งแต่ 1 ม.ค.-4 ก.ย. 2564 สะสม 142,870 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2903 ครั้ง



เด็กติด COVID-19 ตั้งแต่ 1 ม.ค.-4 ก.ย. 2564 สะสม 142,870 คน กทม. 31,111 คน และภูมิภาค 111,759 คน โดยยังคงติดเชื้อรายวันมากกว่า 2,000 ราย พม.สำรวจข้อมูลตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.-4 ก.ย.64 พบเด็กกำพร้าจำนวน 369 คน

7 ก.ย. 2564 ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กรมสุขภาพจิตและองค์การยูนิเซฟประเทศไทย แถลงข่าวเรื่อง ‘สถานการณ์เด็กติดเชื้อ เด็กกำพร้า ผลกระทบจากโควิด-19 และการเยียวยาฟื้นฟู’

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบในวงกว้าง กลุ่มเด็กยังคงจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 พบมีเด็กติดเชื้อสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.–4 ก.ย. 2564 จำนวน 142,870 คน แบ่งเป็น กทม. 31,111 คน และภูมิภาค 111,759 คน โดยยังคงติดเชื้อรายวันมากกว่า 2,000 ราย ที่สำคัญผู้เสียชีวิตเฉลี่ยรายวันยัง คงขึ้นลงมากกว่า 200 รายต่อวัน ซึ่งหากผู้เสียชีวิตเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กก็จะส่งผลให้มีเด็กกำพร้าเพิ่มมากขึ้น โดยกรมกิจการเด็กฯ ร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ได้ช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ 1 ม.ค.– 4 ก.ย. 2564 จำนวนทั้งสิ้น 9,565 คน

สำหรับกลุ่มเด็กกำพร้านายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยมอบหมายให้ พม.สำรวจข้อมูลตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.–4 ก.ย.64 พบเด็กกำพร้าจำนวน 369 คน กำพร้าบิดามากที่สุด 180 คน กำพร้ามารดา 151 คน กำพร้าทั้งบิดาและมารดา 3 คน และกำพร้าผู้ปกครอง 35 คน ภาคใต้พบเด็กกำพร้ามากที่สุด 131 ราย ร้อยละ 71.54 อยู่ในช่วงอายุ 6-18 ปี และร้อยละ 33.06 เป็นเด็กที่เรียนชั้นประถมศึกษา

ปัจจุบันเด็กกำพร้า 369 คนได้รับการดูแลในรูปแบบครอบครัว 367 คน (โดยอยู่กับพ่อหรือแม่ 231คน อยู่กับครอบครัวเครือญาติ133 คนและอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์อาสาสมัคร 3 คน) และอยู่ในบ้านพักเด็กและครอบครัว/สถานสงเคราะห์เพื่อจัดหาครอบครัวทดแทน 2 คน โดยได้รับการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ได้แก่ ให้คำปรึกษาเบื้องต้น 369 ราย มอบถุงยังชีพ/เครื่องอุปโภคบริโภค 209ราย จ่ายเงินสงเคราะห์/เงินฉุกเฉิน 184 ราย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือ 313 ราย ลงเยี่ยมบ้าน/ประสาน อพม.ติดตามเยี่ยมบ้าน 313 ราย ประสานตรวจเชื้อ 1 ราย และการฟื้นฟู เยียวยาคุณภาพชีวิต ได้แก่ ประสานขอรับทุนพระราชทานมูลนิธิ ราชประชานุเคราะห์ฯ 196 ราย เงินช่วยเหลือจากกองทุนคุ้มครองเด็ก 57 ราย รับเข้าอุปการะ 2 ราย จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์/บุญธรรม 3 ราย และช่วยเหลืออื่น ๆ 1 ราย ทั้งนี้ ข้อมูลเด็กกำพร้าจะถูกบันทึกลงในระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก CPIS เพื่อใช้ในการวางแผนการดูแลและการจัดบริการให้แก่เด็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว

อย่างไรก็ตามเพื่อปกป้องไม่ให้เด็กอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 จำเป็นต้องระดมพลังเครือข่ายอาสาสมัครดูแลเด็กติดเชื้อ/เด็กกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงที่อายุไม่เกิน 8 ปีหรือไม่สามารถดูแลตัวเองได้และอาสาสมัครเลี้ยงดูเด็กชั่วคราวในครอบครัวอุปถัมภ์ โดยเป็นผู้มีประสบการณ์การดูแลเด็กมีความเสี่ยงต่ำจากการติดเชื้อขณะปฏิบัติงาน หรือหากติดเชื้อจะเกิดความรุนแรงของอาการน้อย เช่น เคยมีประวัติการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนหรือได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 ครั้ง อายุไม่เกิน 50 ปี (ยกเว้น อาสาสมัครครอบครัวอุปถัมภ์ ไม่เกิน 65 ปี) ไม่มีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งนี้ อาสาสมัครจะได้รับการสนับสนุนเป็นค่าตอบแทน อุปกรณ์จำเป็น องค์ความรู้การดูแลเด็ก และการให้คำปรึกษาระหว่างปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ ในปีงบฯ 2565 พม.เตรียมรองรับการจัดสวัสดิการให้กับเด็กและครอบครัว โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนคุ้มครองเด็กให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเด็กรายบุคคลโดยการสนับสนุนครอบครัวและครอบครัวอุปถัมภ์ให้ได้รับบริการเพื่อสนับสนุนการดูแลเด็ก โดยจะมีเด็กได้รับความช่วยเหลือประมาณ 1,600 คน นอกจากนี้มีเงินอุดหนุนการให้บริการสวัสดิการเด็กในครอบครัวยากจน ผู้สนใจสามารถสมัครเป็นอาสาสมัครได้ตั้งแต่วันพุธที่ 8 ก.ย.64 ผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ และ Facebook กรมกิจการเด็กและเยาวชน www.dcy.go.th และ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา www.eef.or.th หรือสมัครโดยตรงได้ที่กองส่งเสริมการพัฒนาและสวัสดิการเด็ก เยาวชน และครอบครัว กรมกิจการเด็กและเยาวชน ตึกดรุณวิถี ภายในบริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ในภูมิภาคสมัครได้ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวทั้ง 76 จังหวัด

ด้าน ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ของ กสศ. ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ 80% คือเด็กยากจนด้อยโอกาส ในชุมชนแออัดที่นอกจากเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐานะแล้วยังเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา วันที่เราส่งเพวกเขากลับบ้าน จะพบเห็น คลื่นปัญหาที่ต้องเผชิญต่อไปคือ ความยากจน เพราะพ่อแม่ที่ป่วยไข้ก็ตกงาน ไม่ได้กลับไปทำงาน ถูกเลิกจ้าง ไม่มีเงินซื้ออาหาร ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ไม่นับเรื่องการเรียน ออนไลน์ไม่มีอุปกรณ์ไม่มีความพร้อมใดใด และมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้กลับมาเรียนอีก ภารกิจจากนี้คือ การเยียวยาป้องกันไม่ให้เด็กๆหลุดจากระบบการศึกษา

สำหรับเด็กกำพร้า เสนอให้รัฐบาลออกมาตราการเรียนฟรีจนถึงระดับอุดมศึกษา ครอบคลุมทั้งกลุ่มที่สูญเสียพ่อแม่เพราะการติดเชื้อโควิด หรือเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจากวิกฤติเศรษฐกิจ นอกจากนี้ต้องให้คำแนะนำแก่ครูและโรงเรียน ในการเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลเด็กนักเรียนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักหรือสมาชิกครอบครัวจากวิกฤตโควิดโดยแม้เด็กจะกลับมาเข้าห้องเรียนได้ แต่สภาพจิตใจอาจยังไม่พร้อมสมบูรณ์

ขณะที่ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เด็กๆที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์สูญเสียชีวิตของผู้ดูแลหลัก หากไม่ได้รับการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจที่เหมาะสม จะกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จึงได้เตรียมมาตรการสร้างพื้นที่พักพิงทางจิตใจและสังคม (Psychosocial Care) ร่วมกัน ระยะสั้นคือการปฐมพยาบาลทางจิตใจสำหรับเด็กที่มีความเข้มแข็งทางใจอยู่แล้วให้ฟื้นคืน โดยอาจไม่จำเป็นต้องพบนักจิตวิทยาเด็ก ระยะกลางคือเด็กที่มีปัญหาเดิมอยู่แล้วเมื่อมาเจอกับความสูญเสีย กลุ่มนี้ต้องนำสู่กระบวนการรักษาเต็มรูปแบบทันที ส่วนในระยะยาวหมายถึงการฟื้นฟูทางสังคมและจิตใจร่วมกัน ด้วยการติดตามจากเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเด็กในการปรับตัวและเป็นที่ปรึกษาให้กับครอบครัวอุปถัมภ์

“เราได้เดินหน้าโครงการ ‘หนึ่งบ้านหนึ่งโรงพยาบาล’ ใช้โครงสร้างการทำงานร่วมกับพื้นที่ ซึ่งกรมกิจการเด็ก ฯ มีบ้านพักรองรับเด็กอยู่แล้วในทุกจังหวัด หลายพื้นที่มีการทำงานกับโรงพยาบาลอยู่แล้ว รูปแบบที่ตามมาคือการนำชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ให้เด็ก ในส่วนของกรมสุขภาพจิตเราได้สำรวจเครือข่ายในทุกจังหวัด พบว่ามีความพร้อมขับเคลื่อนการดูแลเด็กทั้งระยะสั้น กลาง และยาวไปด้วยกัน สำหรับบางพื้นที่ที่มีความพร้อมน้อย กรมสุขภาพจิตและทีมโรงพยาบาลจังหวัดนั้น ๆ พร้อมหนุนเสริมเต็มกำลังเพื่อให้การดูแลทำได้ทั่วถึง”พญ.ดุษฎี กล่าว

น.ส.นิโคล่า บลั้น รักษาการหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ UNCRC ระบุไว้ว่า เด็กมีสิทธิที่จะเติบโตในครอบครัวตัวเอง ดังนั้นในความช่วยเหลือเด็กที่สูญเสียผู้ดูแลจากสถานการณ์โควิด-19 จำเป็นต้องมองไปที่สมาชิกครอบครัวที่เหลืออยู่ก่อน หรือใช้การดูแลทดแทนในระยะสั้น พร้อมสนับสนุนให้ครอบครัวมีศักยภาพที่เหมาะสมในการดูแลเด็ก ส่วนการแยกเด็กออกมากอยู่ในสถานสงเคราะห์หรือครอบครัวอุปถัมภ์ ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยยูนิเซฟได้ได้จัดทำคู่มือการดูแลเด็กเมื่อต้องแยกจากครอบครัว เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และมุ่งช่วยเหลือให้กลับมาอยู่กับครอบครัวได้ในระยะเวลาสั้นที่สุด ด้วยการดูแลแบบ Family Base Alternative Care หรือทางเลือกในการดูแลแบบครอบครัว ที่สร้างพื้นที่ ‘บ้าน’ สำหรับเด็ก โดยให้เข้าไปอยู่กับครอบครัวทดแทนในระยะสั้น เพื่อเป็นการปรับตัว ก่อนมองหาครอบครัวอุปถัมภ์ระยะยาวสำหรับเด็ก ด้วยวิธีนี้จะทำให้เด็กไม่ต้องเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อจิตใจมากกว่า

“รัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการสร้างระบบการช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบ โดยสนับสนุนทั้งสิ่งของ งบประมาณและจิตใจให้เด็กและครอบครัว รวมถึงผลักดันให้เข้าถึงงานสังคมสงเคราะห์ บริการสาธารณสุข มีสวัสดิการและความคุ้มครองทางสังคมรองรับ โดยจัดทำฐานข้อมูลและระบบบริหารจัดการที่ช่วยชี้เป้าและติดตามครอบครัวของเด็กกลุ่มเสี่ยงได้ อาทิ ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กที่อยู่กับปู่ย่าตายายลำพัง รวมไปถึงข้อมูลของเด็กกลุ่มเปราะบางทั้งหมด และทุกการตัดสินใจเด็กต้องได้มีส่วนร่วม มีสิทธิในการเลือกอนาคตตนเอง ไม่ใช่การวางแผนโดยหน่วยงานหรือผู้ใหญ่โดยที่เด็กไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ซึ่งนี่คือการจัดการที่รัฐทำได้ผ่านเครื่องมือและกลไก และต้องมีการทำงานที่ประสานความร่วมมือหลายภาคส่วน มององค์รวมของปัญหาที่ต้องลึกลงไปในหลายมิติแง่มุมของมนุษย์” น.ส.นิโคล่า บลั้น กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: