ครม. มีมติอนุมัติตามที่ ก.การท่องเที่ยวและกีฬา เสนอให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก่อหนี้ผูกพันในการสนับสนุนการจัดโครงการ The Michelin Guide Thailand ประจำปี พ.ศ. 2565-2569 ในวงเงิน 4.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 135.30 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละ 820,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27.06 ล้านบาท | ที่มาภาพประกอบ: Coconuts
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก่อหนี้ผูกพันในการสนับสนุนการจัดโครงการ The Michelin Guide Thailand ประจำปี พ.ศ. 2565 – 2569 ในวงเงิน 4.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 135.30 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละ 820,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27.06 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 33 บาท) โดยงบประมาณที่ใช้ในปี 2565 จะจัดสรรงบประมาณของ ททท. และในปีที่ 2 – 5 ททท. จะตั้งคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กก. รายงานว่า
1. โครงการ The Michelin Guide Thailand ประจำปี 2560 – 2563 มีผลการดำเนินงานที่เป็นส่วนสำคัญในการ (1) ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมผ่านวัฒนธรรมอาหาร (Gastronomy Destination) ที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน (2) เพิ่มมูลค่าและศักยภาพของอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งรวมถึงร้านอาหารริมทาง (Street Food) ที่มีมูลค่าทั้งในเชิงคุณภาพที่คุ้มค่าเงิน (Value for Money) และความหลากหลาย (3) ช่วยให้ร้านอาหารในประเทศไทยมีการพัฒนาและยกระดับคุณภาพเพื่อรักษามาตรฐาน (4) ส่งเสริมภาพลักษณ์ของเชฟไทยสู่เวทีระดับสากล (5) ดึงดูดเชฟชั้นนำชาวต่างประเทศให้มาทำงานในประเทศไทย และ (6) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเปิดร้านอาหารระดับ High-End มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานโครงการฯ ในส่วนอื่น ๆ มีรายละเอียดที่สำคัญ เช่น
รายการ |
ผลการดำเนินงาน ปี 2560 - 2563 |
1. ประมาณการมูลค่าสื่อ |
729.28 ล้านบาท |
2. การจ้างงาน เช่น ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร สินค้าบริการประเภทอาหารและเครื่องดื่ม |
ปี 2562 เพิ่มขึ้น 4,800 ตำแหน่ง จากปี 2561
|
3. การจัดกิจกรรมทางด้านอาหาร |
เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33 |
4. การเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวกับอาหารไทยในต่างประเทศและในประเทศไทย |
ในต่างประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 ในประเทศไทย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16 |
5. ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ได้รับการแนะนำโดยมิชลิน |
ในสหรัฐอเมริกา จำนวน 20 ร้าน ในประเทศเบลเยี่ยม จำนวน 11 ร้าน |
6. ร้านอาหารในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลดาวมิชลิน1 |
สองดาว : 6 ร้าน หนึ่งวดาว : 22 ร้าน ดาวมิชลินรักษ์โลก : 1 ร้าน รางวัลบิบ กูร์มองต์ (Bib Gourmands) : 104 ร้าน2 |
2. คณะกรรมการ ททท. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 มีมติอนุมัติหลักการสนับสนุนการจัดทำโครงการ The Michelin Guide Thailand ประจำปี 2565 - 2569 (โครงการฯ) เป็นระยะเวลา 5 ปีงบประมาณ ในวงเงิน 5.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 165.00 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 33 บาท) แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ททท. จึงได้ทบทวนงบประมาณให้เหมาะสม โดยขอให้ บริษัท Michelin Travel Partner France จำกัด (บ. มิชลินฯ) เสนอสิทธิประโยชน์ในวงเงินเท่ากับการสนับสนุนครั้งที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560 - 2564) คือ 4.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง บ. มิชลินฯ ได้ทบทวนวงเงินสนับสนุนตามที่ ททท. ร้องขอ และคณะกรรมการ ททท. ในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 มีมติอนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการสนับสนุนการจัดโครงการฯ จากวงเงิน 5.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 165.00 ล้านบาท เป็นวงเงิน 4.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 135.30 ล้านบาท
3. โครงการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็นสำคัญ |
สรุปรายละเอียด |
พื้นที่ดำเนินการ |
- กรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา - สำรวจเพิ่มอย่างน้อย 3 จังหวัด โดยเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างน้อย 1 จังหวัด |
ระยะเวลาดำเนิน โครงการ |
5 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2569 (คู่มือแนะนำร้านอาหารฯ ฉบับปี พ.ศ. 2566 - 2570) |
กระบวนการดำเนินโครงการ และสิทธิประโยชน์ |
1. คัดเลือกและรวบรวมรายชื่อร้านอาหารที่อยู่ในระดับมาตรฐานของมิชลิน มีขั้นตอนที่ครอบคลุมถึงการลงพื้นที่สำรวจร้านอาหาร การตรวจสอบคุณภาพและรสชาติอาหารโดยผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์ของมิชลิน โดยมิชลินเป็นผู้รับผิดชอบในการคัดเลือกทีมงาน และแต่งตั้งคณะผู้ตรวจสอบเพื่อดำเนินการคัดเลือกร้านอาหาร และจัดอันดับร้านอาหารอย่างยุติธรรมตามระเบียบวิธีการของมิชลิน 2. จัดพิมพ์หนังสือคู่มือ The Michelin Guide Thailand (คู่มือฯ) ทุกปี เพื่อแนะนำร้านอาหารที่ผ่านกระบวนการประเมินผลด้วยหลักเกณฑ์ ระบบการให้คะแนนที่ได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ และได้รับการรับรองจากมิชลินว่ามีคุณภาพและควรค่าแก่การมาเยี่ยมเยือน 3. จัดงานแถลงข่าว สร้างการรับรู้ถึงความร่วมมือระหว่าง ททท. และบริษัทฯในการจัดทำโครงการ The Michelin Guide Thailand ประจำปี พ.ศ. 2565 - 2569 4. จัดงานมอบรางวัล Chef Awards Ceremony ให้แก่ร้านอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพจากมิชลิน 5. ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพร้านอาหารในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 5 ปี (2565 – 2569) เพื่อเป็นการรับประกันคุณภาพการดำเนินงานร้านอาหารที่ได้รับการรับรองจากมิชลินว่ามีคุณภาพและมีมาตรฐานสม่ำเสมอ 6. อนุญาตให้ ททท. ใช้ตราสัญลักษณ์ The Michelin Guide Thailand ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการนี้ และอนุญาตให้ ททท. ประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทยและเชฟในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับจากมิชลิน และสามารถใช้เนื้อหาจากคู่มือฯ ในการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์ของ ททท. ได้ ทั้งนี้ เชฟจะไม่มีภาระผูกพันใด ๆ กับ ททท. และมิชลิน 7. มอบสิทธิรางวัล Michelin Thailand Service Award By TAT ให้แก่ ททท. (เป็นรางวัลใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากสิทธิประโยชน์เดิม โดยเป็นรางวัลสำหรับบุคลากรผู้ให้บริการยอดเยี่ยม) |
เงื่อนไข และข้อกำหนดในการชำระเงิน |
บ. มิชลินฯ ขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก ททท. ในการดำเนินโครงการเป็นระยะเวลา 5 ปี เป็นจำนวนเงิน 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งการชำระเงินเป็นรายปี ดังนี้ ปีที่ 1 - 5: ปีละ 820,000 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น 2 งวด - งวดที่ 1: ร้อยละ 35 หลังจากการแถลงข่าวประกาศเตรียมเปิดตัวจังหวัดใหม่ของปีต่อไป - งวดที่ 2: ร้อยละ 65 หลังจากการดำเนินโครงการประจำปีนั้น ๆ สิ้นสุด ซึ่งครอบคลุมถึงการดำเนินการ เช่น (1) การรับมอบอนุญาตให้ ททท. ใช้เครื่องหมายทางการค้าของมิชลิน (2) งานแถลงข่าวเปิดตัวคู่มือฯ พิธีประกาศและมอบรางวัลแก่ร้านที่ได้รับดาวมิชลิน และงานเลี้ยงประจำปี (Gala Dinner) (3) พิธีมอบรางวัล Michelin Thailand Service Award by TAT (4) การส่งมอบคู่มือฯ ประจำปี เป็นต้น |
4. ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา
โครงการฯ ที่ขอก่อหนี้ผูกพัน ต้องใช้งบประมาณตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 135.30 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็นรายปี ดังนี้
4.1 ปีที่ 1 (พ.ศ. 2565) ททท. จะปรับแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 820,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27.06 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในโอกาสแรกก่อน
4.2 ปีที่ 2 - 5 (พ.ศ. 2566 - 2569) ททท. จะขอตั้งงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปีต่อ ๆ ไป โดยจะจัดทำแผนการปฏิบัติงานแผนการใช้จ่ายงบประมาณ จำนวนปีละ 820,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27.06 ล้านบาทต่อปี
5. หลังจากได้รับอนุมัติจากคณะรัฐนตรีแล้ว กก. โดย ททท. จะได้ตอบรับข้อเสนอรวมถึงผู้ว่าการ ททท. จะได้ดำเนินการในขั้นตอนการลงนามสัญญาหรือข้อตกลงกับ บ.มิชลินฯ เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2565 ได้โดยเร็วต่อไป
__________________
[1] มิชลินจะให้รางวัลแก่ร้านอาหารที่นำเสนออาหารคุณภาพดีที่สุด โดยพิจารณาจากคุณภาพวัตถุดิบ เทคนิคการปรุงอาหาร รสชาติอาหาร ความคิดสร้างสรรค์ และความเสมอต้นเสมอปลาย โดยแต่ละรางวัลมีความหมายดังนี้ (1) ร้านอาหารที่ได้รับดาวมิชลิน 3 ดาว คือ ร้านอาหารที่ควรค่าแก่การเดินทางไกลเพื่อไปชิมสักครั้ง (worth a journey) (2) ร้านอาหารที่ได้รับดาวมิชลิน 2 ดาว คือ ร้านอาหารที่ควรค่าแก่การขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม (worth a detour) (3) ร้านอาหารที่ได้รับ 1 ดาว คือ ร้านอาหารคุณภาพสูงที่ควรค่าแก่การหยุดแวะชิม (worth a stop) (4) ร้านอาหารที่ได้รับรางวัลบิบ กูร์มองต์ คือ ร้านอาหารที่เสิร์ฟอาหารคุณภาพดีในราคาไม่เกิน 1,000 บาท (อาหาร 3 คอร์สไม่รวมเครื่องดื่ม) และ (5) ร้านอาหารที่ได้รับดาวมิชลินรักษ์โลก คือ ร้านอาหารคุณภาพที่โดดเด่นเรื่องแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมีมาตรฐาน ทั้งยังร่วมมือกับผู้ผลิตและคู่ค้าเพื่อเลี่ยงการสร้างขยะเหลือใช้ รวมถึงลดการใช้พลาสติก และวัสดุที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่อีกด้วย
[2] ประเทศไทยมีจำนวนร้านอาหารที่ได้รับรางวัลมิชลินประเภทบิบ กูร์มองต์ เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ