ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ยังไม่เห็นชอบแผนยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพภายในปี 2565 โดยมอบสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กลับไปหารือผู้มีส่วนได้เสียก่อน แล้วเสนอแผนกลับมาพิจารณาใหม่ | ที่มาภาพประกอบ: Energy News Center
Energy News Center รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2564 ว่านายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ยังไม่อนุมัติแผนปรับลดการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ตามที่ สกนช.เสนอ แต่เห็นชอบในหลักการเท่านั้น ทั้งนี้ได้ให้ สกนช.กลับไปหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ผู้ค้าเอทานอล, ผู้ค้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% (B100), โรงกลั่นน้ำมัน,สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมธุรกิจพลังงาน ให้ครบถ้วน และให้นำเสนอแผนดังกล่าวในการประชุม กบน. ครั้งต่อไป
ทั้งนี้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ เลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป แต่หากดำเนินการไม่ทันก็สามารถขอขยายเวลาออกไปได้อีกแค่ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี เท่านั้น ดังนั้น สกนช.จึงต้องเร่งดำเนินการยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อให้ทันตามที่กฎหมายกำหนด
เบื้องต้น สกนช.ได้เสนอแผนยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพแก่ กบน. โดยกำหนดจะเริ่มดำเนินการยกเลิกการชดเชยราคาฯ ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 นี้เป็นต้นไป และได้เสนอข้อดีข้อเสียและจำนวนเงินในกองทุนน้ำมันฯ ให้ กบน.ได้พิจารณา แต่ กบน.เห็นว่าควรหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนแล้วจึงนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ดังนั้น สกนช. จึงต้องเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สนพ. และกรมธุรกิจพลังงาน ก่อนจะหารือกับผู้ประกอบการต่อไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมา สกนช.ระบุว่าจะดำเนินการยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งในกลุ่มของดีเซลและเบนซินไปพร้อมกัน เพื่อให้การชดเชยราคาพลังงานทดแทนทุกชนิดสิ้นสุดลงภายในปี 2565
สำหรับในกลุ่มดีเซลนั้น สกนช.มีแผนจะยกเลิกจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B20 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 20% ในทุกลิตร) เป็นอันดับแรก เนื่องจากพบว่ายอดจำหน่ายน้อยที่สุดในกลุ่มดีเซลและกองทุนฯใช้เงินเข้าไปพยุงราคามากที่สุด
โดยยอดจำหน่ายดีเซลรวมเฉลี่ย 60 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็น B20 มียอดขายรวมเพียง 1.08 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนน้ำมันดีเซล (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10% ในทุกลิตร) มียอดขายรวม 20 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ B7 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7%ในทุกลิตร) มียอดขายรวมมากที่สุดถึง 43 ล้านลิตรต่อวัน
และกองทุนน้ำมันฯ ต้องนำเงินไปชดเชยดีเซล B20 ประมาณ 4.16 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลชดเชยอยู่ 2.50 บาทต่อลิตร ขณะที่ B7 เป็นการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ 1 บาทต่อลิตร ดังนั้นขณะนี้ B7 เป็นน้ำมันหลักที่ทำให้กองทุนฯมีเงินไหลเข้า โดยการยกเลิกจำหน่ายดีเซล B20 อาจใช้วิธีทยอยเลิกชดเชยราคาลง รวมถึงอาจจะลดการชดเชยราคาดีเซลลงครึ่งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ส่วนกลุ่มเบนซินนั้น กรมธุรกิจพลังงาน และ สกนช. มีแผนจะผลักดันการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 (น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 20%ในทุกลิตร) ขึ้นเป็นน้ำมันพื้นฐานของกลุ่มเบนซิน และในอนาคตจะยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 (น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 10%ในทุกลิตร) โดยแผนเบื้องต้นได้ขยับราคาแก๊สโซฮอล์ E95 และ E91 ให้ใกล้เคียงกันแล้ว โดย E95 อยู่ที่ 26.65 บาทต่อลิตร ขณะE91 อยู่ที่ 26.38 บาทต่อลิตร หรือต่างกันเพียง 0.27 บาทต่อลิตรเท่านั้น เพื่อจูงใจให้ประชาชนกลับมาใช้ E95 ก่อน และขณะนี้กำลังจะสร้างส่วนต่างราคา E20 ให้ถูกกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E95 (น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 10%ในทุกลิตร) เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันไปใช้ E20 มากขึ้น ก่อนจะยกเลิก E91 ต่อไป
อย่างไรก็ตามปัจจุบันกองทุนฯ ได้นำเงินไปชดเชยราคาน้ำมันจากพลังงานทดแทนอยู่ 800 ล้านบาทต่อเดือน และชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม(LPG)700 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้เงินไหลออกจากกองทุนประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่สถานะการเงินของกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 28 มี.ค. 2564 มีเงินสุทธิที่ 23,006 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 34,338 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 11,332 ล้านบาท
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ