สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอรัฐบาลชะลอส่งหนังสือ เข้าร่วม ‘CPTPP’

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2002 ครั้ง

สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอรัฐบาลชะลอส่งหนังสือ เข้าร่วม ‘CPTPP’

สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ รัฐบาล ชะลอส่งหนังสือเข้าร่วม ‘CPTPP’ ชี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณในการจัดบริการสาธารณสุข ค่าใช้จ่ายด้านยาจะเพิ่มขึ้นสูงสุดเฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท สัดส่วนการพึ่งพิงนำเข้ายาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 71 เพิ่มเป็นร้อยละ 89

8 มิ.ย. 2564 เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่าสภาองค์กรของผู้บริโภค [1] เห็นว่าจากผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (จัดจ้าง) สรุปได้ว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย (GDP) ขยายตัวร้อยละ 0.12 คิดเป็นมูลค่า 13,320 ล้านบาท การลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.14 คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษา CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งข้อสังเกตถึงผลการศึกษาดังกล่าวว่าไม่ได้คำนึงถึงบริบททางสังคมและบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มิใช่รัฐ (Non - state actor) อีกทั้งยังเป็นการศึกษาเชิงมหภาคที่ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อประเด็นรายละเอียดเชิงลึกได้ รวมถึงการตั้งสมมุติฐานการเปิดเสรีการค้าทันทีร้อยละ 100 ของผลการศึกษายังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง นอกจากนี้ การวิเคราะห์ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยแบบจำลองไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อาทิ ศักยภาพการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบในประเทศที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุน เป็นต้น

ดังนั้น การเข้าร่วม CPTPP อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ไทยได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษา CPTPP หน้า 77 - 78)

ส่วนผลกระทบด้านลบต่องบประมาณ หรือ ค่าใช้จ่ายของประเทศนั้น จากข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า จะเกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า 420,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งมูลค่าของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลงสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณของรัฐในการจัดบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบกับข้อมูลจากผลการวิจัยของ รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ และคณะ พบว่า อุตสาหกรรมยาขนาดเล็ก ต้องพึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลัก ในปี 2562 และมีบริษัทที่มีขนาดตลาดมากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เพียงร้อยละ 17 จำนวนบริษัท 21 แห่ง จากทั้งหมด 123 แห่ง ทำให้สัดส่วนการผลิตยาในประเทศเมื่อเทียบกับการนำเข้ายา มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากร้อยละ 69 ในปี 2530 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 29 ในปี 2562 และมีแนวโน้มการนำเข้ายาสูงขึ้นทุกปี นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562 - 2590) ประเทศไทยจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมาจากการพึ่งพิงการนำเข้ายาที่สูงมาก ซึ่งส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสรุปดังนี้

1) ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท
2) สัดส่วนการพึ่งพิงนำเข้ายาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 71 เพิ่มเป็นร้อยละ 89
3) มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท

จากเหตุผลข้างต้น สภาองค์กรของผู้บริโภคขอเสนอให้คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ขอให้ท่านตระหนักในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศ หากมีการเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ผ่านการพิจารณาด้วยความรอบคอบและมองประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้บริโภคส่วนใหญ่ มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศ ดังนั้นสภาองค์กรของผู้บริโภค ขอให้ชะลอการส่งหนังสือแสดงเจตจำนงค์เข้าร่วม CPTPP ตามข้อเสนอนโยบายและมาตรการ โดยมีรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

 

[1] สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภคในทุกด้าน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ปัจจุบันสภาองค์กรของผู้บริโภคมีสมาชิกเป็นองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จำนวน 195 องค์กร ทั้งนี้ในมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นตัวแทนผู้บริโภคและมีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: