Rocket Media Lab: งบฯ การทหารภายใต้สถานการณ์ COVID-19

Rocket Media Lab 8 ก.ค. 2564 | อ่านแล้ว 7552 ครั้ง

Rocket Media Lab สำรวจปี 2020 งบฯ การทหารในระดับโลกนั้นมีจำนวนสูงถึง 1,981 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 2.6% ประเทศไทยใช้งบการทหารติดอันดับที่ 27 ของโลก และมีกำลังพลสูงเป็นอันดับที่ 9 ของเอเชีย

ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงของการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของหน่วยงานทางทหาร ทั้งประเด็นเรื่องโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ในงบประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท รวมไปถึงโครงการการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส ซี 295 จำนวน 3 ลำ ราคาลำละ 1.2 พันล้านบาทของกองทัพบก ว่ามีความเหมาะสมและจำเป็นหรือไม่เพียงใดในสถานการณ์เช่นนี้ 

สถานการณ์โลก

จากรายงาน Trend In World Military Expenditure 2020 ขององค์กร Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) พบว่าในปี 2020 งบฯ การทหารในระดับโลกนั้นมีจำนวนสูงถึง 1,981 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 2.6% 

โดย 5 ประเทศแรกที่ใช้งบฯ ทางการทหารสูงสุด ในปี 2020 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 778 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จีน 252 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อินเดีย 72.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รัสเซีย 61.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสหราชอาณาจักร 59.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งงบประมาณรวมของทั้ง 5 ประเทศนี้ถือเป็น 62% ของงบฯ ทางการทหารของโลก

สำหรับสหรัฐอเมริกา ที่ใช้งบฯ ทางการทหารสูงสุดนั้นพบว่าเพิ่มขึ้นถึง 4.4% จากปี 2019 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกันเป็นปีที่สามแล้ว ในขณะที่ก่อนหน้านั้นลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันนานถึง 7 ปี โดยงบประมาณส่วนใหญ่ลงไปที่การวิจัยและพัฒนา และโครงการปรับปรุงคลังอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ให้ทันสมัย ​​รวมไปถึงการจัดซื้ออาวุธขนาดใหญ่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดระแรงต่อการพัฒนาทางด้านอาวุธสงครามของรัสเซียและจีน 

ในขณะที่ประเทศจีน ซึ่งมีการใช้งบฯ ทางการทหารสูงเป็นอันดับสองนั้น เพิ่มขึ้น 1.9% จากปี 2019 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 26 แล้ว อันเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้จีนลดงบประมาณทางการทหารในส่วนของการศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศลง แต่งบฯ ในส่วนของการปกป้องดินแดนยังคงเพิ่มสูงมากขึ้น โดยสูงขึ้นถึง 6.4% จากปี 2019 อันเป็นผลเนื่องมาจากปัญหาทางชายแดนระหว่างจีนและอินเดีย โดยหน่วยงานที่ได้งบประมาณเพิ่มขึ้นสูงสุดเรื่อยมาก็คือกองทัพอากาศ 

แต่หากดูที่อัตราการเพิ่มขึ้นของงบประมาณทางการทหารนั้น จะพบว่าประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของงบประมาณทางการทหารสูงสุด 5 อันดับแรกของโลกก็คือ อูกันดา เพิ่มขึ้น 46% ตามมาด้วยเมียนมา เพิ่มขึ้น 41% ชาด เพิ่มขึ้น 31% มอนเตเนโกรและไนจีเรีย เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 29% 

แต่หากพิจารณาจากสัดส่วนของงบประมาณทางการทหารต่อจีดีพีของประเทศ จะพบว่า ประเทศที่มีสัดส่วนของงบประมาณทางการทหารต่อจีดีพีของประเทศสูงสุด 5 อันดับแรกของโลก ส่วนใหญ่อยู่ในแถบตะวันออกกลาง ได้แก่ โอมาน 11% ของจีดีพี ซาอุดิอาระเบีย 8.4% ของจีดีพี คูเวต 6.5% ของจีดีพี อิสราเอล 5.6% ของจีดีพี และจอร์แดน 5% ของจีดีพี

ถึงแม้ว่าภูมิภาคอเมริกาจะเป็นภูมิภาคที่มีงบประมาณทางการทหารโดยรวมมากที่สุด แต่หากพิจารณาถึงอัตราการเพิ่มขึ้นของงบประมาณทางการทหารจะพบว่า ภูมิภาคที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ แอฟริกา 5.1% ตามมาด้วยยุโรป 4% อเมริกา 3.9% และเอเชียและโอเชียเนีย 2.5%

ประเทศไทยและเอเชีย

จากสถานการณ์ข้อพิพาทในแถบทะเลจีนใต้ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างจีนและเวียดนาม จากเหตุการณ์การ์ดชายฝั่งจีน หรือ China Coast Guard (CCG) จมเรือประมงเวียดนามใกล้กับเกาะพาราเซล หรือกรณีพิพาทหมู่เกาะเซ็งกากุ ระหว่างญี่ปุ่นและจีน รวมไปถึงปัญหาเขตเศรษฐกิจพิเศษทางเหนือของเกาะบอร์เนียวระหว่างจีนและมาเลเซีย แม้กระทั่งความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวัน หรือเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ทำให้ประเทศในแถบนี้ต่างใช้งบประมาณทางการทหารเพิ่มขึ้น 

หรือแม้กระทั่งเวียดนาม โดยในปลายปี 2019 เวียดนามได้เผยแพร่สมุดปกขาวว่าด้านการป้องกันประเทศฉบับแรกในรอบทศวรรษ ท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากปักกิ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเผชิญหน้ากันระหว่างเรือเดินทะเลของเวียดนามและจีนในน่านน้ำรอบสันดอนแวนการ์ด ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ก่อนหน้านี้ ในปี 2020 เวียดนามได้สั่งซื้อดาวเทียมเฝ้าระวังจากประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

จากรายงาน The Military Balance 2021 ของ The International Institute For Strategic Studies (IISS) ในปี 2020 พบว่าประเทศส่วนใหญ่ในโซนเอเชียและโอเชียเนียนั้นต่างเพิ่มงบประมาณทางการทหารแทบทั้งสิ้น แม้ว่าจะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม โดยประเทศที่เพิ่มงบประมาณทางการทหารสูงกว่า 20% ก็คือไต้หวันและปาปัวนิวกินี 

นอกจากนี้สำหรับประเทศไทย จากรายงาน Trend In World Military Expenditure 2020 ขององค์กร Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ในปี 2020 มีการจัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณทางการทหารสูงสุดเป็นอันดับ 27 ของโลก ซึ่งก้าวขึ้นมาจากอันดับที่ 30 ของโลกในปี 2019 และเป็นอันดับที่ 9 ของเอเชีย และถือเป็นอันดับที่ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาจากสิงคโปร์และอินโดนีเซีย

ไม่เพียงแค่นั้น จากรายงาน The Military Balance 2021 ของ The International Institute For Strategic Studies (IISS) ยังให้ข้อมูลว่างบประมาณทางการทหารของประเทศไทย ถือเป็น 1.5% ของทวีปเอเชียและโอเชียเนีย และประเทศไทยมีทหารประจำการสูงสุดเป็นอันดับ 9 ของทวีปเอเชียและโอเชียเนีย โดยมีจำนวนถึง 360,850 นาย แบ่งออกเป็น กองทัพบก 245,000 นาย กองทัพเรือ 69,850 นาย กองทัพอากาศ 46,000 นาย กองทหารรักษาพระองค์ 87 หน่วย และกองกำลังกึ่งทหาร ทั้ง ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจน้ำ อาสาสมัคร กองบินตำรวจ ตำรวจท้องที่ และทหารพราน รวมแล้วกว่าอีก 93,700+ นาย 

แต่หากพิจารณาจากงบประมาณประจำปีของกระทรวงกลาโหมจะพบว่า มีการปรับลดลงมาในช่วงปี 2563-2565 โดยเฉพาะงบประมาณในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 203,282 ล้านบาท ที่ลดลงจากปี 2564 ถึง 11,248.6 ล้านบาท หรือ 5.24% แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการนำงบกระทรวงกลาโหมไปเปรียบเทียบกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้งบประมาณ 153,940.5 ล้านบาท ลดลง 2.74% 

ในขณะที่ภาพรวมของงบประมาณนั้น งบประมาณว่าด้วยการป้องกันประเทศลดลง 4.9% ในขณะที่งบประมาณว่าด้วยการสาธารณสุขลดลงถึง 10.8%

โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งเรือดำน้ำและเครื่องบินแอร์บัสที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และย้อนไปในปี 2563 ที่มีการจัดซื้อรถหุ้มเกราะล้อยางสไตรเกอร์กว่า 100 คัน อันเป็นงบประมาณผูกพันถึงปี 2565 หรือในปี 2562 กับการจัดซื้อรถถังหลัก VT4 จากจีน 11 คัน และรถหุ้มเกราะล้อยางสไตรเกอร์ M1126 จำนวน 47 คัน จากสหรัฐอเมริกา (ได้ฟรี 23 คัน) โดยประเทศไทยนั้นมักทำการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหารจากจีน ยูเครน และสหรัฐอเมริกา เป็นหลักมาตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2014

หมายเหตุ: จำนวนยุทโธปกรณ์หมายถึงจำนวนยุทโธปกรณ์ทั้งหมดที่หน่วยงานมี โดยอาจรวมถึงที่ปลดประจำการแล้ว ไม่ใช่งบจัดซื้อประจำปี
หมายเหตุ: จำนวนยุทโธปกรณ์หมายถึงจำนวนยุทโธปกรณ์ทั้งหมดที่หน่วยงานมี โดยอาจรวมถึงที่ปลดประจำการแล้ว ไม่ใช่งบจัดซื้อประจำปี
หมายเหตุ: จำนวนยุทโธปกรณ์หมายถึงจำนวนยุทโธปกรณ์ทั้งหมดที่หน่วยงานมี โดยอาจรวมถึงที่ปลดประจำการแล้ว ไม่ใช่งบจัดซื้อประจำปี

สามารถอ่านรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์รายประเทศได้ที่ฐานข้อมูล IISS Military Balance+ (https://www.iiss.org/militarybalanceplus)

 

 

ข้อมูลจาก 

The Military Balance 2021 ของ The International Institute For Strategic Studies (IISS)

Trend In World Military Expenditure 2020 ขององค์กร Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) 

https://www.sipri.org/media/press-release/2021/world-military-spending-rises-almost-2-trillion-2020

https://www.prachachat.net/politics/news-695604

https://www.matichon.co.th/politics/news_2787515

https://news.thaipbs.or.th/content/304790

https://www.thebangkokinsight.com/news/politics-general/covid-19/626215/

https://themomentum.co/thai-military-vehicle-since-coup-detat-2014/

 

เกี่ยวกับ Rocket Media Lab

Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว

เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล

Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์

Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564

https://rocketmedialab.co
https://www.facebook.com/rocketmedialab.co
https://twitter.com/rocketmedialab
contact.rocketmedialab@gmail.com

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: