'ซูเปอร์บั๊ก' (Superbug) เชื้อดื้อยา มหันตภัยร้ายด้านสุขภาพ จากฟาร์มสัตว์สู่คน

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) 8 พ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 6403 ครั้ง

รายงานพิเศษจาก 'องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก' (World Animal Protection) ระบุ 'ซูเปอร์บั๊ก' (Superbug) หรือ 'เชื้อดื้อยา' สร้างความเสียหายให้กับทั้งโลกด้วยตัวเลขผู้ที่ต้องจากไปก่อนวัยอันควรราว 700,000 รายต่อปี สาเหตุเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้องโดยเฉพาะในฟาร์มสัตว์ แพร่มาสู่มนุษย์ในรูปแบบของการสัมผัสโดยตรง การกินอาหารที่ปนเปื้อน ไปจนถึงเชื้อดื้อยาที่เล็ดลอดจากฟาร์มสู่พื้นดิน หรือแหล่งน้ำโดยรอบบริเวณ แนะห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องโรคแบบรวมกลุ่มในฟาร์ม และการพัฒนาสวัสดิภาพการเลี้ยงสัตว์ให้สูงขึ้นตามมาตรฐาน FARMS (Farm Animals Responsible Minimum Standard) ทั้งเรื่องสภาพความเป็นอยู่ที่ดี การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สัตว์ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ             

ซูเปอร์บั๊ก มหันตภัยร้ายด้านสุขภาพจากฟาร์มสัตว์สู่คน

โรคที่เมื่อเป็นแล้ว ยาที่มีอยู่รักษาไม่ได้ จนอาการป่วยแค่เล็กน้อยลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งถ้ากินยาที่รักษาได้ผล อาการเหล่านี้จะดีขึ้นและหายได้ในแค่ไม่กี่วัน โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

นี่คือตัวอย่างของปัญหา “เชื้อดื้อยา” หรือ Superbug ที่ประมาณการณ์กันว่าในแต่ละปี คนไทยติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 88,000 ครั้ง ในจำนวนนี้กว่า 38,000 เสียชีวิต ถ้าเทียบกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มแพร่ระบาดช่วงต้นปี 2563 ถึงวันนี้ (22 กันยายน 2564) มีคนไทยเสียชีวิตไป 15,612 คน กล่าวได้ว่า เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาซึมลึก ด้วยพิษภัยไม่ด้อยไปกว่าโควิด-19  การที่ชาวไทยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวันจากเชื้อดื้อยา คิดเป็นมูลค่ายาที่ใช้รักษาราว 2,539 - 6,084 ล้านบาท นั่นหมายถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 

เชื้อดื้อยายังสร้างความเสียหายให้กับทั้งโลกด้วยตัวเลขผู้ที่ต้องจากไปก่อนวัยอันควรราว 700,000 รายต่อปี คาดกันว่าในปี 2593 ถ้าเหตุการณ์ยังดำเนินเช่นนี้ต่อไป  10 ล้านชีวิตจะต้องลาจากโลกนี้ไปด้วยสาเหตุจากเชื้อดื้อยา

ที่ผ่านมา เราได้ยินได้ฟังเรื่องเชื้อดื้อยากันมาบ้างไม่มากก็น้อย อย่างคำแนะนำที่ว่า ไม่ควรซื้อยากินเอง, ต้องกินยาให้ครบโดส, หวัดจากไวรัสไม่ต้องกินยา แค่นอนเยอะ ๆ ก็หายได้ ซึ่งล้วนเป็นคำแนะนำเพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา แต่ยังมีแง่มุมของเชื้อดื้อยาที่เป็นปัญหาใหญ่และเราไม่ค่อยได้รับรู้กัน นั่นก็คือ เชื้อดื้อยาจากฟาร์มสัตว์

ทำไม เชื้อดื้อยา?

ตอนที่ “ยาปฏิชีวนะ” ถูกค้นพบเมื่อปี 2471 ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เพราะนั่นหมายถึงนับล้านชีวิตที่จะรอดตายจากความเจ็บป่วยด้วยเชื้อแบคทีเรีย จนยานี้ถูกเรียกว่า “ยาปาฏิหาริย์” (miracle drug) ปาฏิหาริย์เริ่มไม่มีจริงในช่วง 30 ปีมานี้ เมื่อ “เชื้อดื้อยา” ทยอยปรากฏตัว แต่ไม่มีการคิดค้นตัวยาขึ้นใหม่ เพราะบริษัทยามองว่าไม่คุ้ม การคิดค้นยาใหม่ใช้ต้นทุนสูง ถ้าวางขายได้ไม่นานเชื้อก็ดื้อยา สู้หันไปผลิตยาที่ทำกำไรยั่งยืนดีกว่า อย่างยารักษาโรคความดัน เบาหวาน หัวใจ ฯลฯ สถานการณ์เช่นนี้ องค์การอนามัยโลก ระบุว่าเรากำลังก้าวสู่ “ยุคหลังยาปฏิชีวนะ” (post-antibiotic era) และนับถอยหลังสู่ “การล่มสลายทางการแพทย์แผนปัจจุบัน” ที่การเจ็บป่วยเล็กน้อยจะกลายเป็นเรื่องอันตรายถึงชีวิต การผ่าตัดธรรมดา ๆ จะเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มเสี่ยง เพราะอาจติดเชื้อที่ไม่มียารักษา

เจ้าซูเปอร์บั๊ก หรือเชื้อดื้อยา เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้อง ทำให้เชื้อแบคทีเรียพัฒนาตัวเองขึ้นให้คงทนจนยาสิ้นประสิทธิภาพ  นอกจากคนเราจะใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคแล้ว ในภาคเกษตรกรรมมีการใช้ยากลุ่มนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  ในแต่ละปี ทั่วโลกมีการผลิตยาปฏิชีวนะมากกว่า 131,000 ตัน ในจำนวนนี้ 3 ใน 4 ถูกนำไปใช้ในฟาร์มอุตสาหกรรม  น่าเสียดายที่นั่นไม่ใช่ข่าวดี เพราะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ เราสามารถติดเชื้อดื้อยาได้จากทั้งเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง และจากฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะในรูปแบบของการสัมผัสโดยตรง การกินอาหารที่ปนเปื้อน ไปจนถึงเชื้อดื้อยาที่เล็ดลอดจากฟาร์มสู่พื้นดิน หรือแหล่งน้ำโดยรอบบริเวณ

ชีวิตสัมพันธ์ ซูเปอร์บั๊ก หมูสู่คน

ยาปฏิชีวนะถูกใช้อย่างกว้างขวางในฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม รวมถึงในฟาร์มหมู สาเหตุหนึ่งเนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น มีปัญหาโรคติดเชื้อสูง ยาปฏิชีวนะจึงช่วยป้องกันสัตว์ไม่ให้เจ็บป่วยล้มตาย ปัญหาเชื้อดื้อยาสาเหตุหนึ่งคล้ายกับของคนเรา คือการกินยาไม่ถูกวิธี เช่น ใช้ยาไม่ตรงโรค ใช้ยาผิดขนาด ผิดช่วงเวลา ไม่มีการหยุดยาตามระยะเวลาที่กำหนด วิธีการใช้ไม่ถูกต้อง พอไม่ได้ผลก็เพิ่มขนาดยา หรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่แรงขึ้นอีก

นอกจากรักษาอาการป่วยแบบผิด ๆ หมูในฟาร์มยังได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์แบบไร้สวัสดิภาพที่ดี  เช่น การใช้คอกแคบ ๆ ขังสัตว์ทั้งชีวิต การตัดตอนอวัยวะ การหย่านมเร็วเกินไป ตลอดจนการใช้สายพันธุ์ที่ถูกตัดแต่งมาให้ตัวใหญ่และโตไวผิดธรรมชาติ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจของสัตว์ ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ และมีแนวโน้มที่จะป่วยง่าย ฟาร์มจึงใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาลเพื่อหล่อเลี้ยงให้สัตว์ทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่แบบนั้นให้ได้

คนเลี้ยงยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่ายาปฏิชีวนะเป็น “วิตามินบำรุง” ช่วยให้หมูโตไว ได้น้ำหนัก ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะสารอาหารถูกนำไปใช้สร้างภูมิต้านทานน้อยลง เลยใช้เพื่อการเจริญเติบโตได้มากขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์เหล่านี้ การใช้ยาปฏิชีวนะกับสัตว์จึงเป็นการให้แบบรวมหมู่ โดยการผสมลงในอาหารหรือน้ำ จากการศึกษาพบว่ารูปแบบการใช้ยาปฏิชีวนะที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือการผสมลงในอาหาร รองลงมาคือการละลายน้ำ สุดท้ายคือใช้เป็นยาฉีด

เมื่อคนเลี้ยงสัตว์ใช้วิธีผสมยาปฏิชีวนะลงในอาหารและน้ำดื่ม ก็จะใช้ในปริมาณต่ำ กินดื่มกันต่อเนื่องเป็นเวลานาน และนั่นเป็นสาเหตุให้เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในฟาร์มเกิดการดื้อยา ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ยาปฏิชีวนะที่สัตว์กินเข้าไป ส่วนใหญ่เป็นยากลุ่มเดียวกับที่เราใช้กัน และเมื่อเชื้อดื้อยาส่งต่อถึงคนได้ นั่นเท่ากับว่าพอเราป่วยแล้วนำยาตัวเดียวกันมารักษา ยาก็จะใช้ได้ผลไม่เต็มที่หรืออาจจะไม่ได้ผลเลย เป็นอันว่าหมดสิ้นหนทางเยียวยา

ซูเปอร์บั๊ก ปะทะ โควิด-19 วิกฤติ X 2

แม้เชื้อดื้อยาที่เรากำลังพูดถึง จะเกิดขึ้นกับเชื้อแบคทีเรีย แต่โควิด-19 เป็นเชื้อไวรัส แล้วเจ้าสองเชื้อนี้จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันได้อย่างไร?

ถ้ายังจำกันได้ กรณีของผู้ว่าฯ สมุทรสาครที่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ทีมแพทย์ที่รักษา นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ออกมาแถลงข่าวในช่วงเวลาดังกล่าว โดยระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ อาการทรุดหนัก และยังไม่สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้ ทั้งที่แพทย์ให้ยากำจัดเชื้อโควิด-19 ไปจนหมดสิ้นแล้ว ก็เนื่องมาจากเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในปอด ทำให้ยังคงมีอาการปอดอักเสบต่อไปอีก แล้วที่ร้าย เจ้าเชื้อแบคทีเรียที่เอ็กซเรย์พบในปอดของผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ ก็เป็นเชื้อดื้อยา ทำให้ทีมแพทย์ต้องให้ยาปฏิชีวนะตัวใหม่เพิ่มอีก 1-2 ตัว  และนี่ก็เป็นวิธีการรักษา เวลาที่พบปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งมักจะอาละวาดในระบบทางเดินาหยใจ โดยแพทย์จะต้องเปลี่ยนยาปฏิชีวนะไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอยาที่เจ้าซูเปอร์บั๊กสยบยอม และนั่นย่อมหมายถึงการรักษาที่เพิ่มความยุ่งยาก ซับซ้อน และเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมากยิ่งขึ้น

ยุทธศาสตร์ สุขภาพดี หนึ่งเดียว

คณะวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก็บข้อมูลกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ 100 ราย พบว่าร้อยละ 80 มีการใช้ยาปฏิชีวนะตลอดวงจรการเลี้ยงสัตว์ ทั้งใช้เพื่อการรักษา ป้องกันโรค และเร่งการเจริญเติบโต จากการสัมภาษณ์เกษตรกร พบว่าเกษตรกรเป็นคนให้ยาปฏิชีวนะแก่สัตว์กันเอง และเป็นการให้อย่างไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับยาในระดับปานกลาง และยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยาในการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งไม่รู้ด้วยว่ายาปฏิชีวนะจากการเลี้ยงสัตว์สามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อม และส่งผ่านสู่คนได้

ที่กล่าวมา คือการศึกษาที่จัดทำขึ้นในปี 2558 เป็นช่วงที่ทั่วโลกตื่นตัวเรื่องเชื้อดื้อยา และส่งแรงกระเพื่อมถึงไทย โดยเวทีสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 68 เรื่อง Global Action Plan on Antimicrobial Resistance ในปี 2558 มีมติขอให้ประเทศสมาชิกจัดทำแผนดำเนินการระดับประเทศ นำมาสู่ แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 ที่มีกลไกระดับชาติ ได้แก่ คณะกรรมการประสานและบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นระบบ ภายใต้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” หรือ One Health เป้าหมายหลักที่ปักธงไว้ในช่วงปลายแผนปี 2564 คือลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในคนลงร้อยละ 20 และในสัตว์ร้อยละ 30 รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยาแก่ประชาชน

ความน่าสนใจของแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ คือแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งเน้น 2 ด้านหลัก ด้านหนึ่ง คือการควบคุมการผลิตและการใช้ยาปฏิชีวนะในยาและอาหารสัตว์ ผ่านมาตรการทางกฎหมาย โดยในช่วงปี 2561 - 2563 มีประกาศกรมปศุสัตว์ 12 ฉบับ อีกด้านคือการสร้างแรงจูงใจในลักษณะของการ “ให้รางวัล” แก่ผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ “แบบสมัครใจ” 

สิ่งที่ขาดหายไป คือการไปให้ถึงสาเหตุของการใช้ยา ที่มาจากการขาดการดูแลสวัสดิภาพสัตว์อย่างเหมาะสม เมื่อสัตว์ยังอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิม ที่ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ความเจ็บป่วยก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อป่วยก็ต้องรักษา ยาปฏิชีวนะจึงยังจำเป็น และอาจจำเป็นต้องฝ่าฝืนกฎข้อบังคับ เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่คนเลี้ยงสัตว์ต้องเผชิญในฟาร์ม

ยังมีมิติอื่น ๆ ที่หายไปจากยุทธศาสตร์ชาติต้านเชื้อดื้อยา ได้แก่ การขาดเรื่องของการรายงานผลการใช้ยาปฏิชีวนะที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับรู้ที่มาของอาหาร และเป็นช่องทางให้สามารถสะท้อนความต้องการไปยังผู้ผลิตผ่านการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

สถานการณ์เชื้อดื้อยา หลังยุทธศาสตร์ชาติประกาศใช้

หลังจากประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 มีการออกกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ติดตามมาอีกมากมาย ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้ยาปฏิชีวนะให้เป็นไปในทิศทางที่มุ่งจะสกัดการขยายตัวของซูเปอร์บั๊ก และนั่นน่าจะบ่งบอกถึงแนวโน้มที่ดี อันจะนำไปสู่เป้าหมาย “สุขภาพหนึ่งเดียว”

ต้นปีนี้ ซึ่งนับเป็นปีสุดท้ายในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ฯ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดทำรายงานสรุปสาระสำคัญการค้นพบเชื้อดื้อยารอบฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยทดลองเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนจากแหล่งน้ำสาธารณะที่มีการปล่อยของเสียจากฟาร์มหมูจำนวน 6-10 แห่ง ซึ่งทำพร้อมกันกับอีก 4 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สเปน และสหรัฐอเมริกา เพื่อตรวจสอบยีนดื้อยาที่ทำให้แบคทีเรียเกิดการต่อต้านยาปฏิชีวนะ พบว่า 6 ใน 9 ฟาร์มตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ หรือซูเปอร์บั๊กในสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ นักวิจัยและอาสาสมัครยังได้สัมภาษณ์ผู้อยู่อาศัยในชุมชนและเกษตรกร 18 คนใน 6 ชุมชนรอบบริเวณฟาร์มถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังมีฟาร์มมาตั้งในเขตชุมชน ส่วนใหญ่ยินดีให้ข้อมูลแต่ขอไม่เปิดเผยชื่อ

ชาวบ้านที่อาศัยใกล้ฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม – “ผมเชื่อว่าต้องมียาหรือมีเชื้อโรคในคลองนี้ เราไม่อยากให้ฟาร์มมาตั้งใกล้ชุมชนแบบนี้หรอก เพราะมันส่งผลต่อการเกษตรและความเป็นอยู่ของเรา ทำไมเราไม่สามารถจัดการโซนนิ่งหรือทำอะไรกับเรื่องนี้ได้เลย”

เกษตรกรรายย่อย – “เวลาที่ฟาร์มปล่อยน้ำลงแปลงข้าว ข้าวไม่โตเหมือนที่ควรเป็น บางต้นเสียหาย บางต้นตาย ปลาอาศัยในแหล่งน้ำแบบนี้ไม่ได้ จริง ๆ มันกระทบทั้งระบบนิเวศนี่แหล่ะ เคยร้องเรียนไปแต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

คณะวิจัยวิเคราะห์ผลที่ได้จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ว่าสะท้อนถึงมาตรการทางกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ว่ายังไม่สามารถปกป้องแหล่งน้ำสาธารณะให้ปลอดภัยจากแบคทีเรียดื้อยา ตัวอย่างของยา Colistin ที่มีข้อกำหนดการใช้ในฟาร์มค่อนข้างเข้มงวด แต่ยังคงพบการปนเปื้อนในแหล่งน้ำจากการศึกษาครั้งนี้

ยิ่งไปกว่านั้น การแพร่กระจายของยาปฏิชีวนะในยุคนี้ ยังรวมถึงการซื้อหาได้ทั่วไปผ่านช่องทางออนไลน์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาเตือนเกษตรกรเรื่องการซื้อยาสัตว์ผ่านออนไลน์ โดยที่ยาเหล่านั้นถูกกำหนดให้ใช้ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น แต่ทุกคนกลับหาซื้อได้ง่าย ๆ เอามาใช้กันเองตามคำโฆษณา ซึ่งเป็นอีกความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาโดยขาดความรู้เท่าทัน

“ปัญหาเชื้อดื้อยาจากฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมนับเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก หลายคนไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน แม้แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมากกับสัตว์ฟาร์มจะสร้างผลกระทบมหาศาล ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน และออกกฎหมายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในกับสัตว์ฟาร์ม เพราะนั่นคือต้นเหตุของปัญหาเชื้อดื้อยาที่เป็นผลจากสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มที่ย่ำแย่” โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าว

ข้อเสนอจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ในเรื่องนโยบายการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องโรคแบบรวมกลุ่มในฟาร์ม และการพัฒนาสวัสดิภาพการเลี้ยงสัตว์ให้สูงขึ้นตามมาตรฐาน FARMS (Farm Animals Responsible Minimum Standard) ทั้งเรื่องสภาพความเป็นอยู่ที่ดี การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สัตว์ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ การใช้สายพันธุ์ธรรมชาติและไม่เร่งโต เหล่านี้จะช่วยให้สัตว์มีสุขภาพกายใจที่ดี ไม่เจ็บป่วยง่าย ความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะก็จะลดลง พร้อมกับความเสี่ยงในการก่อซูเปอร์บั๊กที่จะลดลงตามไปด้วย

 

ที่มาข้อมูล
กรมปศุสัตว์กับการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564
ณัฐธิดา สุขสาย และคณะ. การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์: กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่. วารสารเภสัชกรรมไทย ปีที่ 8 เล่มที่ 2 ก.ค.-ธ.ค.2559
เตือน! ซื้อยาปฏิชีวนะรักษาสัตว์ทางออนไลน์ เสี่ยงได้ยาปลอม. เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ (29 ตุลาคม 2563)
แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564
รายงานสรุปสาระสำคัญการค้นพบเชื้อดื้อยารอบฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมในประเทศไทย. องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (2564)
อาการ ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ทรุดลง พบเชื้อดื้อยาต้องให้ยาปฎิชีวนะคุม ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ, เว็บไซต์ workpointtoday.com (18 มกราคม 2564)
อาหาร (ไม่) ปลอดภัย ... ผลจากการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์. FDA Journal: September-December 2012

 

 

เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข, สัตว์ป่า - สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: