แอมเนสตี้ชี้ดำเนินคดีต่อแกนนำและผู้ชุมนุม คือการปิดกั้นเสรีภาพ

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 มี.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1631 ครั้ง

แอมเนสตี้ชี้ดำเนินคดีต่อแกนนำและผู้ชุมนุม คือการปิดกั้นเสรีภาพ

แอมเนสตี้แถลงหลังการดำเนินคดีต่อแกนนำและผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก คือการปิดกั้นเสรีภาพในการชุมนุม การแสดงออกและการเเสดงความเห็นต่างอย่างเป็นระบบ | ที่มาภาพ: ปฏิภัทร จันทร์ทอง (อ้างใน Amnesty International Thailand)

9 มี.ค. 2564 Amnesty International Thailand รายงานว่าสืบเนื่องจากการดำเนินคดีต่อแกนนำและผู้เข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 ที่มีจำนวนมากกว่า 382 คน ใน 207 คดี การไม่ให้ประกันตัวสี่แกนนำที่ผ่านมา การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุมอีก 18 คน และการไม่ให้ประกันตัว ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ภาณุพงศ์ จาดนอก และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากการชุมนุมใน #ม็อบ19กันยายน ทวงอำนาจคืนราษฎร รวมถึงปิยรัฐ จงเทพ สืบเนื่องจาก #ม็อบ6มีนาคม ถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและความคิดเห็นต่างอย่างเป็นระบบ

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่ทางการไทยดำเนินคดีต่อแกนนำและผู้เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากอย่างเป็นระบบ ซึ่งในบางคดี หากมีการพิจารณาว่ามีความผิดจะมีโทษสูงสุดถึง 15 ปี ซึ่งเป็นการลงโทษที่รุนแรงและไม่ได้สัดส่วน อีกทั้งยังมีระยะเวลาการดำเนินคดีที่ยาวนาน การดำเนินคดีต่อกับผู้เห็นต่างหรือผู้วิจารณ์การทำงานรัฐ จึงถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อปิดปากและตอบโต้บุคคลที่กล้าท้าทายอำนาจรัฐ

"การดำเนินคดีจำนวนมากและการไม่ให้ประกันตัว สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือในการโจมตีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ประชาชนย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะออกมาแสดงความเห็นและมีส่วนร่วมต่อประเด็นทางสังคม

"ทางการไทยต้องยุติการปฏิบัติต่อผู้ออกมาวิจารณ์ราวกับเป็นอาชญากรหรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ พวกเขาควรได้รับการปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาโดยทันทีหากขาดหลักฐานว่ากระทำความผิดอาญาตามหลักสากล"

 

ข้อมูลพื้นฐาน

#19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร: การดำเนินคดีกล่าวเป็นผลมาจากการจัดการชุมนุม บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ต่อเนื่องมายังพื้นที่สนามหลวง ในช่วงวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมปราศรัยและเเสดงออกยืนยันถึงข้อเรียกร้องหลักให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเสนอโดยประชาชน ขอให้รัฐบาลลาออก และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

รายละเอียดของความคืบหน้าในคดี และผู้ที่ถูกดำเนินคดี เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 มีดังต่อไปนี้

#19กันยาทวงอำนาจคือราษฎร มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ทั้งหมด 7 คน ในจำนวนนี้รวม พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ซึ่งถูกคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดี ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งเเต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เเละมีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 และตามมาตรา 215 (ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งเเต่ 10 คนขึ้นไป) ประมวลกฎหมายอาญา ทั้งหมด 14 คน ซึ่งผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดเข้าพบพนักงานอัยการเพื่อฟังคำสั่ง ณ สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา แต่ทางพนักงานอัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งเป็นวันที่ 8 มี.ค. 2564

วันที่ 8 มี.ค. 2564 ผู้ถูกดำเนินคดีที่เหลือทั้ง 18 คนเดินทางมาฟังคำสั่งอีกครั้ง โดยพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องทั้ง 18คน โดยปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ภาณุพงศ์ จาดนอก และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกสั่งฟ้องตามมาตรา 112 มาตรา 116ประมวลกฎหมายอาญาและข้อหาอื่นๆ ส่วนผู้ถูกดำเนินคดีอีก 15 คน ถูกสั่งฟ้องในความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาและข้อหาอื่นๆ ทั้งหมดถูกนำตัวส่งศาลอาญา พนักงานอัยการยื่นขอควบคุมตัวทั้ง 18 คนก่อนการพิจารณาคดี

ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานอัยการควบคุมตัวทั้ง 18 คนก่อนการพิจารณาคดี โดยมีกลุ่มนักวิชาการเเละบุคคลที่เกี่ยวข้องยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว เเต่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวปนัสยา ภาณุพงศ์ และจตุภัทร์ โดยปนัสยาถูกควบคุมตัวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง ขณะที่ภาณุพงษ์และจตุภัทร์ถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เเต่ต่อมาพบว่าอยู่ที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี ส่วนผู้ถูกดำเนินคดีอีก 15 คน ได้รับการประกันตัวด้วยวงเงิน 35,000 บาทต่อคน ศาลนัดพร้อมวันที่15 มีนาคม 2564 เวลา 9:00 น.

นอกจากนี้ การ์ดของกลุ่ม We Volunteer 18 คน ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันเสาร์ที่ 6 มี.ค. 2564 และถูกควบคุมตัวที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด) ภาค 1 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อห้ามชุมนุมตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 209 และมาตรา 210 (ความผิดฐานอั้งยี่และซ่องโจร) ตามประมวลกฎหมายอาญา โดย เยาวชน 2 คนได้รับการปล่อยตัวจากการวางเงินเป็นหลักประกัน 5,000 บาท พร้อมกับผู้ถูกควบคุมตัวอีก 1 คน ส่วนอีก 14 คน ได้รับการประกันตัวจากการวางเงินเป็นหลักประกัน 45,000 บาทต่อคน ส่วน ปิยรัฐ จงเทพ เป็นเพียงคนเดียวที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน ซึ่งศาลสั่งให้นำไปควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เเต่พบว่าถูกควบคุมตัวไปเรือนจำอำเภอธัญบุรีเช่นกัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: