Rocket Media Lab: สำรวจสภาพการทำงาน 'ไรเดอร์' ทั่วโลก

Rocket Media Lab 9 ต.ค. 2564 | อ่านแล้ว 9192 ครั้ง


'Rocket Media Lab' สำรวจสภาพการทำงาน 'ไรเดอร์' ทั่วโลก พบแนวโน้มทั่วโลกดูเหมือนว่ารัฐจะมุ่งให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ไรเดอร์มากขึ้น ขณะที่ไทยนั้นไรเดอร์ยังเป็นเพียง 'พาร์ทเนอร์' และไร้ซึ่งสวัสดิการและความคุ้มครองที่เหมาะสม | ที่มาภาพ: Rocket Media Lab

ช่วงต้นเดือน ต.ค. 2564 Rocket Media Lab นำเสนอรายงานระบุว่าFood Delivery จริงๆ แล้วไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งมีในสังคมสมัยใหม่ แต่มีมาตั้งแต่เกือบ 4,000 ปีก่อน ย้อนกลับไปในยุคโรมัน ช่วง 753 – 476 ก่อนคริสตกาล ร้านเทอร์โมโพเลียมซึ่งเป็นต้นแบบของร้านอาหารในปัจจุบัน มีการจัดส่งอาหารที่ร้อนตลอดเวลาให้กับลูกค้า ซึ่งสิ่งนั้นถูกนิยามให้เป็นการจัดส่งอาหารครั้งแรกของโลก

หรือหากเป็นในแบบที่ใกล้เคียงกับการบริการในปัจจุบัน ก็คือธุรกิจการจัดส่งอาหารในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ในปี 1890 ที่น่าจะเป็นต้นแบบให้บริการ Food Delivery ในทุกวันนี้ โดยมีคนรับส่งอาหารหรือ ‘ดับบาวาลา’ ที่ทำหน้าที่จัดส่งอาหารในปิ่นโตให้กับกลุ่มคนทำงานในเมืองมุมไบ ปัจจุบันบริการดับบาวาลาเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเมืองมุมไบ

ในส่วนของการให้บริการทางออนไลน์ หลัง Pizza Hut ได้เพิ่มบริการสั่งอาหารออนไลน์ในปี 1994 ทำให้ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดหันมาเปิดรับออเดอร์ทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ถัดมาปี 1995 Waiter.com เปิดตัวธุรกิจส่งอาหารออนไลน์ผ่านเว็บไซต์เป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ โดยให้บริการสั่งอาหารและจัดส่ง โดยมีร้านอาหารกว่า 60 ร้านเป็นพาร์ทเนอร์ทั่วรัฐแคลิฟอร์เนีย การเกิดขึ้นของ Waiter.com กลายเป็นการเปิดตลาด Food Delivery Online อย่างเป็นทางการ ทำให้มีหลายบริษัทเริ่มเปิดตัวหรือเข้ามาเล่นในตลาดมากขึ้น เช่น GrubHub, Uber หรือ door dash เป็นต้น

ตลาด Food Delivery ขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังแพลตฟอร์มเข้าไปตีตลาดในกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่กลายเป็นจุดพลิกผันให้กับวงการ Food Delivery โดยในปี 1995 ยอดการสั่งออนไลน์เริ่มแซงหน้าการโทรสั่ง และเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้การสั่งอาหารออนไลน์กลายเป็น New Normal ที่ขยายการเติบโตของ Food Delivery มากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2021 มูลค่าตลาด Food Delivery จะสูงถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.9 ล้านล้านบาท และจะเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9.9 ล้านล้านบาทในปี 2027

แม้แพลตฟอร์ม Food Delivery จะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมาย เมื่อภาครัฐไม่ได้ปรับข้อกฎหมายตามความเป็นไปของโลก ฟันเฟืองสำคัญที่ธุรกิจ Food Delivery ขาดไม่ได้อย่าง ‘ไรเดอร์’ จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ได้รับผลกระทบจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจนี้ที่ข้อกฎหมายยังวิ่งตามมาคุ้มครองไม่ทัน และเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันทั้งประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิต การทำงาน สวัสดิการ และสถานะทางกฎหมายที่ยังคลุมเครือ

แรงงานหรือพาร์ทเนอร์ ต่างประเทศมองยังไง

ในช่วงก่อนที่ Food Delivery จะเข้าถึงในระบบอินเทอร์เน็ต ไรเดอร์ถูกจ้างเป็นพนักงานของแพลตฟอร์มเหมือนกับพนักงานรูปแบบอื่นๆ ยกตัวอย่างแพลตฟอร์ม Food Felivery ทางอินเทอร์เน็ตเจ้าแรกอย่าง Waiter.com ที่ไรเดอร์ทุกคนจะเป็นพนักงานของแพลตฟอร์ม มีทั้งทำงานเต็มเวลาและเป็นกะ ซึ่งแพลตฟอร์มให้ไรเดอร์เลือกได้ตามสะดวก โดยจะได้รับเงินตามชั่วโมงที่ทำงาน โบนัสตามระยะทางที่ออกงาน ค่าโทรศัพท์ และประกันสุขภาพ

แต่เมื่อแพลตฟอร์ม Food Delivery เริ่มขยายพื้นที่ให้บริการมากขึ้น จากระดับเมือง เป็นระดับรัฐ ระดับประเทศ และระดับข้ามชาติ ทำให้ต้นทุนที่แพลตฟอร์มจะต้องแบกรับโดยเฉพาะต้นทุนดูแลไรเดอร์ที่สูงขึ้นตามพื้นที่ให้บริการ จึงเกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดจ้างไรเดอร์ใหม่ ในฐานะคู่สัญญาอิสระ (Independent Contractors) หรือพาร์ทเนอร์ตามคำที่เราใช้ในปัจจุบัน

   พาร์ทเนอร์เป็นความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างไรเดอร์กับแพลตฟอร์ม ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘เป็นนายของตัวเอง เลือกเวลาทำงานตามสะดวก’ ความอิสระนี้ทำให้คนว่างงานจำนวนมากหันมาทำงานเป็นไรเดอร์ โดยเจ้าแรกที่ใช้ระบบพาร์ทเนอร์ก็คือ ‘GrubHub’ แพลตฟอร์มสัญชาติอเมริกันที่ก่อตั้งในปี 2004 ทำให้ทางแพลตฟอร์มมีไรเดอร์เพียงพอกับออเดอร์จำนวนมหาศาล และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แพลตฟอร์ม และทำให้แพลตฟอร์มน้องใหม่จำนวนไม่น้อยเลยหันมาใช้แนวทางนี้เพื่อคุมต้นทุนในการดูแลไรเดอร์ ไม่ว่าจะเป็น Foodora, Doordash, GrabFood, LINE MAN หรือ Uber Eats 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความอิสระในการเลือกเวลาทำงานของไรเดอร์ ทำให้มีไรเดอร์จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะทำงานเต็มเวลา เสมือนทำงานประจำแบบไม่มีวันหยุดมากกว่าจะทำเป็นกะ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน หรือหันมาทำเป็นงานหลักมากกว่างานเสริม ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่งานหายากมากขึ้น มีคนว่างงานจำนวนมาก ทำให้หลายคนหันมาทำงานหลักเป็นไรเดอร์มากยิ่งขึ้น

ประเด็นเรื่องสถานภาพของไรเดอร์เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมานานว่าจริงๆ แล้วไรเดอร์คือพนักงานของของแพลตฟอร์มหรือไม่ ปัจจุบันในหลายประเทศอาชีพไรเดอร์เข้าข่ายงานประเภท Gig Work หรือฟรีแลนซ์ เพราะไม่ได้มีความสัมพันธ์กับแพลตฟอร์มในฐานะลูกจ้างและนายจ้างตามกฎหมาย และหลายแพลตฟอร์มเน้นย้ำอย่างชัดเจนว่า ไรเดอร์ไม่ได้มีสถานภาพเป็นลูกจ้าง (Employee) ของแพลตฟอร์ม

เมื่อไรเดอร์ไม่เข้าข่ายเป็นลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ภาครัฐจึงจัดให้ไรเดอร์เข้าข่ายเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Self-Employed) ทำให้ไรเดอร์ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานของแรงงาน เช่น ประกันอุบัติเหตุ เงินบำนาญหลังเกษียณ หรือประกันค่าแรง ฯลฯ เช่น ส่วนหนึ่งในประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สหราชอาณาจักร และนอร์เวย์

การไม่ได้รับสิทธิในการเป็นแรงงานที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายของไรเดอร์ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในการเรียกร้องสิทธิในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งการชุมนุมประท้วงไปจนถึงการยื่นฟ้องต่อศาล ที่มีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ

สหราชอาณาจักร

ในสหราชอาณาจักร สหภาพแรงงานอิสระแห่งบริเตนใหญ่ (IWGB) ได้ยื่นฟ้อง Deliveroo เนื่องจากไรเดอร์ถูกขูดรีดจากแพลตฟอร์มจนไม่สามารถทำงานตามที่ตัวเองต้องการและไม่ได้สวัสดิการพื้นฐานในฐานะลูกจ้างของแพลตฟอร์ม แต่สุดท้ายศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าไรเดอร์ของ Deliveroo ไม่เข้าข่ายการเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม อีกด้านหนึ่ง ศาลสูงสุดของอังกฤษตัดสินให้คนขับรถของ Uber เป็นพนักงานของบริษัท ทำให้คนขับ Uber ได้สถานะพนักงานของแพลตฟอร์ม ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ สวัสดิการบำนาญ และรายได้ในวันหยุดหรือวันลา นอกจากนี้ยังมีกรณีของแพลตฟอร์มส่งอาหารอย่าง Just Eat ที่เพิ่งจะให้สถานะการเป็นลูกจ้างแก่ไรเดอร์ส่งอาหาร ซึ่งมีผลให้ไรเดอร์เข้าถึงสวัสดิการต่างๆ และได้รับความคุ้มครองมากขึ้น

สหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา แม้ไรเดอร์จะยังไม่ได้รับสถานะตามกฎหมาย แต่ในหลายรัฐก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิ Gig Worker โดยเมื่อไม่นานมานี้ นิวยอร์กซิตี้ได้ผ่านร่างกฎหมายควบคุมอุตสาหกรรมขนส่ง โดยแพลตฟอร์มจะต้องแจ้งรายละเอียดของแต่ละออเดอร์ให้กับไรเดอร์ก่อนเดินทาง ได้แก่ สถานที่รับอาหาร ปลายทาง ระยะทาง และระยะเวลา คนขับสามารถกำหนดได้ว่าต้องการเดินทางไกลสุดแค่ไหนในแต่ละครั้ง และทางแพลตฟอร์มต้องแจ้งรายละเอียดของทิปให้กับไรเดอร์ นอกจากนี้ รัฐแคลิฟอร์เนียยังได้ผ่านร่างกฎหมาย California Assembly Bill 5 เพื่อคุ้มครองสิทธิต่างๆ และการเป็นลูกจ้างให้กับกลุ่ม Gig Worker อันรวมไปถึงไรเดอร์ด้วย

เกาหลีใต้

ในเดือนพฤษภาคม 2019 ปาร์ก จอง-ฮุน หนึ่งในไรเดอร์ของแพลตฟอร์มส่งอาหารแห่งหนึ่งในกรุงโซล ได้รวบรวมเพื่อนไรเดอร์จัดตั้งสหภาพไรเดอร์ขึ้นมา (Rider Union) และรวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิของไรเดอร์ในวันแรงงานหน้ารัฐสภาในกรุงโซล จนเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน สภากรุงโซลจึงได้รับรองสถานะทางกฎหมายให้กับสหภาพไรเดอร์ที่เขาและเพื่อนได้รวมตัวกันจัดตั้งขึ้น เมื่อสหภาพไรเดอร์ได้รับการรับรองทางกฎหมายแล้ว จึงมีการต่อรองเจรจากับแพลตฟอร์มจนทำให้ไรเดอร์ได้รับสถานะเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม แต่ทั้งนี้ผลการเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์มจำกัดเฉพาะในกรุงโซลเท่านั้น โดยการประกาศให้ไรเดอร์ทั่วประเทศได้สถานะการเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์มนั้นจะต้องรอการอนุมัติจากรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเสียก่อน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า 

นอกจากนั้นยังมีกรณีของไรเดอร์ส่งอาหารสังกัด Yogiyo ที่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่าพวกเขาทำงานเสมือนพนักงานประจำของแพลตฟอร์ม เนื่องจากทางบริษัทกำหนดตารางเวลางานของพวกเขา รายงานการทำงานในช่วงพักกลางวัน และกำหนดพื้นที่งาน ทางบริษัทจึงควรต้องจ่ายค่าล่วงเวลางานให้ด้วย โดยที่สุดกระทรวงแรงงานได้ตัดสินให้แพลตฟอร์มจ่ายค่าล่วงเวลาในการทำงานให้กับไรเดอร์ทั้ง 5 คนนี้ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่สหภาพไรเดอร์จะได้รับการรับรองสถานะทางกฎหมายเพียงหนึ่งเดือน

ไต้หวัน

ในกรณีของไต้หวัน ซึ่งมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของไรเดอร์ของแพลตฟอร์ม Foodpanda และ Uber Eats ในขณะทำงาน ในปี 2019 ซึ่งกลายมาเป็นข่าวใหญ่ในประเทศ ทำให้กระทรวงแรงงานประกาศว่าไรเดอร์นั้นเข้าข่ายการเป็นลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานมาตรฐานของไต้หวัน และได้เชิญแพลตฟอร์มส่งอาหารทั้งหมดเข้าพบเพื่ออธิบายแนวทางปฏิบัติและให้รับรองความปลอดภัยของคนขับรถส่งของ 

อย่างไรก็ตาม การประกาศของกระทรวงแรงงานในครั้งนั้นไม่ได้เป็นการประกาศกฎหมายเฉพาะเพื่อใช้คุ้มครองไรเดอร์ และไม่ได้เป็นการประกาศคำสั่งโดยเฉพาะเจาะจงไปยังแพลตฟอร์มขนส่งอาหารเพื่อให้ไรเดอร์ได้สถานะการเป็นลูกจ้าง โดยในไต้หวันนั้นมีแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ไรเดอร์มีสถานะเป็นลูกจ้างอยู่แล้ว แต่สำหรับแพลตฟอร์มยอดนิยมทั้งสองแพลตฟอร์มอย่าง Foodpanda และ Uber Eats รวมไปถึง Lalamove ไรเดอร์มีสถานะเพียงพาร์ทเนอร์เท่านั้น 

หลังจากการประกาศของกระทรวงแรงงาน ทั้ง Foodpanda และ Uber Eats ต่างไม่เห็นด้วยในการตีความเนื่องด้วยไรเดอร์ทำสัญญากับแพลตฟอร์มในฐานะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ลูกจ้าง และในกรณีของ Uber Eats ไรเดอร์ไม่ถือเป็นคู่สัญญากับ Uber Eats ด้วยซ้ำ เนื่องด้วยการทำงานของ Uber Eats ในไต้หวันใช้การจ้างเหมาช่วงกับบริษัทขนส่ง Cargo Transportation Businesses ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งถือเป็นคู่สัญญาที่แท้จริงกับไรเดอร์

จากนั้นทางการได้มีการสั่งปรับทั้งสามแพลตฟอร์มที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้เป็นไปตามกฎหมายมาตรฐานแรงงานของไต้หวัน รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ ที่มีผลเกี่ยวเนื่องกับแรงงาน เช่น กฎหมายบำนาญของลูกจ้าง โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Uber Eats ได้ฟ้องกลับโดยอ้างว่า Uber Eats ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับไรเดอร์จึงไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย 

ปัจจุบันไรเดอร์ในไต้หวันบางส่วนยังไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นแรงงานตามกฎหมายหรือเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม จึงยังไม่ได้รับสวัสดิการตามกฎหมาย ในขณะที่แพลตฟอร์มเองก็อ้างว่าแม้ไรเดอร์มีฐานะเพียงคู่สัญญาหรือพาร์ทเนอร์เท่านั้น แต่แพลตฟอร์มก็มีสวัสดิการ เช่น ประกันอุบัติเหตุให้แล้ว ซึ่งหากไรเดอร์ได้รับการรับรองว่าเป็นแรงงานตามกฎหมาย แพลตฟอร์มจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินสมทบประกันสังคม เงินสมทบบำนาญลูกจ้าง และอื่นๆ ที่อาจทำให้แพลตฟอร์มมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้น 

ขณะเดียวกันทางไรเดอร์เองก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป โดยบางส่วนมองว่าหากแพลตฟอร์มต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นอาจจะมีการออกกฎการทำงานใหม่และจะกระทบกับรายได้ของตัวไรเดอร์เองด้วย และกลัวว่าหากเป็นแรงงานตามกฎหมายอาจจะถูกจำกัดชั่วโมงทำงานซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้อีกด้วย 

ในส่วนของประเทศที่ไรเดอร์ได้รับการรับรองสถานะการเป็นลูกจ้างตามกฎหมายหรือจากแพลตฟอร์ม ได้แก่ สเปน เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส เป็นต้น

สเปน

ในกรณีของสเปนนั้น จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงมาจากการประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิตในปี 2019 ของ Pujan Koirala ไรเดอร์ของแพลตฟอร์ม Glovo โดยที่เขาไม่ได้รับการช่วยเหลือจากแพลตฟอร์ม จนทำให้ไรเดอร์ของ Glovo รวมตัวกันประท้วงกลางเมืองบาร์เซโลนา แม้ในครั้งนั้นแพลตฟอร์ม Glovo จะชนะคดี แต่ต่อมาอดีตไรเดอร์ของ Glovo ก็ได้ฟ้องร้องแพลตฟอร์มอีกครั้ง โดยอ้างว่าตัวเองเข้าข่ายความสัมพันธ์ลูกจ้าง-นายจ้าง ก่อนที่ศาลจะตัดสินว่าไรเดอร์เป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์มในปี 2020 

ต่อมาในปี 2021รัฐบาลสเปนได้ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยไรเดอร์หลังตระหนักถึงความสำคัญของกลุ่ม Gig Worker โดยไรเดอร์จะได้รับการพิจารณาเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด สเปนจึงถือเป็นประเทศแรกที่บุกเบิกกฎหมายว่าด้วยไรเดอร์ และประกันสิทธิแรงงานของไรเดอร์ ในยุโรป

เนเธอร์แลนด์

กรณีของประเทศเนเธอร์แลนด์ ศาลมีคำตัดสินว่าไรเดอร์เป็นลูกจ้าง ไม่ใช่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Self-employed) เมื่อช่วงต้นปี 2021 หลังทางแพลตฟอร์ม Deliveroo เปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างของไรเดอร์ทั้งหมดจากการจ้างเป็นลูกจ้างประจำเป็นสัญญาจ้างฟรีแลนซ์ในปี 2018 โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้อิสระในการเลือกงานและเวลาทำงานกับไรเดอร์ในฐานะพาร์ทเนอร์ของแพลตฟอร์ม

ฝรั่งเศส

ส่วนในกรณีของฝรั่งเศสนั้น แม้ไรเดอร์จะมีสถานะเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย แต่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะ หลังศาลตัดสินให้ไรเดอร์ของ Take Eat Easy และ Deliveroo เข้าข่ายเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์มตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ โดยศาลมองว่าการที่แพลตฟอร์มมีอำนาจในการควบคุมไรเดอร์ ทั้งการควบคุมโบนัสของไรเดอร์ และระบบลงโทษของแพลตฟอร์ม รวมไปถึงการติดตามจีพีเอส เพื่อตรวจสอบไรเดอร์แบบเรียลไทม์ เข้าข่ายลักษณะการเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

จีน

ประเทศจีนไม่ได้รับรองสถานภาพทางกฎหมายให้กับไรเดอร์ แต่บางแพลตฟอร์มรับรองไรเดอร์เป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม Ele.me และ Meituan จะแบ่งไรเดอร์เป็น 2 แบบ แบบแรกคือไรเดอร์อย่างเป็นทางการที่จะรับผิดชอบกับบริการส่งแบบพิเศษ ซึ่งจะทำงานเต็มเวลา มีเวลาเข้าออกชัดเจน ส่งอาหารตรงเวลา และต้องปฏิบัติตามกฎของแพลตฟอร์มอย่างเคร่งครัด โดยไรเดอร์ในลักษณะการจ้างนี้จะได้รับเงินเดือน มีประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แบบที่ 2 คือ ‘Crowdsourcing’ หรือไรเดอร์แบบพาร์ทไทม์ ซึ่งสามารถเริ่มงานได้ทันทีหลังลงทะเบียนยืนยันตัวตนกับแพลตฟอร์ม โดยค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับออเดอร์ที่รับ หากปฏิบัติตามกฎของแพลตฟอร์ม และส่งออเดอร์ตามเวลา ไรเดอร์จึงจะได้สิทธิเซ็นสัญญาจ้างกับแพลตฟอร์มเป็นไรเดอร์อย่างเป็นทางการ

สหภาพแรงงาน พลังชนชั้นแรงงาน

สหภาพแรงงานเป็นเหมือนอำนาจต่อรองที่มีพลังของไรเดอร์ หากจะต่อสู้และเรียกร้องสิทธิของพวกเขาตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยประเทศที่ให้สถานะไรเดอร์เป็นลูกจ้างตามกฎหมาย เช่น สเปน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ไรเดอร์สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ในขณะที่บางประเทศไรเดอร์สามารถเข้าร่วมสหภาพแรงงานอื่นๆ ได้ และก็มีอีกหลายประเทศที่มีความพยายามที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานไรเดอร์

ในกรณีของเกาหลีใต้ การได้มาซึ่งการจัดตั้งสหภาพแรงงานตามกฎหมาย (เฉพาะในกรุงโซล) ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะคุ้มครองไรเดอร์ หรือไรเดอร์ยังไม่ได้รับสถานะการเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย สหภาพแรงงานไรเดอร์เกิดจากการรวมตัวกันก่อนโดยที่กฎหมายยังไม่ได้รับรอง และเมื่อสหภาพแรงงานไรเดอร์ได้รับการรับรองทางกฎหมายแล้ว สหภาพจึงไปต่อรองกับแพลตฟอร์มจนทำให้แพลตฟอร์มรับรองสถานะการเป็นลูกจ้างของไรเดอร์ จะเห็นได้ว่าในกรณีนี้สหภาพแรงงานคือแรงขับเคลื่อนในการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิของไรเดอร์ที่มีอำนาจในการต่อรองสูงและประสบความสำเร็จ แม้ว่าปัจจุบันจะบังคับใช้เพียงในเขตกรุงโซลก็ตาม 

นอกจากนี้ยังมีสหภาพแรงงานบางประเภทที่รับไรเดอร์เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพ แม้ไรเดอร์จะยังไม่ได้มีสถานภาพเป็นแรงงานตามกฎหมายก็ตาม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานคมนาคม หรือกลุ่มสหภาพแรงงานอิสระที่เปิดรับเป็นสมาชิก เช่นกรณีของสหราชอาณาจักร ถึงแม้ไรเดอร์จะไม่ได้มีสถานะเป็นแรงงานหลังมีการตัดสินคดี Deliveroo ที่ตัดสินว่าไรเดอร์เป็นคู่สัญญาอิสระ (Independent Contractor) ไม่ใช่ลูกจ้าง แต่ไรเดอร์ยังสามารถเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานได้ โดยในกรณีนี้คือสหภาพแรงงานอิสระแห่งบริเตนใหญ่ (IWGB)

หรือในบางประเทศที่แม้ไรเดอร์จะยังไม่มีสถานะการเป็นลูกจ้างตามกฎหมายและยังไม่มีกฎหมายเฉพาะคุ้มครอง แต่ก็สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ตามกฎหมาย เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองให้แรงงานฟรีแลนซ์สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เมื่อปี 2020 ไรเดอร์จำนวนหนึ่งจาก Uber Eats ก็ได้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน UbeaEats ขึ้น พร้อมประกาศรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติม

หรือในนอร์เวย์ ที่อนุญาตให้ไรเดอร์ก่อตั้งหรือเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับสหภาพแรงงานได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยช่วงปี 2019 สหภาพ Fellesforbundet ในนอร์เวย์ หยุดงานประท้วงติดต่อกันราว 5 สัปดาห์ เพื่อต่อรองกับ Foodora จนในที่สุดก็สามารถบรรลุข้อตกลงสภาพการจ้าง ทั้งเรื่องค่าจ้าง และสวัสดิการอื่นๆ เช่น เงินช่วยเหลือช่วงฤดูหนาว ค่าชดเชยอุปกรณ์ในการทำงาน นับเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของสหภาพแรงงานในนอร์เวย์ โดยทางสหภาพ Fellesforbundet หวังว่าในอนาคตจะใช้ข้อตกลงกับ Foodora เป็นต้นแบบในการต่อรองกับแพลตฟอร์มอื่นๆ

ในกรณีของสหรัฐอเมริกา Los Deliveristas Unidos สหภาพไรเดอร์ละติน ออกมาเรียกร้องต่อ Doordash เพื่ออนุญาตให้ไรเดอร์สามารถเข้าใช้ห้องน้ำในร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์ได้ ก่อนที่ทาง Doordash จะปรับให้ร้านอาหารจำนวน 200 แห่ง สามารถให้ไรเดอร์เข้าไปใช้บริการห้องน้ำได้ แม้จำนวนร้านที่อนุญาตจะน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนร้านที่เป็นพาร์ทเนอร์กว่า 4,911 แห่ง แต่ก็ถือเป็นผลจากอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงาน

และเมื่อ 22 เมษายน 2021 ที่ผ่านมา ทาง Los Deliverista Unidos ก็ได้ออกมาเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรมให้กับไรเดอร์ และขอให้ภาครัฐคุ้มครองไรเดอร์ โดยทางรัฐนิวยอร์กได้รับข้อเสนอและดำเนินการร่างกฎหมายเกี่ยวกับ Gig Worker และต่อมาเมื่อ 27 พฤษภาคม 2021 Los Deliveristas Unidos ออกมาประท้วงอีกครั้งหลังร่างกฎหมายในสภานิติบัญญัติของนิวยอร์กเอื้อประโยชน์ให้กับแพลตฟอร์ม และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการกดขี่จากแพลตฟอร์ม หรือปรับให้ไรเดอร์เป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม ซึ่งทางรัฐได้แก้และผ่านร่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา

ขณะที่ไรเดอร์ในจีน ไทย ไต้หวัน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ยังไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เนื่องจากไรเดอร์ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ แต่ก็มีความเคลื่อนไหวพยายามที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานสำหรับไรเดอร์

ในกรณีของไต้หวัน นอกจากจะมีความพยายามในการให้ไรเดอร์ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในฐานะลูกจ้างของแพลตฟอร์มแล้ว ยังมีความพยายามในการจัดตั้งสหภาพแรงงานไรเดอร์อีกด้วย เพื่อที่จะใช้เป็นพลังในการต่อรองกับแพลตฟอร์ม อย่างในกรณีล่าสุด Uber Eats และ ทั้ง Foodpanda ปรับกฎเกณฑ์รายได้ในการทำงานใหม่จากการคิดแบบรอบมาเป็นคิดจากระยะทาง ทำให้รายได้ของไรเดอร์ลดลงจนเกิดการชุมนุมประท้วงของไรเดอร์ โดยในการประท้วงครั้งนี้มีการเสนอให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานแห่งชาติ เพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบของแพลตฟอร์มที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นการยาก เพราะนับตั้งแต่ไต้หวันอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมาอย่างยาวนานที่เพิ่งสิ้นสุดลงในปี 1987 มีสหภาพแรงงานทั่วประเทศจัดตั้งขึ้นได้เพียง 1 สหภาพเท่านั้น ส่วนสหภาพแรงงานที่สองที่เกิดขึ้นก็คือ Taiwan Confederation of Trade Unions จัดตั้งในปี 2000 และอาชีพครูเพิ่งจะได้รับการอนุญาตให้เข้าร่วมสภาพแรงงานได้ในปี 2010 นี่เอง ขณะที่ในระดับท้องถิ่นของไต้หวันมีสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมท้องถิ่นอยู่แล้วประมาณครึ่งหนึ่งของเขตปกครองท้องถิ่นของไต้หวัน 

อิสระในหน้าที่การงานที่แลกด้วยสวัสดิการอันว่างเปล่า

ในประเทศที่ไรเดอร์ได้รับการรับรองสถานะการเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น สเปน ฝรั่งเศส หรือเนเธอร์แลนด์ ก็จะทำให้ไรเดอร์ได้รับสวัสดิการพื้นฐานตามกฎหมายแรงงาน เช่น ค่าจ้างพื้นฐาน ประกันสังคม ประกันรายได้ เงินบำนาญหลังเกษียณ เป็นต้น

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีบางประเทศที่ไรเดอร์มีทั้งแบบที่ได้รับสวัสดิการจากรัฐจากการที่แพลตฟอร์มรับรองสถานะเป็นลูกจ้าง แม้ยังไม่มีกฎหมายรับรองสถานะการเป็นลูกจ้างของไรเดอร์โดยตรง และแบบที่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะโดยกฎหมายและแพลตฟอร์ม อย่างประเทศจีน 

ในส่วนของประเทศจีน ซึ่งมีความซับซ้อนของของสถานะของไรเดอร์ กล่าวคือมีทั้งในแบบที่แพลตฟอร์มรับรองสถานะให้เป็นลูกจ้าง และแบบที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม ประกอบกับการที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะคุ้มครอง ทำให้ไรเดอร์บางส่วนในจีนประสบปัญหาอยู่บ่อยครั้งทั้งการไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ได้รับสวัสดิการจากกฎหมายและแพลตฟอร์ม หรือการถูกเอารัดเอาเปรียบเช่น ถูกกดค่าแรงจากแพลตฟอร์มเพื่อให้ค่าส่งอาหารถูกลง 

เว็บไซต์ China Labour Bulletin ชี้ว่าในปี 2019 มีการหยุดงานประท้วง 45 ครั้งซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี รวมมากกว่า 136 ครั้ง การประท้วงบางครั้งก็ประสบความสำเร็จ อย่างกรณีที่ไรเดอร์ในจีนได้ระบบจีพีเอสแบบใหม่ ก็มาจากการร้องเรียนถึงประสิทธิภาพของจีพีเอสที่ไม่เสถียรและคลาดเคลื่อน จนมีผลกับการส่งอาหารที่ทำให้ไรเดอร์สูญเสียรายได้และถูกพักงานจากความผิดพลาดของจีพีเอสตัวเก่าของแพลตฟอร์มเอง นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงแนวคิดในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน – สหพันธ์สหภาพแรงงานจีน (ACFTU) เพื่อแก้ปัญหานี้อีกด้วย 

ในส่วนของเกาหลีใต้ที่ไรเดอร์ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายเฉพาะในกรุงโซลเท่านั้น ไรเดอร์ส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุ มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจก็คือ ไรเดอร์เด็กชายวัยมัธยมที่ทำงานส่งอาหารเป็นอาชีพเสริม ในระหว่างทางไปส่งอาหารเขาประสบอุบัติเหตุเพราะมีคนข้ามทางม้าลายในขณะที่มีสัญญาณห้ามเดินข้าม จากอุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้เขาพิการเป็นอัมพาตท่อนล่าง 

โดยกรมสวัสดิการแรงงานเกาหลีใต้ อนุมัติจ่ายค่าชดเชยให้ไรเดอร์วัยนักเรียนจากอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นเงิน 50 ล้านวอน โดยเรียกเก็บจากแพลตฟอร์มที่เขาทำงานรับส่งอาหารในครั้งนั้น 25 ล้านวอน แต่แพลตฟอร์มปฏิเสธที่จะจ่ายและฟ้องกลับโดยอ้างว่าไรเดอร์ไม่ได้เป็นลูกจ้างตามกฎหมาย อีกทั้งเงินที่ไรเดอร์ได้จากการส่งอาหารมาจากร้านอาหารไม่ใช่แพลตฟอร์ม 

โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นตามแพลตฟอร์ม ซึ่งมีผลให้แพลตฟอร์มไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไรเดอร์คนนี้ต้องคืนเงินทั้งหมดรวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลแก่รัฐ แต่เมื่อเรื่องถึงศาลฎีกา ศาลฎีกากลับคำพิพากษาโดยให้เห็นผลว่าแม้ไรเดอร์จะไม่ใช่แรงงานตามกฎหมายที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานมาตรฐานของเกาหลีใต้ แต่ก็ถือเป็นแรงงานพิเศษที่ได้รับการยกเว้นหนึ่งในเก้าประเภทเช่นเดียวกันกับแรงงานบริการขนส่ง ที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองและได้รับค่าชดเชยจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในการทำงาน

ส่วนในประเทศที่ไรเดอร์ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย ก็จะไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน มีเพียงสวัสดิการที่ทางแพลตฟอร์มมีให้ซึ่งก็แตกต่างกันไป เช่น ในไต้หวัน แพลตฟอร์ม Foodpanda กล่าวอ้างว่ามีสวัสดิการประกันอุบัติเหตุที่ดีกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ในประเทศ โดยกรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมทั้ง พ.ร.บ.ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ความคุ้มครองผู้ประกอบการที่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง รวมไปถึงการสูญเสียของบุคคลที่สามที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุอีกด้วย 

แต่ถึงอย่างนั้น จากกรณีที่กระทรวงแรงงานไต้หวันประกาศให้ไรเดอร์เข้าข่ายลูกจ้างตามนิยามของกฎหมายมาตรฐานแรงงาน ในปี 2019 ซึ่งทำให้แพลตฟอร์มที่ยังไม่ได้รับรองสถานะการเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์มแก่ไรเดอร์ต้องปฏิบัติตาม โดยในขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการฟ้องร้องกันระหว่างแพลตฟอร์มและองค์กรรัฐ ก็มีแนวความคิดของแพลตฟอร์มในการนำเสนอ ‘สวัสดิการพิเศษต่างๆ’ ที่มากไปกว่าที่มีอยู่ให้แก่ไรเดอร์ เพื่อทดแทนการที่แพลตฟอร์มจะต้องให้การรับรองไรเดอร์ในสถานะลูกจ้างแพลตฟอร์ม 

นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ที่ไรเดอร์ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม ยังพบว่าสวัสดิการที่แพลตฟอร์มมีให้กับไรเดอร์ในฐานะพาร์ทเนอร์นั้น ส่วนใหญ่เป็นเพียงข้อเสนอพิเศษมากกว่าจะเป็นสวัสดิการ เช่น ข้อเสนอประกันอุบัติเหตุในราคาพิเศษ โบนัสตามคุณภาพการทำงานในแต่ละออเดอร์

จากการศึกษาข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่าสวัสดิการส่วนใหญ่ที่ทางแพลตฟอร์มจะจัดหาให้จะเป็นประกันอุบัติเหตุ โดยมีในจีน ไต้หวัน ไทย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ สเปน และฝรั่งเศส 

ประกันสุขภาพ ได้แก่ จีน ไต้หวัน ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ สเปน และฝรั่งเศส

ประกันรายได้ขั้นต่ำ ได้แก่ จีน (เฉพาะไรเดอร์ที่บริการส่งแบบพิเศษ) สหราชอาณาจักร (บางแพลตฟอร์ม) และสเปน และเงินชดเชยรายได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ มีเพียงสเปนเท่านั้นที่ระบุว่าทางแพลตฟอร์มจะต้องให้เงินชดเชยรายได้ให้กับไรเดอร์ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

นอกจากสวัสดิการที่กล่าวมาข้างต้น ทางแพลตฟอร์มในบางประเทศมีสวัสดิการให้เปล่าเฉพาะในพื้นที่ให้บริการ เช่น ในพื้นที่ให้บริการของ Deliveroo ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ไรเดอร์จะได้ประกันอุบัตเหตุที่ครอบคลุมเฉพาะเวลางาน ชุดยูนิฟอร์ม หมวกนิรภัย กระเป๋า และแท่นวางโทรศัพท์มือถือ หากอุปกรณ์มีความเสียหายสามารถสั่งซื้อได้ในราคาพิเศษ นอกจากนี้ยังจัดตั้งกองทุน The Thank you ช่วยเหลือไรเดอร์ของ Deliveroo ทั่วโลก โดยไรเดอร์กว่า 36,000 คนจะสามารถได้รับเงินสูงสุดราว 460,000 บาท

หรือในกรณีของบางแพลตฟอร์มที่จะมอบสิทธิเข้าถึงสวัสดิการผ่านระบบ Reward และการเลื่อนขั้น เช่น Grab ที่เปิดให้บริการในสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์ ได้ใช้ระบบ Reward เพื่อให้ไรเดอร์พัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสิทธิ์การเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของแพลตฟอร์ม เช่น ค่าน้ำมัน ประกันอุบัติเหตุ ส่วนลดร้านค้า และอุปกรณ์ของไรเดอร์

ทางฝั่งของสหรัฐอเมริกา Uber, DoorDash และแพลตฟอร์มอื่นๆ กำลังหารือจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยไรเดอร์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อต้นปี 2020 หลังไรเดอร์จำนวนไม่น้อยในซานฟรานซิสโกไม่สามารถออกไปรับงานได้เนื่องจากติดปัญหาทางสาธารณสุข แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทางแพลตฟอร์มดำเนินการเรื่องนี้ช้าเกินไปก็ตาม

ในเรื่องสวัสดิการ มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจอีกกรณีคือในประเทศอินเดียที่มีอัตราการว่างงานสูงและประชาชนมีฐานะยากจน การที่ไรเดอร์มีสถานะเป็นเพียงพาร์ทเนอร์ ทำให้ผู้ที่จะมาทำงานเป็นไรเดอร์ในอินเดียต้องกู้เงินและเป็นหนี้ เพื่อไปซื้อยานพาหนะ หรือโทรศัพท์มือถือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ไม่มีหลักประกันการทำงานว่าหากพวกเขาประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจนขาดรายได้ จะทำอย่างไรกับหนี้สินเหล่านี้

สถานการณ์ที่เริ่มเปลี่ยน ประเทศไทยอยู่จุดไหนของการเปลี่ยนแปลง

การเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่รวดเร็วไปกว่ากฎหมายที่จะนำมาใช้กำกับเพื่อให้เกิดยุติธรรมต่อกลุ่มคนที่ทำงานให้แพลตฟอร์ม ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในการเรียกร้องสิทธิและความคุ้มครองทางกฎหมายในหลายประเทศทั่วโลก จากข้อมูลที่ได้นำเสนอไปข้างต้น ดูเหมือนว่าแนวโน้มที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในทางเดียวกัน คือไรเดอร์ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายในฐานะลูกจ้างของแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะได้มาด้วยการที่ทางหน่วยงานของรัฐออกกฎหมายพิเศษมาเพื่อกำกับดูแลแพลตฟอร์มและเหล่าแรงงาน Gig Worker หรือเกิดจากการรวมตัวกันประท้วง หรือยื่นเรื่องฟ้องศาลจนเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของสเปน หรือเกาหลีใต้ 

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ไรเดอร์มีสถานะเป็นเพียงพาร์ทเนอร์ของแพลตฟอร์ม ไม่ถือเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด โดยสวัสดิการตามกฎหมาย เช่น น้ำ ห้องน้ำ อุปกรณ์ปฐมพยาบาล การเข้ารับการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาล และสวัสดิการนอกเหนือกฎหมาย เช่น เงินบำเหน็จ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าล่วงเวลา ประกันชีวิต หรือยูนิฟอร์ม เป็นต้น

เมื่อพิจารณาในส่วนของสวัสดิการจากแพลตฟอร์มขนส่งอาหารในประเทศไทย พบว่าจะขึ้นอยู่กับระบบ Rewards ของแพลตฟอร์ม หรือเงื่อนไขที่ทางแพลตฟอร์มกำหนด เช่น ระบบของ GrabBenefit ซึ่งไรเดอร์ทุกคนจะได้รับประกันอุบัติเหตุ ซึ่งทางแพลตฟอร์มกำหนดหลักเกณฑ์โดยปรากฏในเว็บว่า มีผลเฉพาะในระหว่างเปิดรอรับงาน หรือระหว่างการรับงาน หรือหลังปิดรับงานภายใน 30 นาที แต่จะไม่คุ้มครองกรณีไรเดอร์ตั้งใจเกิดความบาดเจ็บ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับการจลาจล ม็อบ และการต่อสู้กัน ไรเดอร์ในระดับ ‘ซิลเวอร์’ ขึ้นไป ซึ่งต้องทำจำนวนรอบการขับถึง 80 รอบ/เดือน และต้องมีคะแนนดาวไม่น้อยกว่า 4.7 ถึงจะสามารถเข้าถึงสิทธิ์ประโยชน์ทั้งหมดของ Grab โดยไรเดอร์ระดับ ‘ฮีโร่’ ต้องทำจำนวนรอบมากถึง 500 รอบต่อเดือนในกรุงเทพฯ หรือ 450 – 600 รอบต่อเดือนในต่างจังหวัด ถึงจะได้รับวงเงินสูงสุดในการผ่อนสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่ไรเดอร์ในระดับเมมเบอร์จะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการเงินได้

ในขณะที่ Foodpanda จะมีประกันจักรยานยนต์และประกันอุบัติเหตุให้ แต่มีข้อแม้ว่าไรเดอร์จะต้องทำงานต่อเนื่อง 6 เดือนขึ้นไป ตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาต้องส่งออเดอร์อย่างน้อย 160 ออเดอร์ขึ้นไป ขาดงานน้อยกว่า 6 กะการทำงาน และหากเคยได้รับสิทธิแล้ว จะไม่สามารถรับได้อีกจนกว่าจะทำตามเงื่อนไขที่แพลตฟอร์มได้กำหนดไว้ข้างต้นครบ 

ส่วนทาง LINE MAN จะมีระดับยศ Pro+ Pro และ Basic โดยไรเดอร์ระดับ Pro+ และ Pro จะสามารถเข้าถึงประกันอุบัติเหตุได้ฟรี ส่วนลดจากบริการ BikeMan และ Pro+ สามารถเข้าถึงประกันจักรยานยนต์ และทั้ง 3 ระดับจะได้รับประกันโควิด-19 ฟรีซึ่งคุ้มครองนาน 60 วัน ในขณะที่ Pro และ Basic สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์เหล่านี้ในราคาพิเศษเท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องลงทะเบียนทุกเดือน รับส่งอาหารขั้นต่ำตามที่กำหนดในพื้นที่ ไม่มีพฤติกรรมทุจริตแล้ว ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เป็นไปตามที่บริษัทกำหนดซึ่งบางครั้งในบางแพลตฟอร์มจะเปลี่ยนเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้ง

ไม่เพียงแค่เรื่องสวัสดิการเท่านั้น ยังเกิดปัญหาอื่นๆ ในการทำงานระหว่างไรเดอร์กับแพลตฟอร์ม โดยในตลอดช่วงปี 2020-2021 มีการชุมนุมประท้วงของไรเดอร์เกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น การประท้วงของ Grab ในปี 2020 ทั้งในกรุงเทพฯ และพัทยาเรียกร้องให้บริษัทแก้ไข ปรับปรุงกติกาที่ไม่เป็นธรรม หรือในกรณีของการลดค่ารอบของ LINE MAN ที่สร้างความไม่พอใจให้กับไรเดอร์ ตั้งแต่การปรับลดค่ารอบในกรุงเทพฯ เมื่อมีนาคม 2021 โดยไรเดอร์ขอให้กลับไปใช้ค่ารอบเดิมคือ 62 บาท และให้แพลตฟอร์มทบทวนนโยบายต่างๆ ของแพลตฟอร์ม ต่อมาเมื่อเดือนต้นมิถุนายน ไรเดอร์ในต่างจังหวัดมีการนัดหยุดงานประท้วง เช่น LINE MAN หลังแพลตฟอร์มประกาสปรับลดค่ารอบจาก 40 บาท เหลือเพียงขั้นต่ำ 16 – 24 บาท ในขณะที่ค่ารอบในกรุงเทพฯ ยังคงเป็น 50 บาท โดยขอให้มีการปรับไปใช้ค่ารอบเดิม หรือปรับให้ค่ารอบทุกพื้นที่เท่ากัน 

หรือในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2021 ไรเดอร์ของ Foodpanda ในเชียงใหม่ออกมาประท้วงและร้องเรียนหน้าสำนักงาน Foodpanda เชียงใหม่และศูนย์ดำรงธรรม หลังถูกแพลตฟอร์มลดค่ารอบ โดยขอให้ทางแพลตฟอร์มปรับไปใช้ค่ารอบแบบเดิม แต่ทั้งหมดเป็นการรวมกลุ่มกันเองของเหล่าไรเดอร์เพื่อเรียกร้องต่อแพลตฟอร์ม เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะคุ้มครองไรเดอร์และยังไม่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานไรเดอร์เพื่อต่อรองกับแพลตฟอร์มได้ 

อย่างไรก็ตาม ในด้านความเคลื่อนไหนทางกฎหมาย พบว่ามี ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบแห่งชาติ’ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2018 โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยมีสาระสำคัญ เพื่อช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ยังไม่สามารถเข้าสิทธิพื้นฐานในการทำงาน ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันสุขภาพ และการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจในการเรียกร้องความเป็นธรรมของแรงงานนอกระบบ ซึ่งรวมไปถึงไรเดอร์ด้วย ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างขยายวัตถุประสงค์ของร่าง และกลุ่มอาชีพที่เข้าข่าย 

ในขณะที่กลุ่มไรเดอร์เองก็มีการเคลื่อนไหวทางด้านกฎหมายเช่นเดียวกัน อย่างในกรณี ‘กลุ่ม ‘ไรเดอร์’ นำโดยนายพรเทพ ชัชวาลอมกุล ซึ่งได้เข้ายื่นหนังสือกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เมื่อปลายปี 2020 โดยเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิสวัสดิการของแรงงานแพลตฟอร์มที่ยังไม่ได้รับการดูแลและคุ้มครองอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะในทางกฎหมาย แต่ปัจจุบันยังคงไม่มีความคืบหน้า

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังคงไม่มีความก้าวหน้าทางการใช้กฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้คุ้มครองและครอบคลุมถึงสิทธิและสวัสดิการของไรเดอร์ว่าเป็นเพราะประเทศไทยขาด 3 สิ่งดังต่อไปนี้

“ต้องบอกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต่างประเทศมี แต่เราไม่มีเลย ประการแรก คือ ความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน กล่าวคือในประเทศไทย แรงงานยังขาดสำนึกทางชนชั้นแรงงาน สำนึกของความเป็นแรงงานแบบเดียวกัน เพราะกระบวนการแรงงานถูกทำให้อ่อนแอลงนับตั้งแต่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งไม่ได้มีผลบังคับใช้กับแรงงานทุกประเภท โดยแรงงานขององค์กรกึ่งรัฐจะถูกบังคับใช้ด้วยกฎหมายอีกฉบับ ซึ่งการแยกกันแบบนี้ ทำให้ความเข้มข้นของการรวมตัวลดลง ไม่มีสำนึกของการรวมตัวกัน 

“ประการที่สอง ภาครัฐที่บังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยเป็นแบบตั้งรับ ถ้ามีคนมาร้องเรียน ถึงจะ Take Action ค่อยไปทำ แต่ในต่างประเทศ ถ้ามีปัญหาก็จะแก้ไขเลย รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นตัวแทนในการฟ้องร้องบริษัท หรือมีฝ่ายกำกับดูแลคอยรักษาสิทธิประโยชน์ของแรงงาน 

“ประการที่สาม กฎหมายที่รวดเร็ว แน่นอนว่าทุกอย่างมีพลวัต สำหรับประเทศไทยถ้าเกิดมีการแก้กฎหมาย หรือออกกฎหมายใหม่ กระบวนการในการแก้ไขหรือบังคับใช้ไม่รวดเร็ว”

ประเด็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานไรเดอร์ในประเทศไทย จึงกลายเป็นเพียงประเด็นข่าวการประท้วงตามวาระเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่มีความก้าวหน้าจากทางภาครัฐว่ามีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร และจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร แม้ว่าความเคลื่อนไหวในระดับโลกจะมีแนวโน้มว่ารัฐมุ่งคุ้มครองสิทธิของไรเดอร์มากขึ้นก็ตาม

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
Rocket Media Lab: ไรเดอร์ไทย เป็นอยู่ยังไง อยากได้อะไรบ้าง

 

เกี่ยวกับ Rocket Media Lab

Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว

เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล

Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์

Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564

https://rocketmedialab.co
https://www.facebook.com/rocketmedialab.co
https://twitter.com/rocketmedialab
contact.rocketmedialab@gmail.com

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: