Rocket Media Lab: ทำไมน้ำประปาไทยถึง(ยัง)ดื่มไม่ได้

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 3591 ครั้ง


'Rocket Media Lab' รวบรวมข้อมูล "ทำไมน้ำประปาไทยถึง(ยัง)ดื่มไม่ได้?" ชี้ปัจจัยที่ทำให้น้ำประปาสะอาดและดื่มได้ ไม่ใช่แค่เรื่องความสะอาดของท่อ แต่แรงดันน้ำก็มีผล

ช่วงปลายเดือน พ.ค. 2564 Rocket Media Lab รายงานว่าแม้จะมีการประชาสัมพันธ์โดยการประปานครหลวงเอง ว่าน้ำประปานั้นสะอาดและดื่มได้ มีการควบคุมคุณภาพน้ำทุกขั้นตอน เพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชากร แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องปรับปรุงระบบท่อ และการซ่อมท่อให้ได้มาตรฐาน เพื่อคงคุณภาพน้ำประปาปลายทาง รวมไปถึงงานวิจัย Evolution on the Quality of Bangkok Tap Water with Other Drinking Purpose Water จากการประปาเองที่ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำจากสองพันกว่าจุดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าน้ำประปานั้นสะอาด ปลอดภัย และดื่มได้

แต่ปัจจัยที่ทำให้ระบบท่อนั้นเป็นที่หวั่นเกรงว่ายังคงไม่สะอาดเพียงพอ ไม่ใช่แค่ความไม่สะอาดของท่อลำเลียงเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยมาจากแรงดันน้ำที่ต่ำอีกด้วย รวมไปถึงการที่ประชาชนต้องใช้ระบบปั๊มน้ำและถังพักน้ำ อันเนื่องมาจากแรงดันน้ำต่ำ ซึ่งทำให้คุณภาพของน้ำแย่ลงและอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนจนไม่สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัยถึงแม้ว่าน้ำประปาต้นทางจะได้รับการการันตีว่าสะอาดปลอดภัย ดื่มได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกก็ตาม

แรงดันน้ำเกี่ยวข้องอะไรกับน้ำสะอาด

ดร. จิรเมธ ช้างคล่อม ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายไว้ว่า “ระบบประปาคือระบบที่มีน้ำไหลผ่านท่อตลอดเวลา เพราะฉะนั้น หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อที่สกปรกจะถูกชะล้างและกระจายออกไปจนถือว่าไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ซึ่งหากดูจากท่อประปาในหลายๆ ประเทศที่มีความเก่าแก่นับร้อยปี ก็จะพบว่าคุณภาพน้ำยังเป็นน้ำประปาที่สามารถดื่มได้ แม้จะมีสภาพท่อที่ย่ำแย่ก็ตาม”

นอกจากนั้น เนื่องจากระบบประปาเป็นระบบที่มีการรั่วซึม แรงดันน้ำจึงเป็นตัวช่วยที่จะคอยดันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมจากภายนอกท่อซึมเข้าสู่ภายในท่อเรื่อยๆ

ประเทศที่น้ำประปาดื่มได้จะมีการการันตีแรงดันขั้นต่ำ โดยมีหน่วยวัดเป็นบาร์ หรือ psi (ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) กล่าวโดยง่ายคือ แรงดันขั้นต่ำจะบ่งบอกว่าน้ำที่เปิดโดยระบบประปานั้นจะสามารถพุ่งขึ้นไปในแนวตั้งได้กี่เมตร อันเป็นค่ามาตรฐานในประเทศนั้นๆ ที่กำหนดมาเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของน้ำว่าสะอาดและดื่มได้ เพราะแรงดันที่สูงจะช่วยชะล้างและดันสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ไม่ให้เข้ามาภายในท่อได้

ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกามีการตั้ง ‘แรงดันขั้นต่ำในทุกกรณี’ อยู่ที่ 14 เมตร หากต่ำกว่า 14 เมตร ทางการจะแนะนำให้ต้มน้ำเพื่อใช้ในการดื่มทันที และหากต่ำกว่า 3.5 เมตร จะต้องล้างน้ำประปาคงค้างให้หมดพร้อมเก็บตัวอย่างโคลิฟอร์ม (เชื้อแบคทีเรียที่ใช้บ่งชี้คุณภาพความสะอาดของน้ำ)

หรือในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ที่มีระบบประปาเป็นที่แรกๆ ซึ่งท่อลำเลียงน้ำประปาในอังกฤษที่ยังใช้งานอยู่ในปัจจุบันนั้นมีอายุร่วม 100 ปี แต่ก็ยังสามารถกำหนดค่าแรงดันขั้นต่ำและผลิตน้ำประปาที่ดื่มได้ได้ โดยในอังกฤษและเวลส์อยู่ที่ 10-14 เมตร และด้วยการเป็นประเทศที่น้ำประปาดื่มได้ ประชาชนจึงสามารถขอน้ำดื่มฟรีได้จากร้านอาหาร ดังนั้นอังกฤษจึงมีความเข้มงวดในการกำหนดค่าแรงดันขั้นต่ำอย่างมากเพื่อให้น้ำมีคุณภาพที่ดี สะอาดและปลอดภัย และหากพบว่ามีจุดใดในระบบที่มีแรงดันต่ำกว่าแรงดันขั้นต่ำ ผู้ให้บริการจ่ายน้ำจะต้องถูกปรับเป็นเงินจำนวนสูงมาก (อังกฤษให้บริษัทเอกชนเป็นผู้บริหารจัดการน้ำประปาโดยที่รัฐเป็นฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ)

ทำไมไทยถึงมีน้ำประปาแรงดันต่ำ

สำหรับประเทศไทยนั้น การพิจารณาแรงดันน้ำในเส้นท่อของการประปานครหลวง จะพิจารณาจากปริมาณความต้องการน้ำในแต่ละช่วงเวลาของแต่ละพื้นที่ให้บริการ แล้วสร้างเป็น Pressure Trend Curve เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจ่ายน้ำให้มีแรงดันที่เหมาะสมตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการควบคุมแรงดันน้ำที่ตำแหน่งปลายเส้นท่อประธานต้องไม่ต่ำกว่า 6 เมตร ในขณะที่แรงดันน้ำในท่อจ่าย ซึ่งจะเชื่อมต่อกับท่อบริการเข้าไปยังสถานที่ใช้น้ำ ก็จะลดลงไปตามระยะทางในการไหลของน้ำเนื่องจากการสูญเสียพลังงานในเส้นท่อ โดยสุดท้ายแล้วที่ปลายท่ออาจจะลดลงไปอีก 2-3 เมตร และอาจจะต่ำลงอีกในบางพื้นที่และในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งทำให้แรงดันน้ำประปาของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ

การที่แรงดันน้ำประปาของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำก็เป็นเพราะว่าต้องการลดการสูญเสียน้ำที่เกิดจากการรั่วซึมของท่อลำเลียง (อันเกิดจากคุณภาพของท่อและการติดตั้งที่ไม่เหมาะสม) เพราะการที่น้ำมีแรงดันสูงก็จะทำให้น้ำรั่วออกไปมาก หากมีแรงดันต่ำ ปริมาณน้ำที่สูญเสียจากการรั่วก็จะน้อยลง ดังนั้นเพื่อไม่ให้มีปริมาณการสูญเสียน้ำจากการรั่วมากเกินไป จึงมีการกดแรงดันให้ต่ำลง

ปัจจุบันอัตราการสูญเสียน้ำของการประปานครหลวงอยู่ที่ประมาณ 26.76% โดยในอดีตเคยมีระดับการสูญเสียน้ำสูงถึง 40%

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะการลดแรงดันน้ำลงให้ต่ำทำให้ไม่สามารถตรวจจับสัญญาณน้ำรั่วได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อตรวจไม่พบ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาท่อส่งน้ำที่มีจุดรั่วได้ การประปาจึงใช้วิธีการลดแรงดันน้ำลงเพื่อให้สูญเสียน้ำจากน้ำรั่วน้อยที่สุด

ผลกระทบจากน้ำแรงดันต่ำ

ผลกระทบจากแรงดันน้ำที่ต่ำก็คือไม่สามารถรับรองคุณภาพน้ำที่จะทำให้ดื่มได้ เนื่องจากว่าไม่สามารถป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกท่อซึมเข้าสู่ภายในท่อได้ หรือแม้กระทั่งการชะล้างสิ่งสกปรกตกค้างภายในท่อด้วยแรงดันน้ำ รวมไปถึงการที่ประชาชนต้องใช้ระบบปั๊มน้ำและถังพักน้ำ อันเนื่องมาจากแรงดันน้ำต่ำ ซึ่งทำให้คุณภาพของน้ำแย่ลงและอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนจนไม่สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัยถึงแม้ว่าน้ำประปาต้นทางจะได้รับการการันตีว่าสะอาดปลอดภัย ดื่มได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกก็ตาม

ไม่เพียงแค่นั้น การที่น้ำมีแรงดันต่ำ ยังพ่วงมาด้วยค่าใช้จ่ายแฝงทั้งภาครัฐและประชาชนที่ต้องแบกรับ การลดแรงดันน้ำให้ต่ำเพื่อที่จะได้สูญเสียน้ำน้อยที่สุด แต่กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาท่อรั่วได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพ การที่ท่อรั่วทำให้สูญเสียพลังงานไฟฟ้าที่โรงสูบอย่างมาก เปรียบเทียบได้ว่าเราใช้พลังงานสูบน้ำเพื่อนำน้ำไปทิ้ง และพลังงานที่ใช้ไปก็หมายถึงภาระค่าใช้จ่ายของรัฐที่ตามมา

ในส่วนของประชาชนนั่นก็คือ ค่าเครื่องปั๊มน้ำ ถังพักน้ำ และค่าไฟฟ้าจากการใช้เครื่องปั๊มน้ำ หากต้องการให้ที่พักอาศัยที่มีขนาดสูงมีน้ำไหลได้อย่างดีและแรงเหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค นอกจากนั้นการพักน้ำในถังพักน้ำยังเป็นการทำให้คุณภาพน้ำแย่ลงไปอีกด้วย

นอกจากนี้ประเทศไทยยังไม่มีจุดจ่ายน้ำระหว่างจุด อีกทั้งยังมีโรงสูบน้ำน้อย เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็มีเพียงสิบกว่าโรง ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป ในประเทศที่มีการการันตีแรงดันขั้นต่ำนั้น ไม่ได้มีเฉพาะแค่โรงสูบน้ำเท่านั้น แต่ยังมีระบบบูสเตอร์ปั๊มตามจุดต่างๆ เพื่อทำให้แรงดันน้ำปลายทางสูงขึ้น แต่ไทยไม่มีระบบนี้ ในขณะที่ประเทศอังกฤษ ในพื้นที่การคำนวณเท่ากับกรุงเทพมหานคร มีบูสเตอร์ประมาณหกร้อยกว่าตัว ส่วนในประเทศไทยบูสเตอร์กลายเป็นภาระส่วนตัวของผู้ใช้น้ำประปาเอง ซึ่งก็คือการซื้อเครื่องปั๊มน้ำมาใช้ในแต่ละบ้านนั่นเอง

ดร. จิรเมธ กล่าวว่า “การประปาไม่ได้มีแค่หน้าที่ในการให้มวลน้ำเราเท่านั้น แต่ต้องให้แรงดันน้ำด้วย หลายคนอาจจะไม่รู้ตรงนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ในประเทศที่มีระบบการประปาดีต้องการันตีแรงดันขั้นต่ำได้ แต่กลับกลายเป็นว่าเรื่องแรงดันน้ำเป็นภาระส่วนตัวของประชาชนที่ต้องซื้อปั๊มน้ำมาใช้เอง

“ค่าไฟจากปั๊มน้ำในแต่ละบ้านตกอยู่ประมาณ 15-20% ของค่าน้ำในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ไม่นับว่าจะต้องจ่ายเงินซื้อน้ำดื่มอีกในกรณีที่น้ำประปาดื่มไม่ได้ สมมติว่าหากน้ำประปาดื่มได้ เราจะจ่ายค่าน้ำลูกบาศก์เมตรละ 10 บาท แต่ปัจจุบัน เราต้องซื้อน้ำดื่มดื่มเอง สมมติน้ำดื่มราคาลิตรละ 10 บาท เท่ากับว่าเรากำลังจ่ายเงินซื้อของที่แพงกว่าที่ควรจะจ่ายถึงพันเท่าเลยทีเดียว”

การแก้ปัญหาแรงดันน้ำและการสูญเสียน้ำ

ตราบใดที่การประปายังคงใช้การสูญเสียน้ำที่ต่ำเป็น KPI ในการวัดประสิทธิภาพในการทำงาน ปัญหานี้จะไม่มีทางแก้ได้อย่างแท้จริง การแก้ปัญหาจึงจำเป็นจะต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตและยอมสูญเสียน้ำในช่วงต้นเพื่อหารอยรั่วและทำการซ่อม

ดร. จิรเมธ กล่าวว่า “หากแรงดันน้ำต่ำ เราจะจับสัญญาณรอยรั่วไม่เจอ ก็จะแก้ปัญหารอยรั่วไม่ได้ การประปาจึงใช้วิธีลดแรงดันน้ำเพื่อให้สูญเสียน้ำน้อยลง การแก้ไขคือต้องอัดแรงดันน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อหาจุดรั่วให้เจอก่อน เพื่อทำการซ่อม โดยอาจจะกำหนดขอบเขตในการทำงานเป็นพื้นที่ๆ ไป เพื่อจะได้ไม่ต้องสูญเสียน้ำเยอะ เช่น รัศมี 2 กิโลเมตร

“จากนั้นก็ระดมพนักงานแก้ไขท่อรั่วทั่วทั้งกรุงเทพฯ มาช่วยกันหารอยรั่วแล้วซ่อม ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนครบพื้นที่ การแก้ปัญหานี้ แรกเลยก็คือต้องหาท่อรั่วและทำให้ท่อไม่รั่วก่อน เราถึงจะเพิ่มแรงดันน้ำ เพื่อให้น้ำสะอาดมากขึ้น แรงดันสูงขึ้นไม่ต้องใช้ปั๊มน้ำ และเพื่อก้าวไปสู่การการันตีแรงดันขั้นต่ำได้ ไม่ใช่การใช้ค่าแรงดันเฉลี่ย”

ในขณะเดียวกันนอกจากปัญหาการยึดใช้ KPI ของการสูญเสียน้ำของการประปาแล้ว โครงสร้างการทำงานของผู้ว่าการประปานครหลวง ที่มีอายุงานในตำแหน่งนี้เพียงสองปี ก็ทำให้การที่จะวางแผนแก้ไขปัญหาในการทำงานระยะยาวนั้นยากลำบาก หรือแม้กระทั่งไม่สามารถจัดการได้อย่างสมบูรณ์ในระยะเวลาเพียงสองปี ซึ่งก็อาจจะก่อให้เกิดผลเสียในทางประวัติการทำงานได้หากทำไม่สำเร็จภายในระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง การประปาจึงเลือกการรักษา KPI ของการสูญเสียน้ำโดยการลดแรงดันน้ำลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า แต่เป็นหนทางที่ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำประปาดื่มได้ หรือระบบน้ำประปาที่มีคุณภาพ มีการการันตีแรงดันขั้นต่ำ ไม่สร้างภาระแก่ประชาชน

 

ข้อมูลจาก
https://www.researchgate.net/figure/MPCs-based-on-review-of-guidelines-and-regulations-m-psi_tbl1_281376514
http://www.irdp.org/2015/news_files/226/attachment1.pdf
https://www.researchgate.net/publication/322954094_Evaluation_on_the_Quality_of_Bangkok_Tap_Water_with_Other_Drinking_Purpose_Water

เกี่ยวกับ Rocket Media Lab

Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว

เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล

Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์

Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564

https://rocketmedialab.co
https://www.facebook.com/rocketmedialab.co
https://twitter.com/rocketmedialab
contact.rocketmedialab@gmail.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: