“คน” “ป่า” และช่องว่างในความเหลื่อมล้ำที่ถูกกำกับ

มานพ คีรีภูวดล | 12 ม.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2301 ครั้ง


“เรา” “เขา” และความเป็น“คนอื่น” คือสิ่งประดิษฐ์ของอำนาจรัฐ และพลวัตทางสังคม

หากย้อนมองบางส่วนของประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านจากสยามสู่การสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ของไทย การจัดจำแนกผู้คนที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจ มีการเปลี่ยนแปลงนิยามความหมายที่สัมพันธ์กับนัยทางการเมืองมาโดยตลอด

ตัวอย่างข้อมูลช่วงหนึ่งของยุคสยาม ที่เริ่มสัมพันธ์กับอำนาจตะวัตตก กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกเรียกว่าชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม อาทิ คนลัวะ (ละว้า) กะเหรี่ยง มอญ มีบทบาทในการเมืองการปกครองมาก่อนและมักจะได้ยินคำว่า “ชาวป่า” หรือ “คนชายแดน” เป็นนิยามเสมือนเส้นแบ่งความแตกต่างของกลุ่มคน

ดังนั้น พื้นที่ “ป่า” ที่เคยเป็นดินแดนอื่นอันห่างไกล กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกผนวกรวมเข้ากับการสร้างชาติสมัยใหม่ในยุคต่อมา เมื่ออิทธิพลของเส้นแผนที่ประเทศ มาพร้อมกับความจำเป็นในการควบคุมจัดการผู้คนในฐานะหน่วยทางประชากรของรัฐราชการไทยสมัยที่พยายามรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะชนชาติพันธุ์ในถิ่นที่สูง จึงถูกสำรวจและถูกกำหนดนิยามเรียกว่า “ชาวเขา” ในยุคต่อมา ซึ่งได้แพร่หลายหลังจาก ปี 2502 อันเป็นผลมาจากการก่อตั้งคณะกรรมการชาวเขา กลายเป็นกลุ่มชนที่ถูกศึกษาวิจัย เป็นกลุ่มชนที่ผ่านพลวัตทางการเมืองในภูมิภาคในช่วงสงครามเย็นและเรามักจะได้ยินการถูกเรียกขานให้เป็นกลุ่ม “ชนชายขอบ” หรือ “ผู้ด้อยโอกาส” ฯลฯ ตามแต่อำนาจของผู้กำหนดนิยาม

ประเด็นปัญหาภายใต้วาทกรรมเช่นนี้ ปรากฏชัดในสังคมระลอกใหญ่ เมื่อนโยบายรัฐภายใต้กระแสการพัฒนาประเทศ นโยบายความมั่นคง โครงการพัฒนาน้อยใหญ่ได้ถาโถมมุ่งตรงไปที่พื้นที่สูง อันเป็นถิ่นอาศัยของหลายชนชาติพันธุ์ พร้อมกับการเกิดขึ้นของปัญหา ข้อพิพาทสิทธิด้านต่างๆ โดยเฉพาะมิติการเมืองในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติก็เข้มข้นขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งเรากลับเห็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่อาศัยภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงแวดล้อมด้วยขุนเขาเป็นจุดขายในระบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ จนเกิดกรณีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของชุมชนชาติพันธุ์บนที่สูงที่สำคัญหลากแห่ง อาทิ การประท้วงนโยบายอพยพคนออกจากป่าอนุรักษ์ของเครือข่ายกลุ่มเกษตรภาคเหนือ (คกน.) ในปี 2538 ที่กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการต่อสู้ป่าวประกาศสร้างตัวตนสู่สังคมว่า “เราคือคนผู้มีสิทธิ” และเป็นผู้ที่มีภูมิความรู้ในการดูแลจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติไม่ต่างกันกับความรู้ที่ภาครัฐมี ซึ่งได้จุดกระแสความสนใจต่อประเด็นชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ท่ามกลางการขับเคี่ยวในอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งตกค้างทางวาทกรรมจากอดีต รวมทั้งการดำรงอยู่และการตอกย้ำมายาคติทางชาติพันธุ์ที่จงใจหรืออาจไม่รู้ตัวของผู้คนในสังคมต่อเนื่องมายาวนานจนถึงยุคปัจจุบัน

ชีวิตคนท่ามกลางนิยาม “ป่า” กำลังเผชิญกับอะไร

การทำงานในคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้องในปีที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าปัญหาใหญ่ที่เป็นรากเหง้าของปัญหาที่ไม่เคยถูกคลี่คลายและถูกปล่อยให้หมักหมม สร้างผลกระทบสืบเนื่องมา คือ ชุมชนถูกแนวเขตป่าไม้ตามกฎหมายประกาศทับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ถูกพรากสิทธิในที่ดินกลายเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างผิดกฎหมาย การมุ่งประกาศกฎหมายเขตป่าประเภทต่างๆ ทับพื้นที่ของชุมชนเสมือนว่าไม่มีคนอยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อน ถือเป็นกรณีการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง ผลที่ตามมาคือการถูกจำกัดการพัฒนาอย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากนั้น ยังต้องการเผชิญข้อพิพาทเกี่ยวกับการจับกุมดำเนินคดีด้านป่าไม้ ต้องเผชิญผลกระทบสืบเนื่องจากนโยบายทวงคืนผืนป่าและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบในช่วงกระบวนการของกฎหมายป่าไม้ฉบับใหม่ การดำเนินงานพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมกว่า 22 แห่ง ในหลายจังหวัดทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

การไม่ถูกรับรองสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญในการดูแลจัดการทรัพยากรและวิถีวัฒนธรรมพิเศษทางชาติพันธุ์ อาทิ ระบบเกษตรนิเวศวัฒนธรรมไร่หมุนเวียนที่มักถูกให้ภาพเชิงลบบิดเบือนข้อเท็จจริงและอีกในหลายพื้นที่กำลังเผชิญผลกระทบจากกระแสมลพิษฝุ่นควันที่ต้องตกเป็นจำเลยทางสังคมและรับผลกระทบจากนโยบายจับกุมดำเนินคดีไม่ต่างจากข้อหาในอดีต และอีกหลายพื้นที่โครงการของรัฐที่จะเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินและเบียดขับชีวิตของคนในท้องถิ่นออกไปอย่างถาวร

( เราไม่สามารถรอคอยการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในคุณภาพชีวิตจากอำนาจนิยมเชิงสงเคราะห์ของรัฐราชการรวมศูนย์แบบเดิมได้อีก )

จะเห็นได้ว่า แม้จะเกิดวิกฤตหรือเผชิญความยากลำบากขึ้นครั้งใดในสังคม เรามักจะเห็นการพยายามช่วยเหลือและพร้อมแบ่งปัน ซึ่งนับเป็นต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่สำคัญและไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอย่างเคว้งคว้างลำพังหรือต้องเกิดขึ้นเพราะระบบการบริหารประเทศไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาได้ โดยปราศจากความรับผิดชอบจากผู้มีอำนาจหน้าที่หลักอย่างองค์กรภาครัฐ อันเป็นผู้ที่ใช้งบประมาณภาษีเพื่อดูแลคุณภาพชีวิต ซึ่งตอกย้ำว่าเรื่องการเมืองคือชีวิตประจำวันอย่างเลี่ยงไม่ได้และการมีส่วนร่วมจะเป็นคือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนผลประโยชน์ของประชาชน

การตื่นตัวต่อประเด็นความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่กับชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศ ซึ่งจำนวนมากคือชนชาติพันธุ์อันหลากหลาย คือโอกาสสำคัญในการร่วมกันสร้างพื้นที่ถกเถียงเรียนรู้ซึ่งกันในฐานะ “เพื่อน” ร่วมสังคมและเป็นโอกาสในการสร้างหนทางแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด

ภาพการไร้สาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างไฟฟ้า ประปา ถนนหนทางที่ปลอดภัยถูกทำให้กลายเป็นสิ่งคุ้นชิน และดำรงอยู่อย่างยาวนาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในโลกศตวรรษที่ 21 นี้ หรือการเข้าถึงโอกาสในทางเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา สถานพยาบาลที่มีคุณภาพแทบจะคือสิ่งที่อยู่คนละดวงดาวไม่ว่าจะมีหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้นอีกกี่กระทรวงหรือประเทศจะมีงบประมาณมากขึ้นเพียงใด ลำพังข้อจำกัดเฉพาะมิติข้ออ้างในตัวบทกฎหมายด้านป่าไม้นั้นอาจเป็นเพียงหนึ่งในเงื่อนไขที่สัมพันธ์อยู่เท่านั้น แต่ในมิติด้านความรู้ความเข้าใจและคราบมายาคติที่ถูกสั่งสมมายาวนานในสังคมกำลังถูกท้าทายภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง

เรากำลังร่วมกันสร้างแสงสว่างทางปัญญาคือความหวังในการนำพาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า ขอให้วาทกรรมหรือคำนิยามจากฝั่งอำนาจใดที่เคยแบ่งแยกผู้คนให้เป็น “เรา” “เขา” หรือ “คนอื่น” สร้างภาพมายาเชิงลบ ตีตราเพื่อนร่วมสังคมกลายเป็นสิ่งตกยุคในอดีต

อย่าให้ความแตกต่างของถิ่นอาศัยและความหลากหลายในวิถีวัฒนธรรมเป็นอุปสรรคต่อการเปิดหัวใจเรียนรู้เพื่อเข้าใจชีวิตเพื่อนร่วมสังคมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเด็นสู่การเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองเพื่อให้ระบบอำนาจรัฐปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นคน ปลดแอกศักยภาพที่ถูกกดทับอย่างไม่เป็นธรรมให้ได้เป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนสังคม ดังนั้นในแง่นี้ ปัญหาเรื่องความห่างไกลความเจริญจึงไม่ใช่มิติเรื่องระยะทางจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง แต่ความไกลคือความห่างของช่องว่างของความรู้ความเข้าใจต่อเพื่อนร่วมสังคม ความไกลจากอำนาจในการจัดการทรัพยากรและการกำหนดเลือกวิถีชีวิตด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ขอชวนทุกท่านร่วมกันลงชื่อเพื่อยกร่าง “พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …” อันเป็นหมุดหมายสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของเพื่อนร่วมสังคมและสร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
สำหรับทุกท่านที่สัญชาติไทยและอายุ 18 ปีขึ้นไป


*ดาวน์โหลดเอกสารเข้าชื่อเสนอกฎหมาย : shorturl.at/rvBY6
*ดาวน์โหลดร่างพ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. : 
https://imnvoices.com/wp-content/uploads/2020/12/ร่าง-พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย-พ.ศ....-ฉบับประกอบการลงรายมือชื่อเสนอกฎหมาย-24.12.63.pdf

***รายละเอียดเพิ่มเติม: https://imnvoices.com/ร่าง-พ-ร-บ-สภาชนเผ่าพื้นเ/?fbclid=IwAR2GUBQXHWTnygTb63DEBZ0ynVOEQND9IcEiVuXzEybMKJbTzIvRKuggA6M

หมายเหตุ : การกรอกเอกสารยังไม่ต้องระบุวันที่ เนื่องจากต้องรอเลขที่อนุมัติจากประธานสภา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: