ปธ.กรรมการแข่งขันทางการค้าคาดแนวโน้มปี 2564 ดีลควบรวมธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ม.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1635 ครั้ง

ปธ.กรรมการแข่งขันทางการค้าคาดแนวโน้มปี 2564 ดีลควบรวมธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น

สื่อ 'กรุงเทพธุรกิจ' ระบุประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เผยแนวโน้มการควบรวมกิจการปี 2564 มีมากแต่เป็นธุรกิจขนาดเล็กมูลค่าไม่มากเป็นไปเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ชี้ดีลซีพีควบโลกตัสจะไม่เกิดขึ้นไปอีกหลายปี เร่งจัดทำแผนและโครงสร้างรองรับ | ที่มาภาพประกอบ: Insurance Journal

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 2564 ว่านายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่าภายหลังจากเสร็จสิ้นการพิจารณากรณีควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพีควบรวมกิจการกับบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทยซีพีและเทสโก้โลตัสแล้ว ทางคณะกรรมการฯ ได้วิเคราะห์แนวโน้มการควบรวมกิจการในปี 2564 ว่าจะมีมากหรือน้อย เป็นประเภทกิจการอะไร

โดยในปี 2564 คาดว่าสถานการณ์คงไม่เหมือนปี 2563 ที่โลกธุรกิจต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ที่ทำให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนและปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นจึงคาดหมายว่าปี 2564 อาจจะไม่มีกลุ่มกิจการใดขอควบรวมกิจการขนาดใหญ่ในแบบของกลุ่มซีพี และคาดว่าจะอีกนานหลายปีจะมีกรณีการควบรวมกิจการแบบนี้อีกครั้ง แต่ในส่วนของการควบรวมอื่นก็น่าจะมีีการควบรวมในกิจการที่มีมูลค่าไม่มาก

อย่างไรก็ตามมองว่าในเรื่องของพฤติกรรมที่มีอำนาจเหนือตลาดจะมีมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจรายเล็กรายน้อยในขณะนี้มีปัญหาการประกอบธุรกิจ หากต้องการที่จะอยู่รอด หรือดำเนินธุรกิจต่อไปในยุคเศรษฐกิจปัจจุบัน การมีอำนาจเหนือตลาดก็จะเป็นแนวทางหนึ่ง ดังนั้นพฤติกรรมที่ส่อว่ามีอำนาจเหนือตลาด การเอาเปรียบ คู่แข่ง คู่ค้า น่าจะมีมากขึ้น และเมื่อผู้ประกอบธุรกิจอื่นใดเห็นว่าถูกเอาเปรียบ ก็จะมีการร้องเรียนมายังคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โดยคาดว่าจะมีการร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบจำนวนที่มากขึ้น เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ขณะเดียวกันธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี ธุรกิจเฟรนไชส์ ทีี่สายป่านไม่ยาก ก็จะเข้ามาร้องเรียนมากขึ้น

“ปี 2564 เคสใหญ่แบบซีพีไม่น่าจะมีแล้ว แต่ในกรณีควบรวม 3 รายน่าจะมีมากขึ้น หรือควบรวมธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางที่มียอดรวมไม่เกิน 1 พันล้านบาท มากขึ้นทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้และเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับธุรกิจของตนเอง อีกสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ ขณะนี้การทำธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ในต่างประเทศหรือในประเทศที่ประสบปัญหาจากโควิด-19 ก็จะมีการควบรวมสาขาต่างๆเข้ามาเป็นสาขาเดียวก็คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นเช่นกันในเมืองไทย เช่น บริษัทแม่รวมกับบริษัทลูก บริษัทต่างประเทศแต่มีสาขาในไทยก็ขอควบรวม เป็นต้น ซึ่งก็มีหลายรูปแบบ”

นายสกนธ์ กล่าวว่าส่วนการกำกับดูแลการควบรวมกิจการนั้น ด้วยความที่สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นสำนักงานที่เพิ่งจัดตั้งใหม่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ แต่ก็พยายามเร่งจัดทำโครงสร้าง หาบุคคลกร มาทำงาน การฝึกอบรมพนักงานให้มีทักษะความรู้เกี่ยวกับธุรกิจสมัยใหม่ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ศึกษาโครงสร้างตลาด ส่วนแบ่งตลาดหรือมาร์จิ้น เพื่อให้ทำงานด้านการดูแลในเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้ทางสำนักงานก็จะดึงคนที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ เข้ามาร่วมทำงานกับสำนักงานมากขึ้น

ทั้งนี้ระเบียบหลักเกณฑ์ที่ดูแลการควบรวมจะต้องมีการปรับปรุงใหม่หรือไม่นั้นก็คงดูตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เช่น หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการมีอำนาจหนือตลาด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: