COVID-19 ระลอกใหม่ฉุดยอดใช้จ่าย คนเดินห้างลดลงทุกด้าน

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ก.พ. 2564 | อ่านแล้ว 2609 ครั้ง

COVID-19 ระลอกใหม่ฉุดยอดใช้จ่าย คนเดินห้างลดลงทุกด้าน

หอการค้าไทยเผยผลสำรวจผู้ระกอบการห้างค้าปลีกทุกขนาดได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระลอกใหม่ฉุดยอดใช้จ่าย คนเดินห้างลดลงทุกด้าน เสนอภาครัฐใช้มาตรการกระตุ้นทุกด้านทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ คาดการณ์หลังไทยฉีดวัคซีนป้องกันได้โอกาสเศรษฐกิจฟื้นจริงครึ่งปีหลังนี้ | ที่มาภาพ: Thai PBS

เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. 2564 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการห้างโมเดิร์นเทรด ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 พบว่า ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า หลังเกิดการะบาดของโควิด -19 รอบใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคการค้า ไม่สามารถเปิดได้เต็มรูปแบบ/

ทั้งนี้ ได้สำรวจจากผู้ประกอบการ 112 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ / รองลงมาเป็นห้างสรรพสินค้า / และซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่มีสัดส่วนครอบคลุมกว่าร้อยละ 60 ของธุรกิจค้าปลีกทั้งประเทศ ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มีการปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.3 จากในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ระดับ 47.4 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ากลางที่ 50 จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ระบาดรอบใหม่ในช่วงเดือนสุดท้ายของปี ทำให้จำนวนลูกค้าลดลง ประกอบกับกำลังซื้อและความถี่ในการซื้อสินค้าลดลงด้วย แต่กลับมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการดูแลความปลอดภัยของพนักงานและลูกค้า รวมทั้งยังรักษาการจ้างงานไว้อยู่ จึงส่งผลต่อการบริหารกระแสเงินสด โดยคาดว่าจะกระทบต่อเนื่องมาถึงในไตรมาสแรกของปีนี้

อย่างไรก็ตาม จึงเสนอให้ภาครัฐ ควบคุมสถานการณ์โควิดให้เร็วที่สุด และปรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับการทำธุรกิจด้วย โดยการเพิ่มวงเงิน ช๊อป ดี มีคืน เป็น 50,000 บาท / สนับสนุนเอกชนในการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิด ให้สามารถเอาค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีธุรกิจได้ / ลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 10 เป็นเวลา 3 ปี และเพื่อรักษาสถานะการจ้างงาน เสนอให้สนับสนุนค่าจ้าง ร้อยละ 50 ให้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และอนุมัติการจ้างงแบบรายชั่วโมงเพื่อสนับการจ้างงานเพิ่ม พร้อมทั้งอยากให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่าย เช่น ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ ร้อยละ 50 เป็นเวลา 1 ปี / การนำค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 มาลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า รวมทั้งขยายเวลานำผลขาดทุนสุทธิยกมา จากเดิมไม่เกิน 5 รอบ เป็น 8 รอบระยะเวลาบัญชี

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการโครงการคนละครึ่งที่ยังไม่สิ้นสุด และเราชนะ ที่จะมีเม็ดเงินเติมในระบบเพิ่มเติม จะส่งทางอ้อมให้ร้านค้ารายย่อยที่ค้าขายดีขึ้น เข้ามาจับจ่ายในห้างค้าปลีกได้มากขึ้น เพราะเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง จะมีเงินของภาครัฐเพียง 45,000 ล้านบาท และจากประชาชนอีกครึ่งนึง คือ 45,000 ล้านบาท แต่เราชนะ จะเห็นผลชัดเจนขึ้นเพราะมีเม็ดเงินถึง 2 แสนล้านบาท โดยธุรกิจค้าปลีก น่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จากแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานการณ์ส่งออก และแต่ละประเทศมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ทำให้การล๊อกดาวน์น้อยลง รวมทั้งยังมีแนวคิดหากมีการเปิดน่านฟ้า ให้จัดทำเป็น วัคซีนพาสปอร์ต หากทำได้ในไตรมาส 4 สถานการณ์การคลายให้การท่องเที่ยวกลับมา น่าจะทำให้ภาคธุรกิจค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และกลับมาเป็นปกติได้ในปี 2565

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ว่า ที่ผ่านมามาตรการของรัฐบาล ทั้งการช่วยเหลือผู้บริโภคและผู้ประกอบการทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ในส่วนของธุรกิจค้าปลีก อยากให้สนับสนุนการจ้างงานแบบรายชั่วโมง เพราะห้างจะมีช่วงเวลาเร่งด่วน ที่ต้องการแรงงานเฉพาะเวลาด้วย ซึ่งจะสามารถจ้างงานเพิ่มเติมได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 อัตรา ขณะเดียวกันทางห้างฯ ยังพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐ โดยเปิดพื้นที่ให้ร้านค้ารายย่อย หรือ โอทอป เข้ามาขายสินค้า พร้อมจะช่วยเหลือเกษตรกรในการระบายสินค้าเกษตรในระยะยาว ไม่ทำเฉพาะช่วงผลิตล้นตลาดเท่านั้น ส่วนภาพรวมการจับจ่ายของประชาชนในปีนี้ ยังต้องรอการประเมินปัจจัยต่างๆ อีกครั้ง โดยเฉพาะความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด จึงประเมินว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ น่าจะยังไม่คึกคัก เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด แต่จะมีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เข้ามาเติมได้บ้างในส่วนนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: