สช.หนุนสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ เป็นกลไกระดับพื้นที่ขับเคลื่อน ‘Home Isolation’

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ก.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1914 ครั้ง

สช.หนุนสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ เป็นกลไกระดับพื้นที่ขับเคลื่อน ‘Home Isolation’

สช.เล็งใช้กลไก “สมัชชาสุขภาพจังหวัด” ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ “การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” โดยมีกลไกระดับชุมชนเป็นฐาน วางแผนช่วยเหลือกันและกัน-ตัดวงจรการแพร่ระบาด สอดรับมาตรการ “Home Isolation-Community Isolation” | ที่มาภาพ: Hfocus

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 มติ “การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่” มาทำการสื่อสารให้เป็นวาระร่วมของสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกับสนับสนุนให้ทั่วประเทศร่วมกันขับเคลื่อนมติในระดับพื้นที่โดยเร่งด่วน เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับมติฯ เรื่องดังกล่าว มีสาระสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพที่เท่าทันสถานการณ์อย่างเป็นระบบ โดยให้หน่วยงานภูมิภาคพัฒนากลไกระดับพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็ง เน้นการมีส่วนร่วมของภาคสังคม เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคระบาดพื้นที่ บริหารจัดการเครื่องอุปโภคบริโภค รวมถึงเตรียมพร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สนับสนุนระบบเฝ้าระวัง บริหารจัดแผนเผชิญเหตุ พัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นให้มีความรู้และทักษะจัดการวิกฤตสุขภาพ

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตัวอย่างการขับเคลื่อนมติฯ ดังกล่าวที่ผ่านมา คือการเกิดขึ้นของแผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” ซึ่งเป็นระบบควบคุมโรคโควิด-19 โดยพลังชุมชนเป็นฐาน มีแนวคิดคือการค้นหาผู้ติดเชื้อ และแยกออกไปสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็ว เพื่อลดโอกาสในการติดต่อไปยังคนในครอบครัวและชุมชน ขณะเดียวกันยังมีการดำเนินงานในด้านคุณภาพชีวิตและสังคม ด้วยบทบาทของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“แนวคิดของการจัดการที่ถูกนำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นในชุมชนแออัดเขตคลองเตย ทวีวัฒนา หรือในอีกหลายที่ ได้ทำให้ชุมชนสามารถช่วยเหลือกันเองในเบื้องต้น ทั้งเรื่องของการส่งเสริมป้องกันโรค หรือการจัดพื้นที่ศูนย์พักคอย ซึ่งกรณีเหล่านี้จะสอดคล้องกับนโยบายล่าสุดอย่างเรื่องของ Home Isolation และ Community Isolation ที่แม้จะยังได้รับการดูแลโดยภาครัฐหรือโรงพยาบาล แต่ก็ยังต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชนเป็นหลัก” นพ.ปรีดา กล่าว

นพ.ปรีดา กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ที่กำลังขยายตัวไปในหลายพื้นที่ รวมทั้งตามจังหวัดต่างๆ จากการเคลื่อนตัวของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นมาก การถอดประสบการณ์เหล่านี้ไปสู่การดำเนินงาน จะเป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังและดูแลโดยชุมชน ตัดวงจรการแพร่ระบาด ที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการภาครัฐ ผ่านกลไกของสมัชชาสุขภาพจังหวัด ที่จะมีศักยภาพในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเหล่านี้ไปพร้อมกัน

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า บทบาทของ สช. หลังจากนี้จะเป็นการเร่งประสาน และเตรียมความพร้อมของสมัชชาสุขภาพจังหวัด ในการขับเคลื่อนมติฯ ดังกล่าว โดยจะประสานขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ใช้ศักยภาพของสมัชชาสุขภาพจังหวัด ในการสร้างความพร้อมและการมีส่วนร่วมของชุมชน สนับสนุนทางราชการในการควบคุมโรคโควิด-19
“แนวทางของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่นี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค และตัดวงจรการแพร่ระบาดเท่านั้น แต่จะยังมีสาระสำคัญในมิติของการฟื้นฟูเยียวยาด้านสังคม ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบไปควบคู่กัน” นพ.ประทีป กล่าว

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม คมส.ในครั้งนี้ ยังได้มีการพิจารณาเห็นชอบในหลักการ การบูรณาการมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 เรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” เข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) โดยให้ สช. ประสานกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อบูรณาการมติฯ นี้ให้เป็นเป้าหมายร่วมในหมุดหมายที่ 1 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับดังกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: