สถิติชี้ ความคลางแคลงใจในวัคซีน COVID-19 กีดกันแผนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในสหรัฐฯ

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 ก.พ. 2564 | อ่านแล้ว 1330 ครั้ง

สถิติชี้ ความคลางแคลงใจในวัคซีน COVID-19 กีดกันแผนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในสหรัฐฯ

สื่อ VOA เผยความคลางแคลงใจในตัววัคซีน COVID-19 ท้าทายเป้าหมายการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในสหรัฐฯ จากการสำรวจล่าสุดที่พบว่า เกือบ 1 ใน 4 ของชาวอเมริกันในวัยผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน COVID-19 ระบุว่าจะไม่เข้ารับวัคซีน จากความกังวลเรื่องผลข้างเคียงและการขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล | ที่มาภาพ: GeekWire

VOA รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. 2021 ว่าสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ (U.S. Census Bureau) สอบถามชาวอเมริกันในวัยผู้ใหญ่ 68,000 คน เมื่อวันที่ 6-18 มกราคมที่ผ่านมา พบว่า 51 เปอร์เซ็นต์ในการสำรวจ จะเข้ารับวัคซีนโควิด-19 และ 26 เปอร์เซ็นต์ อาจจะไปฉีดวัคซีน ส่วนอีก 14 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าอาจจะไม่ไปฉีดวัคซีน และ 10 เปอร์เซ็นต์ ตัดสินใจว่าจะไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19

คณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กางแผนแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชน โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่ยัง “ลังเล” ที่จะเข้ารับวัคซีนโควิด-19 มากที่สุด ซึ่งรวมถึงคนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลและคนผิวสี ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นด้านวัคซีนในกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กลุ่มผู้นำทางศาสนา และกลุ่มองค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อชุมชนเหล่านี้

เมื่อลงรายละเอียดจากการสำรวจของสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ พบว่า 9 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ มองว่า พวกเขา “ไม่ชอบ” วัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในตอนนี้

ผู้คนที่แสดงความคลาแคลงใจเรื่องวัคซีนในการสำรวจนี้ ทุกเชื้อชาติ ทุกกลุ่มอายุ และทุกพื้นที่ในอเมริกา ต่างแสดงความกังวลถึงผลข้างเคียงของวัคซีนกันทั้งสิ้น

ขณะที่กลุ่มที่ปฏิเสธการรับวัคซีน พุ่งเป้าไปที่ความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลและไม่เชื่อมั่นในวัคซีน โดยในการสำรวจพบว่า คนอายุราว 18-25 ปี มีความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลในระดับสูง รองลงมาคือ คนอเมริกันอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ไม่อยากรับวัคซีน เพราะกังวลเรื่องผลข้างเคียง และคิดว่าคนอื่นน่าจะต้องการวัคซีนโควิด-19 มากกว่าพวกเขา

เมื่อแบ่งเป็นเชื้อชาติ ในการสำรวจนี้ พบว่า 1 ใน 5 ของคนเชื้อสายฮิสแปนิกและคนผิวขาว ไม่มีแผนการจะไปฉีดวัคซีน ราว 1 ใน 3 ของคนผิวดำ บอกว่า พวกเขามีแผนที่จะไม่ไปฉีดวัคซีนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นโจทย์ที่น่ากังวลของหน่วยงานสาธารณสุขสหรัฐฯ จากที่คนผิวดำและเชื้อสายฮิสแปนิกต่างเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19

ที่น่าสนใจ คือ ในการสำรวจก่อนหน้านี้ พบว่า 79 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันในวัยผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีน บอกว่า คำแนะนำของแพทย์เป็นเรื่องสำคัญในการตัดสินใจว่าจะรับวัคซีนหรือไม่

นักวิทยาศาสตร์ ประเมินว่าผู้คนราว 70-85 เปอร์เซ็นต์ จำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันโคโรนาไวรัส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติหรือจากวัคซีนก็ตามที แต่เส้นทางนี้อาจไม่ง่ายอย่างที่คิดไว้

ลอเรน แอนเซล เมเยอร์ส (Lauren Ancel Meyers) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเท็กซัส และผู้อำนวยการ COVID-19 Modeling Consortium บอกว่า แนวคิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ คือภาวะที่มีประชากรทั้งที่อาจเคยติดเชื้อหรือเข้ารับวัคซีนมากพอจนกระทั่งไวรัสไม่สามารถแพร่เชื้อไปหาใครได้อีก การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ใช่สถานการณ์ที่จะทำให้ไวรัสอันตรธานไปในพริบตา แต่เป็นภาวะที่ทำให้ไวรัสค่อยๆ ลดการแพร่ระบาดลงไปเรื่อยๆแทน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนมาก

ปัจจัยท้าทายการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในตอนนี้ มีทั้งโคโรนาไวรัสที่กลายพันธุ์ ที่อาจทำให้เกิดคลื่นการระบาดใหม่ ทั้งกับคนที่เข้ารับวัคซีนไปแล้วหรือกับคนที่เคยติดเชื้อไปแล้ว ซึ่งไวรัสกลายพันธุ์นี้อาจทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ช้าลงไป หรือหากไวรัสกลายพันธุ์เอาชนะวัคซีนที่มีอยู่ได้ อาจทำให้หนทางในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไกลเกินเอื้อม

ที่ผ่านมา พบว่าวัคซีนโควิดที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีผลต่อต้านไวรัสกลายพันธุ์ได้อยู่ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว จะมีโอกาสกลับไปติดเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ได้อีกหรือไม่ ในระหว่างที่ไวรัสนั้นมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

คำถามอีกอย่างหนึ่ง คือ เราจะใช้ประโยชน์จากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างไร? เจฟฟรีย์ ชาแมน จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเมินว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมในสหรัฐฯที่แท้จริง อาจมากถึง 105 ล้านคน คิดเป็น 32% ของประชากรในสหรัฐฯเท่านั้น ซึ่งหากคนกลุ่มนี้ยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้

ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์ของ ชาแมน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สูงกว่าตัวเลขล่าสุดตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์ รายงานว่าสหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่เกือบ 27 ล้านคน ณ บ่ายวันพฤหัสบดีตามเวลาสหรัฐฯ อยู่มาก

ดร.คารี นาโด จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด บอกว่า เธอเชื่อว่าผู้ที่เคยติดเชื้อ อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกัน และสามารถนับรวมอยู่ในกลุ่มก้อนภูมิคุ้มกันหมู่ได้

แต่ ดร.แสตนลีย์ เพิร์ลแมน นักจุลชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านภูมคุ้มกัน ที่ศึกษาด้านโคโรนาไวรัส จากมหาวิทยาลัยไอโอวา ให้ความเห็นว่า มันไม่ง่ายที่จะจัดกลุ่มก้อนเช่นนั้น เพราะผู้ที่ติดเชื้อและแสดงอาการรุนแรง มีโอกาสที่จะมีระดับภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อซ้ำมากกว่า ซึ่งจะเท่ากับระดับภูมิคุ้มกันของคนที่เข้ารับวัคซีน ที่คาดว่าจะมีภูมิคุ้มกันไปในระยะ 1 ปีหลังติดเชื้อหรือเข้ารับวัคซีนไปแล้ว แต่สิ่งที่เรายังไม่รู้ชัด คือ ภูมิคุ้มกันในกลุ่มคนที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย จะมีระดับภูมิต้านทานโรคที่ยาวนานได้แค่ไหน

ประเด็นของความรุนแรงจากอาการหลังติดเชื้อ คือจุดที่น่าสนใจ เพราะในจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก 105 ล้านคน ณ วันพฤหัสบดีตามเวลาสหรัฐฯ จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์ มีผู้คนจำนวนมากที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการเลย และราว 25 ล้านคนในนี้ รู้ตัวว่าติดเชื้อโควิดจากการเดินทางไปตรวจ

ดร.เพิร์ลแมน หยิบยกการศึกษาที่ระบุว่า ผู้ที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสที่แสดงอาการแค่ไข้หวัดธรรมดา มักจะมีระดับภูมิต้านทานที่น้อยกว่าและมีภูมิอยู่ไม่นาน เขาพบว่าคนกลุ่มนี้มีระดับภูมิต้านทานราว 1 ปี หรืออาจจะมากน้อยกว่านั้นได้ แต่ไม่ได้เป็นภูมิคุ้มกันระยะยาวแน่นอน ดังนั้น ท้ายที่สุดแล้วก็จะเป็นโจทย์สำคัญของรัฐ ในการผลักดันโครงการแจกจ่ายวัคซีนให้ทันก่อนที่ภูมิคุ้มกันของประชากรจะพ่ายแพ้ให้กับไวรัสอีกครั้ง

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ หรือ CDC ณ 2 กุมภาพันธ์ ระบุว่า วัคซีน 32.8 ล้านโดสไปถึงประชาชนอเมริกันแล้ว คิดเป็น 6.1 ล้านคนในอเมริกา หรือราว 1.8% ของประชากรทั่วประเทศเท่านั้น จากที่การรับวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา ต้องฉีดให้ครบทั้ง 2 เข็ม

ดร. นาโด จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ย้ำว่า เมื่อเราไม่ทราบชัดว่าภูมิต้านทานโดยธรรมชาติจะอยู่ได้นานแค่ไหน จึงจำเป็นที่ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ต้องเข้ารับวัคซีนโควิด

แต่ความท้าทายสำคัญอย่างหนึ่งที่ระบุไปก่อนหน้านี้ คือ ชาวอเมริกันไม่ต้องการเข้ารับวัคซีน ตามการสำรวจของ Kaiser Family Foundation เมื่อเดือนธันวาคม ที่พบว่า 27 เปอร์เซ็นต์ ของคนวัยผู้ใหญ่ไม่อยากฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหากผู้ที่ปฏิเสธการรับวัคซีนมากขึ้น แผนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก็จะยากขึ้นตามไปด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: