กำหนดท่าทีประเทศไทยต่อ ‘TRIPS Waiver’ หนุนเข้าถึง ‘ยา-วัคซีน’ ในวิกฤตโควิด-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 1957 ครั้ง

กำหนดท่าทีประเทศไทยต่อ ‘TRIPS Waiver’ หนุนเข้าถึง ‘ยา-วัคซีน’ ในวิกฤตโควิด-19

คณะกรรมการ NCITHS จัดประชุมหารือตัวแทนภาครัฐ-วิชาการ-เอกชน-ประชาสังคม ร่วมกำหนดท่าทีต่อ “TRIPS Waiver” แนวทางการยกเว้นคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาช่วงสถานการณ์โควิด-19 หวังประเมินทางเลือกที่เหมาะสมสู่การเข้าถึงยา-เวชภัณฑ์-วัคซีน ได้มากขึ้น เตรียมรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบาย ก่อนตัวแทนไทยร่วมเจรจาเวที WTO ปลายปี 2564 นี้ | ที่มาภาพประกอบ: Education International

คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (NCITHS) จัด “การประชุมหารือของประเทศไทยต่อการยกเว้น (Waiver) การปฏิบัติตามพันธกรณีบางข้อ ภายใต้ความตกลงทริปส์ในสถานการณ์ COVID-19” เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ซึ่งเป็นการหารือร่วมกับภาคีหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อวิเคราะห์โอกาส ความท้าทาย รวมถึงจัดทำข้อเสนอต่อท่าทีของประเทศในเรื่องดังกล่าว

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฏ ประธาน NCITHS เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทั่วโลกได้มีความพยายามในการเข้าถึงยา เวชภัณฑ์ รวมถึงวัคซีนเพื่อป้องกันโรคเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีพูดถึง TRIPS Waiver หรือข้อเสนอที่ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามความตกลงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) ออกไปอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี โดยประเทศที่นำเสนอแนวทางนี้ คือ แอฟริกาใต้ และอินเดีย ซึ่งขณะนี้มีผู้สนับสนุนแล้วประมาณ 62 ประเทศ

สำหรับความตกลง TRIPs นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความคุ้มครองในด้านทรัพย์สินทางปัญญา และให้มั่นใจว่ามาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้นจะไม่กระทบถึงการค้าที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประเทศภาคีองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ต้องให้ความคุ้มครองในด้านทรัพย์สินทางปัญญาไม่น้อยไปกว่าที่กำหนดไว้ในความตกลงดังกล่าว โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2538
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งก็ได้มีข้อเสนอคัดค้าน TRIPS Waiver ดังกล่าว เนื่องจากมองถึงผลเสียที่อาจตามมา ต่อมาจึงมีอีกหนึ่งแนวทางเพิ่มขึ้นมานั่นคือ ข้อริเริ่ม “Trade and Health Initiative” ของกลุ่มออตตาวา ที่ไปมุ่งเน้นในเรื่องส่งเสริมการเข้าถึงสินค้าจำเป็นทางการแพทย์ และความแข็งแกร่งของระบบห่วงโซ่อุปทานโลกของสินค้าเหล่านี้แทน เช่น มาตรการส่งออก มาตรการภาษี เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีผู้สนับสนุนแนวทางนี้แล้วประมาณ 45 ประเทศ

นอกจากนี้ ในเวลาถัดมาก็ได้เกิดทางเลือกที่สาม หรือ “Third Way” ขึ้น โดยสนับสนุนแนวทางของผู้อำนวยการใหญ่ WTO ในการเป็นตัวกลาง สำหรับสื่อสารกับผู้แทนอุตสาหกรรมยา รวมถึงบริษัทวัคซีน เพื่ออำนวยความสะดวกในการหารือและจับคู่ความร่วมมือทางธุรกิจ ส่งเสริมการจัดทำ licensing partnerships ที่ได้รับประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้พัฒนาวัคซีนและผู้ผลิตวัคซีน ซึ่งแนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนจากประมาณ 11 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยเองที่มีแนวโน้มสนับสนุนต่อแนวทางนี้

“ทางเลือกเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประเทศสมาชิกจะนำไปหารือในการประชุม WTO ครั้งที่ 12 ในช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค.นี้ เช่นเดียวกับประเทศไทยเองที่จะต้องกำหนดท่าที และสนับสนุนทางเลือกที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งเราพบว่าประเด็นนี้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการพิจารณามากมาย ทาง NCITHS จึงกำลังอยู่ระหว่างการระดมความเห็นและประเมินมุมมองให้รอบด้าน เพื่อให้ได้ข้อสรุป ก่อนที่จะนำไปเสนอแนะต่อภาคนโยบายต่อไป” นายสัมพันธ์ กล่าว
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข กล่าวว่า หากประเมินจากทางเลือกทั้ง 3 ทางที่มีอยู่ในขณะนี้ ประเทศไทยอาจสามารถสนับสนุนทางเลือกมากกว่า 1 ทางได้ โดยที่ไม่เป็นการขัดแย้งกัน ดังนั้นจุดตั้งต้นของการพูดคุย จึงควรเริ่มต้นจากสิ่งที่เราอยากได้ แล้วประเมินว่าสิ่งนั้นอยู่ในทางเลือกใด หากมีมากกว่า 1 ทาง ประเทศไทยเองก็อาจสามารถเลือกแทงม้าสองตัวได้เช่นกัน

“อย่าลืมว่าแม้จะไม่มีสิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว บางอย่างเราก็อาจไม่สามารถที่จะผลิตเองได้หากไม่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ฉะนั้นเราจะต้องดูจากความเป็นจริง ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกว่าเพียงต้องการให้ยกเลิกทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมด เพราะไม่ใช่ยกเลิกแล้วแปลว่าจะผลิตได้ หรือก็ไม่ได้ใช้วิธีเจรจาเพียงอย่างเดียว เพราะก็ไม่แน่ว่าจะได้เช่นกัน” นพ.สุวิทย์ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการ NCITHS เป็นกลไกกลางที่เกิดขึ้นจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 เพื่อทำหน้าที่รวบรวมความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ภาคธุรกิจ เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ภาควิชาการ รวมไปถึงภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมจากการค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ NCITHS จะมีบทบาทในการระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหนุนเสริมการตัดสินใจของภาครัฐในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือนโยบายสุขภาพของประเทศ พร้อมกับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้ผู้มีอำนาจประกอบการตัดสินใจ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: