สุ่มตรวจอาหารเจเลียนเนื้อสัตว์ พบ DNA เนื้อจริง 17.5%

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 ต.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2043 ครั้ง

สุ่มตรวจอาหารเจเลียนเนื้อสัตว์ พบ DNA เนื้อจริง 17.5%

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจอาหารในเทศกาลกินเจช่วงปี 2564 ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล จำนวน 93 ตัวอย่าง ผลตรวจพบอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ เช่น เป็ดเจ หมูสามชั้นเจ ลูกชิ้น ปลาเค็ม 57 ตัวอย่างพบดีเอ็นของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน 17.5%

Thai PBS รายงานเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 ว่านพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการตรวจเฝ้าระวังอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลกินเจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2564 ได้มีการเฝ้าระวังทั้งปี โดยแบ่งอาหารเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ อาหารประเภทเส้น และผักผลไม้สดจากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลรวมจำนวน 93 ตัวอย่าง

“ผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่าอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ เช่น เป็ดเจ หมูสามชั้นเจ ลูกชิ้น ปลาเค็ม ไส้กรอก 57 ตัวอย่าง ตรวจพบดีเอ็นเอ ของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน 10 ตัวอย่างร้อยละ 17.5”

นอกจากนี้ อาหารประเภทเส้น เช่น วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ จำนวน 15 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบกรดซอร์บิก ซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหารประเภทนี้ แต่ตรวจพบกรดเบนโซอิก จำนวน 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 60 ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 304-855 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่มีตัวอย่างใดเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด

ทั้งนี้ กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก เป็นวัตถุกันเสียที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ มีความเป็นพิษต่ำ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอันตรายได้สำหรับผู้แพ้สารนี้ เช่น เกิดผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น

“ผักและผลไม้สด เช่น คะน้า ขึ้นฉ่าย ถั่วฝักยาว แครอท มะเขือเทศ ส้ม แอปเปิ้ล มันญี่ปุ่น จำนวน 21 ตัวอย่าง ตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในส้มและแอปเปิ้ล จำนวน 5 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 23.8”

นพ.ศุภกิจ กล่าว่า การกินเจเพื่อให้มีสุขภาพดี ควรรับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย ถูกหลักโภชนาการ รับประทานอาหารเจให้หลากหลายชนิด และปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ควรซื้ออาหารมาเก็บไว้นานๆ หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารนั้นควรเก็บไว้ในตู้เย็นและนำมาอุ่นก่อนรับประทาน

สำหรับการรับประทานอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคหรือผู้ปรุงอาหารควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่เชื่อถือได้ และควรมีฉลากระบุสถานที่ผลิต วันเดือนปี และเครื่องหมาย อย.หรือเลขสารระบบอาหารที่ชัดเจน เพราะถ้าแหล่งผลิตไม่ได้มาตรฐานบางครั้งอาจมีส่วนประกอบ เช่น ไข่ นม หรือเนื้อสัตว์ปนเปื้อน ส่วนผักและผลไม้สด ควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนรับประทานหรือนำมาปรุงอาหาร เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคและได้รับความสุขทั้งกายและใจตลอดช่วงเทศกาลกินเจปีนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: