ม.มหิดล ชี้จับตา 'ประชากรรุ่นเกิดล้าน' ที่เกิด 2506-2526 เป็นทิศทางโจทย์วิจัยสนองอนาคตสังคมสูงวัย

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 พ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2550 ครั้ง

ม.มหิดล ชี้จับตา 'ประชากรรุ่นเกิดล้าน' ที่เกิด 2506-2526 เป็นทิศทางโจทย์วิจัยสนองอนาคตสังคมสูงวัย

ม.มหิดล ชี้จับตา 'ประชากรรุ่นเกิดล้าน' ที่เกิดระหว่าง 2506-2526 จะกลายเป็น 'สึนามิประชากร' ที่เคลื่อนสู่ 'ฝั่งผู้สูงวัย' ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ถือเป็นทิศทางโจทย์วิจัยสนองอนาคตสังคมสูงวัย | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2564 งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนระบุว่าหากย้อนไปถึงเมื่อปี 2514 จะพบว่าเป็นปีที่มีอัตราเกิดของประชากรไทยสูงที่สุด จากการมีเด็กเกิดใหม่ถึง 1.2 ล้านคน จนเรียกได้ว่าเป็น "ประชากรรุ่นเกิดล้าน" และเป็นปีเดียวกับที่ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) ได้รับการจัดตั้งขึ้นเทียบเท่าคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของสถาบันฯกล่าวในฐานะผู้บุกเบิกและมีบทบาทสำคัญในการสำรวจและวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรเพื่อการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายของประเทศไทยว่า นับเป็นเวลาครึ่งศตวรรษแล้วที่สถาบันฯ ได้รับใช้ประเทศชาติด้วยการเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล สร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยที่เกิดขึ้นจากการสำรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรไทย ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การตาย และการย้ายถิ่น ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมามีนักวิจัยของสถาบันฯ ได้เป็นคณะทำงานร่วมจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในทุกฉบับ เพื่อการขับเคลื่อนสู่นโยบายของประเทศไทย

"ประชากรรุ่นเกิดล้าน" อยู่ในช่วงระหว่างปี 2506-2526 ซึ่งนโยบายของประเทศไทยในขณะนั้น มุ่งไปที่การวางแผนครอบครัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าคนรุ่นใหม่นิยมอยู่เป็นโสด ไม่แต่งงาน และมีลูกกันน้อยลง อัตราเกิดของประชากรไทยจึงลดต่ำลงไปด้วย

จึงเกิดคำถามว่า เราจะเตรียมพร้อมนโยบายทางประชากรของประเทศไทยให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรของไทยอย่างไร เมื่อ "ประชากรรุ่นเกิดล้าน" ที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 จะกลายเป็น "สึนามิประชากร" ที่เคลื่อนสู่ "ฝั่งผู้สูงวัย" ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ได้ให้มุมมองว่า การแก้ปัญหาอัตราเกิดต่ำ ด้วยการส่งเสริมให้ประชากรมีลูกกันมากขึ้น อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีนักสำหรับสังคมไทย หากไม่ได้พิจารณาถึงคุณภาพของการเกิด หรือเกิดด้วยความไม่พร้อม

ซึ่งตัวเลขการเกิดของประชากรไทยในปี 2563 ซึ่งเป็นปีล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 587,000 คน และอาจมีแนวโน้มต่ำลงไปอีกประมาณ 2-3 หมื่นคนตามวิกฤติ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

โดยการประกาศจำนวนเกิดของประชากรไทยในแต่ละปีจะนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 ธ.ค. ของปีนั้น ๆ แล้วจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในอีกประมาณ 2-3 เดือนถัดไป

"ปัญหาที่เร่งด่วนมากกว่าปัญหาอัตราเกิดฮวบต่ำลงในขณะนี้ คือ การเตรียมพร้อมอย่างไรเมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งประชากรที่เกิดในช่วงระหว่างปี 2506-2526 ถือเป็นต้นแบบที่ดีที่สุดในการนำมาพิจารณาเป็นโจทย์เพื่อการศึกษาวิจัยให้ตอบสนองทิศทางความต้องการของผู้สูงวัยไทยในอนาคต โดยควรเน้นให้เตรียมพร้อมเรื่องสุขภาพ และระวังการใช้จ่าย หมั่นเก็บออมไว้เพื่ออนาคต" ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ประสาทกุล กล่าวแนะนำทิ้งท้าย

รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คนปัจจุบัน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจของสถาบันฯ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยใน 50 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีเพียงงานวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรเท่านั้น ยังมีงานวิจัยเพื่อติดตามพฤติกรรมทางสุขภาพของประชากร ความเท่าเทียมทางการศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ แรงงานย้ายถิ่น หรือแม้แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ฯลฯ ที่ตอบโจทย์เกือบทุกเป้าหมาย SDGs เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งนอกจากเพื่อการขับเคลื่อนสู่นโยบายในระดับชาติแล้ว ยังได้ขยายผลสู่การสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติต่อไปอีกด้วย โดยสถาบันฯ พร้อมเดินหน้ารับใช้ประชาชน สร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อส่งเสริมคุณภาพประชากรไทย และร่วมทำโลกนี้ให้มีอนาคตที่ยั่งยืนต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: