เสวนาออนไลน์ 'สุขภาวะและทางรอดสื่อมวลชนไทยฝ่าภัยโควิด-19' เหตุ 2 ปีที่ผ่านมาคนทำสื่อถูกปลดออกเลิกจ้าง ลดเงินเดือนจำนวนมากแล้วเจอพิษโควิดซ้ำเติม นักวิชาการชี้สื่อต้องปรับตัวทั้งเทคโนโลยีและเนื้อหาไปสู่คุณภาพ ขณะที่ตัวแทนสื่อเผยมีสื่อที่เดือดร้อนอีกมากเรียกร้องให้สำรวจข้อมูลเร่งด่วน เสนอควรจะผลักดันตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบ
มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมวิชาชีพสื่อและสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จัดประชุมระดมความเห็นผ่านระบบ Zoom เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 หัวข้อ "สุขภาวะและทางรอดสื่อมวลชนไทยฝ่าภัยโควิด-19" เหตุ 2 ปีที่ผ่านมาคนทำสื่อถูกปลดออกเลิกจ้าง ลดเงินเดือนจำนวนมากแล้วเจอพิษโควิดซ้ำเติม นักวิชาการชี้สื่อต้องปรับตัวทั้งเทคโนโลยีและเนื้อหาไปสู่คุณภาพ ขณะที่ตัวแทนสื่อเผยมีสื่อที่เดือดร้อนอีกมากเรียกร้องให้สำรวจข้อมูลเร่งด่วน เสนอควรจะผลักดันตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบ
เผยก่อนการระบาดของ โควิด-19 ธุรกิจสื่อและคนทำงานด้านสื่อสารมวลชนได้รับผลกระทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีจาก Digital transformation
รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและโควิด-19 ของสื่อมวลชนว่า ก่อนการระบาดของ โควิด-19 ธุรกิจสื่อและคนทำงานด้านสื่อสารมวลชนได้รับผลกระทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือ Digital transformation โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และวิทยุล้วนได้รับผลกระทบมีทั้งการปิดตัวเลิกกิจการ เลิกผลิตสื่อ มีการปลดออก เลิกจ้าง หลายสื่อมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดโดยหันมาทำสื่อออนไลน์ และ Social Media กันมากขึ้น เนื่องจากสังคมไทยได้เข้าสู่ยุคโมบายมีเดีย ดังนั้นเมื่อมาเจอการระบาดที่รุนแรงของโควิด-19 ยิ่งทำให้สื่อมวลชนจะต้องปรับตัวเร็วขึ้นและแรงขึ้นสื่อต้องอยู่ได้และอยู่เป็น ทุกคนต้องเชื่อมั่นในศักยภาพและเติมจุดแข็งให้กับตัวเอง สื่อกระแสหลักถ้าไม่ปรับตัวก็จะอยู่ไม่ได้เพราะโควิด-19 ทำให้คนอยู่กับบ้านมากขึ้น ทีวีก็จะมาอยู่บนโลกออนไลน์กิจกรรมของคนอยู่บนโลกออนไลน์ ทั้งการซื้อสินค้าออนไลน์ การขายของออนไลน์ เม็ดเงินจากการโฆษณาจากภาคธุรกิจ เอกชนก็จะไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น
สิ่งสำคัญคือสื่อต้องปรับตัวนำเสนอเนื้อหาข่าวสารต่างๆ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพราะผู้บริโภคมีคุณภาพมากขึ้น ข่าวและข้อมูลจะต้องมีความลึกมีความน่าเชื่อถือ ผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกว่าต้องการข่าวแบบไหน เพราะฉะนั้นคนทำงานด้านสื่อสารมวลชนจะต้อง มีความรู้เรื่องดิจิทัล ต้องมีจริยธรรม มีจรรยาบรรณ คุณธรรมควบคู่ไปกับถูกตรวจสอบได้ โดยเฉพาะสื่อดั้งเดิมซึ่งมีประสบการณ์เป็นจุดได้เปรียบอยู่แล้วแต่จะต้องทำการบ้านเยอะขึ้นเพิ่มบทบาทของผู้ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารหรือ Data Analysis ต้องตรวจสอบข่าวปลอมเป็น “ในอนาคตหลัง โควิด-19 ธุรกิจสื่อและคนทำงานด้านสื่อจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเพราะทุกอย่างจะอยู่บนโลกออนไลน์ อยู่บนมือถือ ผู้บริโภคจะมีการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารมีผลต่อสังคมและโลกทั้งโลก ผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารจะรู้เท่าทันสื่อจึงต้องคำนึงว่าจะผลิตสื่อให้มีคุณภาพมากขึ้นได้อย่างไรในสังคมแห่งความรู้หรือ Knowledge Society” รศ.ดร.กุลทิพย์กล่าว
สื่อมวลชนต้องยกระดับทักษะความสามารถให้อยู่รอดต่อไปได้
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สื่อมวลชนที่มีบทบาทอยู่ในองค์กรวิชาชีพมายาวนาน กล่าวว่าสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีหน้าที่กำกับดูแลองค์กรสื่อต่างๆ ที่เป็นสมาชิก ส่วนการดูแลคนทำสื่อเป็นรายบุคคลมีองค์กรวิชาชีพสื่อต่าง ๆ ดูแลอยู่แล้ว ยอมรับว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและโควิด-19 มีผลมาก สื่อมวลชนไม่น้อยตกงาน ส่วนที่ยังอยู่ก็ต้องมีการปรับตัวขณะนี้เรามีการจัดอบรมต่าง ๆ เพื่อยกระดับทักษะความสามารถให้อยู่รอดต่อไปได้ โดยเฉพาะการทำสื่อใหม่ทางออนไลน์จะต้องพัฒนาเรื่องเนื้อหาดี ๆ ควบคู่ไปกับการตลาดเผยสู่สาธารณะที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและสร้างรายได้กับคนทำสื่อด้วย
ส่วนการช่วยเหลือสื่อมวลชนที่เดือดร้อนนั้น สมาคมวิชาชีพมีกองทุนการช่วยเหลือฉุกเฉินเฉพาะเรื่องการตกงานแต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นสมาชิกขององค์กรนั้นด้วย ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกจะไม่ได้การช่วยเหลือตรงนี้ ขณะเดียวกันยังมีโครงการที่พยายามช่วยเหลือสื่อมวลชนที่ตกงานด้วยการจัดทำโครงการเสนอขอรับทุนจากผู้สนใจเพื่อทำข่าวเจาะในเชิงลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเกาะติด รวมทั้งการเปิดช่องทางออนไลน์ให้สื่อที่ต้องการหางานกับธุรกิจหรือองค์กรที่ต้องการคนทำงานได้เจอกันก็จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง
สื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยมีความเครียด โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อและผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19
นางสาวชามานันท์ สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการ ประชาสัมพันธ์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เห็นความสำคัญของบทบาทสื่อมวลชนในการเป็นสื่อกลางสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาวะกับประชาชนทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา สสส.และภาคีจึงได้ทำงานร่วมกับสื่อมวลชนในรูปแบบต่างๆ เพราะถือว่าสื่อมวลชนก็เป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาวะทั้ง 4 มิติ เช่น สุขภาวะทางกาย มีสื่อมวลชนบางส่วนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ สื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยมีความเครียด โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อและผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ต่อสื่อมวลชนในช่วงนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย จึงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและร่วมกันสนับสนุนให้สื่อมวลชนผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ มีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย จิต สังคม ปัญญา และยังคงดำรงบทบาทสำคัญในการสร้างการเรียนรู้และการรู้เท่าทันให้กับประชาชนโดยเฉพาะภัยที่มาจากออนไลน์ทั้งการพนัน การหลอกลวง เกมออนไลน์ ฯลฯ อยากให้สื่อตอกย้ำนำเสนอต่อเนื่องรวมทั้งการชี้นำสังคมในทิศทางที่ดีด้วย นำเสนอข่าวสารที่มีคุณค่าภายใต้จรรยาบรรณและจริยธรรมสื่อ ขณะเดียวกันได้เสนอให้สื่อเปิดพื้นที่ในการเสนอข่าวประเด็นสุขภาวะให้มากขึ้น มีการทำงานร่วมกันกับภาคีของสสส.ในอนาคตมากขึ้นด้วย
เสนอตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยเหลือ
ด้านนายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสู่ดิจิทัลต่อสื่อมวลชนที่ว่ารุนแรงแล้วเมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 ซ้ำเติมเข้ามาอีกทำให้คนทำงานสื่อมวลชนประสบความยากลำบาก หลายคนต้องว่างงาน หลายคนถูกลดค่าจ้างเงินเดือน สื่อมวลชนหลายคนหรือคนในครอบครัวติดโควิด-19 มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) จึงอยากเสนอให้มีการจับมือกันขององค์กรวิชาชีพสื่อ ภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ในการเยียวยาลดผลกระทบในรูปแบบต่างๆ เช่นการตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยเหลือ โดยมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะพร้อมจะจับมือกับทุกฝ่ายในการดำเนินการในเรื่องนี้
ในขณะที่ผู้แทนสื่อมวลชนหลายคน เช่น นายศักดา แซ่เอียว หรือนักวาดการ์ตูนจาก นสพ.ไทยรัฐบอกว่ามีสื่อมวลชนไม่น้อยที่ออกจากงานแล้วยังไม่มีงานอยู่ด้วยความยากลำบาก โทร.มาหาก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร จึงอยากจะให้สำรวจข้อมูลคนเหล่านี้ด้วย ส่วนนายเจก รัตนตั้งตระกูล ผู้ประกาศข่าวชื่อดังจาก TNN ระบุว่าสื่อประสบปัญหามากอยากจะให้ช่วยพัฒนาทักษะออนไลน์ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพใจและสุขภาพกายของสื่อจึงอยากจะให้มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันทางออนไลน์บ่อยๆ ส่วนสื่ออื่นๆ ทั้งจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ รวมทั้งสื่อท้องถิ่น ได้เสนอความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงผลกระทบเรียกร้องให้มีการสำรวจจำนวนสื่อมวลชนที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อจะหาทางช่วยเหลือเยียวยากันต่อไปและเห็นด้วยหากทุกฝ่ายจะร่วมมือกันผลักดันให้เกิดกองทุนช่วยเหลือผลกระทบที่เกิดขึ้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ