Rocket Media Lab: บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายดีไหม ทั่วโลกจัดการอย่างไรบ้าง

Rocket Media Lab 18 พ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 51346 ครั้ง

Rocket Media Lab ชวนสำรวจสถานการณ์มาตรการทางกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกว่าจัดการกันอย่างไร ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของบุหรี่ไฟฟ้า | ที่มาภาพประกอบ: CDC on Unsplash (อ้างใน Rocket Media Lab)

Rocket Media Lab รายงานเมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2564 ว่าบุหรี่ไฟฟ้ากลับมาเป็นประเด็นที่พูดถึงอีกครั้งเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2564 จากการแสดงความเห็นของนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ให้สัมภาษณ์สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ว่า ตนเองกำลังศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมองว่าการทำให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายจะสามารถลดอันตรายแก่ผู้สูบได้ พร้อมระบุว่าเครื่องยาสูบที่เป็นไฟฟ้าถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ 67 ประเทศทั่วโลกมีการยอมรับบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว นอกจากนี้ยังหยิบยกเหตุผลว่า เนื่องจากโรงงานยาสูบและผู้ปลูกยาสูบเองก็มีรายได้ลดลง เนื่องจากคนนิยมไปสูบบุหรี่นำเข้า หรือบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้ามา แต่ต่อมานายสาธิต วงศ์หนองเตย รมช.กระทรวงสาธารณสุขออกมาปฏิเสธว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย

ปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้าเป็นของต้องห้ามในประเทศไทย โดยถูกจัดว่าผิดกฎหมายและห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ภายใต้พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ผู้ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับพร้อมถูกริบสินค้า และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดนำเข้าของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการทางศุลกากรเข้าในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดน หรือการถ่ายลำเลียงโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัด หรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ซึ่งความผิดที่ผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งของที่มิได้ผ่านพิธีการศุลกากรจะได้รับคือ ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิด

ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่จำนวนหนึ่ง แต่จำนวนผู้สูบยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ไม่สามารถระบุตัวเลขได้แน่ชัด ขณะที่เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเรียกร้องให้มีการควบคุมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมายระบุว่า มีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยราว 2 ล้านคน แต่หลังจากนั้นมีการแถลงข่าวเปิดเผยผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า โครงการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพประชากร ปี 2564 พบว่า ประชากรไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีจำนวน 78,742 คน คิดเป็นอัตรา 0.14%

บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงในแวดวงสาธารณสุขและนโยบายสาธารณสุขในต่างประเทศ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ฟากผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าให้เหตุผลว่า เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าเมื่อเทียบกับบุหรี่ทั่วไป ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกปีละหลายล้านคน แต่ตัวเลขจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วสร้างความตื่นตระหนกว่า คนรุ่นใหม่จะหันมาเสพติดนิโคตินผ่านอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งจำนวนหนึ่งมีนิโคตินเข้มข้น ขณะเดียวกันหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้ปลอดภัยในระยะยาวก็ยังไม่มากพอ หลายประเทศมีรายงานผู้ป่วยและเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของบุหรี่ไฟฟ้าที่อาจไปไกลเกินกว่าการควบคุมดูแลและผลการวิจัย 

ท่ามกลางการอภิปรายประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกประเทศ และในโอกาสที่จะมีการประชุมว่าด้วยกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (The WHO Framework Convention on Tobacco Control) ครั้งที่ 9 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ Rocket Media Lab จึงชวนมาสำรวจสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศต่างๆ และมาตรการที่เกี่ยวข้อง

ประเทศที่ห้าม-อนุญาตจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า

จากการรวบรวมข้อมูลของ Rocket Media Lab ทั้งจากข้อมูลที่เผยแพร่โดย ศูนย์ธรรมาภิบาลนานาชาติในการควบคุมยาสูบ (Global Centre for Good Governance in Tobacco Control หรือ GGTC) ที่รวบรวมข้อมูลจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2021 และแหล่งข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม พบว่า มี 35 ประเทศห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า มี 3 ประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคติน ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา ส่วนประเทศที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ภายใต้กฎหมายควบคุมมี 73 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มี 34 ประเทศที่ควบคุมนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า

ขณะที่ญี่ปุ่นไม่มีมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าแบบไม่มีนิโคติน (Non-nicotine e-cigarettes) บุหรี่ไฟฟ้าแบบที่มีนิโคตินได้รับการควบคุมตามกฎหมายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามยังไม่มีบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคตินได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข ส่วน heat-not-burn tobacco product อยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายยาสูบ และเก็บภาษีตามกฎหมายยาสูบด้วย ข้อมูลในตารางเป็นบุหรี่ไฟฟ้าแบบมีนิโคติน 

ส่วนในออสเตรเลีย บุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีสารนิโคตินเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ละรัฐมีกฎหมายแตกต่างกัน มาตรการหลักเดียวกันคือ การกำหนดอายุขั้นต่ำ ห้ามใช้ในที่สาธารณะ และข้อห้ามเกี่ยวกับการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ส่วนบุหรี่ไฟฟ้าแบบที่มีสารนิโคติน ใช้และนำเข้าได้เฉพาะมีใบสั่งยาจากแพทย์ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 ด้านศรีลังกา ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนประกอบของยาสูบ 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในแต่ละประเทศยังคงมีการแก้ไขเป็นระยะตามการถกเถียงในแต่ละช่วงเวลา เช่นที่ เม็กซิโก ที่เคยประกาศห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า แต่พฤศจิกายน 2562 ศาลฎีกาตัดสินว่ากฎหมายนี้ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลังคำตัดสิน 

มาตรการกำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลก

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น ในช่วง 4-5 ปีมานี้ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ความสนใจ เนื่องจากมีผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และถูกมองว่าสามารถใช้เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สูบน้อยลง จนนำไปสู่การเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด รวมถึงมีรายงานเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้งาน เช่น มีรายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกาว่า ในปี 2563 ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสียชีวิตอย่างน้อย 68 คน ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังเห็นว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นภัยต่อสุขภาพและไม่ปลอดภัย แม้จะยังไม่มีรายงานผลกระทบระยะยาวและการเปรียบเทียบระหว่างบุหรี่ทั่วไปและบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยเหตุที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้แน่ชัด แต่ละประเทศจึงมีแนวทางจัดการกับบุหรี่ไฟฟ้าที่แตกต่างกันออกไป และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

จากการรวบรวมข้อมูลมาตรการทางกฎหมายใน 73 ประเทศที่อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าจาก Institute for Global Tobacco ControlCampaign for Tobacco-Free Kids และ Ajay Shah, John Britton & Ilze Bogdanovica (2021) ระหว่างกุมภาพันธ์ 2563-กันยายน 2564 พบว่า แต่ละประเทศมีแนวทางในการจัดการกับบุหรี่ไฟฟ้าที่แตกต่างกันอย่างมาก มีทั้งประเทศที่ไม่มีมาตรการควบคุมใดๆ เลยจนถึงระบุรายละเอียดว่า ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในรถที่มีเด็กโดยสารอยู่ด้วย ในภาพรวมจากทั้งหมด 76 ประเทศ (รวมออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและศรีลังกาที่มีมาตรการสำหรับบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีสารนิโคติน) ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าต้องจำกัดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อ คิดเป็น 81.57% (62 ประเทศ) หรือมากกว่า 3 ใน 4 ที่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกับการจำกัดการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ซึ่งราว 70% (50-56 ประเทศ) มีมาตรการควบคุมด้านนี้ รวมถึงการห้ามสูบในพื้นที่สาธารณะ 73.61% (53 ประเทศ)

มาตรการกำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศต่างๆ ครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้ 

  • การจำหน่ายและการกำหนดอายุขั้นต่ำ
  • การควบคุมผลิตภัณฑ์ ปริมาณและความเข้มข้นของนิโคติน ความปลอดภัยและความสะอาดส่วนประกอบของอุปกรณ์ กลิ่นและรส
  • การโฆษณา ส่งเสริมการขายและให้การสนับสนุนกิจกรรม
  • บรรจุภัณฑ์ คำเตือนด้านสุขภาพ
  • ความปลอดภัยกับเด็ก
  • การขออนุญาตก่อนจำหน่าย
  • มาตรการทางภาษี
  • การจัดประเภท

เมื่อพิจารณารายละเอียด จะเห็นได้ว่าประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียูมีแนวปฏิบัติที่มีรายละเอียดมากกว่า ทั้งการควบคุมการแต่งกลิ่น คุณลักษณะของอุปกรณ์ที่ใช้สูบและสารเหลว ไปจนถึงปลอดภัยจากการสัมผัสจากเด็ก ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากสหภาพยุโรปมี EU Tobacco Products Directive (TPC) กฎหมายกำกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่พฤษภาคม 2559 เป็นต้นมา ภายใต้ TPC มีข้อกำหนดที่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวดหลายด้าน เช่น จำกัดไม่ให้มีนิโคตินเกิน 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และไม่อนุญาตให้ผสมสารอื่นที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ลงไป โดยมีเพียง 2 ประเทศที่อยู่นอกทวีปยุโรปที่มีการควบคุมเรื่องนี้ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย อิสราเอล ซึ่งมีการแก้กฎหมายยาสูบครั้งสำคัญเมื่อปี 2561 และมีการออกมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะซึ่งครอบคลุมการจำกัดปริมาณนิโคติน และบังคับให้อุปกรณ์บรรจุของเหลวปลอดภัยจากเด็กเพื่อลดความเสี่ยงที่เด็กจะสัมผัสกับสารที่เป็นอันตราย ข้อบัญญัติสหภาพยุโรปนอกจากจะจำกัดความเข้มข้นของนิโคตินแล้ว ยังกำหนดให้ขวดบรรจุสารเหลวมีขนาดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม และกระบอกที่ติดอยู่กับอุปกรณ์สูบไม่เกิน 2 มิลลิลิตรด้วย 

 ขณะที่อีกหลายประเทศที่อนุญาตให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมอื่นๆ เช่น แอฟริกาใต้ ซึ่งอนุญาตให้สูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ แต่มาตรการอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการร่างกฎหมาย

นอกจากนี้แม้ส่วนใหญ่จะจัดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้กฎหมายควบคุมยาสูบหรือบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะ คิดเป็น 77% แต่บางประเทศจัดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ไว้ในบางกรณีด้วย เช่น สหราชอาณาจักร ที่มองว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์

การกำหนดอายุขั้นต่ำในการซื้อบุหรี่ไฟฟ้า

การเข้าถึงบุหรี่ของเยาวชนเป็นข้อกังวลของหน่วยงานสาธารณสุขในหลายประเทศ เมื่อพิจารณามาตรการจำกัดการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแก่เยาวชน พบว่า จากทั้งหมด 76 ประเทศ (รวมออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา) มี 62 ประเทศ หรือคิดเป็นสัดส่วน 81.57% ที่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ประเทศที่ไม่มีมาตรการนี้มีเพียง 7 ประเทศ ได้แก่ จาไมกา ญี่ปุ่น เซเนกัล เซอร์เบีย ยูเครน เอลซัลวาดอร์ แอฟริกาใต้ ส่วนประเทศอื่นๆ ไม่พบข้อมูล

การควบคุมการซื้อบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์

จากประเทศที่อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด 76 ประเทศ  (รวมออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา) พบว่าเกินครึ่งไม่มีข้อห้ามการจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต มีทั้งหมด 44 ประเทศ คิดเป็น 57.89% ส่วนอีก 25 ประเทศมีมาตรการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ คิดเป็น 32.89% หรือประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมด ที่น่าสนใจคือประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกก็ห้ามขายและโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าทางอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ปลายปี 2019 ด้วยเหตุผลว่าต้องการป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ส่วนในยุโรป EU directive ให้แต่ละประเทศกำหนดเองว่าจะแบนการขายทางออนไลน์หรือไม่ ประเทศสมาชิกอียูที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ เช่น เบลเยียม 

การควบคุมการแต่งกลิ่นน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า

จากประเทศที่อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด 76 ประเทศ  (รวมออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา) พบว่า มีเพียง 14 ประเทศคิดเป็น 18.42 % ที่มีมาตรการจำกัดการแต่งกลิ่นน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ ฟิลิปปินส์ มอลโดวา ลักเซมเบิร์ก สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรีย เอสโตเนีย ไอซ์แลนด์ ฮังการี มาตรการควบคุมการแต่งกลิ่นมีทั้งการห้ามแต่งกลิ่นทุกชนิด และห้ามเฉพาะบางกลิ่น เช่น แคนาดาแบนการแต่งกลิ่นทุกชนิดยกเว้น เมนทอล มินต์ และยาสูบ เพื่อพยายามไม่ให้ดึงดูดใจเยาวชน

มาตรการจำกัดการโฆษณาและส่งเสริมการขาย

ประเทศส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างมากดังจะเห็นได้ว่า จากประเทศที่อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด 76 ประเทศ  (รวมออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา)  พบว่าราว 3 ใน 4 ของทั้งหมด หรือ 58 ประเทศที่มีมาตรการนี้ มีเพียง 9 ประเทศที่ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ ได้แก่ จาไมกา จีน ซาอุดีอาระเบีย ทาจิกิสถาน มาเลเซีย ยูเครน อินโดนีเซีย เอลซัลวาดอร์ แอฟริกาใต้ มาตรการนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า เช่น นิวซีแลนด์บังคับใช้กฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าและห้ามไม่ให้บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2563 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชน ผู้สนับสนุนมาตรการนี้มองว่า กิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ มีเป้าหมายเป็นเยาวชนและมักจะเสนอภาพการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการผ่อนคลาย ไม่ใช่อุปกรณ์ช่วยให้คนเลิกบุหรี่

มาตรการทางภาษีบุหรี่ไฟฟ้า

แม้ว่าการเก็บภาษีจะมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ให้กับรัฐ มันยังถูกนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ทำให้คนบริโภคน้อยลง เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ภาษีที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้ามักจะเป็น ภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต มีบางประเทศที่ใช้วิธีเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าและสารเหลวนิโคตินเพิ่มขึ้นจากภาษีสินค้าปกติ ในปี 2015 มีแค่ 2 ประเทศที่ใช้แนวทางนี้คือ เกาหลีใต้และโตโก แต่ในปี 2563 มีหลายประเทศเก็บภาษีสรรพสามิต 

จากประเทศที่อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด 76 ประเทศ  (รวมออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา)พบว่า เกินครึ่ง (55.26 %) ไม่มีมาตรการด้านภาษี มีจำนวน 42 ประเทศ ขณะที่ มี 27 ประเทศหรือคิดเป็น 35.52% ที่มีมาตรการทางภาษีสำหรับบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะ เช่น ปารากวัย เก็บภาษีการค้าของบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งถูกจัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ 16% ซึ่งถือว่าสูงกว่าภาษีการค้า 10%

ประเทศต่างๆ มีกรอบคิดในการจัดการกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไร

หากพิจารณาภาพรวมแนวทางที่ประเทศต่างๆ กำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้าทั้งอนุญาตให้จำหน่ายและไม่อนุญาตใน 97 ประเทศ นักวิจัยจาก Global Strategy Lab มหาวิทยาลัยโตรอนโต แคนาดาวิเคราะห์ว่า อาจจำแนกตามฐานคิดได้ 7 แบบ ได้แก่ 

  1. การห้าม ปิดกั้นกระบวนการทางกฎหมายทุกช่องทางเพื่อป้องกันอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า ห้ามเป็นเจ้าของ ห้ามผลิต ส่งออก นำเข้า และซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล บรูไน กัมพูชา โคลอมเบีย อียิปต์ แกมเบีย อินเดีย อิหร่าน คูเวต ลาว เลบานอน มอริเชียส เม็กซิโก เนปาล นิคารากัว โอมาน ปานามา กาตาร์ ซีเชลล์ สิงคโปร์ ศรีลังกา ซูรินาม ซีเรีย ไทย ติมอร์เอสเต ตุรกี เติร์กเมนิสถาน ยูกันดา อุรุกวัย 
  2. การควบคุมในฐานะที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ปิดกั้นกระบวนการทางกฎหมายทุกช่องทาง ยกเว้นเพื่อการรักษา จำกัดการใช้เฉพาะผู้ป่วยที่มีใบรับรองแพทย์ บังคับใช้ระเบียบทางการแพทย์ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม แคนาดา ชิลี เดนมาร์ค เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ จาไมกา ญี่ปุ่น นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ สวีเดน ไทย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เวเนซูเอลา
  3. ห้ามส่วนประกอบบางชนิด ป้องกันความเสี่ยงสูงสุดของบุหรี่ไฟฟ้า เช่น การเสพติดและการใช้ของเยาวชน ห้ามใช้สารเหลวนิโคติน จำกัดปริมาณนิโคติน ห้ามแต่งกลิ่นและรสเพื่อดึงดูดเยาวชน ได้แก่ ออสเตรีย ออสเตรเลีย เบลเยียม แคนาดา โครเอเชีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี จาไมกา ญี่ปุ่น แลตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา มอลโดวา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย ซาอุดีอาระเบีย สโลวาเกีย สโลเวเนีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร 
  4. การควบคุมในฐานะที่เป็นสารพิษ เป็นการป้องกันสารที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้งาน ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคติน จำกัดการใช้สารเหลวนิโคติน บังคับให้มีคำเตือน ได้แก่ ออสเตรเลีย เบลเยียม มาเลเซีย บรูไน
  5. การควบคุมในฐานะที่เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ มองว่าบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว ห้ามขายให้เยาวชน ห้ามทำกิจกรรมทางการตลาดและส่งเสริมการขาย จำกัดการขายและใช้งานในบางพื้นที่ ต้องมีคำเตือน ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรีย อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บราซิล บรูไน บัลแกเรีย โคลอมเบีย คอสตาริกา โครเอเชีย เอกวาดอร์ เอสโตเนีย ฟินแลนด์ จอร์เจีย ฟินแลนด์ เยอรมนี กรีซ ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย อิหร่าน อิตาลี แลตเวีย ลิทัวเนีย มัลดีฟส์ มอลตามอริเชียว เม็กซิโก มอลโดวา เนปาล เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นิคารากัว นอร์เวย์ ปาเลา ปานามา ปารากวัย โปแลนด์ โรมาเนีย เซเนกัล ซีเชลล์ สิงคโปร์ สโลวาเกีย สโลเวเนีย สเปน สวีเดน ทาจิกิสถาน ไทย โตโก ตุรกี เติร์กเมนิสถาน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เวเนซูเอลา เวียดนาม
  6. การควบคุมในฐานะที่เป็นสินค้าเพื่อบริโภค ลดอันตรายจากการใช้งานผิดหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่สมบูรณ์ มีมาตรฐานควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า บังคับใช้มาตรฐานบรรจุภัณฑ์ เช่น การแจ้งปริมาณนิโคติน ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอซ์แลนด์ อินโดนีเซีย ไอร์แลนด์ มอลโดวา เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เวเนซูเอลา
  7. การควบคุมในฐานะที่เป็นผลิตภัณฑ์พิเศษ อนุญาตให้ออกกฎหมายที่เจาะจงเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า มีกลไกการควบคุมใหม่เพื่อบุหรี่ไฟฟ้าเท่านั้น ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรีย อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บาร์บาโดส เบลเยียม บราซิล บัลแกเรีย กัมพูชา แคนาดา คอสตาริกา โครเอเชีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ เอสโตเนีย ฟิจิ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส แกมเบีย จอร์เจีย เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี จาไมกา จอร์แดน คูเวต ลาว แลตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา มอลโดวา เนปาล เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โอมาน ปานามา ปารากวัย โปแลนด์ โปรตุเกส กาตาร์ โรมาเนีย ซาอุดีอาระเบีย เซอร์เบีย สโลวาเกีย สโลเวเนีย สเปน ศรีลังกา ซูรินาม สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ซีเรีย ทาจิกิสถาน ไทย ติมอร์เลสเต เติร์กเมนิสถาน ยูกันดา ยูเครน สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อุรุกวัย

ทั่วโลกถกเถียงประเด็นอะไร

การถกเถียงเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังคงหาข้อสรุปไม่ได้ ฝั่งผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามองว่า นี่เป็นการช่วยเหลือคนนับล้านที่พยายามเลิกบุหรี่ ขณะที่ฝั่งคัดค้านมองว่าจะก่อให้เกิดผู้เสพติดบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาแทน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างฝ่ายต่างๆ เช่นนี้มีขึ้นในหลายประเทศ และแต่ละประเทศก็มีแนวทางตอบสนองต่อสถานการณ์ที่บุหรี่ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ที่แตกต่างกัน

ตัวช่วยเลิกบุหรี่?

สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกๆ ที่มีทิศทางสนับสนุนว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ติดบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ได้ รายงานของ NHS ในปี 2558 ที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปประมาณ 95% ถูกผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าอ้างถึงเป็นประจำ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากสหราชอาณาจักรควบคุมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเข้มงวดกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งการจำกัดอายุ คำเตือนทางสุขภาพ กำหนดปริมาณนิโคติน ห้ามทำการตลาดกับเยาวชน ไม่สามารถโฆษณาทางโทรทัศน์ นอกจากนี้ปริมาณนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าที่ขายในสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ ในยุโรปอยู่ที่ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ถือว่าต่ำกว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 59 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ล่าสุดมีรายงาน ว่าองค์การกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของสหราชอาณาจักรเปิดรับคำขอจากผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อขึ้นทะเบียนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งจะนับเป็นประเทศแรกของโลกที่จ่ายบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการรักษาการติดบุหรี่ หลังจากมีการโต้แย้งประเด็นนี้กันมายาวนาน

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อตุลาคม 2564 ของคณะสาธารณสุขศาสตร์และศูนย์มะเร็ง มหาวิทยาลัยซาน ดิเอโก สหรัฐอเมริกา นำโดยจอห์น เพียซ ชี้ว่า มีผู้ที่เลิกสูบบุหรี่และหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือยาสูบประเภทอื่นๆ เสี่ยงที่จะกลับไปสูบบุหรี่เหมือนเดิมอีกใน 1 ปีต่อมามากกว่าผู้ที่เลิกใช้ยาสูบทุกชนิดเลยราว 8.5% 

ส่งเสริมการเสพติดนิโคตินของเยาวชน?

การเพิ่มขึ้นของนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนเป็นความกังวลหลักของหน่วยงานสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกาหรือ CDC เปิดเผยรายงานว่า ระหว่างปี 2016-2019 ยอดขายบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเกือบ 300% และพบว่าในปี 2020 มีเกือบ 20% เป็นนักเรียนมัธยมปลาย รายงานชี้ว่า เป็นผลมาจากกลิ่นและรส รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ผลิตต้องการดึงดูดใจวัยรุ่น ปี 2019 สหรัฐอเมริกาตื่นตัวเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อมีรายงานพบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบกว่า 2,500 คน และเสียชีวิต 55 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า จนรัฐนิวยอร์กออกกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้าแต่งกลิ่น โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการดึงดูดใจวัยรุ่น อย่างไรก็ตามต้นเดือนมกราคม 2563 ศาลคว่ำกฎหมายนี้ โดยให้เหตุผลว่าใช้อำนาจมากเกินไป ต่อมากันยายน 2563 มีข้อกำหนดให้บริษัทต้องยื่นขออนุญาตก่อนวางจำหน่าย ล่าสุดเมื่อสิงหาคม 2021 องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกาหรือ FDA ประกาศห้ามขายผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าแต่งกลิ่นและรส 55,000 รายการเป็นครั้งแรก โดยให้เหตุผลว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเยาวชนในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ FDA เคยระบุว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นวิกฤตในหมู่เยาวชน

เช่นเดียวกับจีนที่มีรายงาน ว่า คนอายุน้อยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น แม้จะเป็นประเทศผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก แต่มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าของจีนยังไม่ชัดเจนนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เมื่อปลายปี 2562 เพิ่งห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์เพื่อป้องกันไม่ให้วัยรุ่นเข้าถึงได้ง่าย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อของจีนก็เคยทำแบบสำรวจในปีเดียวกัน พบว่านักเรียนมัธยมต้นที่อายุระหว่าง 12-15 ปีทั่วประเทศ 2.7% ใช้บุหรี่ไฟฟ้าภายใน 30 วันก่อนทำแบบสำรวจ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2014 ประมาณ 1.5% อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติร้านค้าต่างๆ ก็ยังคงขายอุปกรณ์และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าโดยไม่ตรวจสอบอายุ การขายออนไลน์ยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะในแอปพลิเคชั่น WeChat ปัจจุบันร่างกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งจะเทียบเคียงกับบุหรี่ยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่มีนาคม 2564 ต่อมา เมื่อเดือนตุลาคม 2564 มีการเผยผลสำรวจนักเรียนมัธยมต้น 2,400 คนในหลายเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนพบว่า 4.5% เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างน้อย 1 ครั้งและ 1.6% เพิ่งสูบบุหรี่ไฟฟ้าภายใน 30 วันก่อนทำแบบสอบถาม เรื่องนี้ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้รัฐให้ความสำคัญกับการควบคุม เช่น ควรห้ามออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ล่อใจวัยรุ่น

ปลอดภัยกว่า?

หนึ่งในประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงคือ บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยหรือไม่ เนื่องจากเป็นผลกระทบระยะยาว ในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เห็นว่า “ค่อนข้างมาก” เพราะว่ามันไม่ปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งก่อให้เกิดโรคปอดและมะเร็ง จึงมองว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไป และการติดนิโคตินอันตรายน้อยกว่าสารอื่นๆ สิ่งทดแทนบุหรี่ที่มีนิโคติน เช่น หมากฝรั่ง แผ่นนิโคตินก็มีใช้ทั่วไปอยู่แล้ว

ความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้าเชื่อมโยงกับสารอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบ สหภาพยุโรปซึ่งออกมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2557 กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าระบุส่วนผสมในสารเหลวเพื่อให้ผู้ใช้รู้ รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติของอุปกรณ์ที่ใช้ด้วย ในแง่หนึ่งสะท้อนว่าทางการตระหนักถึงความเสี่ยงจากเครื่องมือและส่วนผสมเหล่านี้ว่าอาจก่อให้อันตรายได้ ในสหรัฐอเมริกา CDC เตือนว่า ผู้ใช้อาจสูดดมสารเคมีที่เป็นอันตรายที่มากับละอองบุหรี่ไฟฟ้า เช่น โลหะหนัก พวกนิคเกิล ตะกั่ว นอกจากนี้รายงานสอบสวนผู้ป่วยโรคปอดอับเสบที่สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่า 2,807 คนในปี 2020 ของ CDC เปิดเผยว่า วิตามิน อี อะซิเตทเป็นสารผสมอยู่ในอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าที่ดัดแปลงเพื่อสูบกัญชา

ขณะที่ญี่ปุ่น อนุญาตให้ใช้และจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้ความร้อนต่ำ แต่ไม่เผาไหม้ (heat-not-burn product) แบนบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารเหลวนิโคติน กระบวนการทำงานของบุหรี่ไฟฟ้าประเภทนี้เป็นการให้ความร้อนยาสูบเพื่อสร้างละออง หรือไอจากสารเลวที่ไม่มีนิโคติน แทนที่จะเผายาสูบด้วยอุณหภูมิ 900 องศาเซลเซียสเหมือนบุหรี่ไฟฟ้าทั่วไป ก็ลดลงเหลือ 350 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งแบนบุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภท ก็มองว่ามันมากพอที่จะทำให้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพระเหยและผู้ใช้สูดเข้าไปได้ หน่วยงานกำกับดูแลระบุว่า ไม่เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จะลดอันตรายได้มากพอ และไม่เห็นประโยชน์ทางสุขภาพ

วิวาทะบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย

ในประเทศไทย แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายตั้งแต่พ.ศ. 2557 เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมอย่างเด็ดขาด ทั้งการห้ามนำเข้าและจำหน่าย อีกทั้งหากมีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ เช่น ในโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 42 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แต่ก็มีรายงานเปิดเผยว่ามีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การสำรวจพฤติกรรมบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย พ.ศ.2560 จำนวน 945 คนที่พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 30.5% สูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือผลการวิจัยของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เรื่อง ‘การศึกษาการสื่อสารการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อสังคมเครือข่าย (social media network) และการสูบบุหรี่ฟ้าในกลุ่มเยาวชนและกลุ่มวัยทำงาน ปี 2564’ พบว่า จากการสำรวจแหล่งกายภาพที่จำหน่ายบุหรี่ 15 แหล่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีบุหรี่ไฟฟ้าขาย 10 แหล่ง และมีขายออนไลน์ด้วย และพบว่ามีนักเรียนมัธยมปลายและอุดมศึกษาสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากกว่าวัยทำงาน

กระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการด้านสุขภาพ รวมทั้งองค์กรรณรงค์ด้านสุขภาพ เช่น มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพซึ่งมีจุดยืนคัดค้านการพิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายในประเทศไทย โดยอ้างอิงงานวิจัยในต่างประเทศที่แสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพหลายด้าน และยืนยันว่าไม่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไป เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับผลของไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าต่อการทำงานของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดแดงของหนูทดลอง และพบว่าทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าทำลายเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดแดงในระดับที่ไม่ต่างกันมากนัก นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับการผลักดันให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกสูบบุหรี่ธรรมดา นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ตอบโต้ประเด็นนี้ว่า งานวิจัยยังไม่น่าเชื่อถือและยังไม่มีการยืนยันจากองค์การอนามัยโลก อีกประเด็นสำคัญที่ใช้โต้แย้งคือ ข้อกังวลว่าจะเป็นการเปิดทางให้เยาวชนเข้าถึงสารเสพติดได้ง่ายขึ้น กลุ่มผู้คัดค้านยังอ้างประเด็นบริษัทบุหรี่ข้ามชาติอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย

ด้านกลุ่มผู้สนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เช่น เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและไอคอสเห็นว่า ที่ผ่านมาการห้ามขายนั้นไม่ได้ผล ดังนั้นจึงควรอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าควบคุมได้อย่างถูกกฎหมาย นอกจากนี้ยังกล่าวถึงจดหมายที่ลงนามโดยผู้เชี่ยวชาญกว่า 100 รายชื่อที่เสนอให้องค์การอนามัยโลกทบทวนจุดยืนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นอันตรายให้หันมาสนับสนุนและนำแนวทางหลักการลดอันตราย (Harm Reduction) พร้อมทั้งอ้างอิงงานวิจัยจากต่างประเทศว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถลดอันตรายจากสารพิษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา และมีหลายประเทศที่อนุญาตให้ใช้ได้ภายใต้มาตรการควบคุม ขณะเดียวกันรัฐยังสามารถหารายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิตได้

 

ดูข้อมูลได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-ecigarette/

หมายเหตุ

  • เนื่องจากข้อมูลชุดนี้รวบรวมจากฐานข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและนโยบายยาสูบในประเทศต่างๆ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาหนึ่งให้ได้มากที่สุด ขณะที่นโยบายด้านบุหรี่ไฟฟ้าของแต่ละประเทศมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา อาจมีข้อมูลต่างจากที่นำเสนอ Rocket Media Lab พร้อมปรับแก้ข้อมูลเพื่อความสมบูรณ์ถูกต้องในการนำไปใช้หรืออ้างอิงในโอกาสต่อไป โดยสามารถแจ้งได้ที่ contact.rocketmedialab [at] gmail.com

เอกสารอ้างอิง

Ajay Shah, John Britton & Ilze Bogdanovica (2021) Developing a novel e-cigarette regulatory and policy control scale: results from the European Union, Drugs: Education, Prevention and Policy, DOI: 10.1080/09687637.2021.1959520

Campus, B., Fafard, P., St Pierre, J., & Hoffman, S. (2021). Comparing the regulation and incentivization of e-cigarettes across 97 countries. Social Science & Medicine, 114187. doi: 10.1016/j.socscimed.2021.114187

GGTC. (2021, May 28). E-cigarette ban & regulation: Global status as of February 2021https://landing.ggtc.world/2021/05/28/e-cigarette-ban-regulation-global-status-as-of-february-2021/

 

 

เกี่ยวกับ Rocket Media Lab

Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว

เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล

Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์

Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564

https://rocketmedialab.co
https://www.facebook.com/rocketmedialab.co
https://twitter.com/rocketmedialab
contact.rocketmedialab@gmail.com

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: