แก้เขิน? ก.ยุติธรรมเสนอแก้กฎหมายคุ้มครองเด็ก แต่เด็กถูกจับทุกวันไร้การคุ้มครองสิทธิ

ณัฐวุฒิ บัวประทุม | ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย พรรคก้าวไกล 12 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 3682 ครั้ง


เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 64 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณารับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่… พ.ศ… เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อให้สอดคล้องกับกติกาสากล

สาระสำคัญของกฎหมายนี้มีหลักการในภาพรวมที่ควรสนับสนุน เพราะเป็นการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และแผนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563)

สาระสำคัญในการแก้ไขกฎหมาย

  • เกณฑ์อายุของเด็กที่ ‘ไม่ต้องรับโทษทางอาญา’ เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 10 ปี แก้ไขเป็น ‘ไม่เกิน 12 ปี’
  • เกณฑ์อายุของเด็กที่ใช้มาตรการอื่นแทนการรับโทษทางอาญา เดิมกำหนดไว้เกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี แก้ไขเป็น ‘เกิน 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี’

อ้างหลักสากล แต่ยกมาไม่หมด

ในวาระรับหลักการ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเพื่อชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญว่า แม้การแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กในครั้งนี้จะมีการอ้างถึง CRC และข้อเสนอแนะของ UPR แต่ในรายละเอียดกลับเป็นการแก้เพียงข้อเดียวคือ เรื่องเกณฑ์อายุ ไม่ใช่การแก้กฎหมายจากข้อเสนอแนะทั้งหมดที่ประเทศไทยควรปฏิบัติ ขณะเดียวกันในเรื่องเกณฑ์อายุเองก็ยังไม่ก้าวหน้าพอ โดยแก้เกณฑ์ขั้นต่ำของเด็กที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญาจาก 10 ปี เป็น 12 ปี แต่ข้อเสนอแนะระบุว่า ทั่วโลกกำลังขยับเกณฑ์อายุจาก 12 ปี ไปเป็น 14 ปี คำถามก็คือเหตุใดไทยจึงไม่แก้เป็น 14 ปีในครั้งนี้เลย

นอกจากนี้ ยังมีข้อแนะนำอื่นที่ต้องทำด้วยแต่ไม่ได้กำหนดไว้ในการแก้ไข เช่น เรื่องการส่งตัวเด็กไปสถานที่ควบคุมตัวหรือกักขังต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย เด็กต้องได้รับการกักตัวแยกจากผู้ใหญ่ ต้องส่งเสริมมาตรการทางเลือก เช่น การคุมประพฤติ จัดโครงการคืนเด็กสู้สังคม อบรมผู้พิพากษาและบุคคลากรในการพิจารณาคดี เป็นต้น

ยังเน้นบังคับใช้กฎหมายมากกว่าความเข้าใจ

ในการแก้ไขไม่มีการแก้ข้อความที่ว่า ให้ใช้วิธีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ณัฐวุฒิ ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องการคุ้มครองเด็ก เจ้าหน้าที่ยังเข้าใจว่า ทำแค่การแยกเด็กกับผู้ใหญ่เมื่อถูกส่งตัว การตั้งกฎเกณฑ์คุมประพฤติ การวางเงินข้อกำหนดกับผู้ปกครอง แต่ไม่เข้าใจถึงกระบวนการที่ให้การสงเคราะห์ การให้คำปรึกษา และการหาทางเลือกให้เด็กและเยาวชน

ส่วนการแก้มาตรา 74 เรื่องการส่งตัวเด็กให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ก็เข้าใจแค่ว่าเป็นการส่งตัวไปสถานพินิจหรือการตั้งเงื่อนไขพ่อแม่ผู้ปกครองเช่นกัน แต่ที่ไม่ใส่ทั้งที่มีความสำคัญคือ มาตรการส่งเสริมทางเลือกอื่นๆ ซึ่งมีมากกว่านี้ นอกจากนี้ เรายังลงทุนกับเจ้าหน้าที่ด้านนี้น้อยเกินไป โดยควรมีบุคลากรถึง 20,000 คน แต่ขณะนี้ยังขาดอีกจำนวนมาก

แก้แล้วได้อะไร ในเมื่อยังมีเด็กจำนวนมากถูกจับกุมโดยไม่มีการคุ้มครองเป็นปกติ

ณัฐวุฒิ ชี้ว่า ขณะนี้มีภาคประชาสังคมจำนวนมากตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน หลายองค์กรสรุปตัวเลขตรงกัน พบว่า การจับกุมเด็กที่เป็นผู้กระทำความผิดโดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองมีสูงขึ้นและหลายคดีไม่มีการคุ้มครองเด็ก การออกกฎหมายนี้จึงเป็นคำถามว่า ออกกฎหมายไปแล้วสังคมจะได้อะไรในเมื่อยังมีการกระทำที่ไม่ใช่การคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

“คดีที่ไม่ควรออกหมายจับก็ออกหมายจับ คดีที่ไม่ควรโดนส่งตัวไปศาลเยาวชนก็ส่ง มีน้องมาร้องไห้กับผมว่า เขาไปตามหมายเรียก แต่ทำไมเขาต้องไปรอที่ใต้ถุนศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีที่ไม่ควรต้องมีหลักประกัน มีน้องมาร้องไห้ว่าทำไมไปเรียกเงิน 50,000 บาท ในการประกันตัว คดีที่ไม่ควรถูกส่งไปสถานพินิจ แล้วก็มีคำถามว่าหนูเคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ ทำไมเขาถูกตั้งคำถามนั้น ซึ่งไม่มีคำถามนี้อยู่ในแบบทดสอบของกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก ยังไม่พูดถึงการไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งก็เริ่มมีในเด็กและเยาวชน ไม่พูดถึงการข่มขู่อื่นๆ”


นอกจากนี้ ตำรวจยังใช้ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัว ปี 2534 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วกับเด็กและเยาวชนที่ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดเรื่องนี้เป็นเรื่องรับไม่ได้ เพราะเหตุใดการปรับแก้ไขกฎหมายรอบนี้จึงไม่สอดคล้องหรือสูงกว่ามาตรการสากล หรือแก้ตามที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิดตามที่มีข้อเสนอแนะมาจากคณะกรรมการ CRC และ UPR ทั้งระบบ

 

*เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์พรรคก้าวไกล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: