กทพ. เผยจะมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทำการศึกษาข้อดี ข้อเสียของแต่ละทางเลือกของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 ช่วงผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่ง กทพ.ได้นำเสนอ รูปแบบก่อสร้างเป็นทางด่วนยกระดับ และรูปแบบอุโมงค์ทางด่วน แต่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ยังไม่ยอมรับแนวทางและรูปแบบการก่อสร้าง
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2564 ว่านายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.จะมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทำการศึกษาข้อดี ข้อเสียของแต่ละทางเลือกของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 ช่วงผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งกทพ.ได้นำเสนอ รูปแบบก่อสร้างเป็นทางด่วนยกระดับ และรูปแบบอุโมงค์ทางด่วน แต่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ยังไม่ยอมรับแนวทางและรูปแบบการก่อสร้าง
โดยคาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยจะมีการทบทวน ผลการศึกษาความเป็นไปได้ ( Feasibility Study) มูลค่าโครงการ ประมาณ 6 เดือน และออกแบบรายละเอียดอีก 6 เดือน เมื่อได้การศึกษาใหม่ก็จะนำไปหารือเจรจากับทางมหาวิทยาลัยเกษตรฯ อีกครั้ง
ส่วนตอน N2 และ E-W Corridor จากแยกเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม. ซึ่งวงเงินลงทุน ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทนั้น มีความพร้อมจะดำเนินการก่อน โดยอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ขออนุมัติดำเนินการ จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในปี 2564
"เราจะเร่งดำเนินการในตอน N2 ก่อน เพราะไม่มีปัญหาติดขัด นอกจากนี้ จะต้องเร่งใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ในการก่อสร้าง อีกด้วย"
ส่วนความคืบหน้า ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงินลงทุน 14,177 ล้านบาท นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เพื่อเสนอคณะกรรมการ PPP และครม.อนุมัติ โดยหาได้รับอนุมัติ ในเดือน พ.ค. 2564 จะสามารถตั้งคณะกรรมการมาตรา 36 ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนเอกชน 2562 ได้ภายใน 1 เดือน และเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคา คาดว่าจะได้เอกชนภายใน 1 ปี หรือในปี 2565 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ตามแผนเปิดให้บริการได้ปลายปี 2569 ไม่เกินต้นปี 2570
นอกจากนี้ กทพ.ยังได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินโครงการ ทางด่วนสาย กระทู้-สนามบิน ซึ่งมีระยะทางประมาณ 32 กม. ซึ่งเดิมเส้นทางนี้ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง โดยจะก่อสร้างเป็น มอเตอร์เวย์ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการ กทพ.คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาออกแบบ 1 ปี และเปิดประมูล PPP เปิดให้บริการในปี 2571 เพื่อให้เส้นทางต่อเนื่องจากช่วงกะทู้-ป่าตอง รองรับการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ โครงการระบบขนส่งที่จังหวัดภูเก็ต นอกจากทางด่วนแล้วยังมี รถไฟฟ้ารางเบาหรือแทรมป์ ซึ่งขณะนี้ปรับเป็นระบบรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (ART) ซึ่งจะมีบางช่วงก่อสร้างบนถนน สาย 402 ซึ่งปัจจุบัน ทางหลวงหมายเลข 402 รถติดมาก หากมีการก่อสร้างจะเกิดปัญหามากขึ้น ทาง 16 องค์กรจังหวัดภูเก็ต มีข้อเสนออยากให้ทำทางด่วนเป็นทางเลือกก่อน
โดยขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังศึกษาเปรียบเทียบตัวเลขต่างๆ คาดว่าจะเดินหน้าในส่วนของทางด่วนก่อนจากนั้นค่อยพิจารณารถไฟฟ้า
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ