รัฐเตรียมซื้อไฟอีก 2 โครงการ ทั้งจาก 'ขยะชุมชน-โรงไฟฟ้าขยายผล' รวม 540 MW ภายในปี 2564 นี้

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ส.ค. 2564 | อ่านแล้ว 4982 ครั้ง

รัฐเตรียมซื้อไฟอีก 2 โครงการ ทั้งจาก 'ขยะชุมชน-โรงไฟฟ้าขยายผล' รวม 540 MW ภายในปี 2564 นี้

กระทรวงพลังงานยืนยันพร้อมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจาก 2 โครงการ ทั้งในส่วนโรงไฟฟ้าขยายผล 140 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 นี้ ในขณะที่มีผู้ประกอบการเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ฯหลายรายไปตกลงเตรียมทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รอไว้ก่อนแล้ว | ที่มาภาพ: Energy News Center

ช่วงต้นเดือน ส.ค. 2564 Energy News Center รายงานอ้างแหล่งข่าวกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่าภายในปี 2564 นี้กระทรวงพลังงานจะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจาก 2 โครงการ ทั้งในส่วนโรงไฟฟ้าขยายผลประมาณ 140 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกะวัตต์ เนื่องจากเป็นนโยบายของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ให้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2564 แล้ว แต่ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์รายละเอียดต่างๆ

ทั้งนี้หากโครงการใดจัดทำรายละเอียดเสร็จก่อน จะเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จากนั้นจะให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป แต่หากทำรายละเอียดเสร็จพร้อมกัน ก็อาจจะเปิดรับซื้อในระยะเวลาใกล้เคียงกันทั้งสองโครงการก็ได้

โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าขยายผล จะเปิดรับซื้อปริมาณ 140 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโควต้าที่เหลือมาจาก “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560” ที่ไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้ทัน คิดเป็นปริมาณไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 140.27 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) อยู่ระหว่างพิจารณาอัตราเงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (Fit) ที่เหมาะสม รวมทั้งวิธีการว่าจะใช้การประมูล หรือ ระบบใครเสนอก่อนได้ก่อน (first come first served) เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด ทั้งนี้เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้วิธีประมูลเพื่อให้ได้ราคารับซื้อไฟฟ้าที่ดีที่สุดและโปร่งใส นอกจากนี้อาจพิจารณาให้รับซื้อไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพ สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กมาก (VSPP) เป็นหลักด้วย

สำหรับความคืบหน้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชนโควต้า 400 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ขณะนี้ พพ.อยู่ระหว่างทบทวนราคา Fit เช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมาเคยรับซื้อในราคาสูง เพราะโรงไฟฟ้าขยะมีต้นทุนดำเนินการจำนวนมาก แต่ปัจจุบันราคาเทคโนโลยีปรับลดลงจึงต้องพิจารณาให้ราคาสอดคล้องกับต้นทุนปัจจุบันมากขึ้น

อย่างไรก็ตามคาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าขยะดังกล่าวจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าทั้งจากกลุ่ม VSPP และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ โดยทางกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้ส่งรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณามาให้กระทรวงพลังงาน และ กกพ. พิจารณาให้เข้าร่วมโครงการต่อไป ทั้งนี้คาดว่ากระทรวงมหาดไทยจะส่งรายชื่อมาตามจำนวนโควต้าที่มีทั้งหมด 400 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจจะเสนอครั้งเดียวหรือทยอยส่งรายชื่อมาก็เป็นได้

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะในครั้งนี้ คาดว่าจะให้เวลาเพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ประมาณ 2-3 ปี เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าโครงการโรงไฟฟ้าขยะต้องขออนุญาตหลายขั้นตอน รวมทั้งต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่เสร็จใน 2 ปี ดังนั้นอาจต้องให้เวลา COD มากขึ้น

แหล่งข่าวจาก กกพ. กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าขยายผลนั้น ต้องดูที่วัตถุประสงค์ หากต้องการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากผู้ประกอบการที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ก็ควรใช้วิธีประมูล เนื่องจากจะได้ราคารับซื้อไฟฟ้าที่ถูกที่สุดได้ แต่ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ค่าก่อสร้างแพง ดังนั้นราคาค่าไฟฟ้าที่รับซื้อคงไม่ได้ราคาที่ถูกมากนัก วิธี first come first served ก็สามารถนำมาใช้ได้แต่ต้องตั้งราคาไว้ให้เหมาะสมและถูกที่สุดเท่าที่ทำได้ก่อน

อนึ่งโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล เป็นนโยบายที่กระทรวงพลังงานได้แปลง โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในระยะเร่งด่วน หรือ Quick Win จำนวน 100 เมกะวัตต์เดิม ให้เป็น “โครงการโรงไฟฟ้าขยายผล” โดยนำโควต้ามาจาก “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560” ที่ไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้ทันกำหนดเวลา 22 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา จำนวน 7 ราย คิดเป็นปริมาณไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 140.27 เมกะวัตต์

โดยกำหนดเป้าหมายให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าชีวภาพที่สร้างโรงไฟฟ้าเสร็จแล้วแต่ขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ได้เนื่องจากติดปัญหาด้านสายส่งไฟฟ้าในอดีต แต่ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงสายส่งแล้ว หรือโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยกลุ่มนี้คาดว่ามีประมาณ 100 เมกะวัตต์

ในขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนนั้น ถึงแม้ว่ากระทรวงพลังงานจะยังไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่าไฟฟ้า รวมทั้งออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า แต่ก็มีผู้ประกอบการหลายรายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย​ไปดำเนินการประมูลกับทางเทศบาลและเตรียมทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รอไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่จะออกมาภายในปี 2564 นี้จะเป็นเพียงการประกาศหลักเกณฑ์ออกมารองรับผู้ประกอบการเอกชนกลุ่มดังกล่าว ที่จะส่งผลดีต่อการปรับตัวของราคาหุ้นของบริษัทรายนั้น ๆ หรือไม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: