สปสช.ชวนผู้เกษียณที่ต้องใช้สิทธิบัตรทอง ลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลใช้สิทธิบัตรทองดูแลสุขภาพ

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ต.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1762 ครั้ง

สปสช.ชวนผู้เกษียณที่ต้องใช้สิทธิบัตรทอง ลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลใช้สิทธิบัตรทองดูแลสุขภาพ

เลขาธิการ สปสช. ระบุ ช่วงรอยต่อสิ้นเดือน ก.ย. ของทุกปี มีผู้เกษียณอายุการทำงานจำนวนมากที่ต้องใช้สิทธิบัตรทอง เชิญชวน 6 กลุ่มคน ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำเพื่อใช้สิทธิบัตรทองดูแลสุขภาพ 

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ช่วงรอยต่อหลังจากวันที่ 30 ก.ย. ของทุกปี จะมีผู้เกษียณอายุการทำงานออกจากระบบเป็นจำนวนมาก ทั้งข้าราชการและผู้ที่ทำงานในบริษัทเอกชน ซึ่งจะสัมพันธ์กับสิทธิการรักษาพยาบาลด้วย โดยผู้ที่เป็นข้าราชการเกษียณที่เลือกไม่รับบำนาญ ก็จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เข้ามาช่วยดูแล เช่นเดียวกับผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หากไม่ได้ส่งเงินสมทบต่อเนื่องหลังเกษียณอายุการทำงาน ก็จะได้รับการดูแลผ่านระบบบัตรทองเช่นกัน 

สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง นอกจากกลุ่มผู้ประกันตนที่ขาดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมแล้ว ยังมีอีก 5 กลุ่มใหญ่ๆ 1. เด็กแรกเกิด ที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจากบิดามารดา 2. บุตรข้าราชการที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไป หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส) และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ  

3. บุตรข้าราชการคนที่ 4 ขึ้นไป และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ (สิทธิสวัสดิการข้าราชการคุ้มครองบุตรเพียง 3 คน) 4. ข้าราชการที่เกษียณอายุหรือออกจากราชการโดยมิได้รับบำนาญ 5. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และไม่ได้เป็นผู้ประกันตน โดยคนทั้ง 6 กลุ่มนี้ ถือว่ามีสิทธิบัตรทองตามกฎหมาย 

“ขอให้ผู้มีสิทธิทั้ง 6 กลุ่มนี้ ลงทะเบียนเพื่อเลือกหน่วยบริการประจำในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อเข้ารับการบริการสุขภาพทั้งการรักษาและการส่งเสริมป้องกันโรคอย่างครอบคลุมทุกอย่างฟรี” นพ.จเด็จ กล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการลงทะเบียนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเลือกหน่วยบริการนั้น สามารถทำได้ใน 3 ลักษณะ ประกอบด้วย 1. การลงทะเบียนรายบุคคล เพื่อเลือกหน่วยบริการหรือขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ โดยผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง 2. การลงทะเบียนในกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่ศึกษาหรือพักในหอพักของสถานศึกษา หรือกลุ่มทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ดำเนินการโดยกรมการแพทย์ทหาร กระทรวงกลาโหม  

3. การลงทะเบียนแทนผู้มีสิทธิโดยมอบให้ สปสช. ดำเนินการ กรณีเด็กแรกเกิด 0-5 ปี, กรณีบุคคลสิ้นสุดสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือสิ้นสุดประกันสังคม หรือสิ้นสุดสิทธิประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้, กรณีหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้แล้วถอนตัว หรือพ้นจากการเป็นหน่วยบริการประจำ, กรณีเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ สำหรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาแล้วแต่ยังไม่ได้เปลี่ยนหน่วยบริการกลับภูมิลำเนา ผู้พ้นโทษต้องขังในเรือนจำ ทหารเกณฑ์ปลดประจำการ, กรณีบุคคลเข้ารับบริการสาธารณสุขเป็นครั้งแรก และยังไม่ได้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ 

ทั้งนี้ หลังจากลงทะเบียนแล้ว ผู้ใช้สิทธิสามารถตรวจสอบสิทธิและทราบหน่วยบริการประจำของตนเองได้ 4 วิธี ได้แก่ 1. ผ่านแอปพลิเคชัน “สปสช.” 2. ระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ สายด่วน สปสช. โทร. 1330 กด 2 ตามด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แล้วกด # และกดโทรออก 3. ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต 4. ติดต่อด้วยตนเองในเวลาราชการ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลของรัฐ และ สปสช.เขต 1-12 

สำหรับเอกสารสำหรับการลงทะเบียน 1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ หากไม่มีบัตรประชาชนให้ใช้สูติบัตร (ใบเกิด) แทน 2. หนังสือรับรองการพักอาศัย กรณีที่อยู่ไม่ตรงตามบัตรประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าตนเองนั้นอาศัยอยู่จริง เช่น ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟ สัญญาเช่าที่พักฯลฯ 3. แบบคำร้องขอลงทะเบียน โดยขอได้ ณ จุดรับลงทะเบียน 

อนึ่ง ข้อมูลจากรายงานการเปลี่ยนแปลงสิทธิของ สปสช. ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. – ส.ค. 2564 มีผู้ที่ย้ายเข้ามาใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้น 2,387,203 ราย แบ่งเป็นเดือน ม.ค. 624,054 ราย เดือนก.พ. 666,966 ราย เดือน มี.ค. 267,248 ราย เดือน เม.ย. 136,520 ราย เดือน พ.ค. 177,539 ราย เดือน มิ.ย. 135,705 ราย เดือน ก.ค. 266,513 ราย เดือน ส.ค. 112,658 ราย 

คู่มือผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) 

เรื่องควรรู้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: