หลากความเหลื่อมล้ำ หลายความท้าทายที่ผู้หญิงยังต้องพบเจอในปี 2564

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 มี.ค. 2564 | อ่านแล้ว 6268 ครั้ง

สรุปเวทีโครงการห้องเรียนสิทธิมนุษยชนหัวข้อ “วันสตรีสากล: หลากหลายความเหลื่อมล้ำเธอยังต้องเจออะไรอีกบ้างในปี 2021” จัดโดย Amnesty International Thailand เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 ความท้าทายที่นักเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางเพศต้องเผชิญในยุคปัจจุบัน แม้ว่าการต่อสู้เกี่ยวกับสิทธิสตรีจะดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานก็ตาม | ที่มาภาพ: Amnesty International Thailand

วันที่ 8 มี.ค. ของทุกปีถือเป็นวันสตรีสากลซึ่งเป็นวันสำคัญที่ทั่วโลกจะได้เฉลิมฉลองความสำคัญของสิทธิของผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศโดยในปี 2021 นี้ธีมของวันสตรีสากลคือ Choose to Challenge หรือการเลือกที่จะยืนหยัดท้าทายอำนาจและความอยุติธรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทยในฐานะองค์กรหลักด้านสิทธิมนุษยชนจึงจัดโครงการห้องเรียนสิทธิมนุษยชนหัวข้อ “วันสตรีสากล: หลากหลายความเหลื่อมล้ำเธอยังต้องเจออะไรอีกบ้างในปี 2021” เมื่อวันจันทร์ที่ 8 มี.ค. 2021 โดยมุ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับความท้าทายที่นักเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางเพศต้องเผชิญในยุคปัจจุบันแม้ว่าการต่อสู้เกี่ยวกับสิทธิสตรีจะดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานก็ตาม

การเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

กิจกรรมห้องเรียนสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้พูดคุยกับ 3 นักเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางเพศได้แก่ชัญญา รัตนธาดา หรือปาหนันนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศซึ่งแจ้งเกิดจากการชูป้าย “อยากเป็นนายกรัฐมนตรี LGBT คนแรกของประเทศไทย” ในการชุมนุมทางการเมืองที่เชียงใหม่ปาหนันเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Young Pride ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยของเธอ และบุคคลภายนอกได้ตระหนักถึงเรื่องอคติทางเพศและยังมีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรม Chiangmai Pride รวมทั้งจัดตั้งเพจและนำเสนอคอนเทนต์ออนไลน์เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศในรูปแบบต่างๆ

ขณะที่บุษยาภา ศรีสมพงษ์ หรือเบสท์นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและผู้ก่อตั้งองค์กร SHero เบสท์เล่าว่าก่อนที่จะก่อตั้งองค์กร SHero นั้นเธอได้ทำงานเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิงมาก่อน และมองเห็นถึงการกดทับผู้หญิง ทั้งในเชิงอำนาจเชิงโครงสร้างและเชิงเพศสภาวะมาก่อนทว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นกับตัวเอง เบสท์พบว่าระบบกฎหมายและระบบสวัสดิการรัฐไม่ได้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง จึงเริ่มโครงการสอนและเสริมพลังให้แก่ผู้หญิงกลุ่มเปราะบางและผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัวและพัฒนามาเป็น SHero ในที่สุดโดยมุ่งช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับเครือข่ายและการเสริมศักยภาพให้แก่ผู้หญิงรวมทั้งสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้คุยเรื่องปัญหาความรุนแรง และสื่อสารไปยังบุคคลทั่วไปว่า ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องปกติ

นักเคลื่อนไหวคนที่ 3 ได้แก่ ธนพร วิจันทร์ หรือไหมประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีก็เล่าว่ากลุ่มของเธอเคยมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องการลาคลอด 90 วัน เมื่อ 26 ปีก่อน รวมทั้งเรียกร้องเรื่องการจัดศูนย์เลี้ยงเด็กสำหรับเลี้ยงเด็กให้ลูกของคนงานหรือคนทำงานทุกคนที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมโดยแนวทางการเรียกร้องเน้นที่การแสดงพลังของประชาชนหลายคนผ่านการชุมนุมประท้วงทว่าในปัจจุบันกลุ่มของเธอหันมาเน้นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและรวมกลุ่มแรงงานเป็นเครือข่ายเพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงานในพื้นที่

เมื่อความท้าทายไม่เคยสิ้นสุด

แม้ว่านักเคลื่อนไหวทั้ง 3 คนจะเดินอยู่บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศมาอย่างยาวนานทว่าความท้าทายในประเด็นเหล่านี้กลับไม่มีทีท่าที่จะลดลงเนื่องจากสภาพการเมืองและสังคมที่ยังคงกดทับสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงและยิ่งทวีความแนบเนียนยิ่งขึ้นจนดูเหมือนไม่มีปัญหาใดเกิดขึ้นเลยซึ่งคุณไหมเล่าว่าความท้าทายที่เธอยังต้องเจอในการทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศคือกลยุทธ์ของบริษัทที่ต้องการเลิกจ้างพนักงานที่ตั้งครรภ์ซึ่งแม้จะมีกฎหมายระบุว่าห้ามเลิกจ้างพนักงานที่ตั้งครรภ์แต่หลายบริษัทกลับเลิกจ้างผู้หญิงกลุ่มนี้โดยอ้างเหตุผลเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน

“ในสถานการณ์โควิด คุณต้องการลดพนักงาน คุณจัดคนท้องก่อนเลย เพราะเดี๋ยวท้องก็ไม่ได้ทำงานแล้ว ลาเราอีก เสียเวลา ต้องไปจ่ายเงินให้อีก บริษัทมองผู้หญิงเป็นต้นทุนการผลิต ไม่ได้มองว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังจะสร้างทรัพยากรรุ่นใหม่ให้กับประเทศชาติ” คุณไหมอธิบาย

ความท้าทายอีกประการหนึ่ง คือการขาดรัฐสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนฟรี ศูนย์เลี้ยงเด็กที่ปลอดภัย หรือระบบการดูแลที่เอื้ออำนวยให้เด็ก ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนและช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์แล้ว ยังเป็นการจูงใจให้คนหันมามีลูก เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ในห้วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ ทว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบประเด็นนี้ รวมทั้งผู้ที่มีอำนาจในการปกครอง กลับขาดความรู้ความสามารถ และยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองมากเท่าที่ควร ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารประเทศก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับนักเคลื่อนไหวเช่นกัน

ด้านคุณเบสท์ก็ชี้ในมุมของการทำงานด้านความรุนแรงทางเพศว่า ความท้าทายที่เธอยังต้องเผชิญอยู่ในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ คือกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง ฉบับปี 2550 ที่ไม่ได้เน้นการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง แต่กลับมีเจตนารมณ์ในการรื้อฟื้นสวัสดิภาพของครอบครัว ซึ่งแทนที่จะเอาผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถูกกระทำ กลายเป็นการยึดสถาบันครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งก็สะท้อนถึงระบบชายเป็นใหญ่ ที่มองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว

นอกจากนี้ คุณเบสท์ยังมองว่า ผู้หญิงและผู้ชายในสังคมไทยมีต้นทุนที่ไม่เท่ากันตั้งแต่แรก กล่าวคือ ผู้ชายจะมีอภิสิทธิ์มากกว่าผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดที่ว่า การใช้ความรุนแรงของผู้ชายเป็นเรื่องปกติ หรือการรับตำแหน่งผู้นำได้มากกว่าผู้หญิง ในขณะที่ผู้หญิงต้องทำงานหนักกว่า ต้องสู้ และต้องกลับมาทำงานบ้านเพราะเป็นหน้าที่ด้วย

สำหรับคุณปาหนัน เธอมองว่า ทุกวันนี้คนทั่วไปหรือแม้กระทั่งกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยยังไม่ได้คำนึงว่าผู้หญิงและเพศหลากหลายกำลังเป็นผู้ที่ถูกกดขี่อยู่ เพราะระบบสังคมออกแบบมาเพื่อให้ผู้ชายได้มีอำนาจในการควบคุมต่างๆ ขณะเดียวกัน กฎหมายในประเทศไทยยังคงคำนึงถึงเฉพาะเพศชายและหญิง ไม่ได้มองถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศแต่อย่างใด

เอาชนะความท้าทายทำได้อย่างไร

หลายครั้งความท้าทายก็กลายเป็นอุปสรรค ซึ่งส่งผลให้การขับเคลื่อนด้านสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้น คุณปาหนันและคุณไหม จึงเห็นตรงกันว่า สิ่งที่จะทำให้นักเคลื่อนไหวเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ได้ อันดับแรกคือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ซึ่งคุณไหมระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด

“ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนกติกาไว้ว่าทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน กฎหมายลูกก็ต้องล้อกับรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา รัฐบาลคิดจากข้างบนแล้วมาให้เราทำ ซึ่งมันไม่เหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ รัฐบาลต้องยอมถอยแล้วก็ต้องมาสร้างกติกา ซึ่งก็คือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่แบบมีส่วนร่วม” คุณไหมระบุ

คุณปาหนันกล่าวว่า “ถ้าสิทธิพื้นฐานของทุกคนได้รับการบรรจุอยู่ในบัญญัติทางรัฐธรรมนูญ มันจะสามารถนำไปอ้างอิงกับทุกๆ มิติได้ การรับรองสิทธิตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แล้วมันอาจจะนำไปสู่การสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อที่จะสนับสนุนสิทธิในชีวิตของคนข้ามเพศหรือของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือแม้กระทั่งผู้หญิงได้”

ด้านคุณเบสท์ก็ระบุว่า การออกกฎหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องรับฟังผู้ที่อยู่ “ข้างล่าง” คือประชาชน ไม่ใช่จากมุมมองของผู้มีอำนาจเพียงฝ่ายเดียว

“กฎหมายที่กระทบใครมากที่สุด คนนั้นต้องเป็นคนเขียน กฎหมายที่กระทบผู้หญิงมากที่สุด ผู้หญิงก็ต้องเป็นคนเขียน กฎหมายที่กระทบแรงงาน แรงงานก็ต้องเป็นคนเขียน คนที่ออกกฎหมายคือคนที่รู้เทคนิค คนมีอำนาจ แต่คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้นจริงๆ คือคนที่ได้รับผลกระทบ” คุณเบสท์กล่าว

นอกเหนือจากการเอาชนะปัญหาในเชิงกฎหมายแล้ว การแสดงออกของประชาชนก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาเช่นกัน โดยคุณปาหนันมองว่า การพูดแสดงความคิดเห็นผ่านการเคลื่อนไหวทางประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการชุมนุมในที่สาธารณะหรือออนไลน์ ช่วยให้การเคลื่อนไหวมีความเป็นไปได้มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการชุมนุมในปีที่ผ่านมา ที่ประชาชนหลายหมื่นคนค่อยๆ รวมตัวกัน เพื่อส่งเสียงบอกว่า พวกเขาคือผู้ที่ถูกกดทับ และส่งผลให้ประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวของปัจเจกบุคคลอีกต่อไป

ด้านคุณไหมก็สนับสนุนแนวทางการส่งเสียงเกี่ยวกับปัญหาความไม่เท่าเทียมของผู้หญิง และเน้นย้ำว่าควรออกมาแสดงพลังในที่สาธารณะมากกว่าโลกออนไลน์

“สิ่งที่อำนาจรัฐเผด็จการกลัว ก็คืออำนาจของประชาชนที่จะมารวมกลุ่มกันเพื่อที่จะส่งเสียง เราทุกคนต้องไม่กลัวเรื่องนี้ เพราะการส่งเสียงเกี่ยวกับปัญหาของพวกเรา ของผู้หญิง เป็นเรื่องที่เราพูดได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องจริง ถ้าเราลุกขึ้นมาพร้อมกัน เพื่อจะพูดเรื่องของพวกเรา เรื่องของผู้หญิง เราพูดเสียงเดียวกัน ประเทศนี้มันจะเปลี่ยน อำนาจการต่อรองก็คืออำนาจของพวกเราที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เราไม่มีปืน ไม่มีรถถัง แต่มีใจที่จะสู้ มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” คุณไหมกล่าว

อย่างไรก็ตาม คุณเบสท์ ในฐานะที่ทำงานกับกลุ่มผู้ที่ผ่านพ้นจากความรุนแรงทางเพศมาก่อนกลับมองว่าการบอกให้คนที่ถูกกดทับมานานและได้รับความบอบช้ำทางจิตใจหันมาเผชิญหน้าท้าทายอำนาจและโครงสร้างทางสังคมก็เหมือนกับไปลากคนกลุ่มนี้ออกมาดังนั้นจึงควรปรับท่าทีให้สอดคล้องกับคนกลุ่มนี้ด้วยโดยการให้กำลังใจเชิญชวนให้คนรอบข้างรับฟังอย่างไม่ตัดสินและสนับสนุนผู้ที่ผ่านพ้นจากความรุนแรงส่วนผู้ที่ผ่านพ้นความรุนแรงก็ควรหยุดโทษตัวเองเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของพวกเขาแต่อย่างใด

“การท้าทายมันทำได้หลายอย่างนะหนึ่งคือการตั้งคำถามกับระบบว่าทำแบบนี้มันถูกต้องแล้วเหรอการออกมายืนหยัดเพื่อความถูกต้องก็คือการท้าทายโดยเฉพาะกลุ่มผู้ถูกกระทำคุณมีสิทธิทุกประการในการลุกขึ้นมาพูดออกมาท้าทายสิ่งที่อยุติธรรมเพราะนั่นคือสิ่งที่มันควรจะเป็นและการยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้องคือสิทธิของทุกคน” คุณเบสท์กล่าว

นอกจากนี้คุณเบสท์ยังแนะนำว่าการท้าทายสามารถทำได้อย่างมียุทธศาสตร์โดยเริ่มจากเป้าหมายของการเรียกร้องรวมทั้งรู้จัก “พัก” เพื่อเติมพลังให้ตัวเองในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมต่างๆ

“ผู้หญิงมักจะถูกสอนให้ไม่ดูแลตัวเองถูกสอนให้ดูแลคนอื่นเพราะฉะนั้นผู้หญิงจะรู้สึกผิดที่ดูแลตัวเองแต่จริงๆแล้วการดูแลตัวเองคือยุทธศาสตร์เราเอาพลังไปใส่ตรงนี้แล้ววันต่อมาเราเก็บพลังไว้คนที่ทำงานหลังบ้านอย่างเช่นงานเชิงวิจัยเชิงข้อมูลก็ไม่ต้องรู้สึกผิดเพราะเรามีคนในแต่ละบริบทที่แตกต่างกันทุกคนก็จะมีข้อจำกัดของตัวเองก็ไม่อยากให้ทุกคนรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาควรจะทำขนาดนั้นและในข้อจำกัดนั้นการรวมกลุ่มการตั้งคำถามการสร้างบทสนทนาก็เพื่อเผยแพร่ความตระหนักรู้ให้คนรอบข้างฟังก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการท้าทายระบบแบบนี้” คุณเบสท์อธิบายพร้อมเชิญชวนให้ทุกคนหันมาคิดวิเคราะห์ตั้งคำถามซึ่งถือเป็นการท้าทายอย่างหนึ่งเช่นกัน

ขณะที่คุณปาหนันกล่าวว่าเธอมีสื่ออยู่ในมือและสามารถใช้สื่อที่มีอยู่ทำงานเชิงความคิดให้ก้าวหน้าต่อไปได้ โดยการเสนอแนวคิดที่ก้าวหน้า เพื่อที่จะให้ทุกคนโอบรับความหลากหลาย ไม่ใช่แค่เรื่องเพศอย่างเดียว

“อำนาจร่วม” กุญแจสู่ความเท่าเทียม

สังคมที่เต็มไปด้วยผู้ใช้อำนาจเหนือและผู้ที่ถูกกดทับจะนำไปสู่สภาพสังคมที่มีความรุนแรงตลอดเวลา เพราะเมื่อใดที่มีการใช้อำนาจเหนือก็จะมีผู้ที่ถูกกระทำ และเมื่อใดที่มีผู้ถูกกดขี่ ก็จะมีคนที่ลุกขึ้นสู้ ดังนั้น คุณเบสท์จึงเสนอทางออกสู่ความเท่าเทียมกันในสังคม นั่นคือ “การใช้อำนาจร่วม”

“สังคมที่คนจะเท่ากัน คือสังคมที่มีการใช้อำนาจร่วม มันเป็นสังคมที่น่าจะปราศจากความรุนแรงได้มากที่สุด อย่างหนึ่งที่สร้างวัฒนธรรมการใช้อำนาจร่วมได้ก็คือการรับฟัง ซึ่งเป็นการรับฟังที่เคารพอีกคนจริงๆ และรับฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่พูดแทรก วัฒนธรรมนี้ใช้ได้ทั้งในบ้าน ในโรงเรียน ชุมชน เศรษฐกิจ นโยบายรัฐ ระบบการเมืองการปกครอง แค่ตระหนักรู้ว่าอีกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับเราและเราต้องมั่นใจว่าจะไม่พยายามใช้อำนาจเหนืออีกคนหนึ่ง” คุณเบสท์สรุป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: